fbpx

ปลายนิ้วก้อยเท้าเอียง

ปลายนิ้วก้อยเท้าเอียง

นิ้วก้อยเท้าเอียง คือ บริเวณโคนนิ้วก้อยเท้ามีกระดูกปูดๆยื่นๆออกมา ร่วมกับนิ้วก้อยเท้าเอียง

นั่งขัดสมาธิ ทำให้ปลายนิ้วก้อยเท้าเอียง

โรคนิ้วก้อยเท้าเอียง เราเรียกว่าโรค Bunionette (บัน-เนี่ยน-เนต) โดยในอดีต นิ้วก้อยเท้าเอียงจะพบได้ในคนที่ทำอาชีพเย็บผ้า

เนื่องจากคนที่เย็บผ้าสมัยก่อน จะนิยมนั่งพื้นเย็บ ท่านั่งจะเป็นท่านั่งขัดสมาธิ และเท้าด้านนอกจะกด และเสียดสีกับพื้นตลอด

ทำให้เจอโรคนี้ได้บ่อย โรคนี้เลยมีชื่อเรียกเล่นๆว่า Tailor’s bunion

 

กระดูกฝ่าเท้าผิดรูป ทำให้นิ้วก้อยเท้าเอียง

กระดูกฝ่าเท้าที่ 5 ผิดรูป ส่งผลให้ปลายนิ้วก้อยเท้าเอียง

โรคนิ้วก้อยเท้าเอียงส่วนที่ยื่นออกมา ปูดออกมาจริงๆแล้วส่วนใหญ่ไม่ใช่กระดูกงอกนะครับ

แต่เป็นกระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 ผิดรูป ส่วนกระดูกนิ้วก้อยส่วนใหญ่จะปกติดี

อ่านเพิ่มเรื่องกระดูกงอกที่เท้าบริเวณต่างๆ

สาเหตุของนิ้วก้อยเท้าเอียง

  • สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดจากการมีโครงสร้างของกระดูกฝ่าเท้า (ไม่ใช่นิ้วเท้านะครับ) ชิ้นที่ 5 ผิดรูป โดยกระดูกชิ้นนี้จะกางออกนอกมากกว่าปกติ และนิ้วก้อยเท้าจะเอียงหรือหุบเข้าด้านในมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีกระดูกปูดๆยื่นๆออกมากด้านนอกได้ และกระดูกที่ยื่นออกมานี้ก็จะไปกดกับพื้น เสียดสีกับรองเท้า จนทำให้เกิดการอักเสบ เจ็บ หนังแข็งๆ ตาปลาขึ้นมาได้
  • บางกรณีก็เกิดจากกระดูกงอกที่โคนนิ้วก้อยเท้าได้เหมือนกันครับ
  • ตัวกระตุ้นให้มีอาการอักเสบ เจ็บ ได้แก่ การใส่รองเท้าหน้าแคบเกินไป รองเท้ามีส่วนรัด กด และเสียดสีกับกระดูกที่ปูดออกมา หรือการนั่งทับเท้านานๆ ก็ทำให้เจ็บได้ครับ
  • กรรมพันธุ์ หรือการมีโรคข้ออักเสบต่างๆ เช่น โรครูมาตอยด์ ก็ทำให้เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเรื่องนิ้วหัวแม่เท้าเอียงได้ที่นี่ครับ

โรคนิ้วก้อยเท้าเอียงมีอาการอย่างไร

  • มีนิ้วก้อยเท้าเอียงเข้าด้านใน และคลำได้กระดูกปูดๆบริเวณโคนนิ้วก้อยเท้า
  • มีการอักเสบ บวม แดง กดเจ็บ ปวด บริเวณที่กระดูกปูดๆ
  • ถ้าใส่รองเท้าหน้าแคบเกิน หรือใส่รองเท้าส้นสูง ก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย
  • ถ้านั่งท่าขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ ทับบริเวณที่กระดูกปูดออกมา ก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย
  • มีหนังแข็งๆ ตาปลา บริเวณโคนนิ้วก้อยเท้า

การวินิจฉัยปลายนิ้วก้อยเท้าเอียงทำอย่างไร

  • เมื่อดูจากทรงเท้าภายนอกจะพบว่า นิ้วก้อยเท้าจะเอียงเข้าด้านใน อาจจะเบียดนิ้วเท้าที่ 4
  • แต่ปัญหาจะอยู่ที่บริเวณโคนนิ้วก้อยเท้าครับ จะคลำได้กระดูกปูดๆออกมาด้านนอก บางครั้งจะบวม แดง กดเจ็บได้ถ้ามีการอักเสบ
  • เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะให้เอกซเรย์เท้าดูครับ และจะทราบข้อมูลเพิ่มเติม
    • กระดูกที่ยื่นออกมา เป็นกระดูกฝ่าเท้าที่กางออกผิดปกติ หรือเป็นกระดูกงอก
    • กระดูกฝ่าเท้าที่กางผิดปกติ เป็นแบบใด ทรงของกระดูกเท้าเป็นแบบใด
    • การเอกซเรย์จะมีประโยชน์ในกรณีที่วางแผนการผ่าตัดนะครับ ถ้าไม่วางแผนผ่าตัด จะเอกซเรย์หรือไม่ก็สามารถวินิจฉัยได้
ปลายนิ้วก้อยเท้าเอียง ดูจากภายนอก

ปลายนิ้วก้อยเท้าเอียง ดูจากภายนอก

นิ้วก้อยเท้าเอียง ดูจากเอกซเรย์

จากเอกซเรย์จะพบว่า กระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 มีลักษณะโค้งออกด้านนอก ทำให้นิ้วก้อยเท้าเอียงเข้าด้านใน

การรักษานิ้วก้อยเท้าเอียงแบบไม่ผ่าตัด

  • การเลือกรองเท้า ควรเลือกที่มีลักษณะดังนี้
    • หน้ากว้าง

    • บริเวณโคนนิ้วก้อยเท้าไม่มีสายรัด ที่อาจเกิดการเสียดสี

    • ส้นต่ำ เนื่องจากถ้าใส่ส้นสูงน้ำหนักของเราจะเทมาที่หน้าเท้ามาก

  • การใช้อุปกรณ์หุ้มโคนนิ้วก้อยเท้า
  • การยืดเหยียดนิ้วก้อยเท้า
  • เมื่ออักเสบ ให้พัก ทานยาแก้อักเสบสั้นๆ ประคบเย็นจะช่วยได้มากครับ
ไม่ควรเลือกรองเท้าหน้าแคบ ส้นสูง

รองเท้าหน้าแคบ ส้นสูง จะทำให้ปลายนิ้วก้อยเท้าเอียงมากขึ้น และอักเสบได้ง่าย

นิ้วก้อยเท้าเอียง เลือกรองเท้าอย่างไร

รองเท้าหน้ากว้าง รองเท้าที่เปิดหน้าเท้า รองเท้าที่ไม่มีสายรัดบริเวณโคนนิ้วก้อยเท้า และส้นไม่สูงมาก จะใส่สบายกว่าครับ

อุปกรณ์ประคองโคนนิ้วก้อยเท้า

อุปกรณ์หุ้มโคนนิ้วก้อยเท้า ป้องกันการเสียดสี และกดเบียด

การรักษานิ้วก้อยเท้าเอียงด้วยวิธีผ่าตัด

              สามารถทำได้ ในกรณีที่มีอาการมาก และรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล สามารถปรึกษาเรื่องการผ่าตัดกับคุณหมอได้ครับ แนวทางการรักษาเช่น การผ่าตัดจัดทรงกระดูกฝ่าเท้าหรือผ่าตัดตัดกระดูกงอก

 

สรุป

นิ้วก้อยเท้าเอียง มักเกิดจากกระดูกฝ่าเท้าที่ 5 กางออกผิดรูป จะส่งผลให้มีกระดูกปูดออกมาที่โคนนิ้วก้อยเท้า และนิ้วก้อยเท้าเอียงเข้าด้านใน อาการมักจะมีการอักเสบที่โคนนิ้วก้อยเท้า เดินเจ็บ บวมแดง ถ้าใส่รองเท้าที่คับๆ หรือนั่งทับนานๆ ก็จะทำให้เกิดอักเสบได้ง่าย การรักษาส่วนใหญ่จะเน้นที่การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม ถ้าเป็นมากจริงๆ ไม่หายจริงๆจึงเลือกการรักษาด้วยการผ่าตัดครับ