เนื้อหาในบทความนี้
มือชาจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) คืออะไร
มือชาจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) มีอาการอย่างไร
สาเหตุของอาการมือชาจากพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท
ลดการใช้งานข้อมือ ปรับท่าทางการทำงาน
มือชา บริหารอย่างไร ท่าบริหารทำอย่างไร
มือชา (จากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท, Carpal tunnel syndrome) คืออาการรู้สึกชาบริเวณฝ่ามือ โดยเฉพาะฝ่ามือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ (นิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง, บางส่วนของนิ้วนาง) มักจะชาหนาๆ หรือชาแปล๊บๆ มีอาการปวด หรืออ่อนแรงร่วมด้วยก็ได้ มีสาเหตุจากแรงกดดันในโพรงข้อมือเพิ่มขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ทำให้ไปกดเบียดเส้นประสามข้อมือ (Median nerve)
มือชาเกิดจากสาหตุอะไรได้บ้าง
สาเหตุของอาการมือชาเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น
- มีปัญหาทางด้านสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตก หรือสมองขาดเลือด
- มีปัญหาทางด้านกระดูกคอ เช่น หมอนรองกระดูกบริเวณคอทับเส้นประสาท
- มีปัญหาโรคประจำตัวบางอย่างเช่น เบาหวาน
- มีปัญหากล้ามเนื้อคอ บ่า อักเสบ หรือที่เรียกว่าออฟฟิสซินโดรม ก็มีอาการชามือได้
- มีปัญหาพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท หรือที่เรียกว่า carpal tunnel syndrome
โดยในบทความนี้ เราจะเน้นไปที่โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท เพียงอย่างเดียวนะครับ
ถ้าใครที่มีอาการมือชา แต่ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุดนะครับ
มือชาจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) คืออะไร
ก่อนอื่นเราจะต้องทำความเข้าใจกายวิภาคกันก่อนครับ
โพรงข้อมือ (carpal tunnel) เป็นเหมือนอุโมงค์ที่อยู่บริเวณข้อมือ โดยภายในอุโมงค์จะมีอวัยวะที่สำคัญลอดผ่าน ได้แก่ เส้นเอ็น และเส้นประสาท
พังผืดข้อมือ (transverse carpal ligament) เป็นพังผืดที่พาดอยู่เหนืออุโมงค์ เส้นแผ่นแข็งๆ ที่ยึดตัวโพรงข้อมือเข้าด้วยกัน
เส้นประสาทข้อมือ (median nerve) เส้นประสาทเส้นนี้ ทำหน้าที่หลักๆคือ รับความรู้สึกที่ฝ่ามือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง
ถ้าเส้นประสาทเส้นนี้ขาด หรือถูกกดทับ จะทำให้มีอาการชามือขึ้นมาได้
นอกจากนั้น เส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณมือยังมีเส้นอื่นๆอีก เช่น ulnar nerve, radial nerve ถ้าเส้นประสาทถูกกดเบียด ก็จะทำให้มีอาการชามือบริเวณต่างๆตามหน้าที่ของเส้นประสาทนั้น ได้เช่นกัน
อาการมือชาจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทเกิดจาก โพรงข้อมือแคบลงจากสาเหตุต่างๆ หรือเนื้อเยื่อในโพรงข้อมือบวมอักเสบ ทำให้เส้นประสาทที่ลอดผ่านโพรงข้อมือถูกเบียดจนไม่สามารถทำงานได้ ทำให้มีอาการมือชา
มือชาจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) มีอาการอย่างไร
ช่วงเริ่มต้นของโรคนี้จะมีอาการดังนี้
- ชามือตอนกลางคืน บางคนต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเนื่องจากชา ปวด ที่มือ
- ชามือตอนตื่นนอน
- แปล๊บๆ จี๊ดๆ ที่มือ
- จะมีอาการมือชาบริเวณฝ่ามือ ด้านหลังมือไม่มีอาการ
-
จะมีอาการที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนางเป็นหลัก ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นประสาท median nerve ทำงานรับความรู้สึกอยู่
- เมื่อมีอาการ การสลัดข้อมือแรงๆจะทำให้อาการดีขึ้นได้
ถ้าปล่อยไว้อาการจะเป็นมากขึ้น
-
- ชา รู้สึกหนาๆ บริเวณฝ่ามือบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง
- แปล๊บๆ จี๊ดๆ ที่มือ บางครั้งจะร้าวมาที่แขน หรือไหล่ได้
- ปวดบริเวณมือ ข้อมือ
- สลัดมือแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการเป็นอยู่แทบจะตลอดเวลา
- อ่อนแรง ใช้งานมือได้ลดลง
- จับพวงมาลัยรถได้ไม่มั่นคง
- เขียนหนังสือไม่ถนัด
- กลัดกระดุมไม่ได้
- พลิกหน้าหนังสือทีละหน้าไม่ได้
- จับของชิ้นเล็กๆไม่ได้
- พิมพ์งาน ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้
- ทำของหล่นบ่อย
อาการเหล่านี้มักจะเป็นตอนที่ทำกิจกรรมที่ข้อมือต้องงอ หรือเหยียดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ เช่น นั่งขับรถนานๆ เล่นมือถือนานๆ ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ หรือนอนแล้วข้อมือพับอยู่ในท่าหนึ่งนานๆ เป็นต้น
สาเหตุของอาการมือชาจากพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท
สาเหตุเกิดจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน
- มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ใช้งานข้อมือซ้ำๆ ต่อเนื่องกันนานๆ ทำให้เนื้อเยื่อในโพรงข้อมืออักเสบและบวมเรื้อรังได้ เช่น
-
- แม่บ้านที่ต้องทำงานกวาด ถูพื้น ซักผ้า
- แม่ครัวที่ต้องใช้ตะหลิว มีด
- ช่าง ที่ต้องใช้ค้อน เลื่อย
ใช้งานข้อมือในตำแหน่งที่ต้องกระดกข้อมือขึ้น หรือลง เป็นอย่างมากต่อเนื่องกันนานๆ
- พนักงานออฟฟิศ ใช้งานคอมพิวเตอร์ผิดสุขลักษณะ
- พนักงานขับรถจับพวงมาลัยต่อเนื่องนานๆ
- ช่างทำผม แต่งหน้า
ทำงานที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ต้องสั่นสะเทือนตลอดเวลา
- เช่นทำงานขุดเจาะถนน ทำงานที่ต้องใช้สว่านเป็นประจำ
ตั้งครรภ์ ส่งผลให้ฮอร์โมนขึ้นลงไม่เหมือนปกติ และทำให้เนื้อเยื่อต่างๆบวมขึ้นได้ ถ้าเป็นจากภาวะนี้ อาการจะหายได้เองหลังคลอดและฮอร์โมนกลับสู่ภาวะปกติครับ
กระดูกข้อมือเสื่อม หรือผิดรูป เช่นเคยมีอุบัติเหตุกระดูกข้อมือหักแล้วไม่ได้ทำการรักษา ทำให้ช่องโพรงข้อมือแคบลง
- มีก้อนกดบริเวณโพรงข้อมือ เช่น ถุงน้ำข้อมือ
- โรคทางอายุรกรรมอื่นๆ เช่น เบาหวาน, รูมาตอยด์, ไทรอยด์ ก็ทำให้มีอาการได้
มือชาตอนกลางคืน
อาการนี้เป็นอาการเริ่มต้นของโรค พังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท ครับ
เนื่องจากตอนกลางคืน ขณะที่นอนหลับ มือของเราจะอยู่ในท่างอนิดๆ บางคนชอบนอนงอข้อมือ และอยู่ในท่าเดียวกันนานๆ
ทำให้มีอาการมือชาตอนกลางคืนได้
ถ้าอาการเป็นไม่มาก ตื่นมาสักพักอาการมือชาก็จะดีขึ้น และในระหว่างวันจะไม่มีอาการ
บางคนที่เป็นมากขึ้น จะตื่นขึ้นมากลางดึกเนื่องจากมีอาการชา แปล๊บๆ หรือปวดที่มือได้
มือชาตอนตื่นนอน
มักเกิดต่อเนื่องจากชามือตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกของพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท ส่วนใหญ่จะสลัดข้อมือสักพักอาการก็จะดีขึ้นได้
มือชาข้างเดียว
สามารถเกิดขึ้นได้ครับ มักเป็นข้างที่ถนัดด้วย เนื่องจากใช้งานมากกว่ามือข้างที่ไม่ถนัด โดยมักเป็นกิจกรรมดังนี้
- ใช้ข้อมือขยับตลอดเวลา กวาดๆๆ ถูๆๆ บิดๆๆ สับๆๆ
- ใช้ข้อมืออยู่ในท่างอ หรือเหยียด ต่อเนื่องนานๆ เช่นช่างตัดผม ใช้มือขวาตัดผมวันละหลายๆชั่วโมง
- ใช้อุปกรณ์ที่สั่นสะเทือนตลอด เช่นใช้มือจับสว่าน
มือชา รักษาอย่างไร แก้ยังไง
ลดการใช้งานข้อมือ ปรับท่าทางการทำงาน
- งานที่ต้องใช้ข้อมือตลอดเวลา ต้องพักบ่อยๆหน่อยครับ (ถ้าทำได้)
- ปรับสถานที่ทำงานให้เหมาะสม โดยขณะทำงานข้อมือต้องไม่งอ หรือเหยียด มากเกินไป
- ถ้าทำงานออฟฟิศ ที่ต้องใช้เมาส์ และคีย์บอร์ด ให้ปรับโต๊ะ และเก้าอี้นั่งทำงานให้เหมาะสม โดยเฉพาะความสูงของเก้าอี้ สำคัญมาก
ที่ประคองข้อมือลดอาการมือชา
- การใช้ที่ประคองข้อมือจะช่วยให้ข้อมือขยับได้ลดลง ทำให้เส้นประสาทได้พักการใช้งาน ทำให้อาการมือชาดีขึ้นได้
- ใช้ในระหว่างวัน กรณีที่เราใช้ข้อมือทำงานที่ต้องขยับมากๆ
- ใช้ตอนกลางคืน ช่วยให้ขณะที่หลับ ข้อมือไม่ต้องงอ หรือพับ โดยที่ไม่รู้ตัวนานๆ
มือชา บริหารอย่างไร ท่าบริหารทำอย่างไร
-
การบริหารข้อมือช่วยลดอาการมือชา จะเป็นการบริหารเพื่อช่วยให้เส้นประสาท median nerve ลอดผ่านช่องโพรงข้อมือได้ดีขึ้นครับ เรียกว่า Nerve gliding exercises
- ลองดูที่ภาพครับ ทำตามได้เลย โดยแนะนำว่าทำท่า 1-6 ต่อเนื่องกัน 5 รอบ สามารถทำได้บ่อยๆ ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
ยาแก้มือชา ทานยาอะไรดี
ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเรื่องการทานยาเพื่อรักษาอาการมือชาได้ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS)
มือชา ขาดวิตามินอะไร กินอะไรดี สมุนไพรแก้มือชาดีไหม
- วิตามิน B6 และ B12 อาจช่วยให้อาการชามือดีขึ้นได้ในบางรายครับ
-
ยังไม่มีหลักฐานที่ดีพอที่จะบอกว่า วิตามิน B6 และ B12, วิตามินอื่นๆ, อาหาร, อาหารเสริม ชนิดใดที่จะช่วยรักษาอาการชามือจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทได้นะครับ
ฉีดยาสเตียรอยด์ที่ข้อมือรักษามือชา
- ยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบเฉพาะจุดได้ดี เมื่อฉีดเข้าไปที่โพรงข้อมือ จะช่วยลดการอักเสบบริเวณดังกล่าว ลดอาการบวม และทำให้การกดทับเส้นประสาทลดลงได้
-
อาการชามือจะดีขึ้นในเวลา 1-2 วันหลังฉีดครับ แต่อาจจะดีขึ้นชั่วคราว และกลับมามีอาการอีกได้ ถ้ายังไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าการใช้ข้อมือ พฤติกรรมการทำงานที่ดีพอ
- การฉีดยาสเตียรอยด์ สามารถฉีดได้มากกว่า 1 ครั้งครับ แต่ควรเว้นระยะห่างของการฉีดยาประมาณ 3 เดือนขึ้นไป
ผ่าตัดรักษา
- การผ่าตัดรักษาอาการมือชาสามารถทำได้ครับ เมื่อรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผลมาระยะหนึ่ง
- ปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัดนะครับว่า อาการเป็นมากประมาณนี้ รักษาด้วยวิธีต่างๆมาแล้วแต่ยังไม่หาย สามารถผ่าตัดได้หรือไม่
-
ถ้ามีอาการกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือฝ่อ แนะนำให้ผ่าตัดรักษานะครับ ถ้าปล่อยไว้อาจจะไม่สามารถรักษาให้มือกลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิมได้
- การรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถทำได้โดยเป็นผ่าตัดเล็กครับ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องบล็อกหลัง สามารถฉีดยาชา แล้วผ่าตัดได้เลย หลังผ่าตัดถ้าไม่มีอาการผิดปกติอะไร ก็สามารถกลับบ้านไปพักได้เลยเช่นกัน
ผ่าตัดพังผืดที่มือ พักฟื้นกี่วัน
- การผ่าตัดเนื่องจากเป็นผ่าตัดเล็กครับ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องบล็อกหลัง สามารถฉีดยาชา แล้วผ่าตัดได้เลย หลังผ่าตัดถ้าไม่มีอาการผิดปกติอะไร ก็สามารถกลับบ้านไปพักได้เลยเช่นกัน
- ตัดไหม 10-14 วันหลังผ่าตัด
- สามารถทำงานเล็กๆน้อยๆได้ทันทีหลังผ่าตัด
- อาการปวด ชา แปล๊บๆ จะดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์
- อาการอ่อนแรง กำของไม่แน่น จะดีขึ้นใน 2-3 เดือน
สรุป
อาการมือชา สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ พังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท อาการชาจะชาที่ฝ่ามือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ สามารถรักษาได้ด้วยการปรับท่าทางการทำงาน การทำกายภาพบำบัดและการใช้ยา ถ้าไม่ดีขึ้นจะรักษด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ และการผ่าตัด
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล