เจ็บส้นเท้า คือ อาการเจ็บหรือปวดบริเวณส้นเท้า ส่วนใหญ่มักปวดแบบจี๊ดๆ มักจะเกิดขณะที่เดิน หรือวิ่ง มีสาเหตุการเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น รองช้ำ เอ็นร้อยหวายตึงเกินไป หรือใช้งานเท้ามากเกินไปก็ได้ โดยโรคต่าง ๆจะมีอาการและการตรวจร่างกายที่แตกต่างกัน
การรักษาต้องรักษาทั้งอาการเจ็บ และต้องรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เจ็บด้วย รวมถึงต้องพยายามให้รบกวนกับกิจวัตรประจำวันให้น้อยที่สุด การรักษาจึงจะหายได้ในระยะยาว
โรครองช้ำ เจ็บหรือปวดแปล๊บๆ จี๊ดๆ ที่ส้นเท้าตอนเช้า
อาการเจ็บส้นเท้าจากโรครองช้ำ (plantar fasciitis) จะเจ็บเหมือนเข็มทิ่ม เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจี๊ดๆ มักมีอาการตอนเช้า หรือว่าตอนเริ่มเดิน เช่นตอนตื่นนอน ตอนนั่งรถนานๆแล้วลงจากรถ นั่งทำงานนานๆแล้วลุกเดินก็มีอาการได้ ส่วนใหญ่พอเดินใช้งานไปสักพัก อาการก็จะดีขึ้น
โรครองช้ำเกิดจากอะไร
โรครองช้ำมีสาเหตุมาจากพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ โดยพังผืดฝ่าเท้าจะยึดจากกระดูกส้นเท้าไปบริเวณกระดูกหน้าเท้า (ตามภาพ) เมื่อมีการใช้งานมากๆ หรือพังผืดฝ่าเท้าตึงเกินไป จุดเกาะของพังผืดฝ่าเท้าบริเวณกระดูกส้นเท้าจะเกิดการอักเสบขึ้น และมีอาการเจ็บส้นเท้าขึ้นมาได้
ทำไมโรคนี้ถึงเจ็บส้นเท้าตอนเช้าๆ
จริงๆแล้วไม่ได้เจ็บตอนเช้าๆอย่างเดียวนะครับ แต่จะเจ็บตอนเริ่มเดินหลังจากนอน หรือนั่งมานานๆ เช่นหลังจากนั่งรถนานๆ หรือนั่งทำงานนานๆ
เนื่องจากขณะนอนตอนกลางคืน (หรือนั่ง) ข้อเท้าของเราจะอยู่ในท่าที่สบายคือจิกข้อเท้าลงเล็กน้อย และเท้าของเราก็จะห่อตัวเล็กน้อยทำให้เอ็นร้อยหวายและพังผืดฝ่าเท้าอยู่ในท่าหย่อนตัว พอตื่นขึ้นมายืนเดินก้าวแรกๆ พังผืดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายจะตึงตัวขึ้นมาทันที ทำให้มีอาการเจ็บส้นเท้าตอนเดินก้าวแรกๆได้ครับ
โรครองช้ำรักษาอย่างไร
การรักษาควรเริ่มตั้งแต่การกายภาพบำบัดอย่างถูกวิธี การใช้ยาช่วยระยะสั้นๆ รวมถึงการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมด้วยครับ
การกายภาพบำบัดรักษารองช้ำ
จะต้องกายภาพบำบัดโดยการยืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้าและบริเวณเอ็นร้อยหวาย ตามภาพได้เลย
การใช้ยารักษาอาการปวดรองช้ำ
ส่วนใหญ่จะเป็นยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อครับ แนะนำว่าควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนใช้ยานะครับ และควรใช้ระยะสั้นๆ พออาการดีขึ้นก็หยุดใช้ยาได้
การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับโรครองช้ำ
ควรใช้รองเท้าที่ส้นนุ่มๆ
ไม่ควรเดินเท้าเปล่าแม้แต่ในบ้าน
และจะให้ดียิ่งขึ้นควรหาซื้อแผ่นรองรองเท้าที่ช่วยซับแรงกระแทกที่ส้นเท้ามาใช้ด้วยจะดีมากครับ โดยแผ่นรองรองเท้าจะใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้นะครับ ไม่ค่อยต่างกันมากครับ
ถ้ารักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ยังมีวิธีรักษาอีกหลายวิธีครับ เช่น การทำช็อคเวฟ หรือการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อคลายความตึง แนะนำว่าปรึกษาแพทย์นะครับถ้าอาการเป็นมาก หรือเป็นเรื้อรังไม่หายสักที
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการช็อคเวฟรักษารองช้ำได้ที่นี่ครับเจ็บหรือปวดส้นเท้าจากไขมันส้นเท้าฝ่อ (Fat pad atrophy)
คนที่มีไขมันส้นเท้าฝ่อจะมีอาการเจ็บส้นเท้าบริเวณกลางส้นเท้าเลยครับ มักเป็นตอนที่เดินใช้งาน เจ็บทุกๆก้าวที่เดิน เดินบนพื้นแข็งๆ หรือเดินไม่ใส่รองเท้าจะเจ็บมาก
ไขมันส้นเท้าฝ่อเกิดจากอะไร
ภาวะนี้มักมีประวัติที่ค่อนข้างชัดเจนครับโดยจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆคือ
มีประวัติฉีดสเตียรอยด์
หรือฉีดยาเข้าบริเวณส้นเท้า ส่วนใหญ่จะถูกฉีดมาหลายครั้ง ซึ่งสเตียรอยด์จะทำให้ไขมันส้นเท้าฝ่อได้ครับ
มีประวัติอุบัติเหตุอย่างรุนแรงบริเวณส้นเท้า
เช่น เคยตกจากที่สูงแล้วเอาส้นเท้าลงพื้น, เคยอุบัติเหตุจราจรแล้วส้นเท้าไปกระแทกของแข็งอย่างแรง หรือว่าเคยมีส้นเท้าแตกจากอุบัติเหตุต่างๆนำมาก่อน
ไขมันส้นเท้าฝ่อรักษาอย่างไร
การรักษาแบบหายขาดเลยทำได้ค่อนข้างยากครับ
เนื่องจากไขมันส้นเท้าเป็นส่วนที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้
เมื่อเกิดขึ้นแล้วการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการครับ โดยเน้นไปที่การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม และการทำกายภาพ
คนที่มีภาวะไขมันส้นเท้าฝ่อควรเลือกรองเท้าที่ส้นนุ่มๆ
รองเท้าส่วนส้นสูงกว่าส่วนหน้าเท้าเล็กน้อยเพื่อให้น้ำหนักตัวเทมาที่หน้าเท้ามากสักหน่อยขณะเดินใช้งาน
และควรมีรองเท้าใส่เดินในบ้านด้วยนะครับ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
ส่วนการทำกายภาพแนะนำว่าควรยืดเหยียดเอ็นร้อยหวายเป็นประจำก็ช่วยให้อาการเจ็บส้นเท้าลดลงได้ครับ
ถ้าเป็นมานาน ไม่หายสักที รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมาก แนะนำว่าลองใช้แผ่นรองรองเท้าแบบสั่งตัดเฉพาะบุคคล เพื่อกระจายแรงบริเวณส้นเท้ามาที่ส่วนอื่นในเท้าก็ช่วยได้ครับ
เจ็บหรือปวดส้นเท้าด้านหลัง เอ็นร้อยหวายตึง ขณะเดิน วิ่ง
อาการนี้มักเกิดจากเอ็นร้อยหวายตึงตัวเกินไปนะครับ ทำให้ ขณะใช้งานเช่นเดินหรือวิ่งหนักๆ ส้นเท้าจะกระแทกพื้นมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเจ็บส้นเท้าขึ้นมาได้
คนที่เป็นโรคนี้มักเป็นคนที่ทำงานที่ต้องยืน เดิน หรือวิ่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น นักกีฬา เกษตรกร พนักงานขายของ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตึงน่องร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการของคนที่ยืนนานๆนั่นเองครับ
การรักษาควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสม และการทำกายภาพบำบัดยืดน่องให้เป็นประจำครับ จะช่วยได้มากๆเลย
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่ต้องยืนทำงานนานๆที่นี่ครับเจ็บหรือปวดส้นเท้าด้านใน มีชาเท้าร่วมด้วย
ถ้ามีอาการปวดส้นเท้าบริเวรด้านในส้นเท้า ตามภาพ ร่วมกับกดเจ็บ และมีอาการชาเท้าร่วมด้วย อันนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทเท้าถูกกดเบียดได้นะครับ
การรักษาเบื้องต้น ให้พักการใช้งานเท้า เช่น การวิ่งยาวๆ การเล่นกีฬาหนักๆที่ต้องกระโดด รวมถึงการเลือกรองเท้าให้เหมาะกับทรงของเท้า
ถ้าใส่รองเท้าสตัดท์สำหรับเล่นฟุตบอล ช่วงนี้ลองเลี่ยงดูนะครับ
และการใส่รองเท้าที่ไม่รัดเกินไปโดยเฉพาะส่วนข้อเท้า
ถ้าไม่หายหรือเป็นเรื้อรัง แนะนำพบแพทย์นะครับ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุของอาการ รวมถึงแนวทางการรักษาด้วยครับ
เจ็บหรือปวดส้นเท้า เมื่อยืนนานๆ เดินนานๆ
คนที่ต้องยืน เดินต่อเนื่องกันนานๆ จะมีอาการปวดหรือเจ็บส้นเท้าขึ้นมาได้นะครับ ยิ่งบางคนที่มีอาชีพที่ต้องใส่รองเท้าเฉพาะแบบ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องใส่รองเท้าคัทชู ตำรวจหรือทหารที่ต้องใส่รองเท้าคอมแบท หรือช่างที่ต้องใส่รองเท้าเซฟตี้ คนกลุ่มนี้จะเจ็บส้นเท้าได้ง่ายขึ้นครับ
มีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และการเลือกรองเท้าดังนี้ครับ
เจ็บหรือปวดส้นเท้า ตอนวิ่ง
เมื่อนักวิ่งวิ่งแล้วเจ็บส้นเท้าอันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เลยครับ ทำให้วิ่งไม่สนุก ไม่มัน เหมือนเดิม สำหรับในนักวิ่งที่จริงจัง ทำให้การซ้อมทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลถึงผลการแข่งขันด้วยนะครับ
เรามีวิธีหาสาเหตุของการเจ็บส้นเท้าตอนวิ่งแบบง่ายๆ โดยดู 3 องค์ประกอบหลักๆ
ร่างกาย
- น่องตึงเกินไป ทำให้ขณะวิ่ง ส้นเท้ากระแทกพื้นหนัก และเจ็บส้นเท้าได้
- ท่าวิ่งไม่เหมาะสม เช่น ก้าวเท้ายาวเกินไป (over strike) วิ่งคล้ายๆกระโดดไปข้างหน้า
- วิ่งลงส้นหนักเกินไป
- ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยสังเกตให้เราขณะวิ่ง จะได้ปรับท่าวิ่งให้ได้ครับ ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นในนักวิ่งสมัครเล่นที่ต้องการซ้อมเพื่อให้วิ่งได้เร็วขึ้น ไกลขึ้น เลยพยายามก้าวเท้ายาวๆ ทำให้ส้นเท้ากระแทกพื้นหนักเกินไปครับ
รองเท้า
- รองเท้าที่เก่าเกินไป หรือวิ่งจนส่วนส้นสึกแล้ว ทำให้รองเท้าซับแรงกระแทกได้ไม่ดีเหมือนเดิมก็ทำให้เจ็บส้นเท้าได้นะครบ
- รองเท้าที่ออกแบบมาให้ส้นต่ำๆ (drop น้อยๆ) หรือรองเท้าสำหรับสายเปลือยเท้า (barefoot running shoe) ถ้าเราใช้ไม่ถูกวิธีก็มีปัญหาเจ็บส้นเท้าได้เหมือนกัน
สิ่งแวดล้อม
- วิ่งในที่พื้นแข็งเกินไป เช่นพื้นซีเมนต์
- วิ่งพื้นลาดเอียง เช่นพื้นลาดเอียงสำหรับระบายน้ำฝน
- วิ่งพื้นขึ้นลงที่ลาดชันมากๆ
- วิ่งพื้นที่ขรุขระเช่นตัวหนอน ดินแดง
สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็ทำให้วิ่งแล้วเจ็บส้นเท้าได้ครับ
สรุป
อาการปวดส้นเท้าหรือเจ็บส้นเท้า สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยการรักษาต้องรักษาตามสาเหตุถึงจะทุเลาอาการลงได้ การจะวินิจฉัยว่าอาการเจ็บส้นเท้าเกิดจากสาเหตุอะไรต้องอาศัยข้อมูลหลายๆด้านเช่น ลักษณะอาการปวด ตำแหน่งที่ปวด ปวดตอนทำอะไร รวมถึงการตรวจร่างกายด้วย
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล