ปวดส้นเท้าบอกโรค
อาการปวดส้นเท้า ถ้าใครที่มีอาการนี้ ไม่สนุกแน่ครับ จะเดิน จะวิ่ง จะไปเที่ยว จะออกกำลังกาย เล่นกีฬาแต่ละทีก็ทำได้ไม่เต็มที่ บางครั้งต้องงดกิจกรรมที่อยากทำเพราะว่าเจ็บส้นเท้าก็มีครับ
เรามาสำรวจดูดีกว่า ว่าอาการปวดส้นเท้าแต่ละจุด เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง และจะรักษาเบื้องต้นอย่างไร
เจ็บส้นเท้าด้านล่าง (บริเวณฝ่าเท้า)
อาการเจ็บส้นเท้าด้านล่าง ถ้าเป็นบริเวณจุดสีแดง
ตำแหน่งนี้จะตรงกับจุดเจ็บรองช้ำครับ
อาการรองช้ำ : จะมีอาการเจ็บส้นเท้าตอนเริ่มเดิน เช่นตอนเช้าๆหลังตื่นนอน เดินแล้วเจ็บแปล๊บๆ จี๊ดๆ พอเดินไปสักพัก อาการเจ็บส้นเท้าจะดีขึ้น
การรักษาเบื้องต้น : ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นด้วยการทำกายภาพด้วยตัวเองครับ ร่วมกับการเลือกรองเท้านุ่มๆ ใส่ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า แต่ถ้าอาการเป็นมาก อาจจะรักษาด้วยการฉีดยา การทำช็อคเวฟ ก็จะทำให้หายเร็วขึ้นได้ครับ
อ่านเพิ่มเรื่องรองช้ำได้ที่นี่ครับอาการเจ็บส้นเท้าด้านล่าง บริเวณจุดสีน้ำเงิน
ตำแหน่งนี้จะตรงกับภาวะไขมันใต้ส้นเท้าฝ่อ นะครับ
อาการภาวะไขมันใต้เท้าฝ่อ : จะมีอาการเจ็บบริเวณกลางส้นเท้าด้านล่าง เจ็บทุกครั้งที่เดินลงน้ำหนัก และอาจจะมีประวัติอุบัติเหตุส้นเท้ากระแทกอย่างรุนแรง หรือกระดูกส้นเท้าหัก นำมาก่อน บางคนจะมีประวัติเคยไปฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณส้นเท้ามาหลายครั้ง
การรักษาเบื้องต้น : ลองเลือกรองเท้าส้นนุ่มๆ หรืออุปกรณ์รองส้นเท้า ที่เรียกว่า heel cup มาใส่ช่วยลดแรงกระแทก หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า ร่วมกับการกายภาพยืดน่อง เพื่อลดแรงกดที่ส้นเท้าตอนเดินลงน้ำหนักครับ
เจ็บส้นเท้าด้านหลัง
เจ็บส้นเท้าบริเวณด้านหลัง จุดสีแดง เป็นตำแหน่งของจุดเกาะเอ็นร้อยหวาย จุดสีน้ำเงิน เป็นตำแหน่งของเอ็นร้อยหวายที่มีอาการอักเสบได้บ่อย
เจ็บส้นเท้าด้านหลัง บริเวณเอ็นร้อยหวาย
จะสามารถเกิดได้ 2 ตำแหน่งครับ คือ
- เจ็บบริเวณจุดเกาะเอ็นร้อยหวาย เรียว่า จุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ หรือ Insertional Achilles tendinitis
- เจ็บบริเวณตัวเอ็นร้อยหวาย ประมาณ 2-3 เซนติเมตร เหนือจุดเกาะเอ็น เรียกว่า เอ็นร้อยหวายอักเสบ หรือ Achilles tendinitis
อาการเอ็นร้อยหวายอักเสบ : จะมีอาการเจ็บ ตึง บริเวณเอ็นร้อยหวาย จะเป็นมากหลังจากใช้งานหนักๆ ไปวิ่ง หรือเล่นกีฬามา ถ้าเป็นมานาน จุดเกาะเอ็นร้อยหวายจะมีกระดูกมาพอก เห็นเป็นตุ่ยๆออกมา จับดูแล้วแข็งๆ กดเจ็บ บางคนเอ็นร้อยหวายจะบวม แดง อักเสบ กดเจ็บบริเวณเอ็นร้อยหวาย
การรักษาเบื้องต้น : ถ้ามีอาการปวดอักเสบอยู่ ให้พัก ทานยาแก้อักเสบ(ปรึกษาเภสัชกรก่อนนะครับ) ประคบเย็น จนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น แล้วมาทำกายภาพยืดน่องเพื่อลดความตึงของเอ็นร้อยหวาย การเลือกรองเท้าที่ส่วนส้นสูงกว่าส่วนหน้าเท้า ก็ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ครับ
นอกจากนั้น การเลือกการออกกำลังกายหลายๆแบบ ให้เอ็นหลายๆส่วนถูกใช้งาน ลดการใช้งานเอ็นร้อยหวายซ้ำๆกัน เช่น วันนี้ไปวิ่ง พรุ่งนี้ไปว่ายน้ำ อีกวันนึงไปเข้าฟิตเนส ก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ ทำให้เราได้ออกกำลังกายบ่อยๆตามต้องการด้วย
อ่านเพิ่มเรื่องเอ็นร้อยหวายอักเสบได้ที่นี่ครับจุดแดง เป็นตำแหน่งที่มีอาการเจ็บ ถ้ามีภาวะข้อเท้าขบด้านหลัง
เจ็บส้นเท้าด้านหลังอีกจุดหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ จุดหน้าต่อเอ็นร้อยหวายครับ
ถ้ามีอาการเจ็บหน้าต่อเอ็นร้อยหวาย เจ็บตรงช่องระหว่างตาตุ่มกับเอ็นร้อยหวาย จุดนี้คือข้อเท้าด้านหลังครับ และมักจะเกิดจากภาวะข้อเท้าขบด้านหลังครับ
อาการข้อเท้าขบด้านหลัง : จะมีอาการเจ็บบริเวณด้านหลังข้อเท้า (แต่หน้าต่อเอ็นร้อยหวาย) โดยจะเจ็บมาก ตอนจิกข้อเท้าลงแรงๆ เช่นตอนกระโดด หรือจิกนิ้วโป้งเท้าลง ก็จะทำให้อาการเจ็บเป็นมากขึ้นได้ บางคนจะเคยมีอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก แบบข้อเท้าจิกลงอย่างแรงนำมาก่อน และมีอาการเจ็บข้อเท้าด้านหลังเรื้อรังหลังจากนั้นครับ
การรักษาข้อเท้าขบด้านหลังเบื้องต้น : ควรเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องจิกข้อเท้าลงแรงๆครับ เช่น เลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดด ปะทะ เปลี่ยนทิศแรงๆ เลือกรองเท้าที่ส้นไม่สูงมาก (ส้นสูงจะทำให้ข้อเท้าต้องจิกลง) ทำกายภาพยืดน่องบ่อยๆก็ช่วยได้ครับ
เจ็บส้นเท้าด้านใน
เอ็นประคองข้อเท้าด้านในอักเสบ จะปวดตามแนวเส้นเอ็น สีแดงในภาพ
อาการเจ็บส้นเท้าด้านใน บริเวณใต้ตาตุ่มใน
บริเวณนี้ จะมีสาเหตุหลักๆได้ 2 โรคครับ
โรคแรก คือเอ็นประคองข้อเท้าด้านในอักเสบ (เอ็น posterior tibial tendon) มักพบในคนที่ใช้งานข้อเท้าหนักๆ แล้วพักไม่พอ เช่น ไปเล่นกีฬาหนักๆ ไปวิ่งมาราธอน หรือยืนทำงานนานๆ และมักพบในคนที่มีทรงเท้าแบนครับ เนื่องจากคนที่เท้าแบนจะทำให้เอ็นเส้นนี้ถูกใช้งานหนักขึ้น
การรักษาเบื้องต้น : ถ้าเอ็นอักเสบจากการถูกใช้งานหนักเกินไป การรักษาควรเป็นการ พัก ประคบเย็น ทานยาแก้อักเสบ (ปรึกษาเภสัชกรก่อนนะครับ) เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยๆเริ่มออกกำลังกายข้อเท้าใหม่ครับ แต่ถ้ามีทรงเท้าแบนร่วมด้วย และอาการเป็นบ่อย หรือไม่ได้ใช้งานหนักอะไรมาก แล้วยังเป็น อันนี้ต้องรักษาแบบเท้าแบนครับ เช่นการทำกายภาพ การใช้อุปกรณ์ประคองอุ้งเท้าแบบต่างๆ
อ่านเพิ่มเรื่องเท้าแบนได้ที่นี่ครับจุดสีน้ำเงิน แสดงบริเวณที่กล้ามเนื้อ Abductor hallucis muscle อักเสบแล้วเจ็บบ่อยๆ
อาการเจ็บส้นเท้าด้านในอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ กล้ามเนื้ออุ้งเท้าอักเสบครับ (Abductor hallucis muscle strain)
โรคนี้พบบ่อยในนักวิ่งระยะไกลครับ เนื่องการการวิ่งต้องใช้กล้ามเนื้อมัดนี้ตลอดเวลา คนที่ซ้อมวิ่ง ต้องเพิ่มระยะ หรือเตรียมไปลงแข่งจะต้องเคยเป็นกันบ้างครับ
การรักษาเบื้องต้น : พัก ทานยาแก้อักเสบ(ปรึกษาเภสัชกรก่อนนะครับ) ประคบเย็น กายภาพยืดเหยียด รวมถึงการนวดเบาๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อหายอักเสบได้เร็ว ครับ
การวิ่งระยะไกล ถ้ามีปัญหาที่จุดนี้บ่อย วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ การฝึกท่าวิ่งหลายๆแบบครับ เช่น ช่วงแรกให้วิ่งลงส้นเท้า ช่วงหลังให้วิ่งลงหน้าเท้า ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อมัดนี้ไม่ถูกใช้งานหนักต่อเนื่องครับ
เจ็บส้นเท้าด้านนอก
เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอกอักเสบ จะมีอาการเจ็บส้นเท้าด้านนอก
อาการเจ็บส้นเท้าด้านนอก พบไม่บ่อยครับ เนื่องจากไม่ค่อยมีอวัยวะให้บาดเจ็บมากนัก ส่วนใหญ่ที่พบ จะเป็น เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอกอักเสบ กับกระดูกส้นเท้าแตก และติดผิดรูปครับ
เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอกอักเสบ
จะมีอาการเจ็บส้นเท้าด้านนอก ใต้ตาตุ่มนอกลงมาประมาณ 1-2 เซนติเมตร กดเจ็บ ใช้งานข้อเท้ามากๆจะเจ็บ บวม และมักจะมีประวัติข้อเท้าพลิกอย่างแรงนำมาก่อนครับ
การรักษาเบื้องต้น : พัก ทานยา ประคบเย็น ให้อาการอักเสบดีขึ้นก่อน ถ้าจะใช้งานต่อ แนะนำการใช้ที่ประคองข้อเท้าครับ เพื่อลดการใช้งานเส้นเอ็นนี้ แต่ถ้าเป็นเรื้อรัง แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมครับ ได้แก่การตรวจร่างกาย เอกซเรย์, การตรวจ MRI เพื่อเช็คดูว่าเอ็นบาดเจ็บจนถึงขั้นฉีกขาดหรือไม่ครับ แล้วจึงวางแผนการรักษาต่อไป
กระดูกส้นเท้าแตก ผิดรูป อาจจะเจ็บบริเวณจุดสีแดงได้
ในคนที่เคยมีกระดูกส้นเท้าแตก บางครั้ง กระดูกจะติดผิดรูป แล้วคลำได้นูนๆ แข็งๆที่ส้นเท้าด้านนอกได้ และเป็นสาเหตุของอาการปวดส้นเท้าด้านนอกได้ครับ ถ้าใครที่มีปัญหานี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์นะครับ อาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อแต่ทรงกระดูกให้เข้าที่ครับ