อาการเจ็บใต้นิ้วเท้าคือ การมีอาการเจ็บใต้นิ้วเท้าโดยส่วนใหญ่จะเป็นขณะยืน เดิน วิ่ง ตอนไม่ได้ลงน้ำหนักจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจจะเป็นนิ้วเดียว หรือหลายๆนิ้วก็ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ใต้นิ้วหัวแม่เท้า แต่นิ้วเท้าอื่นๆก็เป็นได้เช่นกัน
เมื่อมีอาการเจ็บใต้นิ้วเท้า ให้พยายามสังเกตตัวเองดังนี้
- มีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อนหรือไม่ เช่นนิ้วซ้น ตกที่สูง เดินเตะของแข็ง
- อาการเป็นตลอด หรือเป็นๆหายๆ เช่น ต้องเดินใช้งานมากๆถึงจะเป็น
- มีอาการบวมแดงร้อนอักเสบหรือไม่
- อาการเจ็บ เจ็บตอนเดินลงน้ำหนักใช้งาน หรือเป็นตลอดเวลาไม่ต้องลงน้ำหนักก็เจ็บ
- ตำแหน่งเจ็บ เจ็บนิ้วเดียว หรือหลายนิ้ว
- เวลาเจ็บ เจ็บด้านล่าง(ด้านฝ่าเท้า) หรือด้านบน(ด้านหลังเท้า)
- มีอาการอื่นนอกจากเจ็บหรือไม่ เช่น ชานิ้วเท้า นิ้วเท้าผิดรูป
อาการต่างๆเหล่านี้จะทำให้เราสามารถวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอาการเจ็บใต้นิ้วเท้าได้ตรงโรคมากขึ้นครับ
โรคที่ทำให้มีอาการเจ็บใต้นิ้วเท้าที่พบได้บ่อยๆมีอะไรบ้าง
1 โรคเอ็นใต้นิ้วเท้าบาดเจ็บ (turf toe)
โรคนี้คือ เอ็นใต้ข้อนิ้วหัวแม่เท้าซ้นเกิดจากนิ้วเท้าถูกกระดกขึ้นอย่างรุนแรง อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้นิ้วเท้าอย่างแรง ทำให้เอ็นที่อยู่ใต้นิ้วเท้าอักเสบ หรือฉีกขาดได้
ประวัติและอาการที่ทำให้สงสัยภาวะเอ็นใต้นิ้วเท้าบาดเจ็บ
- มีประวัติอุบัติเหตุ นิ้วเท้ากระดกขึ้นอย่างรุนแรง แล้วเจ็บใต้นิ้วเท้าหลังจากนั้น
- เล่นกีฬาที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่เท้าหนักๆ เช่น อเมริกันฟุตบอล ที่ต้องมีการดันหนักๆ
- มีประวัติบวม ฟกช้ำม่วงๆ บริเวณใต้นิ้วเท้า
- จับนิ้วเท้ากระดกขึ้นแล้วเจ็บ กระดกลงจะเจ็บน้อยกว่า
- ถ้าเป็นมาก ตอนอยู่เฉยๆ นิ้วเท้าจะกระดกขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับนิ้วอื่นๆ หรือเท้าข้างปกติ
- อ่อนแรงในการงอนิ้วเท้าลง
การรักษาเบื้องต้น
ถ้ามีอุบัติเหตุนิ้วเท้าซ้น ในท่ากระดกขึ้นอย่างรุนแรง จนข้อนิ้วเท้าบวม แดง ขยับแล้วเจ็บ การรักษาในช่วงแรก ควรจะเป็นการ พัก ยกขาสูงเพื่อลดอาการบวม ประคบเย็น อาจจะทานยาแก้อักเสบระยะสั้นๆเพื่อลดการปวดอักเสบ เดินลงน้ำหนักเท่าที่ไหว
ถ้าอาการเป็นมาก คุณหมอจะแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ประคองเท้า เช่น รองเท้าช่วยเดิน หรือการใส่เฝือกเพื่อให้นิ้วเท้านิ่งที่สุด ลดการบาดเจ็บเพิ่มเติมครับ
ในกลุ่มนักกีฬา จะมีการใช้เทปพันนิ้วเท้า เพื่อช่วยลดการกระดกนิ้วเท้า ช่วยลดอาการปวด และช่วยให้ใช้งานได้ดีขึ้น กลับไปเล่นกีฬาได้ไวขึ้นครับ
การรักษาถ้าเป็นเรื้อรัง
ส่วนใหญ่เอ็นใต้นิ้วเท้าบาดเจ็บจะหายเองได้ จากการพักระยะหนึ่งครับ แต่ถ้าอาการเป็นเรื้อรัง ใช้งานหนักไม่ได้เหมือนเดิน เดินแล้วเจ็บ แนะนำให้พบแพทย์ครับ เพื่อประเมินอาการ เช่น การตรวจร่างกายว่าเป็นภาวะนี้จริงหรือไม่ เอ็นที่บาดเจ็บเป็นระยะไหน มีเอ็นขาดหรือไม่ ส่งตรวจเพิ่มเติมโดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินอาการ และวางแผนการรักษาต่อไปครับ
2 โรคปมประสาทเท้าอักเสบ (Morton neuroma)
เส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกที่นิ้วเท้า จะอยู่ระหว่างกระดูกฝ่าเท้าครับ ในบางครั้งเส้นประสาทเป็นปม หรือบวมอักเสบขึ้นมา จะทำให้มีอาการเจ็บใต้นิ้วเท้าได้ครับ
ประวัติและอาการที่ทำให้สงสัยภาวะเอ็นใต้นิ้วเท้าบาดเจ็บ
- เจ็บใต้นิ้วเท้า ตอนเดินลงน้ำหนัก
- ไม่มีประวัติอุบัติเหตุที่ชัดเจน
- ทำงานที่ต้องใส่รองเท้าที่บีบหน้าเท้า เช่นรองเท้าคัทชู รองเท้าคอมแบท(ตำรวจ, ทหาร) รองเท้าบูธของเกษตรกร รองเท้าเซฟตี้ของช่าง
- ถ้าใส่รองเท้าที่บีบหน้าเท้าจะมีอาการ ถ้าใส่รองเท้าสบายๆเปิดๆจะไม่มีอาการ
- อาการปวดจะปวดแปล๊บๆ และตำแหน่งที่ปวด ถ้าสังเกตดีๆจะปวดระหว่างนิ้วเท้า ไม่ได้ปวดใต้นิ้วเท้าตรงๆ
- ส่วนใหญ่จะปวดระหว่างนิ้วเท้าที่สาม กับนิ้วเท้าที่สี่ ซึ่งเป็นจุดที่พบเส้นประสาทเป็นปมได้บ่อยที่สุด
- บางคนจะมีอาการชานิ้วเท้าร่วมด้วย
- บางคนจะปวดร้าวมาที่นิ้วเท้าหรือหลังเท้าได้
- บางคนปวดตอนกลางคืนร่วมด้วย
การรักษาเบื้องต้น
ถ้าอาการเจ็บใต้นิ้วเท้าเกิดจากปมประสาทเท้าอักเสบ การรักษาเบื้องต้นทำดังนี้
- พัก ลดการใช้งานหนักๆก่อน
- ทานยา (ต้องพบแพทย์นะครับ ไม่ควรซื้อยาทานเอง) กลุ่มแก้อักเสบ ยาแก้ปวดปลายประสาท วิตามินบำรุงเส้นประสาท
- กายภาพยืดกล้ามเนื้อน่อง เพื่อลดการกระแทกที่หน้าเท้า
- รองเท้า ต้องเลือกที่หน้ากว้างๆ หรือหน้าเปิด พื้นรองเท้านุ่มๆ รองเท้าส่วนส้นเท้าต้องไม่สูงกว่าส่วนหน้าเท้ามากนัก (ถ้าต่างกันมา ส้นสูง หน้าต่ำ น้ำหนักตัวจะเทมาที่ส่วนหน้าเท้ามาก)
- ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ใส่รองเท้าสบายๆ ตลอดเวลา ในบ้านก็ควรมีรองเท้าใส่นะครับ
การรักษาถ้าเป็นเรื้อรัง
ถ้าอาการเจ็บใต้นิ้วเท้าจากปมประสาทเท้าอักเสบเป็นมาระยะหนึ่ง และรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่หาย แนะนำพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ โดยการรักษาขั้นต่อไป
ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำการฉีดยาเข้าไปที่ปมประสาทเพื่อลดการอักเสบเฉพาะจุด การส่งตรวจเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินอาการ รวมถึงการวางแผนผ่าตัดตัดปมประสาทที่ทำให้เจ็บออกไปครับ
3 โรคเจ็บใต้นิ้วเท้าจากนิ้วหัวแม่เท้าเทน้ำหนักมาให้ (Transfer metatarsalgia)
โดยปกติ เท้าของเราจะรับน้ำหนักเป็นจุด 3 จุดครับ คือ หน้าเท้าฝั่งโป้ง หน้าเท้าฝั่งก้อย และส้นเท้า (เหมือนสามขาตั้งกล้อง) โดยภาวะเจ็บใต้นิ้วเท้าจากนิ้วหัวแม่เท้าเทน้ำหนักมาให้ เกิดจากนิ้วหัวแม่เท้ามีการผิดรูป หรือหลวม ทำให้หน้าเท้าฝั่งโป้งไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดี และส่งถ่ายน้ำหนักมาที่ใต้นิ้วเท้าที่สอง หรือสาม ทำให้มีอาการเจ็บใต้นิ้วเท้าได้
ประวัติและอาการที่ทำให้สงสัยภาวะเจ็บใต้นิ้วเท้าจากนิ้วหัวแม่เท้าเทน้ำหนักมาให้
- มีนิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป เช่นนิ้วโป้งเท้าเก
- มีปัญหาเท้าแบน ไม่มีอุ้งเท้า
- เคยมีอุบัติเหตุที่เท้าอย่างรุนแรง เช่นกระดูกเท้าบางตำแหน่งหัก
- เจ็บใต้นิ้วเท้าที่สอง หรือสาม โดยเจ็บเฉพาะตอนเดินลงน้ำหนัก
- ใต้นิ้วเท้าที่สอง หรือสาม จะสังเกตมีตาปลา หรือหนังแข็งๆ เกิดขึ้น
- เป็นๆหายๆมานาน ไม่มีอุบัติเหตุนำมาก่อน
การรักษาเบื้องต้น
ถ้าเป็นมาไม่นาน หรืออาการไม่มาก ลองรักษาด้วยการกายภาพยืดน่องดูครับ จะทำให้การเดินหน้าเท้าลดการกระแทกลงได้ และการเลือกรองเท้าที่พื้นนุ่มๆ หน้ากว้างๆ ส้นต่ำๆ จะช่วยได้ครับ และอย่าลืม
ถ้าเจอรองเท้าคู่ที่ถูกใจ แนะนำซื้อมาใส่ในบ้านด้วยนะครับ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
การรักษาถ้าเป็นเรื้อรัง
แนะนำพบแพทย์ครับ เพื่อตรวจดูว่า เท้าของเรามีปัญหาอะไรหน้าเท้าฝั่งโป้งถึงไม่ยอมทำงานรับน้ำหนัก และจะแก้ไขที่สาเหตุอย่างไรได้บ้าง
นอกจากนี้ คุณหมออาจจะลองให้ใส่แผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคล ก็ช่วยได้ครับ
แต่ถ้าไม่หายจริงๆ อาจจะต้องผ่าตัดเพื่อจัดทรงเท้า ให้กลับมารับน้ำหนักเป็น สามจุดให้ได้เหมือนเดิม อาการเจ็บก็จะหายได้ครับ
สรุป
อาการปวดใต้นิ้วเท้า สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมีอุบัติเหตุ หรือไม่มีก็ได้ การรักษาเบื้องต้นได้แก่การพัก การเลือกรองเท้าที่ถูกต้อง การทำกายภาพ ถ้าไม่หายควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเจ็บครับ