fbpx

กระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้น

เนื้อหาในบทความนี้

กระดูกทับเส้น ภาษาอังกฤษ 

กระดูกทับเส้น เกิดจากอะไร 

ลักษณะกระดูกสันหลังของเรา

หมอนรองกระดูกสันหลังแตก/ปลิ้น

หมอนรองกระดูกสันหลังแตก ทับเส้นประสาท

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกทับเส้น

อาการกระดูกทับเส้น

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระดูกทับเส้น หรือว่าปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ

ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยไว้ หรือรักษาเอง

การรักษากระดูกทับเส้น แก้กระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้น ต้องผ่าตัดไหม ต้องผ่าตัดกรณีไหนบ้าง

กระดูกทับเส้น กายภาพบำบัด

กระดูกทับเส้น ท่าออกกำลังกาย

ท่ายืดกระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้นนวดได้ไหม วิธีนวดกระดูกทับเส้น

สมุนไพรแก้ปวดหลังกระดูกทับเส้น

ท่านอน กระดูกทับเส้น

โยคะแก้กระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้นคือ การที่หมอนรองกระดูกแตก หรือฉีก มากดทับเส้นประสาทบริเวณหลัง ส่งผลให้มีอาการปวดหลังอย่างมาก หลังแข็ง ขยับหลังไม่ได้ อาจจะมีอาการทางระบบประสาทซึ่งเกิดจากเส้นประสาทถูกกด หรือรบกวนได้ เช่น ชาขา อ่อนแรงขา ถ้าเป็นมากและถูกจุดสำคัญจะกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้

กระดูกทับเส้นภาษาอังกฤษ

กระดูกทับเส้น ภาษาอังกฤษ

ใช้คำว่า Herniated disc หรือ Herniated nucleus pulposus

โดยคำว่า Herniated แปลเป็นไทยว่า “ปลิ้น” ส่วนคำว่า Disc หรือ nucleus pulposus แปลว่าหมอนรองกระดูกสันหลัง รวมแล้ว Herniated disc หรือ Herniated nucleus pulposus  แปลว่า หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น

กระดูกทับเส้น เกิดจากอะไร 

กระดูก(สันหลัง)ทับเส้น(ประสาท) เป็นคำกว้างๆ หมายถึงภาวะที่มีกระดูก หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทครับ โดยจะขอเริ่มอธิบายจากกายวิภาคก่อน

ในบทความนี้ เราจะพูดคุยกันถึงกระดูกทับเส้นส่วนเอวเท่านั้นนะครับ

แต่ว่ายังมีโรคกระดูกทับเส้นส่วนอื่นๆด้วยเช่นกัน เช่น กระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้น กระดูกสันหลังส่วนอกทับเส้น แต่ว่าจะพบได้น้อยกว่าครับ อาการและการรักษาก็แตกต่างกันออกไปด้วย

ลักษณะกระดูกสันหลังของเรา

กระดูกสันหลังส่วนต่างๆ

กระดูกสันหลังของเราจะเป็นปล้องๆครับ เริ่มตั้งแต่ส่วนคอ ส่วนอก ส่วนเอว ลงไปถึงก้นกบเลย

โดยแต่ละปล้องของกระดูกสันหลังจะถูก “หมอนรองกระดูก” คั่นอยู่

ลักษณะหมอนรองกระดูกสันหลัง

หมอนรองกระดูกสันหลังที่คั่นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ลงปล้อง

โดยส่วนหมอนรองกระดูกจะมีหน้าที่หลักๆ 2 อย่างด้วยกัน

  1. รับแรงที่เกิดขึ้นต่อกระดูกสันหลัง ขณะที่เราเดิน นั่ง วิ่ง ยกของหนัก หมอนรองกระดูกสันหลังจะทำหน้าที่รับน้ำหนักตลอดเวลา
  2. เป็นส่วนที่ทำให้กระดูกสันหลังขยับได้ ทำให้เรา ก้ม เงย หมุน เอี้ยวตัว ส่วนหลังได้ครับ

หมอนรองกระดูกสันหลังแตก/ปลิ้น

เมื่อหมอนรองกระดูกฉีก แตก ปลิ้น ออกจากตำแหน่งเดิม เราจะเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น หรือหมอนรองกระดูกสันหลังแตก

              หมอนรองกระดูกจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ

  1. ส่วนแก่นกลาง (Nucleus pulposus) (ใส่เจลลี่หรือแยมตรงกลางขนมโดนัท)
  2. ส่วนรอบนอก (Annulus fibrosus) (แป้งโดนัท)

คล้ายๆกับขนมโดนัทที่มีใส้ตรงกลางและแป้งรอบนอก เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ส่วนรอบนอก (Annulus fibrosus)  หรือแป้งโดนัทแตก หรืออ่อนแอลง

ทำให้ส่วน Nucleus pulposus คล้ายๆเจลลี่ หรือแยม ด้านในปลิ้นออกมาตามรอยแยกรอยแตกได้

เรียกภาวะนี้ว่า หมอนรองกระดูกสันหลังแตกหรือปลิ้น

หมอนรองกระดูกสันหลังแตกทับเส้น

หมอนรองกระดูกสันหลังแตกทับเส้นประสาท

หมอนรองทับเส้นคล้ายโดนัท

หมอนรองกระดูกสันหลังลักษณะคล้ายๆกับขนมโดนัทที่มีใส้ตรงกลางและแป้งรอบนอก

หมอนรองกระดูกสันหลังแตก ทับเส้นประสาท

ถ้าหมอนรองกระดูกที่แตก หรือปลิ้นออกไปทับ หรือกด หรือรบกวน เส้นประสาทซึ่งอยู่ด้านหลังกระดูกสันหลัง เราจะเรียกภาวะนี้ว่า (หมอนรอง)กระดูก(สันหลัง)ทับเส้น(ประสาท) หรือเรียกสั้นๆว่า กระดูกทับเส้นนั่นเองครับ

              เมื่อมีกระดูกทับเส้น นอกจากจะมีอาการปวดหลัง หลังแข็ง ขยับหลังแล้วปวดมากแล้ว ในบางครั้งจะมีอาการของเส้นประสาทที่โดนรบกวนด้วย ได้แก่ อาการชา อ่อนแรง หรือกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้

ต่างกับกระดูกทับเส้นสะโพก ภาวะนี้มักจะสับสนกับ กระดูก(สันหลัง)ทับเส้น(ประสาท)ที่เอว ครับ เนื่องจากอาการจะคล้ายๆกัน โดยกระดูกหรือกล้ามเนื้อทับเส้นสะโพก จะมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา จะไม่มีอาการชา อ่อนแรง ครับ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นประสาทสะโพกอักเสบได้ที่นี่ครับ

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกทับเส้น

อ้วนกระดูกทับเส้น

น้ำหนักตัวมากเกินไป

ยกของผิดท่ากระดูกทับเส้น

ยกของหนักผิดท่า ยกของหนักเกินไป ยกของหนักบ่อยๆ

เล่นกีฬากระดูกทับเส้น

ก้มตัว บิดตัว ซ้ำๆ ท่าเดิมๆ เป็นประจำ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำงาน กีฬา หรืองานอดิเรก

อุบัติเหตุกระดูกทับเส้น

อุบัติเหตุ เช่น ยกของผิดท่า ผิดจังหวะ บิดตัวผิดท่า ตกที่สูง

 

อาการกระดูกทับเส้น

จะมีอาการเป็น 2 อย่างหลักๆคือ อาการปวดหลัง และอาการของเส้นประสาทหลังที่ถูกรบกวนครับ

อาการกระดูกทับเส้น

อาการปวดหลัง

  • มีอาการปวดหลังขึ้นมาทันที
  • ขยับตัว ขยับหลัง บิดตัว เอี้ยวตัว แล้วปวดมากขึ้น
  • ไอ จาม ก้มตัวจะปวดหลังมากขึ้น
  • หลังแข็งขยับไม่ได้ เนื่องจากปวดมาก
  • นอนพักแล้วดีขึ้น
กระดูกทับเส้นชาขา
ชาขาตามบริเวณที่เส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทำหน้าที่รับความรู้สึก

อาการทางเส้นประสาทที่ถูกรบกวน หรือโดนกด

  • ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
  • ชาขาตามบริเวณที่เส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทำหน้าที่รับความรู้สึก (เส้นประสาทแต่ละเส้นจะทำหน้าที่รับความรู้สึกในบริเวณที่แตกต่างกันไป)
  • อ่อนแรง ตามกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทถูกกดทำหน้าที่ควบคุม เช่น อ่อนแรงการเหยียดเข่า อ่อนแรงการกระดกข้อเท้า อ่อนแรงการกระดกนิ้วหัวแม่เท้า
  • ถ้าเป็นมาก มีการกดทับเส้นประสาทมาก กดถูกจุดสำคัญ (quada equina syndrome) อาจมีอาการที่ขาทั้งสองข้างได้ อาจรบกวนการปัสสาวะ อุจจาระ (ต้องพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจ ห้ามปล่อยไว้)

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระดูกทับเส้น หรือว่าปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ

              ถ้าไม่แน่ใจ ให้พบแพทย์เพื่อตรวจซักประวัติ และตรวจร่างกายนะครับ

อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ

  • มักจะมีประวัติการใช้หลังหนักๆ เช่น ยกของหนัก ก้มตัวทำงานนานๆ
  • มีอาการปวดหลังอย่างเดียว ปวดหลังเฉพาะส่วนหลัง คลำบริเวณกล้ามเนื้อหลังแล้วแข็ง ตึง
  • ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา
  • ไม่มีอาการทางระบบประสาท ไม่มีชาขา อ่อนแรงขา
  • เดินได้ปกติ (อาจจะเดินแล้วปวด)
  • นอนพักแล้วอาการทุเลาลง เมื่อพัก 1-2 วัน ร่วมกับทานยาแก้ปวด แล้วอาการดีขึ้นจนเกือบปกติ

ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยไว้ หรือรักษาเอง

  • เคยเป็นมะเร็ง
  • น้ำหนักลด
  • ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • ใช้ยาสเตียรอยด์
  • ฉีดยาเข้าเส้นเลือดบ่อยๆ
  • มีประวัติการติดเชื้อต่างๆ เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • อาการปวด พักแล้วไม่หาย ต้องตื่นมาตอนกลางคืนเนื่องจากปวดมาก
  • มีไข้
  • มีประวัติอุบัติเหตุรุนแรง เช่น ตกจากที่สูง, อุบัติเหตุจักรยานยนต์, ยกของหนักแล้วพลาด
  • อุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติ ไม่สามารถกลั้นได้ ปัสสาวะไม่ออก
  • ชารอบก้น
  • ขมิบก้นไม่ได้
  • อ่อนแรง ไม่มีกำลังที่ขา
  • กดเจ็บตามแนวกระดูกสันหลัง
  • อาการเป็นมามากกว่า 1 เดือน
กระดูกทับเส้นแก้ยังไง

การรักษากระดูกทับเส้น แก้กระดูกทับเส้น

            เมื่อมีอาการปวดหลังขึ้นมาทันทีแนะนำว่า

กระดูกทับเส้นรักษาอย่างไร
  • นอนพักในช่วงที่มีอาการปวดรุนแรง ช่วง 2-3 วันแรก ลุกเฉพาะจำเป็นเช่น ลุกเข้าห้องน้ำ ลุกมาทานอาหาร
  • ท่าไหนทำแล้วเจ็บ ให้หลีกเลี่ยง
  • ทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ (ตามคำแนะนำของคุณเภสัชกร หรือแพทย์)
  • เมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว แนะนำให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อรอบๆกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อหน้าท้องฝ่อ หากนอนพักนานเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การก้มตัวทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากเป็นท่าที่ใช้หลังมาก
  • ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูและพัฒนากล้ามเนื้อประคองหลัง

กระดูกทับเส้น ต้องผ่าตัดไหม ต้องผ่าตัดกรณีไหนบ้าง

ผ่าตัดกระดูกทับเส้น
  • รักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล ยังมีอาการปวดหลังมากอยู่
  • มีอาการทางระบบประสาทเป็นอย่างมาก เช่น ชาขามาก อ่อนแรงมากยกขาไม่ไหว
  • มีอาการทางระบบประสาทมากขึ้น เช่น ชามากขึ้น อ่อนแรงมากขึ้น
  • มีอาการทางระบบประสาทส่วนสำคัญ ได้แก่ กลั้นปัสสาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ หรือปัสสาวะไม่ออก

กระดูกทับเส้น กายภาพบำบัด

              การกายภาพบำบัดในโรคกระดูกทับเส้น สามารทำได้ โดยในช่วงเริ่มการกายภาพ ควรมีนักกายภาพบำบัดคอยช่วยก่อนครับจะได้ฝึกได้ถูกท่า ไม่บาดเจ็บเพิ่ม และเมื่ออาการดีขึ้น ก็สามารถกลับมาฝึกที่บ้านได้ครับ

กายภาพบำบัดกระดูกทับเส้น

กายภาพบำบัดกระดูกทับเส้น

การทำกายภาพมีประโยชน์หลายอย่างครับ

  • ช่วยลดอาการปวด เช่นการนวด การประคบ การกระตุ้นไฟฟ้า
  • ช่วยปรับท่าการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกท่ามากขึ้น เช่น ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ
  • ช่วยให้ฝึกให้หลังยืดหยุ่น เพิ่มการขยับของหลังอย่างถูกท่า
  • ช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อพยุงกระดูกสันหลัง (Core muscle)
  • ช่วยแนะนำท่าฝึกที่เหมาะกับเรา ให้มาทำที่บ้าน

กระดูกทับเส้น ท่าออกกำลังกาย

            คนที่เป็นกระดูกทับเส้นสามารถออกกำลังกายได้ครับ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่ต้องกระโดด บิดตัว หรือก้มตัวบ่อยๆ เนื่องจากท่าดังกล่าวจะใช้หลังหนักครับ

              อีกอย่างที่ต้องระมัดระวังมากๆคือ การยกน้ำหนัก (Weight-training exercises) ถ้าจะฝึกยกน้ำหนักต้องระมัดระวังทำให้ถูกท่าจริงๆครับ ห้ามฝืน ห้ามยกเกินกำลัง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมดูแลใกล้ชิดด้วยครับ

ออกกำลังกายกระดูกทับเส้น

ยกของหนัก ควรเลี่ยง

ท่ายืดหลัง กระดูกทับเส้น

แบกน้ำหนักมากๆ

ควรเลี่ยง

ยกน้ำหนักกระดูกทับเส้น

ก้มตัวยกของ

ควรเลี่ยง

ท่ายืดกระดูกทับเส้น

ลองดูบทความในลิ้งค์ด้านข้างนะครับ มีท่ายืดกล้ามเนื้อที่เหมาะกับคนที่เป็นกระดูกทับเส้นที่ครบถ้วนเลย มีคลิปวีดีโอให้ชมด้วย

อ่านเพิ่มเติม ท่ายืดกระดูกทับเส้น

ท่ายืดกระดูกสับเส้น

กระดูกทับเส้นนวดได้ไหม วิธีนวดกระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้นนวด

ถ้าอาการปวดดีขึ้นแล้ว ไม่มีอาการทางระบบประสาท ไม่มีชา อ่อนแรง สามารถนวดได้ครับ

โดยนวดไปตามแนวกล้ามเนื้อหลัง ช่วยคลายความตึงได้ แต่หลีกเลี่ยงการดัดหลัง บิดหลังแรงๆครับ

     ถ้าจะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังมากๆ แนะนำการทำกายภาพบำบัดจะดีกว่ามากครับ นวดได้ตรงจุดกว่า (deep tissue massage)

ประคบร้อน หรือประคบเย็น รวมทั้งมีเครื่องมือกายภาพบำบัดที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อหลังอีกหลายอย่างครับ

สมุนไพรแก้ปวดหลังกระดูกทับเส้น

              เท่าที่ผมทราบ ยังไม่มีสมุนไพรชนิดใดที่ช่วยรักษากระดูกทับเส้นให้หายขาดได้นะครับ

ท่านอน กระดูกทับเส้น

ถ้ามีอาการปวดหลังตอนนอนนี่ไม่ดีแน่ๆครับ คงจะหลับได้ยาก บางคนตื่นมากลางดึกเนื่องจากปวดก็มี ผมขอแนะนำท่านอน 2 ท่า ที่ช่วยลดอาการปวดหลังได้ ถ้ามีกระดูกทับเส้นครับ

โดยท่านอนจะเน้นที่การจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรง ไม่บิด และมีส่วนโค้งตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุด

ท่านอนตะแคงกระดูกทับเส้น

ท่านอนตะแคงสำหรับคนเป็นกระดูกทับเส้น

นอนตะแคง โดยใช้หมอนคั่นบริเวณเข่า
  • โดยหมอนจะช่วยให้ส่วนสะโพกและส่วนหลัง เรียงกันเป็นเส้นตรง ไม่บิดเบี้ยว
  • ถ้ามีช่องว่างบริเวณเอวกับที่นอน ให้ใช้หมอนใบเล็กๆ หรือผ้าขนหนูม้วนๆ รองใต้ส่วนเอวช่วยด้วยครับ
  • หรือจะใช้การนอนตะแคงกอดหมอนข้างก็ได้เหมือนกัน
ท่านอนหงายในคนเป็นกระดูกทับเส้น

ท่านอนตะแคงสำหรับคนเป็นกระดูกทับเส้น

นอนหงาย ใช้หมอนรองใต้น่อง
  • การใช้หมอนรองใต้น่องจะทำให้สะโพกงอเล็กน้อย และช่วยจัดให้กระดูกสันหลังเรียงตัวได้ตามธรรมชาติมากขึ้นด้วย

โยคะแก้กระดูกทับเส้น

              การฝึกโยคะสามารถทำได้ครับ แต่ให้หลีกเลี่ยงการบิดตัวมากๆ การก้มตัวมากๆครับ เนื่องจากเป็นท่าที่ใช้หลังเยอะ

              การฝึกโยคะจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบๆกระดูกสันหลังยืดหยุ่น และแข็งแรงขึ้นครับ โดยแนะนำว่าควรเน้นการฝึก core back muscle exercise

สรุป

กระดูกทับเส้น เป็นโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังแตก มากดทับเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง ทำให้มีอาการปวดหลัง และอาการทางระบบประสาท ถ้าอาการเป็นไม่มากสามารถรักษาด้วยการพัก ทานยา และการทำกายภาพบำบัดได้ แต่ถ้าเป็นมาก จำเป็นที่จะต้องรับการผ่าตัด ป้องกันการเกิดอาการทางระบบประสาทถาวร

บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล