ใบรับรองแพทย์ คือ เอกสารที่ออกโดยแพทย์ เพื่อใช้รับรองสุขภาพเพื่อใช้ประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การทำใบขับขี่ การสมัครงาน การลาป่วย เป็นต้น ซึ่งแต่ละธุรกรรมจะมีรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ที่ต่างกันในบางจุด ดังนั้นการขอใบรับรองแพทย์จึงควรศึกษาชนิดและวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกรรมได้อย่างถูกต้อง
ใบรับรองแพทย์ภาษาอังกฤษ
ใช้คำว่า medical certificate
ความหมายของใบรับรองแพทย์
ความหมายของใบรับรองแพทย์ คือ เอกสารประเภทหนึ่งโดยทั่วไปจะเขียนในกระดาษที่เป็นแบบฟอร์มเฉพาะ
อาจมีคำว่าใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองใบแพทย์ หรือข้อความอื่นที่แสดงว่าเป็นเอกสารที่ออกจากแพทย์ผู้หนึ่งผู้ใด
(ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525)
“เอกสาร” ตามมาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษ หรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นแท้ที่จริงแล้วใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยแพทย์นั้นไม่จำเป็นต้องออกในรูปของกระดาษก็ได้ แต่ในขณะนี้จะออกในรูปแบบของกระดาษเท่านั้น เชื่อว่าในอนาคตอาจออกในรูปแบบอื่น เช่น ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ประเภทของใบรับรองแพทย์
ในปัจจุบันยังไม่มีการแบ่งประเภทของใบรับรองแพทย์ออกมาแบบชัดๆครับ แต่จะใช้ “เหตุผลที่ผู้ป่วยต้องการใบรับรองแพทย์” เป็นหลักในการแบ่งประเภทใบรับรองแพทย์ โดยสามารถแบ่งได้หลักๆดังนี้
- เกี่ยวข้องกับการมาตรวจรักษา
- เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่าย (ค่ารักษาพยาบาล)
- เกี่ยวข้องกับการลางาน (ลาป่วย)
- เกี่ยวข้องกับทางประกัน (เรียกร้องสิทธิทางประกันภัยประเภทต่างๆ)
- เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องหรือดำเนินการทางคดี (เอกสารทางคดี เช่นใบชันสูตรบาดแผล)
นอกจากข้างต้นยังมีการออกใบรับรองแพทย์เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆอีกหลายประเภทเลยครับ
- เพื่อยืนยันการมารับการตรวจที่สถานพยาบาลจริง
- เพื่อใช้ประกอบในการเบิกค่ารักษาพยาบาล
- เพื่อเป็นการรับรองสุขภาพ เช่น ในการศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ, การเดินทางไปต่างประเทศ, การสมัครเข้าทำงาน
- เพื่อขออนุญาต เช่น การขอทำใบขับขี่รถยนต์,การสมัครเป็นคนขายอาหาร, การสมัครเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยหรือเด็ก และอื่นๆ
- เพื่อใช้ในการลาหยุดงาน หรือลาการเรียน
- เพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกร้องทางแพ่ง (ค่าสินไหมทดแทน)
- เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา
- เพื่อให้กับหน่วยงานของทางราชการ เช่น กองทุนเงินทดแทน เพื่อประเมินสภาพของร่างกาย, ประกันสังคม เพื่อรับค่าใช้จ่ายในกองทุนประกันสังคม, กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ
- เพื่อประเมินสภาพของผู้ป่วย, ตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อแจ้งให้ทราบถึง การบาดเจ็บอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจราจร และอื่นๆ
- ใบรับรองแพทย์เพื่อประเมินสภาพของผู้ป่วยแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิ
- เพื่อรับรองเรื่องสติสัมปชัญญะ ประกอบการทำนิติกรรมต่างๆ เช่น การทำหนังสือมอบอำนาจ, หนังสือสัญญาต่างๆ, พินัยกรรม, นิติกรรมอื่นๆ
- เพื่อรับรองสติสัมปชัญญะในการร้องขอต่อศาล เช่น ขอให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือขอให้ศาลสั่งให้พ้นสภาพการเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น
- เพื่อรับรองว่าหายจากโรคแล้ว สามารถทำงานได้
- เพื่อให้กับทางบริษัทประกันภัย ในการเรียกร้องสิทธิตามที่ผู้ป่วยได้เอาประกันไว้
- เพื่อรับรองการเกิด (หนังสือรับรองการเกิด)
- เพื่อรับรองการตาย (หนังสือรับรองการตาย)
จะเห็นได้ว่าใบรับรองแพทย์สามารถนำไปใช้ได้หลายกรณีมากๆ ดังนั้นเมื่อเราจะขอทำใบรับรองแพทย์ ควรระบุสาเหตุการขอให้ชัดเจนด้วยครับ จะได้ใบรับรองแพทย์ที่นำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์
การทำใบขับขี่ การต่อใบขับขี่ใช้ใบรับรองแพทย์ไหม
ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่ต้องการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ทุกชนิดทุกประเภท
ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการทุกครั้ง
ประกอบด้วย การขอใหม่ กรณีไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตผู้ประจำรถมาก่อน การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท
โดยใบรับรองแพทย์นั้นต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของแพทยสภา มีสองส่วนคือ ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเองและส่วนของแพทย์ตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด
สรุปว่า การทำใบขับขี่ไม่ว่าจะเป็น การขอใหม่ การต่อใบอนุญาต การเปลี่ยนชนิด การเปลี่ยนประเภท ต้องมีใบรับรองแพทย์ตามมาตรฐานของแพทยสภาแนบไปด้วยทุกครั้งครับ
สรุปการเตรียมตัวก่อนมารับการตรวจเพื่อทำใบรับรองแพทย์สำหรับทำหรือต่ออายุใบขับขี่
- เตรียมบัตรประชาชน
- ถ้ามีโรคประจำตัวให้แจ้งแพทย์ และนำยาประจำตัวมาด้วย
- ประวัติการผ่าตัด ประวัติการเกิดอุบัติเหตุ การเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ถ้ามีเป็นเอกสาร ควรนำติดตัวมาด้วย
- ถ้าเป็นโรคลมชัก ควรมีประวัติการรักษา ยาประจำ และให้แนบประวัติการรักษาจากแพทย์ผู้รักษาว่าท่านปลอดจากอาการชักมากกว่า 1 ปี
ใบรับรองแพทย์(สำหรับใบอนุญาติขับรถ)
จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ
-
ส่วนที่เกี่ยวกับการรับรองสุขภาพของผู้รับการตรวจ
เป็นการให้ผู้รับการตรวจประเมินสุขภาพด้วยตนเอง ซึ่งสามารถแยกออกเป็นส่วนย่อยได้ คือ
- ชื่อ นามสกุล
- ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้
- บัตรประจำตัวประชาชน (แท้ที่จริงอาจใช้บัตรอื่นได้แต่สมควรเป็นบัตรที่ทางการได้ออกให้)
- ประวัติสุขภาพอย่างง่ายๆ เช่น โรคประจำตัว ประวัติการผ่าตัด ประวัติการเกิดอุบัติเหตุ การเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน
- ประวัติโรคลมชัก
- ในกรณีมีโรคลมชัก ให้แนบประวัติการรักษาจากแพทย์ผู้รักษาว่าท่านปลอดจากอาการชักมากกว่า 1 ปี เพื่ออนุญาตให้ขับรถได้
- ประวัติอื่นๆที่สำคัญ
-
ส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจของแพทย์
ในส่วนนี้คือส่วนที่แพทย์ตรวจและให้การรับรองนั่นเอง ซึ่งสามารถแยกออกเป็นส่วนย่อยได้ คือ
2.1 ส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของแพทย์ผู้ตรวจ
คือ สถานที่ตรวจ วันที่ตรวจ ชื่อแพทย์ผู้ตรวจ เลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
2.2 ส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้รับการตรวจ
- ชื่อ สกุลผู้รับการตรวจ
- วันที่ตรวจ
- น้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต ชีพจร
- การตรวจสภาพร่างกายทั่วไป
- การรับรองว่าผู้ป่วยไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
- ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน
- ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ และอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
- ไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรควัณโรคในระยะอันตราย
- ไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคโรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
ใบรับรองแพทย์ พิษณุโลก
ผู้ที่จะรับใบรับรองแพทย์ สามารถแจ้งวัตถุประสงค์ในการใช้งานใบรับรองแพทย์ ซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยแพทย์ และรับใบรับรองแพทย์ ที่สถานพยาบาลของรัฐได้ทุกที่
นอกจากนั้น ที่โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกก็สามารถแจ้งความจำนงเพื่อตรวจและรับใบรับรองแพทย์ได้เช่นกันครับ
ใบรับรองแพทย์ใช้ได้กี่วัน มีอายุกี่วัน
ใบรับรองแพทย์ให้ใช้ได้ 1 เดือนนับแต่วันที่ตรวจร่างกาย
ใบรับรองแพทย์ ราคา
ในสถานพยาบาลของรัฐ การที่แพทย์ต้องออกใบรับรองแพทย์นั้น “เป็นหน้าที่” และไม่สมควรได้รับค่าตอบแทน
เสมือนกับว่าการออกใบรับรองเป็นส่วนหนึ่งแห่งการประกอบหรือการดำเนินการทางการแพทย์ หรือ“เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” นั่นเอง
ในสถานพยาบาลของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นคลินิก หรือโรงพยาบาล อาจจะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยเป็นค่าธรรมเนียมในการออกใบรับรองแพทย์ครับ
สรุป
ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารที่ออกโดยแพทย์ เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ
การทำใบขับขี่ หรือต่ออายุใบขับขี่ จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ทุกครั้ง ผู้ที่จะทำควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่า จะนำใบรับรองแพทย์ไปใช้ทำใบขับขี่ เพื่อที่แพทย์จะได้ออกใบรับรองแพทย์ได้ตรงกับความต้องการ