ยาแก้ปวดเข่าในการรักษาโรคเข่าเสื่อม
คนที่เป็นเข่าเสื่อมทุกท่านอยากที่จะให้อาการปวด เสียว กรอบแกรบขณะเดินทุเลาลงครับ และพยายามจะเสาะหายาแก้ปวดยารักษายาบำรุงต่างๆมาทาน เพื่อให้หายจากอาการเหล่านี้
นอกจากยาแล้วต้องรักษาในทางอื่นๆควบคู่กันไปด้วยนะครับ
แนะนำ : อ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในคนที่มีเข่าเสื่อมที่นี่
ผมขอแบ่งยาในการรักษาเข่าเสื่อมออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
- ยากินรักษาเข่าเสื่อม
- ยาฉีดรักษาเข่าเสื่อม
แต่ละประเภทมีรายละเอียดยังไง ต้องใช้อย่างไรถึงจะได้ผลและปลอดภัย ลองอ่านดูนะครับ
การใช้ยารับประทานในการรักษาข้อเข่าเสื่อม
ยากินที่ใช้ในการรักษาเข่าเสื่อมจะมี 2 ชนิดหลักๆครับคือ
1
ยาที่บรรเทาอาการปวด อักเสบ ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการปวด เจ็บ อักเสบ ทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรังได้
2
ยาที่ช่วยชะลออาการเข่าเสื่อม ให้เสื่อมช้าลงหน่อย และลดอาการปวดเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเข่าได้ด้วย
1 ยาบรรเทาอาการปวด และอักเสบ
ยากลุ่มนี้ ต้องเข้าใจก่อนครับว่าเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบเท่านั้น ยากลุ่มนี้ไม่สามารถทำให้อาการเสื่อมของเข่าหายไปได้
ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้อย่างถูกวิธี ต้องใช้เฉพาะช่วงที่มีอาการครับ ถ้าไม่มีอาการก็ไม่ต้องใช้
ยากลุ่มนี้มีหลายตัวครับ แต่ผมขอแนะนำยาที่ใช้รักษาเบื้องต้นเท่านั้น
- Acetaminophen หรือว่า Paracetamol นั่นเองครับ สามารถลดอาการปวดได้ดี ผลข้างเคียงน้อย แต่ต้องระวังในผู้ป่วยที่มีโรคตับ และโรคไตนะครับ
- NSAIDS หรือว่ายาแก้อักเสบ สามารถลดอาการปวดชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังได้ดี แต่ต้องระวังในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคกระเพาะ โรคไต ครับ
- Opioids ยากลุ่มนี้ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ดีครับ แต่เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงหลายอย่างถ้าหากใช้ในประมาณสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงต้องใช้ให้น้อยที่สุด และสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็นนะครับ (ยากลุ่มนี้ต้องให้แพทย์สั่งใช้เท่านั้นครับ)
- ยารักษาเสริมอื่นๆ ได้แก่ Pregabalin, Muscle relaxants (ยาคลายกล้ามเนื้อ) และยา กลุ่ม SNRI ครับ อันนี้ต้องปรึกษากับคุณหมอประจำตัวดูนะครับ
เน้นย้ำนะครับ การรักษาด้วยยาต้องอยู่ในความดูและของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้นนะครับ
2 ยารับประทานที่ช่วยชะลออาการเข่าเสื่อมหรือที่เรียกว่ายาบำรุงเข่าเสื่อม
ในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อเลยครับ แต่ตัวยาหลักๆก็คือ Glucosamine sulphate และ Diacerein ครับ
ยากลุ่มนี้จะต้องทานเป็นประจำจึงจะเห็นผลนะครับ (ไม่เหมือนยากลุ่มแรกที่ใช้เฉพาะช่วงที่มีอาการ) จะช่วยลดอาการปวด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเข่าได้เป็นอย่างดี
ยากลุ่มนี้สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยเข่าเสื่อมตั้งแต่ระดับ 1 ขึ้นไปเลยครับ ใช้ได้ทุกอายุ
แนะนำ : อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับยากลูโคซามีนได้ที่นี่ครับ
การใช้ยาฉีดในการรักษาข้อเข่าเสื่อม
ยาฉีดเข้าข้อเข่า เพื่อรักษาเข่าเสื่อม ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนนะครับว่ามียาอะไรบ้าง และยาแต่ละตัวมีผลการรักษาอย่างไร คนไข้แต่ละคนก็เหมาะกับยาไม่เหมือนกัน แต่ผมขอเล่าคร่าวๆว่า ยาฉีดเข้าข้อเพื่อรักษาเข่าเสื่อมนั้นจะแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ
1
ยาฉีดสเตียรอยด์เข้าเข่ารักษาเข่าเสื่อม
ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการปวด ลดบวม และลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็วครับ
แต่ผลการรักษาจะเป็นระยะสั้นคืออาการจะดีขึ้นประมาณ 12 สัปดาห์
ใครควรใช้ยากลุ่มนี้
- คนที่มีข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง และมีอาการปวดเฉียบพลัน ปวดเมื่อไม่ใช้งาน
- รักษาด้วยยาทานไม่หาย
- ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ หรือไม่อยากผ่าตัด
ข้อควรระวัง
- ยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ดังนั้นไม่ควรฉีดบ่อยนะครับ ควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน และฉีดติดต่อกันไม่เกิน 2 ปี
2
ยาฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า (Hyaluronic acid)
ยากลุ่มนี้จะลดอาการปวด ช่วยให้ข้อเข่าลื่นขึ้น ลดอาการฝืด เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน ได้ดีมากๆครับ ในท้องตลาดมียากลุ่มนี้อยู่หลายยี่ห้อมากครับ แต่ละยี่ห้อต้องฉีดเป็นคอร์ส 3-5 เข็ม บางยี่ห้อก็เข็มเดียว ก็มี
ประสิทธิภาพของแต่ละยี่ห้อไม่แตกต่างกันมากครับ
ใครควรใช้ยากลุ่มนี้
- เป็นเข่าเสื่อมระยะกลาง
- เป็นเข่าเสื่อมระยะปลายที่ยังไม่อยากเข้ารับการผ่าตัด
- มีข้อห้ามในการใช้ยาทานบางตัว เช่น NSAIDS
- มีข้อห้ามในการผ่าตัด
แนะนำ : แผ่นพับแนะนำยาฉีดน้ำข้อเข่าเทียมจากกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ยาทารักษาเข่าเสื่อม
กลุ่มยาทานี่ดีมากๆเลยครับ เนื่องจากไม่ต้องทานยา จะได้ลดภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงจากการทานยา และไม่ต้องฉีดยาเข้าเข่าให้เจ็บตัวด้วย
ยาทาที่ช่วยลดอาการปวดจากเข่าเสื่อมได้มี 2 ตัวหลักๆครับ
- ยาทาที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบ ยานี้จะไม่ร้อนนะครับ แต่จะช่วยลดการอักเสบได้
- ยาทาเจลพริก (Capsaicin) ยาตัวนี้ทาแล้วร้อนสมชื่อเลยครับ ช่วยลดปวดได้ดีด้วย
การใช้ยาทา ถ้าทำให้ช่วยลดการใช้ยาชนิดรับประทาน ได้ซัก 1 ตัว แค่นี้ก็ถือว่าเยี่ยมมากๆแล้วครับ
สรุป
ยารักษาอาการปวดเข่ามีทั้งชนิดทานและฉีดเข้าเข่า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวดเข่าและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเข่า โดยการใช้ยาจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เสมอ เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยา
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล