เอ็นข้อศอกอักเสบ (Lateral epicondylitis, Tennis elbow) คือ อาการปวดบริเวณเส้นเอ็นที่ข้อศอกด้านนอก มีสาเหตุมาจากการใช้งานหนักเกินไปของข้อมือ แขนส่วนปลาย และข้อศอก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้งานซ้ำๆ มาเป็นเวลานาน
ทำให้มีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก ร้าว ปวดจนอ่อนแรง และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
Tennis elbow
เนื่องจากโรคนี้มักพบบ่อยในกีฬาที่ใช้ไม้แรกเก็ต โดยเฉพาะนักเทนนิส (ท่าแบคแฮนด์จะใช้กล้ามเนื้อส่วนนี้หนักมากครับ) แต่นอกจากนักกีฬา
อาชีพอื่นๆก็พบได้บ่อยไม่แพ้กันเลย เช่น แม่บ้าน ช่าง หรือพนักงานออฟฟิสที่ต้องกดเมาส์ต่อเนื่องกันทั้งวันก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
ปุ่มกระดูกข้อศอก
จุดที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณศอกด้านนอกคือ บริเวณที่เส้นเอ็นของแขนส่วนปลายมาเกาะที่บริเวณปุ่มกระดูกข้อศอก (ดูในภาพในครับ) เมื่อมีพยาธิสภาพเกิดขึ้น จะทำให้มีอาการปวด ถ้าเป็นมากๆจะปวดร้าวลงแขนส่วนปลายหรือข้อมือได้
อาการของเอ็นข้อศอกอักเสบ
- ปวดบริเวณศอกด้านนอก
- ปวดร้าวลงแขนหรือลงข้อมือ
- ปวดจนอ่อนแรง ขยับข้อมือ ศอก แขนส่วนปลาย และบางครั้งกำมือก็อ่อนแรง
- กำของแน่นไม่ได้
- ขยับศอกได้ลดลง
- รบกวนการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น จับของ ยกของ หมุนลูกบิดประตู ยกแก้วกาแฟ
เอ็นข้อศอกอักเสบเกิดจากอะไร
เกิดจากการใช้งานข้อศอกหนักเกินไปครับ แต่ไม่ได้หมายถึงการยกของหนักๆ หรืออุบัติเหตุหนักๆ นะครับ
แต่ใช้งานหนักหมายถึงการใช้งานซ้ำๆกันวันละหลายๆครั้ง ทุกๆวัน ต่อเนื่องกันมานานๆ เป็นเดือนๆ
ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องเกร็งและขยับข้อมือหรือแขนส่วนปลายซ้ำกันต่อเนื่อง ทำให้เส้นเอ็นที่ควบคุมการทำงานนี้บาดเจ็บ และเกิดการบาดเจ็บสะสมต่อเนื่องยาวนาน
กิจกรรมที่พบทำให้เกิดเอ็นข้อศอกอักเสบได้บ่อย :
- นักกีฬาที่จับไม้ลักษณะเป็นด้าม เช่นนักเทนนิส นักแบตมินตัน
- คนที่ต้องนั่งพิมพ์งานหรือกดเมาส์นานๆ
- พนักงานขับรถที่จับพวงมาลัยต่อเนื่อง
- ช่างซ่อมต่างๆที่จับอุปกรณ์ที่เป็นด้ามเช่นไขควง
- แม่ครัว จับด้ามกระทะ ตะหลิว
- แม่บ้าน จับไม้กวาด ไม้ถูพื้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเอ็นข้อศอกอักเสบได้ง่าย
- อายุ 30-50 ปี เป็นวัยที่ทำงานหนัก ต่อเนื่องนานๆ จนมีการบาดเจ็บได้ง่าย
- อาชีพ ที่ต้องใช้แขนซ้ำๆ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามในการทำงาน
- กีฬาที่ใช้อุปกรณ์ลักษณะเป็นด้ามในการเล่น และนักกีฬาที่ท่าทางการเล่นไม่ถูกต้องหรือไม่มีโค้ชมาคอยให้คำแนะนำ
วิธีรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบ
โดยปกติแล้วเอ็นข้อศอกอักเสบจะหายเองได้ครับ โดยการพัก ลดการใช้งาน ทานยาที่ซื้อจากร้านขายยาเช่นยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวด (ปรึกษาคุณเภสัชกรก่อนนะครับ) แต่ถ้ายังไม่ทุเลาหรือเป็นเรื้อรัง มีคำแนะนำดังนี้ครับ
ลดปวด ปรับพฤติกรรม
- พัก ลดการใช้งาน
- ถ้าเป็นนักกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ลักษณะเป็นด้าม เช่นไม้เทนนิส ไม้แบตมินตัน แนะนำให้ลองปรึกษาโค้ช หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มาปรับท่าทางการเล่นนะครับ
เนื่องจากส่วนใหญ่มีอาการจากการจับไม้ผิดวิธี หรือกำไม้แน่นเกินไป
การใช้ยาคุมการอักเสบ
- ใช้ยาแก้ปวด ร่วมกับยาแก้อักเสบ (ปรึกษาคุณเภสัชกรก่อนนะครับ)
- ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบ
เอ็นข้อศอกอักเสบ ประคบร้อนหรือเย็น
- ถ้ามีอาการปวดอักเสบขึ้นมาหลังจากไปใช้งาน แนะนำให้ประคบเย็นครับ ครั้งละ 20-30 นาทีวันละ 2-3 ครั้ง
- ถ้าเป็นแบบเรื้อรัง ไม่ได้ไปใช้งานมาหนัก แนะนำประคบอุ่นจะช่วยให้เอ็นผ่อนคลาย และกายภาพได้ดีขึ้นครับ
การใช้อุปกรณ์ประคองกล้ามเนื้อบริเวณศอก (tennis elbow support)
อุปกรณ์นี้จะช่วยทำหน้าที่เป็นจุดเกาะเอ็นเทียมให้กับเอ็นที่เกิดการอักเสบขึ้นครับ
ขณะที่เราใช้งาน เอ็นบริเวณข้อศอกจะรับภาระน้อยลง และตึงน้อยลงด้วย
เทคนิคการใช้งาน
- รัดให้ส่วนที่เป็นคล้ายๆหมอน อยู่ปลายต่อจุดที่เจ็บประมาณ 1-2 นิ้ว
- ห้ามรัดบริเวณที่เจ็บ เนื่องจากจะทำให้เจ็บมากขึ้น
- รัดให้แน่นๆหน่อยนะครับ อุปกรณ์จะได้ทำหน้าที่เป็นจุดเกาะเอ็นเทียมได้อย่างดี ขณะใช้งานเช่นเล่นกีฬาหรือทำงาน ให้รัดแน่นๆ พอพัก หรือไม่ได้ใช้งาน ค่อยคลายออกได้
ใช้คลื่นกระแทกรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบ (shockwave therapy)
เครื่องยิงคลื่นกระแทกหรือช็อคเวฟเป็นอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดชนิดหนึ่งนะครับ จะยิงคลื่นกระแทกเข้าไปรักษาส่วนที่เป็นเอ็นที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง ช่วยให้เกิดการอักเสบชนิดดีเกิดขึ้น และทำให้หายจากการอักเสบเรื้อรังได้
เอ็นข้อศอกอักเสบ สามารถรักษาด้วยคลื่นช็อคเวฟได้เป็นอย่างดีเลยครับ ช่วยให้ลดอาการปวด เพิ่มการทำงานของข้อมือและข้อศอกได้ดี รวมถึงหายเร็วกว่าการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดอย่างเดียวด้วยครับ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีช็อคเวฟได้ที่นี่ครับแนะนำว่า ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์ในโรคเอ็นข้อศอกอักเสบครับ นอกจากจะมีอาการปวดเป็นอย่างมาก รบกวนการใช้งานในชีวิต และถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ฉีดได้ 1-2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 เดือนขึ้นไป
การฉีดยาสเตียรอยด์
ในปัจจุบันการฉีดยาสเตียรอย์เพื่อรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันเนื่องจากช่วยลดการอักเสบได้ดี และอาการปวดลดลงอย่างรวดเร็ว
แต่คนไข้ส่วนใหญ่จะกลับมามีอาการอีกเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน
เนื่องจากเอ็นข้อศอกอักเสบ มีสาเหตุ(หลัก)มาจากการบาดเจ็บเรื้อรัง ส่วนการอักเสบซึ่งรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เป็นสาเหตุรอง
นอกจากนั้นการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณข้อศอกอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ถ้าฉีดอย่างไม่ระมัดระวัง หรือฉีดบ่อยเกินไป เช่นอาจเกิดภาวะเอ็นฉีกขาด การติดเชื้อ หรือสเตียรอยด์ทำให้ผิวหนังเกิดด่างขาวได้
ท่าบริหารเอ็นข้อศอกอักเสบ การทำกายภาพบำบัด
การฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อขณะกล้ามเนื้อคลาย (stretching exercise)
เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณแขนส่วนปลายยืดเหยียดได้ดีขึ้นมีวิธีฝึกดังนี้ (ตามคลิปนาทีที่ 1:45)
- จัดท่าเหยียดศอกตรง แขนส่วนปลายคว่ำ
- ให้ใช้มืออีกข้างจับมือดัดให้ข้อมืองอให้ได้มากที่สุด
- พอรู้สึกตึงๆ เจ็บเล็กน้อย อย่าให้เจ็บมาก ค้างไว้ 30-45 วินาทีแล้วพัก
- ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง
การฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อขณะกล้ามเนื้อเกร็งตัว (eccentric strengthening exercise)
มีจุดประสงค์เพื่อให้กล้ามเนื้อยืดเหยียดขณะเกร็งตัว ทำให้การบาดเจ็บเรื้อรังฟื้นฟูได้ดีขึ้น สามารถใช้ดัมเบลล์เบาๆ หรือขวดน้ำ ในการฝึกก็ได้ ลองดูในคลิปนะครับ (นาทีที่ 5:00)
วิธีอื่นๆ ที่ใช้รักษาเอ็นข้อศอกอักเสบ
เช่นการฉีดโบทอก การฉีด PRP (platelet rich plasma) หรือการฝังเข็มก็ช่วยในการรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบได้นะครับ แต่ต้องปรึกษากับคุณหมอประจำตัวก่อนนะครับว่าประสิทธิภาพในการรักษาแต่ละวิธีเป็นอย่างไรและมีข้อเสียอย่างไรบ้าง
เอ็นข้อศอกอักเสบเรื้อรัง
ถ้าเป็นมานาน ไม่หายสักที หรือเป็นๆหายๆ จนไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องการได้ แม้ว่าจะรักษามาอย่างเต็มที่แล้ว แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดนะครับ ว่าเป็นโรคอื่นๆหรือไม่ อาจต้องเอกซเรย์หรือทำสแกนแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ดูด้วยว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
หลังจากนั้นวางแผนการรักษากับคุณหมอและนักกายภาพเพื่อช่วยฟื้นฟูเอ็นที่อักเสบ ถ้าไม่หายจริงๆ อาจลองปรึกษาเรื่องการผ่าตัดก็ได้นะครับ
สรุป
เอ็นข้อศอกอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้งานข้อมือ ข้อศอก แขนส่วนปลายซ้ำๆ กันมานาน ทำให้เอ็นเกิดการบาดเจ็บเรื้อรังขึ้น ส่วนใหญ่เกิดในนักกีฬาที่ใช้อุปกรณ์ที่เป็นด้าม เช่นนักเทนนิส นักแบตมินตัน อาชีพอื่นๆก็เกิดได้เช่นกัน เช่น แม่บ้าน ช่างซ่อมต่างๆ แม่ครัว การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการทำกายภาพบำบัดให้เส้นเอ็นบริเวณข้อศอกแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล