fbpx

รองช้ำ

รองช้ำ

รองช้ำ (โรครองช้ำ, โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ, plantar fasciitis) คือ โรคที่ทำให้มีอาการปวดบริเวณส้นเท้าได้บ่อยมากๆ เกิดจากการอักเสบแบบเรื้อรังของพังผืดฝ่าเท้า ซึ่งยึดบริเวณกระดูกส้นเท้า ไปที่เท้าส่วนหน้า ทำให้มีอาการปวดส้นเท้าตอนเริ่มออกเดิน เช่นตอนตื่นนอนเดินก้าวแรกๆ หรือนั่งทำงานนั่งรถสักพัก แล้วเริ่มเดิน หลังจากที่เดินไปสักพัก อาการปวดส้นเท้าจะลดลง ในบางคนที่อาการเป็นมากๆ อาการปวดอาจมีตลอดเวลาที่เดินเลยก็ได้

รองช้ำเกิดจากอะไร

รองช้ำเกิดจากพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ โดยพังผืดฝ่าเท้าเป็นอวัยวะที่มีในทุกๆคนอยู่แล้วนะครับ

พังผืดฝ่าเท้าของเราจะเกาะจากกระดูกส้นเท้าไปที่ส่วนหน้าเท้า ทำหน้าที่ขึงให้เท้าของเราเป็นอุ้งเท้าขึ้นมา

นอกจากนั้น บริเวณกระดูกส้นเท้ายังมีเอ็นร้อยหวายมาเกาะอยู่ด้วย โดยพังผืดฝ่าเท้ากับเอ็นร้อยหวายจะทำงานผสานกันอยู่ตลอดเวลา

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

พังผืดฝ่าเท้าที่ตึงเกินไป และเอ็นร้อยหวายที่ตึงเกินไป จะทำให้แต่ละก้าวเดินเราใช้งานพังผืดฝ่าเท้ามากกว่าปกติ 

เมื่อเดินมากๆติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จุดเกาะพังผืดฝ่าเท้าก็อักเสบขึ้นมาได้ครับ 

อ่านเพิ่มเรื่องเอ็นร้อยหวายตึงได้ที่นี่ครับ

ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็นรองช้ำ

โรครองช้ำ
  • คนที่มีอายุ 40-60 ปี เป็นช่วงที่ทำงานหนัก ออกกำลังกายหนัก แต่ร่างกายไม่หนุ่มสาวเหมือนเดิมแล้วครับ
  • มีโครงสร้างเท้าผิดรูป ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเท้าแบน, อุ้งเท้าสูง, เอ็นร้อยหวายตึงเกินไป จะพบรองช้ำได้บ่อย และยังเป็นปัญหาที่แก้ไขยากด้วยครับ อาการมักจะเป็นๆหายๆ
อ่านเพิ่มเรื่องเท้าผิดรูปได้ที่นี่ครับ
เจ็บรองช้ำ
  • น้ำหนักตัวมาก ทำให้แต่ละก้าวเดิน พังผืดฝ่าเท้าใช้งานมาก
  • ออกกำลังกายหนัก ส่วนใหญ่จะเป็นนักกีฬาที่ใช้เท้าตลอด เช่นนักวิ่งมาราธอน นักวิ่งสายเทรล (วิ่งขึ้นลงเขา)
  • ทำงานที่ต้องยืนเดินนานๆ หรือใส่รองเท้าเฉพาะแบบ เช่น ครู, ทหาร, ตำรวจ, เกษตรกร, ทำงานที่ต้องใช้รองเท้าส้นสูง

เจ็บรองช้ำ อาการเป็นอย่างไร

  • เจ็บส้นเท้า
  • บางคนอาจเจ็บที่พังผืดฝ่าเท้าบริเวณอุ้งเท้าร่วมด้วย
  • ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียว บางคนก็เป็นทั้งสองข้าง แต่จะมีข้างหนึ่งที่อาการมากกว่า
  • อาการปวดจะเป็นแบบ แปล๊บๆ จี๊ดๆ
รองช้ำอักเสบ
  • อาการมักเป็นตอนเริ่มเดิน เช่นตอนตื่นนอนมาเดินก้าวแรกๆ, หลังจากนั่งประชุมนานๆ หรือนั่งรถไกลๆ แล้วเริ่มเดิน
  • พอเดินไปสักพักอาการปวดจะค่อยๆดีขึ้นไปเอง
  • เดินหรือวิ่งขึ้นลงบันไดหรือที่ชันอาการจะเป็นมากขึ้น
  • หลังจากใช้งานเท้ามาหนักๆ ทั้งวัน อาการปวดส้นเท้าก็จะเป็นอีกได้ (ส่วนใหญ่จะปวดหลังทำกิจกรรมหนักๆ แต่จะไม่ค่อยปวดระหว่างทำกิจกรรมนะครับ)

รักษารองช้ำ (วิธีรักษารองช้ำด้วยตัวเอง)

การรักษารองช้ำต้องทำหลายๆอย่างประกอบกัน และใช้เวลารักษาช่วงหนึ่ง (1-3 เดือน) ไม่มีวิธีรักษาแบบใดๆที่ทำแล้วหายขาดในทันทีครับ

ยากินแก้รองช้ำ

              

ถ้าปวดมากๆ หรือไปใช้งานมาหนักจริงๆ ทานยาแก้อักเสบช่วยลดอาการปวดอักเสบได้ครับ ทานสั้นๆพอทุเลาอาการปวดก็หยุดทาน (ปรึกษาเภสัชกรก่อนทานนะครับ)

โรครองช้ำ กายภาพ

          การรักษารองช้ำด้วยวิธีกายภาพ เป็นวิธีที่ได้ผลดีและทำให้หายขาดได้นะครับ แต่ต้องอดทนนิดนึง ต้องหาเวลาทำกายภาพเป็นประจำ และต้องใช้เวลาสักหน่อยถึงจะเห็นผล

                  การกายภาพสามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้านได้เลยครับ โดยการยืดเหยียดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่สำคัญ 3 ส่วน

โรครองช้ำ กายภาพ

1 ยืดพังผืดฝ่าเท้า

การยืดทำโดย ยกขาข้างที่เจ็บขึ้นนั่งท่าไขว่ห้างตามภาพ  ใช้มือข้างเดียวกับขาข้างที่ยกกระดกข้อเท้าและนิ้วเท้าขึ้น โดยให้ปลายเท้าชี้ไปทางหัวเข่า จะรู้สึกว่าพังผืดที่ใต้ฝ่าเท้าตึงขึ้นมา ค้างไว้ 10-20 วินาทีแล้วพัก ทำประมาณ 10-20 ครั้ง ตอนตื่นนอน และก่อนนอน

กายภาพรองช้ำ

2 ยืดน่องและเอ็นร้อยหวาย

การยืดทำโดย นั่งเหยียดขาตรง ใช้ผ้าขนหนู หรือเข็มขัด คล้องปลายเท้าตามรูป ดึงให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ค้างไว้ 10-20 วินาที ทำประมาณ 10-20 ครั้ง ตอนตื่นนอน และก่อนนอนเช่นกัน

อ่านเพิ่มเรื่องการกายภาพยืดน่องได้ที่นี่ครับ

3 ยืดกล้ามเนื้อโคนขาด้านหลัง

การยืดทำโดย นั่งเหยียดขาตรง เท้าชิดกัน ก้มตัวให้ได้มากที่สุด โดยที่เข่าไม่งอ ค้างไว้ 10-20 วินาที ทำประมาณ 10-20 ครั้ง ตอนตื่นนอน และก่อนนอนเช่นกัน

นวดแก้อาการรองช้ำ

สามารถนวดได้ครับ นวดด้วยตัวเองก็ได้ สะดวกดีด้วยครับ

  • จัดท่าเหมือนยืดพังผืดฝ่าเท้าตามที่อธิบายด้านบน ใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำหาพังผืดฝ่าเท้า และนวดคลึงจุดที่เจ็บ
  • ใช้อุปกรณ์ที่เป็นทรงกลม เช่นลูกเทนนิส หรือลูกบอลเล็กๆ วางบนพื้น แล้วเอาเท้าคลึงบริเวณพังผืดฝ่าเท้า แต่อย่าเหยียบแรงเกินไปนะครับ เดี๋ยวจะยิ่งเจ็บ
  • ลองใช้ขวดแก้วเล็กๆ เช่นขวดแยม นำมาใส่น้ำอุ่นซักครึ่งขวด ปิดฝาให้แน่น วางบนพื้น ให้เราใช้เท้านวดคลึงไปมาครับ พังผืดฝ่าเท้าจะได้ทั้งนวด ได้ทั้งประคบร้อนไปในตัวเลย
รองช้ำเกิดจาก

รักษารองช้ำแบบโบราณ

ต้องเรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้านจะดีกว่าครับ

เนื่องจากอุปกรณ์และวิธีรักษาแบบนี้ จริงๆแล้วถูกต้องตามหลักกายภาพเลยครับ

แล้วแต่ว่าจะชอบแบบไหน ขอให้ทำให้ถูกท่า และสม่ำเสมอ อาการรองช้ำจะดีขึ้นได้ครับ

อุปกรณ์แก้รองช้ำ

ไม้ยืดรองช้ำแบบโบราณ

ที่นวดรองช้ำแบบโบราณ

รักษารองช้ำโบราณ

แท่นเหยียบยืดน่องแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

แท่งนวดรองช้ำ ใช้ร่วมกับท่ายืดพังผืดฝ่าเท้าจะโดนที่สุดครับ

รองเท้าแก้รองช้ำ

              การเลือกรองเท้าก็สำคัญนะครับ ควรเลือกรองเท้าที่ไม่คับ หรือหลวมเกินไป พื้นนุ่มๆ ถ้าได้เป็นรองเท้ากีฬายิ่งดีเลยครับ เนื่องจากพื้นรองเท้าซับแรงกระแทกได้ดี

          ถ้าเลือกคู่ที่ถูกใจได้แล้ว แนะนำว่าควรซื้อมาใส่ทั้งในบ้าน (คู่สะอาด) และนอกบ้าน (คู่สกปรก) เลยครับ เนื่องจากการถอดรองเท้าเดินในบ้าน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในคนที่เป็นรองช้ำนะครับ

อ่านเรื่องรองเท้าสำหรับคนเป็นรองช้ำอย่างละเอียดได้ที่นี่ครับ
รองเท้ารองช้ำ
โรครองช้ำรองเท้า
รองเท้าแก้รองช้ำ

อุปกรณ์แก้รองช้ำ

  • อุปกรณ์รองส้นเท้า มีหลายแบบครับ เน้นที่นุ่มๆ เป็นหลัก
  • แผ่นรองรองเท้า ถ้าจะใช้แบบนี้ ควรใช้กับรองเท้าที่ดึงแผ่นรองรองเท้าเดิมออกได้นะครับ เช่นในรองเท้ากีฬา ไม่อย่างนั้นจะทำให้พื้นรองเท้าหนาขึ้น และรู้สึกอึดอัดขณะใส่ได้
  • อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า สำหรับคนที่มีปัญหารองช้ำร่วมกับเท้าแบน
  • รองเท้าเสริมอุ้งเท้า สำหรับคนที่มีปัญหารองช้ำร่วมกับเท้าแบน
  • แท่นเหยียบยืดน่อง
รองช้ำรักษา
รองช้ำเท้าแบน
รองเท้ารองช้ำ

ฉีดยารักษารองช้ำ

      การฉีดยารักษารองช้ำนั้น ได้ผลครับ แต่จะได้ผลชั่วคราวแล้วอาการจะกลับมาเป็นอีก

เนื่องจากยาที่ฉีดส่วนใหญ่จะเป็นยาชาผสมกับยาสเตียรอยต์ เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว จะกดการอักเสบบริเวณนั้น ทำให้อาการดีขึ้นครับ แต่ถ้าพังผืดฝ่าเท้ายังตึงอยู่ เดี๋ยวอาการก็กลับมาเป็นอีกครับ

การฉีดสเตียรอยด์ยังมีความเสี่ยงอื่นๆด้วยนะครับ เช่น การติดเชื้อ การทำให้ไขมันส้นเท้าฝ่อ และการทำให้พังผืดฝ่าเท้าขาดได้

ฉีดยารองช้ำ

ดังนั้นถ้าจะฉีดมีคำแนะนำดังนี้

  • ฉีดได้ไม่เกิน 2-3 ครั้ง ถ้าไม่หายก็ไม่ควรฉีดอีกแล้ว
  • แต่ละครั้งควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
  • ฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ถ้าเป็นไปได้ควรมีอุปกรณ์อัลตราซาวด์มาช่วยบอกตำแหน่งเข็มด้วยว่าปลายเข็มอยู่บริเวณพังผืดฝ่าเท้า

ช็อคเวฟรักษารองช้ำได้ไหม

              

ช็อคเวฟรักษารองช้ำ

     ช็อคเวฟเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการรักษารองช้ำมากเลยครับ เนื่องจากรักษาได้ผลดี ไม่เจ็บ ไม่ต้องฉีดยา อย่างไรก็ตามถ้าจะให้อาการหายขาดต้องทำร่วมกับการกายภาพเป็นประจำและการเลือกรองเท้าอย่างถูกต้องนะครับ

เกี่ยวกับการรักษารองช้ำด้วยช็อคเวฟ สามารถอ่านต่อได้ครับ

รองช้ำเรื้อรัง

              การรักษารองช้ำจะใช้เวลานานหน่อยนะครับกว่าจะเห็นผลว่าดีขึ้น ควรใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน โดยการรักษาหลักจะเป็นการกายภาพให้ถูกท่า และทำอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับคนที่เป็นมานานๆ เช่นเป็นมาเป็นปีหรือหลายๆเดือนแล้ว แนะนำว่าลองทำตามที่กล่าวไว้ข้างต้นก่อน ตั้งใจทำให้ได้บ่อยๆ ทุกๆวัน อาการอาจจะดีขึ้นก็ได้

                

   

รองช้ำเรื้อรังรักษา

  ถ้าทำกายภาพอย่างถูกท่า ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เลือกรองเท้าที่เหมาะสม อาจทำช็อคเวฟมาบ้างแล้ว ทำมาสักระยะ (1-3 เดือน) แล้วยังไม่ดีขึ้น อาจต้องพบแพทย์แล้วครับ เพื่อตรวจว่า เราเป็นโรครองช้ำจริงหรือมีโรคอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ การรักษาของเราครอบคลุมดีหรือยัง เรามีภาวะเท้าผิดรูปหรือไม่(ทำให้รองช้ำไม่หายขาด) และวางแผนการรักษาด้วยกับคุณหมอต่อไปครับ

ถ้ารักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมาเต็มที่แล้ว คงต้องพึ่งการผ่าตัดแล้วครับ การผ่าตัดรักษารองช้ำนั้นมีหลายวิธีครับ เช่นการส่องกล้องคลายพังผืดผ่าเท้า การผ่าตัดกระดูกงอกส้นเท้า (ถ้ามี) การผ่าตัดคลายความตึงของน่อง

               ซึ่งวิธีการผ่าตัดนั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมอีกทีนะครับ แต่การผ่าตัดส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดเล็ก ได้ผลดี ฟื้นหายไวครับ

รองช้ำผ่าตัด

รักษารองช้ำให้หายขาด

การรักษารองช้ำให้หายขาดจะต้องมีความสม่ำเสมอในการทำกายภาพเพื่อให้พังผืดฝ่าเท้าคลาย รวมถึงเอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่อง

ตามประสบการณ์ในการรักษาของผม คนที่มีปัญหารองช้ำเรื้อรังมักจะเกิดจากทำกายภาพไม่ถูกวิธี ไม่ถูกท่า ไม่สม่ำเสมอ

ถ้าทำทุกอย่างแล้วจริงๆ ทั้งการทานยา กายภาพที่ถูกต้อง การเลือกรองเท้า ทำช็อคเวฟ แล้วยังไม่หายขาด ต้องมาดูที่โครงสร้างเท้าครับว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ เช่นเป็นเท้าแบน หรือเท้าโก่ง ถ้ามีปัญหา อาจลองทำแผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคลเพื่อปรับโครงสร้างเท้าก่อน

ถ้าไม่หายจริงๆอาจพิจารณาผ่าตัดครับ ทั้งการผ่าตัดคลายรองช้ำ และการผ่าตัดจัดทรงเท้า

เป็นรองช้ำแล้วออกกำลังกายได้ไหม

ออกกำลังกายได้ครับ

รองช้ำออกกำลังกาย
  • ไม่ควรหักโหม ถ้ารู้สึกปวดส้นเท้า ควรพัก
  • เลือกรองเท้าให้เหมาะกับชนิดกีฬา ถ้าเป็นรองเท้าผ้าใบได้จะดีที่สุดครับ
  • ก่อนออกและหลังออกกำลังควรยืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้า ยืดเหยียดน่อง และกล้ามเนื้อโคนขาให้ดีก่อน
  • ถ้าเป็นไปได้ ควรเปลี่ยนชนิดกีฬาที่เล่นบ้าง เล่นสลับๆกัน เช่นวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สลับวันกัน

สรุป

รองช้ำหรือพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ จะมีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้าตอนเริ่มเดิน เช่นตื่นนอน หรือหลังจากนั่งมานานๆ การรักษาจะเน้นไปที่การทำกายภาพยืดเหยียดด้วยตัวเอง ยืดพังผืดฝ่าเท้า ยืดน่อง และยืดกล้ามเนื้อโคนขา และการรักษาข้างเคียงเช่น การเลือกรองเท้า อุปกรณ์ช่วยรักษาต่างๆ และการทำช็อคเวฟเพื่อคลายพังผืดฝ่าเท้า

บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล