เนื้อหาในบทความนี้
นิ้วล็อค คือ อาการ เจ็บ ติด ขัด ล็อค ที่นิ้วใดนิ้วหนึ่งขณะงอหรือเหยียดนิ้ว ส่วนใหญ่จะเกิดการ “ล็อค” ขึ้น ในขณะที่เราจะเหยียดนิ้วจากท่างอ นิ้วจะเหยียดไม่ออก ทำให้เราต้องออกแรงเหยียดนิ้วเพิ่ม นิ้วจึงจะคลายล็อค
แต่ถ้าเป็นมากๆ นิ้วจะงอไม่ลงเลย หรือว่านิ้วติดอยู่ในท่างอตลอดเวลา เหยียดไม่ออกเลยก็ได้ โรคนี้เกิดจากเอ็นงอนิ้วไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ลื่นไหลเหมือนในภาวะปกติ มักพบอาการนี้ที่นิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือ
ลองดูที่คลิปนะครับ ว่าอาการนิ้วล็อคเป็นอย่างไร
นิ้วล็อคเกิดจากอะไร
ก่อนอื่นต้องรู้จักเส้นเอ็นงอนิ้วก่อนครับ การที่เราจะงอนิ้วได้นั้นเป็นหน้าที่ของเส้นเอ็นงอนิ้ว เส้นเอ็นนี้จะเชื่อมจากกล้ามเนื้อบริเวณแขนส่วนปลายและไปเกาะที่กระดูกนิ้วชิ้นปลาย ตามรูป เมื่อกล้ามเนื้อทำงาน เอ็นงอนิ้วก็จะถูกดึง และจะไปดึงกระดูกนิ้วชิ้นปลายอีกที ทำให้นิ้วของเรางอได้นั่นเองครับ
เอ็นงอนิ้วของเรานั้นจะลอดไปตามอุโมงค์เส้นเอ็น (pulley) ที่วางตัวไปตามแนวนิ้ว อุโมงค์นี้ช่วยให้เอ็นอยู่แนบกับนิ้วตลอดเวลา และทำให้เอ็นเคลื่อนที่ได้ลื่นไหลด้วย
อุโมงค์เอ็นบริเวณฐานนิ้วที่เรียกว่า A1 pulley จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ้วล็อคขึ้นมาได้
ในคนที่เป็นนิ้วล็อค A1pulley จะมีการอักเสบเรื้อรัง และหนาตัวขึ้น ทำให้เส้นเอ็นงอนิ้วเคลื่อนผ่านได้ไม่สะดวกเหมือนเดิม เมื่อเป็นมากขึ้น ตัวเส้นเอ็นงอนิ้วก็จะเกิดการอักเสบเกิดขึ้นด้วย ทำให้มีอาการ เจ็บ ติด ขัด และ ล็อคได้
นิ้วล็อคมีสาเหตุจากอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากอาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องใช้การ “กำ” มือแน่นๆบ่อยๆนานๆ ครับ การกำมือมักจะเป็นการกำอุปกรณ์ที่เป็นด้าม
- นักกีฬาที่ใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามจับ ไม้เทนนิส ไม้แบตมินตัน ไม้กอล์ฟ
- แม่บ้านต้องกำกระทะ ตะหลิว ต้องบิดผ้าขี้ริ้วเป็นประจำ หรือที่เจอบ่อยๆคือถือถุงหนักๆตอนไปจ่ายตลาด
- ช่างซ่อมต่างๆ ต้องจับค้อน ไขควง เป็นประจำ เป็นต้น
อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก็คือ โรคประจำตัวที่ทำให้มีอาการอักเสบขึ้นในร่างกาย เช่น โรครูมาตอยน์ โรคเบาหวาน ก็ทำให้เป็นนิ้วล็อคได้ง่ายขึ้นได้ครับ
นิ้วล็อคมีอาการอย่างไร
อาการของนิ้วล็อคมีได้ตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมากงอนิ้วไม่ได้ครับ ได้แก่
- นิ้วติดหรือล็อค มักจะเป็นตอนเหยียดนิ้วจากท่างอ
- นิ้วติดหรือล็อค จนต้องใช้มืออีกข้างช่วยจับเหยียด
- เจ็บที่ฐานนิ้ว บริเวณ A1pulley
- ได้ยินเสียง หรือรู้สึกว่ามีเสียง คลิก หรือ ป๊อบ ที่นิ้วขณะงอหรือเหยียด
- นิ้วติดในท่างอ เหยียดนิ้วไม่ออก
- งอนิ้วไม่เข้า
นิ้วล็อคตอนเช้าๆ หรือหลังตื่นนอน เกิดจากอะไร
อาการนิ้วล็อคหลังตื่นนอนเกิดจากขณะที่นอนนิ้วของเราอยู่ในท่างอเล็กน้อยตลอดเวลานอน ซึ่งเป็นช่วงเวลานานหลายชั่วโมง ทำให้นิ้วติดอยู่ในท่านั้นๆได้ (มักจะเป็นเพียงชั่วเวลาหนึ่งหลังตื่นนอน) พอใช้งานไปสักพัก อาการล็อคจะดีขึ้น
ถ้ามีนิ้วล็อคเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน แปลว่าเริ่มๆจะเป็นนิ้วล็อคแล้วครับ ถ้าไม่ดูแลรักษาอาการอาจเป็นมากขึ้นจนมีนิ้วล็อคตลอดเวลาได้
นิ้วล็อคหายเองได้ไหม
เป็นนิ้วล็อคแล้วหายเองได้ครับ แต่ต้องเป็นระยะเริ่มๆนะครับ
เช่นเป็นเฉพาะตอนเช้า เป็นนิ้วล็อคแต่ไม่มีนิ้วติด โดยการรักษาจะต้องพยายามหาให้ได้ว่ากิจกรรมอะไรที่ทำให้เกิดนิ้วล็อค แล้วพยายามเลี่ยงหรือปรับให้ใช้มือน้อยลงครับ
เช่น นักกีฬาที่ใช้มือกำอุปกรณ์กีฬาที่เป็นด้าม ลองกำให้แน่นน้อยลงนิดหน่อยหรือปรึกษาโค้ชดูครับว่า เทคนิคการจับด้ามอุปกรณ์ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร หรือแม่บ้านที่ต้องหิ้วถุงหนักๆเวลาไปตลาด อาจลองเปลี่ยนจากใช้นิ้วหิ้วเป็นรถเข็นแล้วใช้การลากรถแทนก็ช่วยได้ดีครับ
การทำกายภาพด้วยตัวเองที่บ้านก็ช่วยให้นิ้วล็อคหายได้เร็วขึ้นนะครับ ลองอ่านหัวข้อการทำกายภาพด้านล่างดูครับ
นิ้วล็อครักษาที่ไหนดี
รักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิกคุณหมอโรคกระดูกและข้อได้ทุกที่เลยครับ สามารถรับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค รับคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว การทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น การใช้ยา การฉีดยาถ้าจำเป็น
แต่ถ้าเป็นมากจนต้องผ่าตัด คงจะต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลครับ
นิ้วล็อครักษาอย่างไร แก้ง่ายนิดเดียว
การรักษานิ้วล็อคให้ได้ผลดีต้องทำหลายๆอย่างร่วมกันครับ ได้แก่
- การพัก ลดการใช้งานมือและนิ้ว
- การทานยา
- การบริหารนิ้วล็อคและการภายภาพบำบัด
- การฉีดยา
- การผ่าตัด
เรามาดูกันทีละหัวข้อเลยครับ
การพัก ลดการใช้งานมือและนิ้ว
นักกีฬา ที่เจอบ่อยๆคือกีฬาที่ต้องจับด้ามอุปกรณ์
อันนี้ส่วนใหญ่เป็นเทคนิคการจับด้านที่ไม่ถูกต้องครับ ทำให้ต้องกำด้ามอุปกรณ์แน่นเกินไป ทำให้เป็นนิ้วล็อคได้
ลองให้โค้ชปรับวิธีจับด้ามอุปกรณ์ดูนะครับ
นักเพาะกาย เจอได้บ่อยครับ มี 3 กรณี
- กำบาร์ยกน้ำหนักแน่นเกินไป ที่ควรปรับคือ วิธียกบาร์ยกน้ำหนักโดยใช้สันมือ ไม่ต้องใช้การกำมือครับ
- ถ้าเป็นนิ้วล็อคควรเลี่ยงการออกกำลังท่าที่ต้อง “ดึง” ไปก่อน ไปใช้ท่าอื่นๆแทนครับ โดยเฉพาะท่าเล่นกล้ามเนื้อหลัง
- ลูกตุ้มน้ำหนัก ควรเลือกที่ไม่หนักเกินไป ไม่ฝืนเกินไป ทำให้เราไม่ต้องกำด้ามแน่นมาก
แม่บ้าน
- ลดการหิ้วถุงหนักๆ เดินไกลๆ ขณะไปจ่ายตลาด ใช้ตะกร้าติดล้อ หรือรถลากแทน
- กวาดบ้าน ถูบ้าน บิดผ้าขี้ริ้ว ควรหาตัวช่วยมาช่วย
ช่างซ่อม
ส่วนใหญ่นิ้วล็อคจะเกิดจากอุปกรณ์ที่เป็นด้ามและต้องกำแน่นๆเพื่อบิด หรือหมุน
เช่น ด้ามไขควง ลูกบิด สว่าน ควรหาอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรงให้มากที่สุด
นิ้วล็อคกินยาอะไร
นิ้วล็อคสามารถรักษาด้วยการทานยาได้ครับ โดยการทานยาแก้อักเสบระยะสั้นๆ (ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้นะครับ) ส่วนใหญ่อาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วจะดีขึ้น ถ้าทานยาร่วมกับการพักการใช้งานอาการนิ้วล็อคจะหายขาดได้ครับ
นิ้วล็อคกินสมุนไพรอะไรดี
ไม่มีสมุนไพรแก้นิ้วล็อคโดยตรงนะครับ เนื่องจากประเด็นหลักๆในการรักษาก็คือ การพักการใช้งาน โดยต้องพยายามหาให้ได้ว่ากิจกรรมอะไรในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดนิ้วล็อค
ฉีดยารักษานิ้วล็อค
ส่วนใหญ่จะฉีดยาสเตียรอยด์รักษานิ้วล็อคนะครับ จะฉีดเมื่อรักษาด้วยวิธีพักการใช้งาน ทานยา กายภาพแล้วไม่ได้ผล โดยคุณหมอจะฉีดยาเข้าไปบริเวณ A1pulley ที่โคนนิ้วที่ล็อค ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นใน 1 สัปดาห์
แต่ถ้ายังไปใช้งานเยอะเหมือนเดิมอยู่อาการอาจจะเป็นซ้ำได้นะครับ
ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นซ้ำอีกสามารถฉีดยาครั้งที่ 2 ได้ แต่ถ้ายังไม่หายอีก แนะนำรักษาด้วยการผ่าตัดครับ
ฉีดยานิ้วล็อค ราคาเท่าไหร่
ถ้าไปรักษาตามสิทธิ์การรักษาก็ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ ถ้าฉีดตามคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน ก็จะมีค่าใช้จ่ายบ้าง
นิ้วล็อคต้องผ่าตัดไหม
ถ้ารักษามาทุกวิธีข้างต้นแล้วยังไม่หาย หรือเป็นซ้ำบ่อยๆ ก็สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ครับ
การผ่าตัดรักษานิ้วล็อคเป็นผ่าตัดเล็ก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องบล็อกหลัง ไม่ต้องดมยาสลบ สามารถฉีดยาชา และผ่าตัดได้เลย
การดูแลหลังผ่าตัดนิ้วล็อค
การดูแลหลังผ่าตัดนิ้วล็อค การผ่าตัดนิ้วล็อคจะมีแผลประมาณ 1 เซนติเมตร บริเวณโคนนิ้ว
- ดูแลแผลไม่ให้โดนน้ำ
- ปิดแผล 10-14 วัน สามารถตัดไหมได้
- หลังผ่าตัดพยายามกายภาพงอเหยียดนิ้ว ป้องกันการเกิดข้อนิ้วติด
- ทานยาแก้ปวดตามอาการ
- ทานยาฆ่าเชื้อโรคที่คุณหมอให้ตามคำแนะนำ
ผ่าตัดนิ้วล็อคพักฟื้นกี่วัน
- ผ่าตัดนิ้วล็อคไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล สามารถมาผ่าตัดแล้วกลับบ้านได้เลย
- หลังผ่าตัดจะใช้งานมือข้างที่ผ่าได้ลดลง ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ แต่ใช้งานหนักๆหรือเล่นกีฬาไม่ได้
- พักประมาณ 2 สัปดาห์ก็ใช้งานได้ตามปกติแล้วครับ
อาการข้างเคียงผลังผ่าตัดนิ้วล็อค
- ปวดเล็กน้อยบริเวณแผลผ่าตัด ทานยาแก้ปวดทุเลาได้
- มือข้างที่ผ่าตัดบวม แนะนำยกแขนสูง ไม่ห้อยแขนนาน
- นิ้วติด เนื่องจากไม่ขยับนิ้วหลังผ่าตัดอาจจะกลัวเจ็บ หรือกลัวแผลแยก แนะนำให้ขยับนิ้วกายภาพทันทีหลังผ่า (ตามที่คุณหมอแนะนำ)
- แผลผ่าตัดติดเชื้อ แนะนำรักษาความสะอาด อย่าให้แผลโดนน้ำ ทานยาฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของคุณหมอ
สรุป
นิ้วล็อคเป็นโรคที่ทำให้เจ็บบริเวณโคนนิ้ว งอนิ้วแล้วเหยียดไม่ออก เหยียดนิ้วแล้วงอไม่เข้า เกิดจากการใช้งานเส้นเอ็นงอนิ้วมากเกินไปจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง การรักษาจะต้องหากิจกรรมที่กระตุ้นให้เป็นนิ้วล็อคให้ได้ก่อน และปรับ หรือลดการใช้งานนิ้ว รวมถึงการทานยา และกายภาพบำบัดด้วย ถ้ารักษาไม่หายด้วยวิธีดังกล่าวจึงรักษาด้วยการฉีดยา หรือการผ่าตัดครับ
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล