fbpx

เท้าผิดรูป

เท้าผิดรูป

เท้าผิดรูป คือ ความผิดรูปของเท้า อาจจะไม่มีอาการผิดปกติ สามารถใช้งานเท้าได้เต็มประสิทธิภาพ หรือมีอาการก็ได้ เช่น เจ็บ เมื่อยล้าง่าย ข้อเท้าพลิกง่าย ไม่มั่นคง โดยเท้าผิดรูปสามารถมีได้หลายภาวะครับ ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจกัน

เท้าผิดรูป

โดยทั่วๆไป เท้าที่ปกติใช้งานได้ดี จะทำให้เรายืน เดิน ทำงาน เล่นกีฬาได้อย่างสะดวก สบาย ไม่เจ็บ

โดยเท้าของเราประกอบไปด้วย กระดูกจำนวนมาก ข้อต่อ เอ็น กล้ามเนื้อ ประกอบกันเป็นเท้าและข้อเท้า โดยโครงสร้างเหล่านี้เมื่อประกอบกันขึ้นจะมีความมั่นคงแข็งแรง และยังมีความยืดหยุ่น ตามที่ควรจะเป็นด้วย

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการดูแลเท้าเมื่อต้องใช้งานหนักๆ

เมื่อเท้ามีการผิดรูปเกิดขึ้น สาเหตุเกิดได้จาก 3 ปัจจัยดังนี้

  1. ปัจจัยภายนอก เช่นอุบัติเหตุ การใส่รองเท้าไม่เข้ากับทรงเท้า
  2. รูปทรงเท้าที่ผิดตั้งแต่แรกเกิด (อาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการตั้งแต่แรกก็ได้)
  3. โรคอื่นๆที่ส่งผลต่อโครงสร้างเท้า เช่น โรคเบาหวาน รูมาตอยด์

อาการของเท้าผิดรูป

เมื่อมีเท้าผิดรูปเกิดขึ้น อาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ บางคนเท้าผิดรูปมาตลอดชีวิตแต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ อาจเป็นจากความผิดรูปเป็นไม่มาก หรือกิจวัตรที่ทำประจำไม่จำเป็นต้องใช้เท้าเดิน หรือวิ่ง มากๆก็ได้

อาการของเท้าผิดรูปส่วนใหญ่จะรบกวนการใช้งาน เช่น เดินแล้วเจ็บ เดินไกลๆแล้วล้าง่าย หารองเท้าใส่ยาก เป็นต้น

บทความนี้จะรวบรวมลักษณะเท้าผิดรูปที่พบได้บ่อยๆรวมถึงคำแนะนำเบื้องต้นครับ

นิ้วโป้งเท้าเอียงผิดรูป

นิ้วหัวแม่เท้าเก (นิ้วโป้งเท้าเอียง, hallux valgus)

   พบได้บ่อยในผู้หญิง บางความเชื่อก็บอกว่าเกิดจากการใส่รองเท้าหัวแหลมหรือใส่รองเท้าส้นสูง บางความเชื่อก็บอกว่าเกิดจากกรรมพันธ์ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าภาวะนี้เกิดจากสาเหตุอะไร

              อาการของคนที่มีนิ้วหัวแม่เท้าเก ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าบริเวณที่เป็นกระดูกตุ่ยๆออกมา เจ็บตอนเดิน ใส่รองเท้าจะบีบ บางคนก็เสียดสีกับรองเท้าจนเป็นแผล บางครั้งจะมีอาการชาที่นิ้วเท้าได้

   คำแนะนำ

  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสม ได้แก่รองเท้าที่หน้าเท้ากว้างหน่อย ส้นรองเท้าไม่สูงเกินไป ไม่มีส่วนที่บีบหรือเสียดสีกับโคนนิ้วหัวแม่เท้า
  • ใช้อุปกรณ์ประคองนิ้วหัวแม่เท้าถ้ามีอาการเจ็บขณะใช้งาน หรือใส่รองเท้า
  • ถ้าไม่มีอาการ การใช้อุปกรณ์ประคองนิ้วหัวแม่เท้า ไม่มีประโยชน์นัก ไม่สามารถใส่แล้วนิ้วกลับมาตรงเหมือนปกติได้
นิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป
นิ้วโป้งเท้าเอียงที่ดัด
อ่านเพิ่มเติมเรื่องนิ้วโป้งเท้าเอียง
นิ้วเท้าผิดรูป

นิ้วเท้าผิดรูป (hammer toe)

            ลักษณะนิ้วเท้าผิดรูป มีได้หลายแบบครับ เกิดจากเส้นเอ็นควบคุมนิ้วเท้าทำงานไม่สัมพันธ์กัน มักพบในคนที่ใส่รองเท้าไม่พอดีเท้า มีการบีบบริเวณปลายรองเท้าอยู่ตลอด

              อาการของคนที่มีนิ้วเท้าผิดรูป ส่วนใหญ่จะมีปัญหาตอนยืน หรือเดินลงน้ำหนักครับ

เนื่องจากนิ้วเท้าที่จิกพื้น จะทำให้เจ็บตอนเดินได้ รวมถึง ส่วนที่ผิดรูปมักจะไปเสียดสีกับรองเท้า ทำให้เจ็บ เป็นแผล หรือเกิดหนังแข็งๆขึ้นได้ด้วย

คำแนะนำเมื่อเกิดนิ้วเท้าผิดรูป

  • เลือกรองเท้าที่หน้าเท้ากว้างๆ ไม่คับเกินไป ส้นต่ำๆ จะใส่สบาย
  • ไม่ควรเดินเท้าเปล่าในบ้าน เนื่องจากนิ้วที่จิกพื้นจะทำให้เจ็บได้
  • ใช้อุปกรณ์เสริมรองเท้านิ่มๆ ช่วยรองบริเวณที่นิ้วเท้าจิก กด หรือเสียดสีกับรองเท้า
  • ใช้ถุงนิ้วเท้าช่วย
  • กายภาพบำบัดช่วยคลายเส้นเอ็น ทำให้นิ้วตรงขึ้นได้
นิ้วเท้าผิดรูปอุปกรณ์ช่วย
รองเท้านิ้วเท้าผิดรูป
นิ้วก้อยเท้าผิดรูป

นิ้วก้อยเท้าเอียงผิดรูป (Bunionette)

              นิ้วก้อยเท้าเอียงผิดรูป จะมีลักษณะกระดูกตุ่ยๆออกมา มีหนังแข็งๆบริเวณโคนนิ้วก้อยเท้า สาเหตุเกิดจากโครงสร้างของกระดูกฝ่าเท้าผิดรูปนิดหน่อย ร่วมกับการใช้งานลักษณะที่ใช้ด้านข้างเท้ากดกับพื้นนานๆ เช่นนั่งสมาธิ นั่งทำงานกับพื้น

อาการของคนที่เป็นภาวะนี้จะทำให้ขณะเดิน นั่งทับ เช่นนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบจะเจ็บได้ เนื่องจากกระดูกที่ยื่นออกมาไปกดกับพื้น หารองเท้าใส่ยาก เนื่องจากบริเวณนี้จะถูกรองเท้าบีบ และเจ็บได้

คำแนะนำเมื่อมีภาวะนิ้วก้อยเท้าผิดรูป

  • เลือกรองเท้าหน้ากว้างๆ ไม่บีบบริเวณด้านข้างเท้า
  • ใช้อุปกรณ์เสริมกันการบีบและเสียดสีบริเวณที่เจ็บ
  • หลีกเลี่ยงการนั่งทับบริเวณที่เจ็บ โดยเฉพาะท่านั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ
อ่านเพิ่มเรื่องนิ้วก้อยเท้าผิดรูปได้ที่นี่ครับ
เท้าแบนผิดรูป

เท้าแบน (flat foot)

ผิดรูปเท้าแบน

    ลักษณะคนเท้าแบนคือ

  1. ไม่มีอุ้งเท้า (loss of medial longitudinal arch)
  2. หน้าเท้าเอียงออกด้านนอก (forefoot abduction)
  3. ข้อเท้าล้ม (valgus hindfoot)

โดยภาวะนี้บางคนจะไม่มีอาการอะไรเลย สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เดิน วิ่ง เล่นกีฬา แม้แต่เป็นนักกีฬาระดับโลก ก็สามารถทำได้ แต่ถ้ามีอาการ ส่วนใหญ่จะเป็นดังนี้

  • เจ็บ บริเวณต่างๆที่เท้า เช่นบริเวณด้านในเท้า, ด้านข้างเท้า, ด้านหน้าเท้า แล้วแต่ว่าอาการจะเป็นแบบไหน
  • อ่อนแรง วิ่ง ยืน นานๆต่อเนื่องกันไม่ได้ จะล้าเท้า ล้าน่องมาก
  • ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท้า ไม่เร็ว ไม่แรง ไม่นาน

คำแนะนำเมื่อมีภาวะเท้าแบนผิดรูป

  • ถ้ามีภาวะเท้าแบน แต่ไม่มีอาการ แนะนำเรื่องการทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเอง เพื่อให้เอ็นและกล้ามเนื้อเท้าแข็งแรง
  • ถ้ามีภาวะเท้าแบน ร่วมกับมีอาการ ล้า ตึง เจ็บบริเวณต่างๆ อาจลองใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าก่อน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเอง
  • ถ้าไม่มีขึ้นแนะนำพบแพทย์เพื่อทำแผ่นรองรองเท้า หรือตัดรองเท้า
  • ถ้าเป็นมากจริงๆ การผ่าตัดสามารถรักษาอาการเท้าแบนได้ครับ
ที่ประคองเท้าแบน
แผ่นรองเท้าแบน
อ่านเพิ่มเติมเรื่องเท้าแบน
เท้าโก่งผิดรูป

เท้าโก่งผิดรูป

ภาวะเท้าโก่งหมายถึงการมีอุ้งเท้าสูงขึ้นมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีการลงน้ำหนักบริเวณเท้าเปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะลงน้ำหนักที่หน้าเท้า ส้นเท้า และข้างเท้ามากกว่าปกติ รวมถึงส่งผลให้ข้อเท้าเอียงด้วย สาเหตุอาจเกิดจากโรคทางระบบประสาทบางอย่าง หรือบางครั้งก็ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดอาการขึ้นมาเองได้

เท้าผิดรูปข้อเท้าพลิก

ข้อเท้าโก่งจนทำให้ข้อเท้าเอียง ส่งผลให้ข้อเท้าพลิกง่าย

       อาการของคนเท้าโก่งจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ

  1. อาการเจ็บ ส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณหน้าเท้า (บางคนมีหนังแข็งๆขึ้นที่หน้าเท้าหรือมีนิ้วเท้าผิดรูปร่วมด้วย) เจ็บส้นเท้า บางคนโก่งมากๆจะเจ็บบริเวณข้างเท้า
  2. อาการข้อเท้าไม่มั่นคง

เนื่องจากเท้าโก่งมากจนข้อเท้าเอียง ทำให้ขณะเดินข้อเท้าพลิกได้บ่อย และง่าย

คำแนะนำเมื่อมีภาวะเท้าโก่ง

  • เลือกรองเท้าที่เสริมความมั่นคงให้ข้อเท้า เช่นรองเท้าหุ้มข้อ
  • ปรับรองเท้า (ตามคำแนะนำของแพทย์)
  • เลือกพื้นรองเท้านุ่มๆ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
  • ถ้าข้อเท้าไม่มั่นคงมาก อาจต้องใช้อุปกรณ์ประคองข้อเท้าชนิดมีแกนด้านข้าง
เท้าโก่งปรับรองเท้า
เท้าจิกผิดรูป

ข้อเท้าติดในท่าจิกลงจากเอ็นร้อยหวายตึง

              คนที่มีภาวะนี้ ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็นครับ แต่จะมีปัญหาทางเท้าหรือข้อเท้าบางอย่างซึ่งมีสาเหตุมาจากเอ็นร้อยหวายที่ตึงเกินไป ภาวะเอ็นร้อยหวายตึงเกินไปเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น เกิดขึ้นเองตั้งแต่แรก การใส่เฝือกนานๆ การใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ หรือภาวะทางอายุรกรรมบางอย่าง เช่น เบาหวานก็เป็นสาเหตุได

เท้าผิดรูปปวดหลัง

เท้าจิกลงผิดรูป ส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่า ปวดหลังได้

        อาการของภาวะเอ็นร้อยหวายตึงเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการต่างๆหลายอย่างครับ เช่น

  • ปวดเข่า ปวดเอว ปวดหลัง
  • ตึง บริเวณกล้ามเนื้อน่อง
  • เอ็นร้อยหวายอักเสบได้ง่าย
  • รองช้ำ เจ็บส้นเท้าตอนเช้าๆ
  • เจ็บหน้าเท้า
  • เท้าแบน
  • ข้อกลางเท้าเสื่อม
  • นิ้วเท้าผิดรูป จิกพื้น
  • กล้ามเนื้อหน้าข้อเท้าทำงานมากเกินไป (shin splint)

คำแนะนำเมื่อมีภาวะเท้าจิกผิดรูป

  • กายภาพยืดน่อง
  • ใส่รองเท้าเสริมส้นเล็กน้อย เพื่อหย่อนเอ็นร้อยหวาย
  • ผ่าตัดส่องกล้องคลายความตึงเอ็นร้อยหวาย
อ่านเพิ่มเติมเรื่องเอ็นร้อยหวายอักเสบได้ที่นี่ครับ อ่านเพิ่มเติมเรื่องเอ็นร้อยหวายตึงได้ที่นี่ครับ อ่านเพิ่มเติมเรื่องการบริหารเอ็นร้อยหวายตึงได้ที่นี่ครับ

รองเท้าสำหรับเท้าผิดรูป

 ต้องดูก่อนครับว่าผิดรูปแบบไหน อาการเป็นอย่างไร ถึงจะแนะนำรองเท้าได้

การเลือกรองเท้าสำหรับคนที่มีปัญหาเท้าผิดรูปจะแบ่งกว้างๆได้ดังนี้

เท้าผิดรูปรองเท้า

1.เลือกรองเท้าที่มีขายทั่วๆไป แต่เลือกให้เหมาะกับเท้าของเรา เช่น รองเท้าที่หน้ากว้างๆ รองเท้าที่ส้นต่ำๆ รองเท้าหุ้มข้อเสริมความมั่นคง

ที่เสริมรองเท้า

2. รองเท้าทั่วๆไปที่ใช้อุปกรณ์เสริมช่วยให้เข้ากับเท้าของเรา เช่น อุปกรณ์ป้องกันการเสียดสี การบีบ อุปกรณ์ปรับความเอียงส้นเท้าสำหรับคนเท้าแบนหรือเท้าโก่ง อุปกรณ์ปรับความสูงของส้นเท้าสำหรับคนที่มีปัญหาเอ็นร้อยหวาย

แผ่นรองรองเท้าผิดรูป

3. รองเท้าที่ใช้แผ่นรองรองเท้าแบบสำเร็จรูปช่วยปรับทรงเท้า

ตัดรองเท้า

4. การสั่งตัดรองเท้าหรือแผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคล โดยแพทย์เป็นคนให้การวินิจฉัยและออกแบบลักษณะรองเท้า หรือแผ่นรองรองเท้าครับ

ผ่าตัดกระดูกเท้าผิดรูป

ถ้ามีปัญหาเท้าผิดรูป และรักษาด้วยวิธีต่างๆเช่น การปรับรองเท้า การทำกายภาพบำบัดแล้วอาการยังไม่ดี ยังรบกวนการใช้งานเช่น เดินแล้วเจ็บ เดินไกลๆไม่ได้ เดินแล้วข้อเท้าพลิก สามารถพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการผ่าตัดจัดทรงกระดูกเท้าได้ครับ ปัจจุบันนี้ เราสามารถผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นหายไวได้ ในภาวะเท้าผิดรูปบางอย่างที่เป็นไม่มาก

แต่ถ้าเท้าผิดรูป แต่ไม่มีอาการ ยังใช้เท้าได้ตามที่ต้องการอยู่ ส่วนใหญ่จะรักษาโดยการไม่ผ่าตัดนะครับ

เท้าผิดรูปแต่กำเนิด

เท้าผิดรูปแต่กำเนิด สามารถเป็นได้หลายอย่างมากๆครับ เช่น เท้าปุก นิ้วเท้าไม่ครบ นิ้วเท้าติด ควรพบแพทย์ปรึกษาครับว่าภาวะนี้ต้องรักษาอย่างไร สามารถหายไปเองได้หรือไม่ เนื่องจากถ้าเป็นภาวะที่ต้องทำการรักษาไม่หายเอง

ส่วนใหญ่จะมีช่วงวัยที่เหมาะสมในการรักษาอยู่ ถ้าเลยวัยไปแล้วการรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรครับ

เช่นเท้าปุกแต่กำเนิด ควรรักษาให้เร็วที่สุด ดัดเท้า ใส่เฝือก ตั้งแต่วันแรกๆหลังคลอดจะเหมาะสมที่สุด

สรุป

ภาวะเท้าผิดรูปสามารถมีได้หลายรูปแบบ โดยอาการของเท้าผิดรูปอาจจะมีอาการน้อย แทบไม่ต้องรักษา จนถึงเป็นมากจนต้องผ่าตัดรักษาเลยก็ได้ ขึ้นกับว่าเป็นความผิดรูปแบบไหน

บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล