ไม้เท้า 4 ขา คือ อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวเดิน ส่วนใหญ่ทำจากอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงและมั่นคง มีส่วนขา 4 ขา ส่วนปลายขาจะติดยางกันลื่น และมีที่จับมักจะทำจากยาง โฟม ช่วยให้จับกระชับ ไม่ลื่น
ไม้เท้า 4 ขาแบบมาตรฐาน
ไม้เท้า 4 ขา ใช้ในใคร
ไม้เท้า 4 ขา ใช้ในคนที่มีความสามารถในการเดินไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ต้องใช้รถเข็นนั่ง ต้องการการช่วยเหลือ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น มีข้อเสื่อม อักเสบ มีปัญหาทางด้านกระดูกและข้อต่างๆ ภายหลังผ่าตัดกระดูกและข้อที่ขา เช่นสะโพก เข่า ข้อเท้า หรือกระดูกส่วนขาชิ้นต่างๆ หรือคนที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว เช่น เป็นโรคเส้นเลือดในสมอง เป็นต้น
หน้าที่ของไม้เท้า 4 ขา
ไม้เท้า 4 ขาจะทำหน้าที่ช่วยพยุง, ทรงตัว, รับน้ำหนักแทนขา, และช่วยพัก สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดิน การลงน้ำหนัก หรือการทรงตัว
ไม้เท้า 4 ขามีแบบไหนให้เลือกบ้าง
ไม้เท้า 4 ขา แบบมาตรฐาน
ไม้เท้า 4 ขา แบบมาตรฐาน
เป็นแบบที่มีความแข็งแรง มั่นคงมาก แต่มีข้อเสียคือ ผู้ใช้ต้องมีแขนที่แข็งแรงระดับหนึ่ง
เนื่องจากต้องจับไม้เท้า 4 ขา ยกและไปวางไว้หน้าตัวขณะเดิน
ทำให้เมื่อยล้าได้ง่าย การนั่งลง หรือลุกขึ้นจากเก้าอี้หรือที่นอน ก็จะยากสักหน่อยครับ ถ้าไม่คุ้น หรือไม่แข็งแรงพอ
ไม้เท้า 4 ขา แบบพับได้
ไม้เท้า 4 ขา พับได้
จะมีกลไกทำให้พับไม้เท้าให้แบนราบได้ ทำให้พกพาสะดวก เช่น นำขึ้นรถ รถโดยสาร หรือเครื่องบินได้ง่ายสะดวก
แต่เมื่อมีกลไก ก็จะทำให้ความมั่นคงน้อยลงครับ
ดังนั้นถ้าคิดว่าไม่ได้ใช้การพับบ่อยนัก อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้แบบนี้ก็ได้ครับ
ไม้เท้า 4 ขา แบบปรับระดับได้
ลองสังเกตุบริเวณขา จะมีกลไกปรับระดับสูงต่ำอยู่
ไม้เท้า 4 ขา ปรับระดับได้
จะมีกลไกช่วยปรับระดับความสูงของไม้เท้าได้ ช่วยให้ปรับได้พอดีกับสรีระของผู้ใช้ อันนี้ผมคิดว่าจำเป็น ถ้าเลือกได้ควรเลือกแบบปรับระดับได้จะดีกว่าครับ โดยเฉพาะถ้าใช้ในระยะยาว
ไม้เท้า 4 ขา แบบครึ่งตัว
หรือเรียกว่า Hemiwalker
ไม้เท้า 4 ขา แบบครึ่งตัว
ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านเดียวของร่างกาย ส่วนอีกด้านแข็งแรงดี ข้อดีคือ เบากว่า สะดวกกว่า และมั่นคงกว่าไม้เท้าแบบก้านเดียว
ไม้เท้า 4 ขา แบบมีล้อ
ไม้เท้า 4 ขา มีล้อ
ส่วนใหญ่จะมีล้อ 2 ล้อ ติดที่ขาด้านหน้าของไม้เท้า
ทำให้ใช้งานได้สะดวก ไม่ต้องยกไม้เท้า ใช้การ “ดัน” ไม้เท้าเพื่อช่วยเดิน
ข้อดีคือ จะเดินได้เร็วขึ้น และสะดวกขึ้น เนื่องจากไม่ต้องยกไม้เท้า
ข้อเสียคือ ความมั่นคงจะลดลง และอาจเกิดการเลื่อนไม้เท้าไปข้างหน้ามากเกินไป (เลื่อนแล้วลื่นออกไปมากเกิน) โดยไม่ตั้งใจได้
ไม้เท้า 4 ขา แบบมีที่ช่วยลุกยืน
ไม้เท้า 4 ขา แบบมีที่ช่วยลุกยืน (rise assistance walker)
จะมีตัวจับ 2 ระดับ ช่วยให้ลุกจะเตียงหรือเก้าอี้ มาเป็นท่ายืนได้สะดวกขึ้น
ไม้เท้า 4 ขา ติดตัวพยุงแขน (platform attachment)
อุปกรณ์เสริมสำหรับไม้เท้า 4 ขา
- ตัวพยุงแขน (platform attachment) สำหรับคนที่มือไม่แข็งแรงกำมือแน่นไม่ได้ หรือต้องใส่เฝือกที่แขนส่วนปลาย หรือใช้หลังผ่าตัดบริเวณแขน ยังไม่สามารถลงน้ำหนักที่มือได้เต็มที่ อุปกรณ์นี้จะใช้การลงน้ำหนักที่ศอกแทน
- เบรก, ตะกร้าสำหรับใส่ของเล็กๆ, เก้าอี้, หรือนกหวีดขอความช่วยเหลือ
ไม้เท้า 4 ขา แต่ละแบบข้างต้น อาจจะมีคุณสมบัติหลายๆอย่างในตัวเดียวกันก็ได้นะครับ เช่น สามารถยืดหดปรับสูงต่ำได้ และยังสามารถพับได้ และมีล้อด้วย เป็นต้น
เลือกขนาดไม้เท้า 4 ขาให้พอดี
เมื่อเลือกชนิดของไม้เท้า 4 ขาได้แล้ว ต่อมาต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมตัวผู้ใช้ด้วยนะครับ โดยมีแนวทางการเลือกดังนี้
- ให้ยืนตรงกลางของไม้เท้า 4 ขา วางเท้าสบายๆ ห่างกันเล็กน้อย ใช้มือจับบริเวณที่จับให้มั่นคง ให้สังเกตบริเวณข้อศอก ข้อศอกควรงอเล็กน้อย ประมาณ 15-20 องศา
- ถ้าไม้เท้าเตี้ยเกินไป ทำให้ขณะใช้ต้องก้มตัวเดิน จะทำให้ปวดหลังและสะโพก
- ถ้าไม้เท้าสูงเกินไป ทำให้ปวดแขน ไหล่ ขณะใช้งาน
- ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกไม้เท้า 4 ขาที่ปรับขนาดสูงต่ำได้ จะทำให้ได้ขนาดที่เหมาะกับผู้ใช้มากที่สุด
- ควรใช้ไม้เท้า 4 ขาของตัวเอง ไม่ควรยืมคนอื่นมาใช้ เพราะขนาดจะไม่เหมาะกับการใช้งาน
ขณะยืนกลางไม้เท้า 4 ขา และจับที่จับข้อศอกควรงอเล็กน้อย ประมาณ 15-20 องศา
การเลือกไม้เท้า 4 ขาที่ขนาดพอดี จะทำให้ใช้ไม้เท้าได้มั่นคง ปลอดภัย
วิธีการเดินด้วยไม้เท้า 4 ขา
การเดินด้วยไม้เท้า 4 ขา
การเดินด้วยไม้เท้า 4 ขา
- ให้เริ่มจากการยืนก่อน ให้ยืนตรงกลางไม้เท้า จับที่จับให้มั่น เช็คให้มั่นใจว่าขาไม้เท้าทั้ง 4 วางกับพื้นอย่างมั่นคง
- ยกไม้เท้า 4 ขาไปวางไว้หน้าตัว ห่างประมาณ 1 ศอก หรือ 1 ฟุต จับที่จับให้มั่น ดูให้มั่นใจว่าขาไม้เท้าทั้ง 4 วางสัมผัสพื้น
- เดินไปยืนกลางไม้เท้า และทำซ้ำขั้นตอนที่ 1
แนะนำการใช้งานไม้เท้า 4 ขาช่วยเดิน
- ไม่ควรวางไม้เท้า 4 ขาไว้หน้าตัวมากเกินไปขณะเดิน
- ตอนจังหวะเดินให้เดินมาที่ส่วนกลางไม้เท้า 4 ขา ไม่ควรเดินมาชิดด้านหน้าไม้เท้าเกินไป เนื่องจากจะทำให้ล้มหงายหลังหรือคว่ำหน้าได้
- อย่ามัวแต่มองที่เท้า ให้มองไปข้างหน้าด้วย
- ถ้ามีขาข้างที่ไม่ดี (เจ็บ, อ่อนแรง, หลังผ่าตัด, ใส่เฝือก, ขยับไม่ถนัด) กับขาข้างที่ดี ให้ใช้ขาข้างที่ไม่ดีก้าวก่อน แล้วใช้ขาข้างที่ดีก้าวตาม
- ถ้ามือมีปัญหา เช่น กำแน่นไม่ได้ ให้ใช้ platform ช่วย
การใช้งานไม้เท้า 4 ขา ยืนแล้วนั่ง (เก้าอี้, เตียง, ส้วม) ทำอย่างไร
- ยืนหันหลังให้เก้าอี้ที่จะนั่ง
- ค่อยๆถอยหลังจนขาชินเก้าอี้
- ถ่ายน้ำหนักมาขาที่แข็งแรง ขาข้างที่เจ็บ หรืออ่อนแรงค่อยๆเตะขามาหน้าตัว
- มือจากที่จับ walker เปลี่ยนมาจับที่ที่วางแขนทีละข้าง
- ค่อยๆนั่งลงช้าๆ
การใช้งานไม้เท้า 4 ขา นั่งแล้วยืน ทำอย่างไร
- วางไม้เท้า 4 ขา หน้าตัว
- โน้มตัวไปข้างหน้า เอามือจับที่ที่วางแขน ดันตัวขึ้น
- เมื่อยืนขึ้นมาแล้ว เปลี่ยนมือจากจับที่วางแขน มาจับที่ไม้เท้า 4 ขา
- ยืนสักครู่ เมื่อไม่มีอาการหน้ามืด ทรงตัวได้ดีแล้ว จึงค่อยเดิน
- ห้ามดึงหรือเอียงไม้เท้า 4 ขา เพื่อช่วยในการยืนเด็ดขาด จะทำให้อุบัติเหตุล้มได้ง่าย
การลุกมายืน เมื่อใช้ไม้เท้า 4 ขา
การลงนั่ง เมื่อใช้ไม้เท้า 4 ขา
การใช้งานไม้เท้า 4 ขา เดินเลี้ยว
- ก้าวสั้นๆ หมุนทีละนิด
- วงเลี้ยวกว้างๆ ค่อยๆเลี้ยว
- ไม่ควรหมุนเปลี่ยนทิศ 90 องศา ภายในก้าวเดียว เนื่องจากจะทำให้ล้ม หรือเจ็บเข่าได้ง่าย
การใช้งานไม้เท้า 4 ขา ขึ้นขั้น1ขั้น ทำอย่างไร
- เดินมาใกล้ขั้น ให้มากที่สุด
- ยกไม้เท้า 4 ขาวางบนขึ้น เช็คให้มั่นใจว่า ขาทั้ง 4 วางสัมผัสพื้น
- ให้มือจับที่จับให้มั่น ดันตัวขึ้น
- ใช้ขาที่แข็งแรงกว่า ก้าวขึ้นก่อน
- ยกขาอีกข้างหนึ่งตาม
การใช้งานไม้เท้า 4 ขา ลงขั้น 1 ขั้น ทำอย่างไร
- เดินเข้าใกล้ของของขึ้น
- ยกไม้เท้า 4 ขา วางบนพื้นด้านล่าง
- มือจับที่จับให้มั่น
- ก้าวขาที่อ่อน หรือเจ็บ ลงพื้นก่อน
- ก้าวขาอีกข้างหนึ่งตาม
คำแนะนำ
- ไม่ควรเดินขึ้นลงบันไดพร้อมไม้เท้า 4 ขา ควรให้คนอื่นยกไม้เท้าขึ้นหรือลงให้ ผู้ป่วยควรขึ้นลง โดยการใช้การเกาะราวบันได
- ถ้าจำไม่ได้ว่า ขึ้น-ลง ขั้น ควรใช้ขาไหนก้าวก่อน ให้ท่องว่า ขึ้นสวรรค์-ลงนรก แปลว่า ตอนขึ้น ให้ใช้ขาที่ดีกว่าขึ้นก่อน ส่วนตอนลง ให้ใช้ขาที่ไม่ดีลงก่อน
ป้องกันการล้มจากการใช้ไม้เท้า 4 ขา ทำอย่างไร
- ใช้ไม้เท้า 4 ขาที่สภาพดี มั่นคง
- ที่จับจับถนัดมือ ไม่ลื่น
- บริเวณส่วนปลายขา ยางกันลื่นต้องอยู่ในสภาพที่ดี ไม่แตก ลอก บาง
- เปลี่ยนยางกันลื่นถ้ายางไม่ดีแล้ว
- พื้นที่เดิน ต้องไม่ลื่น ไม่เปียก
- รองเท้าต้องเลือกที่ส้นไม่สูงเกินไป และพื้นรองเท้าต้องไม่ลื่น
- เดินทีละก้าวช้าๆ ไม่ควรเดินมือเดียว
- ติดที่แขวน หรือตะกร้าเล็กๆ ช่วยวางของ แขนทั้งสองจะได้ว่างมาจับไม้เท้า 4 ขาได้อย่างมั่นคง
สรุป
ไม้เท้า 4 ขา เป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินที่ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาในการเดิน เช่นลงน้ำหนักไม่ได้เต็มที่ ไม่สามารถทรงตัวได้ หรืออ่อนแรง กลับมาเดินได้อย่างมั่นคงและมั่นใจ ไม้เท้า 4 ขามีเทคนิคการใช้งานที่ผู้ใช้งานต้องเรียนรู้และเมื่อฝึกจนคล่อง ก็จะสามารถใช้งานได้อย่างดี