ปวดสะโพก ร้าวลงขา (piriformis syndrome)
คือโรคกล้ามเนื้อสะโพก (piriformis muscle) อักเสบ และไปเคืองเส้นประสาทสะโพก (sciatic nerve) เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้มีอาการปวดสะโพก ชา และมักมีอาการปวดร้าวลงขา
คนที่มักเป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนะครับ อายุกลางคน (30-50 ปี) เป็นได้ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะยืนนาน นั่งนาน เดินนาน หรือนักกีฬาที่เล่นหนักๆ ก็เป็นโรคนี้ได้
ใครที่เป็นโรคนี้นี่ทรมานมากๆเลยครับ เดิน นอน นั่ง ไม่มีท่าที่สบายเลยสักท่า นั่งนานก็ปวด นอนนานก็ปวด ลุกก็ปวด เดินมากๆก็ปวด
กายวิภาค
ปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดจากกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบไปเคืองเส้นประสาท ดังนั้น ต้องรู้จักกล้ามเนื้อสะโพกที่เป็นปัญหา และเส้นประสาทที่ทำให้ร้าวลงขาก่อนครับ
เรามาทำความรู้จักกล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุของอาการปวดนี้กันครับ “กล้ามเนื้อ Piriformis” กล้ามเนื้อมัดนี้ทำหน้าที่หลักๆคือการหมุนสะโพกออกด้านนอก และให้ความมั่นคงระหว่างการยืน เดิน และการวิ่ง
นอกจากนั้น เรายังต้องรู้จักเส้นประสาทสะโพกด้วยครับ “เส้นประสาท sciatic” เส้นประสาทเส้นนี้ทำหน้าที่สั่งการ และรับความรู้สึกบริเวณขาของเรา เส้นประสาทเส้นนี้นี่แหละครับที่ได้รับการกระทบกระเทือนและเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้มีอาการปวดสะโพกและร้าวลงขาขึ้นมา
ต้องอธิบายละเอียดนิดนึงครับ เนื่องจากเส้นประสาท sciatic กับกล้ามเนื้อ piriformis มีความสัมพันธ์กันหลายแบบตามภาพครับ
ในคนส่วนใหญ่ เส้นประสาทสะโพกจะลอดอยู่ใต้กล้ามเนื้อ piriformis (ตามภาพในกรอบสีเขียว)
แต่ว่าบางคนจะมีความแตกต่างของการลอดบ้างครับ ดูตามรูป ทำให้กล้ามเนื้อ piriformis กด เบียด หรือระคายเคืองเส้นประสาทสะโพกได้ง่ายขึ้น ทำให้การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรและอาจมีอาการเรื้อรังได้
ปวดสะโพกร้าวลงขา เกิดจาก?
โรคนี้เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
1
(ส่วนน้อย) มีกายวิภาคที่ผิดปกติ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ เส้นประสาทสะโพกปกติจะลอดใต้กล้ามเนื้อ Piriformis
แต่ถ้าเส้นประสาทไม่ลอดแบบปกติ ก็ทำให้กล้ามเนื้อเคืองเส้นประสาทได้ง่ายขึ้น รักษายากขึ้น และอาจเป็นเรื้อรังได้
2
(ส่วนใหญ่) เกิดการกระทบกระเทือนที่กล้ามเนื้อ Piriformis
ทำให้กล้ามเนื้อบวม ช้ำ อักเสบ และเคืองเส้นประสาทสะโพก
การกระทบกระเทือนที่กล้ามเนื้อ Piriformis เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ
อาจเกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น ล้มก้นกระแทกพื้น ตกเก้าอี้ สะโพกถูกบิดอย่างแรง อุบัติเหตุการกีฬาที่ถูกกระแทกที่สะโพกอย่างรุนแรง อุบัติเหตุจราจร ก็ได้ ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ หดเกร็ง และไปกดเส้นประสาทสะโพก
อาจเกิดจากการกระทบกระแทกที่ไม่รุนแรง แต่บ่อยๆก็ได้ เช่น นั่งทำงานนานๆ เดินไกลๆ วิ่งมาราธอน เดินขึ้นเขาชันๆ เดินขึ้นลงบันไดวันละหลายๆเที่ยว ยกของหนักนานๆบ่อยๆ หรือที่พบได้บ่อยๆคือ
ใส่กระเป๋าสตางค์ที่กระเป๋าหลังกางเกงแล้วนั่งทับนานๆ ก็ทำให้เป็นโรคนี้ได้
อาการ
ลองดูนะครับ โรคนี้มาด้วยอาการหลากหลายมากเลย
- นั่งนานๆ ยืนนานๆ (15-20 นาที) แล้วปวดสะโพก
- อาการจะค่อยๆเป็นมากขึ้น หรือเป็นขึ้นมาทันทีก็ได้
- เดินมากๆก็ปวด
- เดินกระเผลก
- บิดสะโพกเข้าด้านในก็ปวด
- นั่งพับเพียบ นั่งไขว่ห้างก็ปวด
- ไม่มีท่านั่งที่สบาย นั่งได้นานๆ
- ลุกจากเก้าอี้จากนั่งมายืน ก็ปวด ต้องพักก่อนจะเดินต่อ
- ปวด/ชา สะโพกร้าวลงต้นขาด้านหลัง (มักจะไม่เลยเข่าลงไป)
- ชาสะโพก
- ชาลงเท้า
- เป็นมากๆจะปวดหลังส่วนล่าง ปวดสะบัก ปวดหัวร่วมด้วย
ต้องยืนทำงานนานๆ ทำยังไงดี ลองอ่านดูครับรบกวนการทำงาน เช่นนั่งทำงานนานๆไม่ได้, ขับรถไกลๆไม่ได้, ทำงานบ้านไม่ไหว
ปวดสะโพกร้าวลงขา รักษา?
โรคนี้ปกติถ้าเป็นไม่มากสามารถหายได้เองครับ พัก หยุดทำกิจกรรมที่ทำให้มีอาการก็หายเองได้ ถ้าอาการเป็นมากสักหน่อย ลองให้ยาช่วยก็ทำให้หายเร็วขึ้นครับ เช่นยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด (ตามคำแนะนำของคุณเภสัชกรหรือพบแพทย์ครับ)
การรักษาด้วยคลื่นกระแทกหรือที่เรียกว่าช็อคเวฟ ก็ได้ผลดีนะครับ ลองศึกษารายละเอียดในลิ้งด้านล่างดูครับ
แนะนำ : การรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขาด้วยวิธีช็อคเวฟ
ถ้ายังไม่ทุเลา การรักษาขั้นต่อมาก็คือการทำกายภาพบำบัดครับ โดยเราต้องยืดกล้ามเนื้อ piriformis ให้ได้ นอกจากนั้นยังต้องฝึกกล้ามเนื้อรอบๆสะโพกมัดอื่นๆ รวมถึงการปรับพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการด้วยครับ
ถ้ายังไม่หายอีก อาจลองการรักษาแบบอื่นๆบ้างครับ เช่นการฝังเข็ม การฉีดสเตียรอยด์ หรือการฉีดโบทอกซ์ เป็นต้นครับ
ปวดสะโพกร้าวลงขา กายภาพยืดกล้ามเนื้อ
ลองทำท่าตามนี้ดูนะครับ โดยท่าทั้งหมดผมนำมาจากคลิปด้านล่าง ลองเข้าไปทำตามกันได้ครับ
แนะนำ : คลิปสอนยืดกล้ามเนื้อสะโพก ลดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
1 ท่านอนไขว่ห้าง
เริ่มต้นให้นอนหงาย ทำท่าไขว้ห้างตามรูป โดยยกขาข้างที่ปวดขึ้น (ในรูปปวดสะโพกซ้าย)
ให้งอเข่าข้างที่อยู่ด้านล่าง (ข้างที่ไม่เจ็บ) ให้ส้นเท้าเลื่อนมาทางสะโพก ให้ได้มากที่สุด จะรู้สึกตึงสะโพกข้างที่เจ็บ ทำค้างไว้ 30 วินาที แล้วผ่อน ทำ10-15 ครั้งต่อเซต
ถ้ายังรู้สึกไม่ตึงมาก ให้ยกสะโพกข้างที่อยู่ด้านล่างขึ้น ตามภาพ อาจใช้มือช่วยจับ หรือถ้าเอื้อมไม่ถึงให้ใช้ผ้าขนหนูคล้องต้นขาแล้วดึง ทำค้างไว้ 30 วินาที แล้วผ่อน ทำ10-15 ครั้งต่อเซต
ท่าที่ 2 ท่าเข่าไปหาไหล่ด้านตรงข้าม
เริ่มต้นให้นอนหงาย ยกขาข้างที่ปวดสะโพกขึ้นไขว่ห้าง (ในรูปปวดสะโพกซ้าย)
ใช้มือจับเข่าข้างที่ปวดดึงให้เข่ามาทางไหล่ด้านตรงข้าม ในรูปปวดสะโพกซ้าย ใช้มือจับเข่าซ้ายดึงมาทางไหล่ขวา ทำค้างไว้ 30 วินาที แล้วผ่อน ทำ10-15 ครั้งต่อเซต
ท่าที่ 3 นั่งไขว่ห้างก้มตัว
ท่านี้สะดวกที่สุดสำหรับคนที่ทำงานนั่งนานๆ พนักงานออฟฟิส สามารถนั่งทำที่ไหนก็ได้ครับ
นั่งไขว่ห้าง ยกขาข้างที่ปวดสะโพกขึ้น ตั้งตัวให้หลังตรง ไม่นั่งพิงพนัก ไม่นั่งตัวงอ
ก้มตัวลงให้รู้สึกตึงที่สะโพกและโคนขา ทำค้างไว้ 30 วินาที แล้วผ่อน ทำ10-15 ครั้งต่อเซต
ห้ามก้มตัวด้วยหลัง แต่ให้ก้มตัวด้วยสะโพก (หลังตรงตลอด)
แนะนำ : ดูคลิปการยืดกล้ามเนื้อสะโพก ลดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้ที่นี่ครับ
เมื่อพัก ทานยา กายภาพยืดกล้ามเนื้อ Piriformis จนอาการดีขึ้นแล้ว ให้ฝึกกล้ามเนื้อรอบๆสะโพกเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ไม่เป็นซ้ำครับ ลองดู 2 ท่านี้ครับ
ท่านอนหงายยกสะโพก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหยียดสะโพก
- ใช้ Thera band พันรอบต้นขา
- นอนหงาย ชันเข่าขึ้น
- ยกสะโพกขึ้น ในขณะที่สะโพกกางออกเพื่อยืดยาง Thera band (ห้ามหุบต้นขาขณะยกสะโพกขึ้น)
- นับ 15-30 วินาที ทำซ้ำ 10-20 ครั้งต่อเซต ทำ 3 เซต
ท่านอนตะแคงยกเข่า ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกางสะโพกและหมุนสะโพก
- นอนตะแคง งอเข่าและสะโพก 45 องศา
- ยกเข่าทิศทางขึ้นบนและไปด้านหลัง ตามภาพ ให้เท้าสัมผัสกันตลอด
- ถ้าสามารถทำได้ 15 ครั้งต่อเซต 3 เซตโดยไม่ล้า ให้ใช้ Thera band คล้องเพื่อเพิ่มความหนักของการฝึกด้วย
การป้องกันไม่ให้เป็นปวดสะโพกร้าวลงขา
สำหรับคนที่ออกกำลังกายหนักๆ
- ต้องวอร์มก่อนออกกำลังกายมากหน่อยครับ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณสะโพก
- ถ้าต้องเพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลัง ต้องค่อยๆเพิ่ม อย่าเพิ่มเร็วเกินไปจนกล้ามเนื้อพัฒนาไม่ทัน
- หลีกเลี่ยงการวิ่งขึ้นหรือลงที่ลาดชันมากๆ
- ถ้าเล่นกีฬาอะไรแล้วมีอาการ ลองเปลี่ยนประเภทกีฬา (ถ้าทำได้)
- ใส่ใจกับท่าทางการออกกำลังให้มากๆ การหักโหมซ้อม ความเหนื่อยเกินไป และการไม่มีโค้ชหรือคนช่วยดูท่าทางการออกกำลัง ทำให้ท่าของเราผิดไป และทำให้ปวดสะโพกได้ครับ
สำหรับคนที่ทำงานนั่งต่อเนื่องนานๆ
- พยายามลุกเดินบ้าง ไปห้องน้ำ ไปนู่นนิดนี่หน่อยก็ยังดี พยายามอย่านั่งนานเกิน 30 นาที
- เลี่ยงการนั่งบนพื้นแข็งๆ เช่นนั่งพื้น นั่งเก้าอี้แข็งๆ
- เลี่ยงการนั่งท่าไขว่ห้าง
- เลือกเก้าอี้ที่นั่งสบายๆ ลงทุนซื้อถ้าทำได้
- ไม่ใส่กระเป๋าสตางค์ที่กระเป๋าด้านหลังกางเกง
- ยืดเหยียดบ่อยๆ ลองอ่านเกี่ยวกับการกายภาพยืดน่องได้นะครับ
- ไม่ยกของหนักเกินไป
- ถ้าต้องขับรถไกลๆ ให้แวะปั๊มบ่อยๆ เพื่อยืน เดิน ยืดเหยียด
แนะนำ : การปฏิบัตตัวสำหรับคนที่ต้องทำงานยืนนานๆ
สรุป
ปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดจากกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบทำให้เคืองเส้นประสาทที่อยู่บริเวณนั้น คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดร้าวลงขา ที่ไม่สุขสบาย นอน นั่ง ยืน เดิน ไม่สบายสักท่า รักษาโดยการพัก ทานยา ทำกายภาพยืดเหยียด และปรับพฤติกรรม รวมถึงการผึกกล้ามเนื้อรอบสะโพกเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำครับ
บทความโดยนายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล