ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกขึ้น บางครั้งจะมีอาการบวม ปวด อักเสบ ที่บริเวณตาตุ่มได้ เนื่องจากตาตุ่มเป็นจุดเกาะที่สำคัญของเส้นเอ็นในข้อเท้า ที่อาจจะเกิดการบาดเจ็บจากข้อเท้าพลิกได้ครับ
เนื้อหาในบทความนี้
ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม เกิดจากอะไร
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม ปฐมพยาบาลอย่างไร
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กินยาอะไร
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม นวดได้ไหม
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กี่วันหาย
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม เรื้อรัง ไม่หายสักที เกิดจากอะไร
ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม แล้วต่อมามีข้อเท้าพลิกซ้ำได้บ่อย มีข้อเท้าหลวม
ข้อเท้าพลิก เอ็นบาดเจ็บ
ข้อเท้าของเราประกอบขึ้นด้วยกระดูกหลักๆ 3 ชิ้นด้วยกันครับ คือ
- กระดูกหน้าแข้งชิ้นหลัก (Tibia)
- กระดูกหน้าแข้งชิ้นรอง (Fibula)
- กระดูกข้อเท้า (Talus)
กระดูกทั้ง 3 ชิ้นจะยึดกันด้วยเส้นเอ็นครับ โดยจะมีเอ็นทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน (ที่เรียกเป็นกลุ่มเนื่องจากแต่ละตำแหน่งจะประกอบด้วยเอ็นมากกว่า 1 เส้นครับ) ได้แก่
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก (lateral ankle ligament complex)
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (medial ankle ligament complex, Deltoid ligament)
- เอ็นข้อเท้าด้านบน (Syndesmotic ligament)
เมื่อเกิดข้อเท้าพลิกขึ้น จะมีการบาดเจ็บของอวัยวะในข้อเท้าได้หลายอย่างเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกข้อเท้าหัก, กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ เอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ
และเอ็นข้อเท้าที่บาดเจ็บได้บ่อยที่สุดคือ เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก บริเวณตาตุ่มด้านนอกนั่นเองครับ
ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม เกิดจากอะไร
เมื่อมีข้อเท้าพลิก และมีตาตุ่มด้านนอกบวม สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักๆ 2 อย่างด้วยกันครับ คือ
เอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ
โดยเมื่อมีเอ็นบาดเจ็บ อาจจะฉีกขาดหรือไม่ก็ได้ จะทำให้มีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆเส้นเอ็นขึ้น ก็ทำให้มีการบวมบริเวณตาตุ่มได้ ข้อสังเกต
- ส่วนใหญ่จะบวมบริเวณหน้าตาตุ่ม
- กดบริเวณตาตุ่มจะไม่เจ็บมาก
- (อาจจะ) พอจะเดินลงน้ำหนักได้บ้าง
กระดูกข้อเท้าหัก
โดยเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้น แสดงว่ามีข้อเท้าพลิกที่รุนแรง ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆอักเสบ และบวมได้ รวมถึงข้อเท้าที่หักจะมีเลือดออกจากบริเวณกระดูกหัก ก็จะทำให้รอบๆตาตุ่มบวมได้เช่นกัน ข้อสังเกตคือ
- บวม และกดเจ็บบริเวณตาตุ่ม
- บวมทั่วๆตาตุ่ม
- เดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย หรือได้แต่เจ็บมากๆๆ
- มีรอยช้ำใต้ผิวหนังบริเวณตาตุ่ม
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม ปฐมพยาบาลอย่างไร
เมื่อเกิดข้อเท้าพลิกขึ้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ใช้วิธี RICE protocol คือ
R (rest) คือการพัก ลดการเดิน ใช้งาน ไปก่อน งดเล่นกีฬา หรือใช้งานข้อเท้าหนักๆ
I (ICE) คือการประคบเย็นบริเวณที่ปวดอักเสบ โดยใช้ถุงเจลเย็น ห่อผ้าขนหนู และนำมาประคบ แนะนำว่าใน 1 ชั่วโมง ให้ประคบประมาณ 10-15 นาที
C (compression) คือการพันผ้า เพื่อลดอาการข้อเท้าบวม โดยให้ใช้ผ้ายืดทางการแพทย์ (elastic bandage) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา มาพันโดยพันจากส่วนปลายเท้า ขึ้นไปจนถึงส่วนน่อง
E (elevation) คือการยกขาสูง ไม่ว่าจะตอนนอน ตอนนั่ง ควรยกขาสูงไว้ครับ เพื่อลดอาการบวม ปวด และไม่ควรห้อยขานานๆด้วย เนื่องจากเท้าจะบวมและปวดมากขึ้นได้
ถ้ามีอาการดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอดูอาการไปก่อนนะครับ
- ข้อเท้าบวมมาก
- ข้อเท้ามีรอบฟกช้ำใต้ผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง
- ปวดมาก ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เลย
- ข้อเท้าผิดรูป
- มีแผลเปิด
- พัก ทำตาม RICE Protocol แล้วไม่ดีขึ้นเลย
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กินยาอะไร
ปรึกษาคุณหมอ หรือเภสัชกร เรื่องการทานยาครับ แนะนำทานยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทานสั้นๆ เมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดได้ครับ
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม ประคบ
เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น แนะนำให้ประคบเย็นครับ โดยใช้เจลเย็น (cold pack) ห่อผ้าขนหนู ประคบบริเวณตาตุ่มที่บวม เจ็บ ประมาณ 10-15 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงครับ
การประคบอุ่น ถ้ายังมีการอักเสบ บวมอยู่ยังไม่แนะนำนะครับ
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กายภาพ
เมื่อมีข้อเท้าพลิก และตาตุ่มบวมขึ้น ยังไม่ต้องกายภาพทันทีนะครับ รอให้อาการปวด บวม เจ็บ อักเสบทุเลาลงก่อนจึงกายภาพ โดยการกายภาพให้ทำดังนี้
- การกายภาพฝึกขยับข้อเท้า (range of motion exercise)
- การกายภาพฝึกความแข็งแรงของเอ็นข้างข้อเท้า (peroneal strengthening exercise)
- การกายภาพฝึกการทรงตัว (proprioception exercise)
ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กี่วันหาย
ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของข้อเท้าพลิก ข้อเท้าพลิกแล้วมีการบาดเจ็บมากหรือไม่ การปฐมพยาบาลทำได้ดีหรือไม่
แต่ส่วนใหญ่ข้อเท้าพลิก อาการต่างๆจะหายดีขึ้น หรือหายสนิทเลยภายใน 2 สัปดาห์นะครับ
ถ้า 2 สัปดาห์แล้ว อาการต่างๆยังไม่ดีขึ้น หรือยังไม่หาย แนะนำให้พบแพทย์นะครับ เนื่องจากอาจจะมีการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นๆที่ต้องมีการรักษาเฉพาะได้ เช่น เอ็นฉีกขาดอย่างรุนแรง กระดูกข้อเท้าหัก หรือกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ
ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม แล้วต่อมามีข้อเท้าพลิกซ้ำได้บ่อย มีข้อเท้าหลวม
ถ้าข้อเท้าพลิกเป็นชนิดรุนแรง อาจจะเกิดเอ็นประคองข้อเท้าฉีกขาดมากๆได้ครับ ถ้าร่างกายของเราไม่สามารถรักษาเอ็นที่บาดเจ็บให้กลับมาตึง แข็งแรงดังเดิมได้
ก็จะทำให้มีภาวะข้อเท้าหลวม และพลิกง่าย พลิกบ่อยได้ครับ
ถ้าใครที่มีอาการดังนี้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องนะครับ ไม่ควรรักษาเอง ไม่ควรรอให้หายเอง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะข้อเท้าหลวมได้ที่นี่ครับสรุป
ตาตุ่มบวม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเมื่อมีข้อเท้าพลิกเกิดขึ้น มักจะเกิดจากเอ็นประคองข้อเท้าบาดเจ็บ และเนื้อเยื่อรอบๆข้อเท้าอักเสบ และเกิดการบวมขึ้น การรักษาเมื่อไม่มีภาวะเร่งด่วน ให้การรักษาด้วยวิธี พัก ยกขาสูง ประคบเย็น พันผ้าลดอาการปวด