เนื้อหาในบทความนี้
- ข้อเท้าหักเกิดได้อย่างไร
- อาการเมื่อมีข้อเท้าหัก
- การรักษาเมื่อเกิดข้อเท้าหัก
- การรักษาด้วยการใส่เฝือก ทำอย่างไร ใส่เฝือกอ่อนหรือใส่เฝือกแข็ง
- หลังใส่เฝือก เดินลงน้ำหนักได้หรือไม่
- ข้อเท้าหัก กี่วันหาย ต้องใส่เฝือกนานเท่าไหร่
- เฝือกโดนน้ำได้ไหม
- เมื่อนำเฝือกออกแล้ว ใช้งานได้เลยไหม
- กระดูกข้อเท้าหัก ต้องเสริมแคลเซี่ยม หรือต้องทานอาหารเสริมอะไร
- กระดูกข้อเท้าหัก เมื่อไหร่จะเล่นกีฬาได้
- การรักษาด้วยการผ่าตัด ทำอย่างไร
- หลังผ่าตัดใช้งานได้เลยไหม
- หลังผ่าตัดข้อเท้าหัก ต้องนอน รพ กี่วัน, ตัดไหมเมื่อไหร่, ต้องใส่เฝือกไหม, เดินลงน้ำหนักได้หรือไม่, เมื่อไหรจะเดินได้, ต้องทำกายภาพไหม
- ต้องนำเหล็กออกไหม
ข้อเท้า คือ ข้อที่เชื่อมระหว่างขากับเท้า ทำหน้าที่กระดกข้อเท้าขึ้นลง ประกอบไปด้วยกระดูกหลักๆ 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกหน้าแข้งหลัก (Tibia) กระดูกหน้าแข้งรอง (Fibular) และกระดูกข้อเท้า (Talus) ประกอบกันเป็นข้อเท้า
นอกจากกระดูกแล้ว ข้อเท้ายังมีเอ็นต่างๆจำนวนมากทำหน้าที่ยึดกระดูกเข้าด้วยกันโดยเอ็นหลักกลุ่มหลักๆที่สำคัญได้แก่
- เอ็น Syndesmotic ยึดกระดูก Tibia เข้ากับกระดูก Fibular
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (Deltoid ligament) ยึดกระดูก Tibia เข้ากับกระดูก Talus
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก (Lateral ankle ligament) ยึดกระดูก Fibular เข้ากับกระดูก Talus
อาจจะดูเข้าใจยากสักนิดนะครับ
แต่อยากให้มองส่วนประกอบข้อเท้าเป็นวงกลมตามภาพ เป็นกระดูก-เอ็น-กระดูก-เอ็น จนมาจบที่จุดเดิมอีกครั้ง
การที่ข้อเท้ามีอวัยวะเรียงตัวเป็นวงกลม จะช่วยให้ข้อเท้าทั้งขยับได้ดี และมีความมั่นคงครับ
ข้อเท้าหักเกิดได้อย่างไร
ข้อเท้าหักเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- เกิดจากการบิดข้อเท้าผิดรูปอย่างแรงครับ ส่วนใหญ่จะเกิดเมื่อข้อเท้าถูกล็อคแล้วตัวบิดไปทิศทางต่างๆ เช่นตกบันไดหลายๆขั้น กระโดดจากที่สูงแล้วลงเท้าผิดท่า เดินตกหลุมแล้วตัวบิดล้ม
- เกิดจากข้อเท้าพลิกอย่างแรง
- เกิดจากตกจากที่สูงแล้วเอาเท้ากระแทกพื้น อาจมีแรงบิดหมุนร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
- อุบัติเหตุจราจร หรือกีฬา
อาการเมื่อมีข้อเท้าหัก
เมื่อเกิดข้อเท้าหักจะมีอาการคล้ายๆกับข้อเท้าพลิกเลยครับได้แก่
- ปวดข้อเท้ามาก
- ข้อเท้าบวม
- มีรอยช้ำม่วงๆใต้ผิวหนัง
- เดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย
- กดบริเวณที่มีกระดูกหักแล้วเจ็บมาก จริงๆข้อนี้ตรวจยากหน่อยครับ เนื่องจากในช่วงแรกข้อเท้าจะบวมและกดตรงไหนก็เจ็บ
- ข้อเท้าผิดรูป ถ้าหักรุนแรง หรือมีข้อต่างๆเคลื่อน หรือหลุดร่วมด้วย
สำหรับผู้ที่มีอุบัติเหตุทางข้อเท้า แล้วไม่แน่ใจว่าเป็นแค่ข้อเท้าพลิก หรือมีข้อเท้าหักร่วมด้วย แนะนำว่าต้องพบแพทย์นะครับเพื่อตรวจร่างกาย และส่งเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีข้อเท้าหักหรือไม่
การรักษาเมื่อเกิดข้อเท้าหัก
เมื่อมีอุบัติเหตุทางข้อเท้าขึ้น แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่วนใหญ่จะส่งเอกซเรย์เพื่อประเมินข้อเท้าว่ามีกระดูกหักหรือไม่
เมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้น จะต้องพิจารณาเลือกวิธีการรักษาว่าจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ หรือว่ารักษาด้วยการใส่เฝือก โดยมีข้อพิจารณา (คร่าวๆ) ดังนี้
- มีกระดูกหักตำแหน่งเดียวเช่น กระดูกตาตุ่มหัก และเป็นกระดูกหักชนิดไม่เคลื่อน และไม่มีเอ็นข้อเท้าฉีก สามารถให้การรักษาด้วยการใส่เฝือกได้
- มีกระดูกหักมากกว่า 1 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดครับ
- มีกระดูกหัก 1 ตำแหน่ง ร่วมกับมีเอ็นฉีกร่วมด้วย ส่วนใหญ่ก็ต้องผ่าตัดรักษาครับ
การพิจารณาเลือกวิธีการรักษา ต้องใช้ปัจจัยพิจารณาอีกมาก
อันนี้ต้องปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลนะครับว่าต้องรักษาอย่างไรถึงจะดีที่สุด
การรักษาด้วยการใส่เฝือก ทำอย่างไร
ใส่เฝือกอ่อนหรือใส่เฝือกแข็ง
หลังเกิดอุบัติเหตุถ้าบริเวณข้อเท้าบวมมาก แพทย์จะใส่เฝือกอ่อนให้ก่อนครับ และจะนัดมาเปลี่ยนเป็นเฝือกแข็งในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เมื่อข้อเท้ายุบบวมลงแล้ว
ดังนั้นการดูแลเมื่อกลับไปที่บ้าน ต้องยกขาสูงบ่อยๆนะครับ ประคบเย็นร่วมด้วยจะดีมาก ตอนนอนต้องมีหมอนรองใต้น่อง ตอนนั่งต้องมีเก้าอี้เล็กๆมาวางเท้า หลีกเลี่ยงการห้อยขานานๆ เนื่องจากข้อเท้าจะยุบบวมได้ช้าครับ
การใส่เฝือกอ่อนจะใช้ผ้ายืดพันไว้ ถ้ารู้สึกว่าคับตึงเกินไป ก็คลายออกได้นะครับ แต่แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรไปที่สถานพยาบาลให้ทำให้จะดีที่สุด
แนะนำ : อ่านวิธีดูแลเฝือกอย่างละเอียดที่นี่ครับ
แนะนำ : อ่านรายละเอียดของเฝือกอ่อนและเฝือกแข็งที่นี่ครับ
เฝือกอ่อน
เฝือกแข็ง
หลังใส่เฝือก เดินลงน้ำหนักได้หรือไม่
หลังจากใส่เฝือกแล้ว แพทย์จะแนะนำให้เดินแบบไม่ลงน้ำหนักขาข้างที่หัก โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่นไม้ยันรักแร้ หรือเครื่องช่วยเดินสี่ขา (walker) ในคนที่ใช้ไม้ยันรักแร้คล่องแล้ว สามารถเดินขึ้นลงบันได้ได้ สามารถเดินได้เร็วพอๆกับคนปกติได้เลยนะครับ
ไม้ยันรักแร้
เครื่องช่วยเดินสี่ขา
ข้อเท้าหัก กี่วันหาย ต้องใส่เฝือกนานเท่าไหร่
เราต้องให้เวลาร่างกายในการซ่อมแซมกระดูกที่หักหน่อยครับ ร่างกายของเราจะเชื่อมกระดูกที่หักเอง ถ้าเราใส่เฝือก และเดินไม่ลงน้ำหนัก โดยใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ดังนั้นเฝือกต้องใส่ประมาณ 6 สัปดาห์ครับ (ขึ้นกับความรุนแรงของการหัก และอีกหลายๆปัจจัย)
ก่อนจะเอาเฝือกออก แพทย์จะต้องเอกซเรย์ดูก่อนด้วยครับว่ากระดูกติดเข้าที่ดีไหม
ลองดูคลิปวีดีโอการใส่เฝือกกันนี้นะครับ ในปัจจุบันบางโรงพยาบาลใหญ่ๆ และโรงพยาบาลเอกชนหลายๆที่ก็มีให้เลือกใช้ครับ
เมื่อนำเฝือกออกแล้ว ใช้งานได้เลยไหม
หลังจากนำเฝือกออกแล้ว โดยปกติจะยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิมเลยทันทีนะครับ เนื่องจาก
- ขณะใส่เฝือกข้อต่างๆในข้อเท้าจะต้องอยู่นิ่งๆเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการข้อติด
- กล้ามเนื้อลดขนาดลงจากการเดินไม่ลงน้ำหนักด้วย
- การรับรู้การทรงตัวต่างๆก็ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม
ดังนั้นหลังจากนำเฝือกออกแล้ว จะต้องทำกายภาพอยู่ช่วงหนึ่งถึงจะใช้งานได้เต็มที่เหมือนเดิมครับ
กระดูกข้อเท้าหัก ต้องเสริมแคลเซี่ยม หรือต้องทานอาหารเสริมอะไร
ในคนที่สุขภาพดี ร่างกายไม่ได้ขาดแคลเซี่ยม เมื่อเกิดกระดูกหักขึ้นร่างกายก็สามารถซ่อมแซมกระดูกที่หักให้ติดได้ครับ ถ้าอยากบำรุงด้านโภชนาการ แนะนำทานอาหารครบ 5 หมู่ก็พอครับ เน้นโปรตีนเป็นหลัก ไม่ต้องทานอาหารเสริมครับ
กระดูกข้อเท้าหัก เมื่อไหร่จะเล่นกีฬาได้
หลังจากใส่เฝือกครบ 6-8 สัปดาห์แล้ว เอกซเรย์พบว่ากระดูกติดดีแล้ว และแพทย์ถอดเฝือกออกให้แล้ว การใช้งานสามารถเดินลงน้ำหนักได้ แต่การเล่นกีฬาหนักๆ กีฬาที่ต้องมีการปะทะ หรือต้องกระโดดบ่อยๆ อาจต้องรอให้กระดูกติดให้สนิทอีกสักช่วงหนึ่งครับ ปกติจะแนะนำให้เล่นกีฬาประมาณ 4-6 เดือนหลังเกิดอุบัติเหตุ (3-4 เดือนสำหรับกีฬาเบาๆ)
การรักษาด้วยการผ่าตัด ทำอย่างไร
ในคนที่มีข้อเท้าหักชนิดรุนแรง และแพทย์พิจารณารักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้น ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เตรียมความพร้อมในการผ่าตัด เช่นการตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ต้องผ่าตัดทันทีเลยไหม
เราจะใช้คำว่าผ่าตัดเมื่อพร้อมครับ
- คนไข้พร้อม ตรวจเช็คร่างกายแล้ว ร่างกายแข็งแรงเข้ารับการผ่าตัดได้
- ข้อเท้าพร้อม ไม่บวมมาก ถ้าข้อเท้าบวมมาก อาจต้องรอประมาณ 2-3 วันเพื่อให้ข้อเท้ายุบบวม ระหว่างนั้นก็ต้องใส่เฝือกอ่อนและยกขาสูงด้วยนะครับ
- แพทย์และเครื่องมือผ่าตัดพร้อม
แต่ถ้ากระดูกหักไปแล้ว มากกว่า 3-4 สัปดาห์ การผ่าตัดจะทำยากสักหน่อยครับ เนื่องจากกระดูกที่หักจะเริ่มติด (ผิดรูป) แล้ว
จับข้อเท้ากระดกขึ้น ถ้ามีรอยย่อของผิวหนัง แปลว่ายุบบวมดีผ่าตัดได้ครับ
ภาพเอกซเรย์ก่อนและหลังผ่าตัดดามเหล็กข้อเท้าหัก
หลังผ่าตัดใช้งานได้เลยไหม
หลังผ่าตัดปกติก็จะนอนโรงพยาบาลอีก 2-3 คืน เมื่อแผลดูเรียบร้อยดี ผู้ป่วยสามารถเดินแบบไม่ลงน้ำหนักได้แล้ว ก็กลับบ้านไปพักได้ครับ
หลังจากกลับบ้านแล้ว ก็ยังเดินลงน้ำหนักไม่ได้นะครับ
เนื่องจากการผ่าตัดแพทย์ไม่สามารถเชื่อมกระดูกที่หักให้ติดได้
แพทย์ผ่าตัดจะจัดตำแหน่งกระดูกที่หักเคลื่อนให้เข้ารูป และใช้อุปกรณ์ยึดกระดูกให้แน่นหนา แต่กระดูกยังไม่ติดนะครับ ถ้าเราไปเดินลงน้ำหนักก่อนกระดูกติด เหล็กอุปกรณ์ที่ยึดไว้อาจพัง หัก หรือมีกระดูกเลื่อนอีกรอบได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้น ก็ต้องผ่าใหม่เลยครับ ดังนั้นต้องรอให้กระดูกติดดีก่อนจึงเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ
ดูที่ฟิล์มเอกซเรย์นะครับ จะเห็นว่าข้อเท้าหัก ยึดเหล็กไปแล้ว แต่คงไปเดินลงน้ำหนักก่อนเวลา ทำให้เหล็กหักไปด้วยเลย ถ้าไม่อยากเป็นแบบนี้ ต้องรอให้กระดูกติดดีๆก่อน และแพทย์อนุญาติก่อนถึงค่อยลงเดินนะครับ
หลังผ่าตัดข้อเท้าหัก ต้องนอน รพ กี่วัน, ตัดไหมเมื่อไหร่, ต้องใส่เฝือกไหม, เดินลงน้ำหนักได้หรือไม่, เมื่อไหรจะเดินได้, ต้องทำกายภาพไหม
คงต้องตอบคร่าวๆนะครับ เพราะต้องดูเฉพาะรายไป ขึ้นกับการหักรุนแรงมากหรือน้อย ผ่าตัดได้แน่นหนาดีหรือไม่ และอีกหลายๆปัจจัยครับ
- ต้องนอนโรงพยาบาลกี่วัน อันนี้ส่วนใหญ่จะนอนดูอาการหลังผ่าตัดประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อ ทำแผล และฝึกเดินโดยใช้เครื่องช่วยเดิน
- ตัดไหมเมื่อไหร่ ถ้าแผลแห้งดี ไม่มีอาการติดเชื้อ จะตัดไหมได้ที่ 10-14 วันหลังผ่าตัดครับ
- เดินลงน้ำหนักได้หรือไม่ ปกติแล้วจะยังไม่ให้เดินลงน้ำหนักเต็มที่นะครับ จะให้เดินลงน้ำหนักบางส่วน หรือเดินไม่ลงน้ำหนักเลย โดยพิจารณาเป็นรายๆไป
- เมื่อไหร่จะเดินลงน้ำหนักได้เต็มที่ ต้องรอกระดูกติดดีก่อนครับ โดยเฉลี่ยก็ประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- ต้องทำกายภาพไหม หลังผ่าตัดคุณหมอจะแนะนำเรื่องกายภาพให้ครับ ควรทำเพื่อไม่ให้ข้อติด และป้องกันกล้ามเนื้อฝ่อครับ
ต้องนำเหล็กออกไหม
การผ่าตัดกระดูกข้อเท้า ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกใส่ไว้ด้วยเพื่อยึดให้กระดูกเข้าที่ขณะรอให้ร่างกายซ่อมแซมกระดูกที่หัก เหล็กตรึงกระดูกโดยปกติจะใส่ไว้ตลอดนะครับ ไม่ต้องนำออก แต่จะต้องผ่าตัดนำเหล็กออกถ้าเกิดเหตุการณ์ดังนี้
- ติดเชื้อ มีอาการปวดแดงอักเสบ เป็นหนอง
- เหล็กอยู่บริเวณที่มีเอ็นหรือกล้ามเนื้อพาดผ่านและเกิดการเสียดสีขึ้น
- เหล็กอยู่บริเวณใต้ผิวหนังพอดี (พบบ่อยกรณีใส่เหล็กบริเวณตาตุ่มด้านนอก) ทำให้มีอาการเจ็บ หรือเคือง ถ้านั่งทับ เช่นท่านั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียง ใส่รองเท้าคัทชูแล้วขอบรองเท้าเสียดสี
สรุป
ข้อเท้าหักเกิดจากอุบัติเหตุ ข้อบิดหมุนอย่างแรง สามารถรักษาได้ทั้งการใส่เฝือกและการผ่าตัด ขึ้นกับว่ากระดูกหักเป็นมากหรือน้อย กระดูกที่หักจะสมานกันใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล