เนื้อหาในบทความนี้
ชนิดของเฝือก เฝือกอ่อน เฝือกแข็ง ต่างกันอย่างไร
ข้อแตกต่างของเฝือกอ่อนและเฝือกแข็ง
เฝือกอ่อนใส่กี่วัน เฝือกแข็งใส่กี่วัน
เมื่อไหร่ใช้เฝือกอ่อน เมื่อไหร่ใช้เฝือกแข็ง
ใส่เฝือกที่ขาแล้วเดินลงน้ำหนักได้หรือไม่
ควรพบแพทย์ทันที พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการดังนี้
เฝือก คือ อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนึ่งที่มีไว้สำหรับพยุงอวัยวะต่างๆในร่างกาย ที่มีการบาดเจ็บ หรืออยากให้อยู่นิ่งๆ เช่น บริเวณาข้อมือ แขน ขา ข้อเท้า คอ โดยแบ่งเป็นเฝือกอ่อน กับเฝือกแข็ง ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้ว่า การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเป็นแบบใด
ชนิดของเฝือก เฝือกอ่อน เฝือกแข็ง ต่างกันอย่างไร
เราสามารถจำแนกชนิดของเฝือกได้หลายแบบครับ โดยแบ่งหลักๆได้ 2 แบบ ดังนี้
แยกตามวัสดุที่ผลิตเฝือก
ในปัจจุบันมีเฝือกที่ผลิตจากวัสดุหลากหลายชนิด แต่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบ้านเราจะมีอยู่ 2 ชนิดหลักๆด้วยกันคือ
1 เฝือกปูน
ทำมาจากปูนพลาสเตอร์ร่วมกับผ้าก๊อซ เฝือกชนิดนี้สามารถนำมาใช้ได้หลากหลายรูปแบบ
ข้อดีคือ สามารถปั้น หรือจัดทรงเฝือกได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ข้อเสียคือ เฝือกจะมีน้ำหนักมากสักหน่อย และความแข็งแรงจะสู้เฝือกพลาสติกไม่ได้ครับ
ใช้ไปสักพัก เฝือกจะหลุดลุ่ย หรือหักได้ง่าย ต้องรักษาดีๆ ห้ามโดนน้ำเด็ดขาด
2 เฝือกพลาสติก
ทำมาจากไฟเบอร์กลาส เฝือกชนิดนี้น้ำหนักเบา กระชับ และแข็งแรงครับ แต่ข้อเสียคือราคาแพงกว่าเฝือกปูน
แยกตามชนิดของเฝือก
เฝือกอ่อน
จริงๆแล้วเฝือกอ่อนไม่อ่อนนะครับ
แต่เฝือกอ่อนใช้เรียกเฝือกที่พยุงแขนหรือขา แบบไม่ครบวง (non-circumferential)
ดูตามภาพครับ เมื่อนำมาประคองแล้ว เราจะใช้ผ้ายืดพันอีกทีนึงให้เฝือกอ่อนแนบไปกับอวัยวะของเรา
เฝือกอ่อน หรือเฝือกกาบเดียว ก่อนพันผ้ายืด
เฝือกอ่อนหลังพันผ้าแล้ว
เฝือกแข็ง
เฝือกแข็งใช้เรียกเฝือกที่พยุงแขนหรือขา แบบครบวง ดูตามภาพ เพื่อประคองส่วนที่ใส่เฝือกให้ได้มากที่สุด ลดการเคลื่อนของกระดูกที่หัก หรือให้ส่วนที่ใส่เฝือกเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
เฝือกแข็ง ใส่บริเวณข้อมือ
เฝือกแข็งใส่ข้อเท้า
ข้อแตกต่างของเฝือกอ่อนและเฝือกแข็ง
เฝือกแข็ง
- เฝือกพันรอบส่วนที่ใส่
- ไม่ต้องใช้ผ้ายืด
- ไม่มีแบบสำเร็นรูปขาย ต้องให้แพทย์ใส่ให้
- ใส่ในที่เกิดเหตุไม่ได้
- ตอนเอาเฝือกออก ต้องให้ที่เลื่อยเฝือกเลื่อยออก
- ถ้าส่วนที่ใส่เฝือกบวมขึ้นหลังใส่ จะรู้สึกแน่นมาก อาจจะต้องเปลี่ยนเฝือก
- ใช้เวลาใส่นาน ต้องพันเฝือก
- ถ้าส่วนที่ใส่เฝือกยุบบวม ทำให้เฝือกหลวม อาจต้องเปลี่ยนเฝือกใหม่ เนื่องจากเฝือกที่หลวมจะทำให้กระดูกที่หัก (ถ้ามี) เคลื่อนได้
- พยุง ประคอง ส่วนที่ใส่เฝือกมากกว่า ส่วนที่ใส่เฝือกขยับได้น้อยกว่า
- ถ้าส่วนที่จะใส่เฝือกบวมมากๆ หรือคาดว่าจะบวมมากๆ ไม่ควรใส่
เฝือกอ่อน
- เฝือกพันไม่รอบส่วนที่ใส่
- ใช้ผ้ายืดช่วยรัดให้เฝือกแนบกับส่วนของร่างกาย
- มีแบบสำเร็จรูป และแบบพันเองโดยแพทย์
- ใส่ในที่เกิดเหตุได้
- นำผ้ายืดออก ก็สามารถนำเฝือกออกได้เลย
- ถ้าส่วนที่ใส่เฝือกบวมขึ้นหลังใส่ จะไม่รู้สึกแน่นมาก เนื่องจากผ้ายืดสามารถยืดรับความบวมได้
- ใช้เวลาใส่ไม่นาน
- ถ้าส่วนที่ใส่เฝือกยุบบวม ทำให้เฝือกหลวม ใช้การพันผ้ายืดให้กระชับขึ้น
- พยุง ประคอง ส่วนที่ใส่เฝือกน้อยกว่า ส่วนที่ใส่เฝือกขยับได้มากกว่า
- ถ้าส่วนที่จะใส่เฝือกบวมมากๆ สามารถใส่ได้
เฝือกอ่อนใส่กี่วัน เฝือกแข็งใส่กี่วัน
ระยะเวลาการใส่เฝือก จะขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นอะไร บาดเจ็บอะไรครับ
ที่ดีที่สุดคือ ปรึกษากับแพทย์ผู้ใส่เฝือกครับว่า อาการของเราเป็นแบบนี้ ต้องใส่เฝือกนานเท่าไหร่
แต่มีหลักอธิบายคร่าวๆคือ
รักษากระดูกปลายข้อมือหักด้วยการใส่เฝือกแข็ง
- มีกระดูกหัก จะใส่เฝือกเพื่อรอให้กระดูกติด ใส่เฝือกให้กระดูกที่หักไม่เคลื่อนผิดรูป ขณะรอให้กระดูกติด แบบนี้จะใส่เฝือกแข็ง และจะใส่นานหน่อยครับ ประมาณ 6-8 สัปดาห์
- มีเอ็นขาด และได้รับการผ่าซ่อมแซมเอ็น การใส่เฝือกจะช่วยให้เราขยับส่วนที่ใส่ได้ลดลง หรือไม่ได้เลย ช่วยให้เอ็นที่ถูกซ่อมได้พัก ซ่อมแซมตัวเอง ลดการดึงรั้งเส้นเอ็น แบบนี้จะใส่เฝือกอ่อน ประมาณ 4-6 สัปดาห์
- เนื้อเยื่อบาดเจ็บ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นอักเสบ แบบนี้ส่วนใหญ่จะใส่เฝือกอ่อน เพื่อประคองให้อวัยวะส่วนนั้นได้พัก และฟื้นฟูให้หายไวๆ รวมถึงลดอาการปวดด้วย ใส่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือดูตามอาการครับ
เมื่อไหร่ใช้เฝือกอ่อน เมื่อไหร่ใช้เฝือกแข็ง
ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นอะไร บาดเจ็บแบบไหนครับ ถ้ามีกระดูกหัก ส่วนใหญ่จะต้องใส่เฝือกแข็งเพื่อให้ส่วนที่ใส่เฝือกขยับน้อยที่สุด พยุงกระดูกมากที่สุด กระดูกจะได้ไม่เคลื่อนผิดรูป แต่ถ้าใส่เฝือกเนื่องจากเนื้อเยื่อบาดเจ็บ อักเสบ ส่วนใหญ่จะใช้เฝือกอ่อนครับ เพื่อให้ส่วนที่ใส่เฝือกขยับลดลง พัก ฟื้นฟูเนื้อเยื่อ และลดความเจ็บปวด
เท้าบวมหลังใส่เฝือก
ถ้ามีกระดูกหัก ในช่วงแรกถ้าบวมมาก แพทย์อาจจะพิจารณาใส่เฝือกอ่อนให้ก่อน เนื่องจากถ้าใส่เฝือกแข็งเลย ตอนกลับบ้านแล้วเนื้อเยื่อบวมมากขึ้น เฝือกแข็งที่ใส่พอดีในตอนแรกจะรัดมากเกินไปจนเลือดไม่มาเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นได้ครับ
ใส่เฝือกที่ขาแล้วเดินลงน้ำหนักได้หรือไม่
คำถามนี้ต้องถามแพทย์ผู้ใส่แล้วครับว่าอนุญาตให้ลงน้ำหนักได้หรือไม่ ถ้าใส่เฝือกเนื่องจากมีกระดูกหัก ส่วนใหญ่จะให้เดินแบบไม่ลงน้ำหนักนะครับ โดยให้ไม้ยันรักแร้ หรือเครื่องช่วยเดินสี่ขา
แต่ถ้าใส่เฝือกมาสักระยะ กระดูกเริ่มติด แพทย์อาจจะแนะนำให้เดินลงน้ำหนักได้บางส่วนครับ
ใส่เฝือกข้อเท้า เดินด้วยไม้ยันรักแร้
เครื่องช่วยเดินสี่ขา
ท่านอน ท่านั่งคนใส่เฝือก
หลักก็คือ ควรยกสูง ห้ามห้อยนานครับ
ใส่เฝือกข้อมือ ใช้ที่ประคองแขนช่วย จะได้ไม่ต้องห้อยแขน
ใส่เฝือกแขน ขณะเดิน หรือทำงาน ควรใช้ที่ประคองแขนช่วย ตอนนั่งควรวางแขนบนหนอนข้างตัว ตอนนอน ควรวางแขนบนหมอน หรือบนตัว
ใส่เฝือกข้อเท้า ควรยกขาสูงบ่อยๆ
ใส่เฝือกขา ยืน เดิน ได้แต่ไม่ควรนานเกินไป นั่ง ควรมีเก้าอี้อีกตัววางรองขา เพื่อยกขาสูง นอน ควรหนุนบริเวณน่องด้วยหมอน 1-2 ใบ
ใส่เฝือกที่ขา เวลานั่งรถควรนั่งเบาะหลัง วางขาบนที่นั่ง จะได้ไม่ต้องห้อยเท้าครับ
ตอนนั่งรถ ถ้าต้องนั่งรถนานๆ ควรนั่งเบาะหลัง และวางขาบนเบาะนั่ง ถ้าหนุนขานิดหน่อยด้วยจะดีมากครับ
เอาเฝือกออก ทำอย่างไร
ถ้าเป็นเฝือกอ่อน แค่เอาผ้ายืดออก ก็สามารถเอาเฝือกออกได้แล้วครับ
แต่ถ้าเป็นเฝือกแข็ง จะต้องใช้เครื่องเลื่อย เลื่อยเฝือกออกนะครับ ฟังดูอาจจะน่ากลัว แต่จริงๆแล้วไม่น่ากลัว และไม่อันตรายครับ เนื่องจากเครื่องเลื่อย
ใบมีดจะไม่หมุน (แบบที่เราคิด) แต่จะใช้การสั่นของใบมีดเพื่อให้เฝือกขาดครับ
ดังนั้นโอกาสโดนเลื่อยบาดผิวหนังน้อยมากครับ
บางคนบอกว่าตอนใช้เครื่องเลื่อยเฝือก เสียงดังน่ากลัว แต่จริงๆแล้วเสียงที่ดังเกิดจากเครื่องดูดฝุ่นที่ติดมากับเลื่อยครับ เศษเฝือกจะได้ไม่ฟุ้งครับ
ใบมืดเลื่อยเฝือกจะใช้หลักการสั่น จะไม่หมุนนะครับ
ขณะนำเฝือกออกด้วยเครื่องเลื่อยเฝือก
เฝือกหลวมทำยังไง
เฝือกหลวม ส่วนใหญ่เกิดจากภายหลังการใส่เฝือก เนื้อเยื่อได้พัก อาการบวมของเนื้อเยื่อยุบลง จากเฝือกที่แน่นพอดีๆ จะกลายเป็นเฝือกหลวมได้ครับ
ถ้าเฝือกหลวมมาก ต้องให้แพทย์ใส่ใหม่นะครับ โดยเฉพาะถ้ามีกระดูกหัก เนื่องจากเฝือกที่หลวมจะทำให้การประคองส่วนที่ใส่เฝือกลดลง ส่งผลให้กระดูกที่หักเคลื่อนได้
เฝือกแน่นเกินไปทำยังไง
เฝือกแน่นเกินไป มักเกิดจากขณะที่ใส่เฝือก จะใส่แน่นกระชับพอดี แต่เมื่อกลับไปที่บ้าน เนื้อเยื่อบวมมากขึ้น จนเฝือกที่พอดี กลายเป็นเฝือกที่แน่นเกินไป ถ้าเป็นไม่มาก การพัก ยกส่วนที่ใส่เฝือกให้สูง ก็จะลดอาการบวมและอาการแน่นได้ครับ
การผ่าเฝือก เพื่อลดอาการแน่นจากเนื้อเยื่อบวม
แต่ถ้าเป็นมาก แพทย์จะผ่าเฝือกออกเป็นสองซีก เพื่อให้เนื้อเยื่อขยายตัวได้ตามต้องการ หรือไม่ก็ใส่เฝือกใหม่ให้ครับ
แนะนำว่าถ้ามีอาการแน่น หรือปวดบริเวณที่ใส่เฝือกมากขึ้น ให้ไปพบแพทย์ก่อนนัดได้เลยครับ จะได้ประเมินว่าต้องผ่าเฝือกหรือใส่ใหม่หรือไม่ เนื่องจากถ้าปล่อยให้แน่นเกินไปนานๆ อาจจะทำให้เลือดมาเลี้ยงส่วนปลายได้ไม่ดี และอันตรายมากๆได้ครับ
การดูแลเมื่อใส่เฝือก
- ยกแขน หรือขา ที่ใส่เฝือกให้สูง เช่น เวลานั่งต้องมีเก้าอี้วางขา เพื่อลดอาการบวม ไม่ควรห้อยขาหรือแขนที่ใส่เฝือกนานๆ
- ห้ามเฝือกเปียกน้ำ ถ้าน้ำเข้าเฝือกมากๆ เช่นโดนน้ำสาด หรือเปียกฝน ควรปรึกษาแพทย์ อาจต้องเปลี่ยนเฝือก โดยเฉพาะการใส่เฝือกหลังผ่าตัด (เนื่องจากมีแผลผ่าตัดในเฝือก และถ้าแผลเปียกน้ำ อาจมีการติดเชื้อได้)
- ขยับส่วนที่ไม่ได้ใส่เฝือก และไม่ได้บาดเจ็บบ่อยๆ ป้องกันการเกิดข้อติด เช่น ใส่เฝือกที่ข้อมือ ให้ขยับนิ้วมือ และข้อศอกได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ใส่ก่อนนะครับว่าทำได้หรือไม่
- ห้ามแหย่หรือใส่อะไรเข้าไปในเฝือก เพื่อเกา ป้องกันการเกิดแผล และสิ่งที่ใช้แหย่ตกค้างในเฝือก (ที่เจอบ่อยคือทิชชู่กับไม้เสียบลูกชิ้น)
- ถ้าคันมากจริงๆ ใช้ cast comfort ได้
- ถ้าขอบเฝือกบาดเนื้อ อาจใช้พลาสเตอร์ติดที่ขอบเฝือกช่วย หรือพบแพทย์ให้จัดการให้ครับ ไม่ควรใส่ไว้จนเป็นแผล
- ขณะอาบน้ำ ถ้าใส่เฝือกที่ขาให้นั่งอาบ วางขาบนเก้าอี้ ใส่เฝือกที่แขน ให้ใช้ถุงพลาสติกใหญ่ๆ ใส่แขน ป้องกันน้ำโดนเฝือก
- ถ้าใส่เฝือกอ่อนและคุณหมออนุญาตให้นำออกได้บางเวลา ก็ให้นำเฝือกอ่อนออก แล้วอาบน้ำได้ หลังอาบน้ำต้องเช็ดให้แห้งและใส่เฝือกกลับเข้าไปใหม่
ควรพบแพทย์ทันที พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการดังนี้
- ชาส่วนที่อยู่ปลายต่อเฝือก เช่น ชามือ ชาเท้า
- ปวดส่วนที่ใส่เฝือกมากขึ้น
- เฝือกเปียก เฝือกแตก เฝือกหัก
- มีเลือดหรือหนองไหลออกจากเฝือก
- มีกลิ่นเหม็นในเฝือก
- ขยับนิ้วหรือส่วนปลายเฝือกได้ลดลง
- ผิวหนังส่วนที่อยู่ปลายต่อเฝือกเปลี่ยนสี เช่นซีดลง ม่วงๆ หรือจับแล้วผิวหนังเย็นๆ
- รู้สึกแน่นเกินไป แน่นมากขึ้นจากตอนใส่เฝือกแรกๆ
- มีไข้
สรุป
การใส่เฝือก มีจุดประสงค์เพื่อพยุงข้อ หรือส่วนต่างๆของร่างกาย ให้ขยับลดลง เฝือกสามารถแบ่งได้เป็นเฝือกอ่อนและเฝือกแข็ง ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้งาน การดูแล และการใช้งานเฝือก มีความแตกต่างกัน ควรรู้วิธีการดูแล และสังเกตสิ่งผิดปกติที่ควรพบแพทย์ครับ