เนื้อหาในบทความนี้
โรคเอ็นข้อมืออักเสบที่โคนนิ้วหัวแม่มือ มีชื่อเรียกว่าอะไรกัน
อาการเอ็นข้อมืออักเสบที่นิ้วโป้ง
เอ็นข้อมืออักเสบที่โคนนิ้วหัวแม่มือมักพบในใคร
เอ็นข้อมืออักเสบในกลุ่มคนท้องตั้งครรภ์
เป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบอันตรายไหม
การรักษาเอ็นโคนนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
ลดการอักเสบ เมื่อเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
เป็นเอ็นข้อมืออักเสบ ประคบร้อนหรือประคบเย็นดี
เป็นเอ็นข้อมืออักเสบ กินยาอะไรดี
ขยับบ่อยๆป้องกันข้อติด เมื่อเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
ป้องกันการเป็นซ้ำอย่างไร เมื่อเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tendinosis) หรือเรียกว่า ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ คือ อาการปวด เจ็บ เส้นเอ็นข้อมือ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ มักปวดตอนใช้งานมือ หรือข้อมือ เช่น หมุนข้อมือ เอียงข้อมือ กำมือ หยิบของ สาเหตุเกิดจากการใช้งานข้อมือและนิ้วหัวแม่มือท่าเดียวซ้ำๆ มานานๆ ส่วนใหญ่รักษาหายด้วยการพักการใช้งาน ร่วมกับทานยาช่วงสั้นๆ
โรคเอ็นข้อมืออักเสบที่โคนนิ้วหัวแม่มือ มีชื่อเรียกว่าอะไรกัน? ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร?
เรียกว่าเอ็นข้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มืออักเสบ ก็ได้ครับตรงตัว เข้าใจง่าย จำง่าย หรือจะเรียกว่า stenosing tenosynovial inflammation ก็ได้
แต่ในวงการแพทย์จะเรียกกันว่า De Quervain’s Tendinosis (เดอ-โก-แวง)ครับ อาจจะเรียกยากหน่อย แต่คุณหมอกระดูกและข้อเข้าใจทุกคนแน่นอน
สาเหตุของเอ็นข้อมืออักเสบ
ก่อนอื่นต้องรู้จักกายวิภาค เส้นเอ็นข้อมือก่อนครับ โดยเอ็นข้อมือเป็นเส้นเอ็นคล้ายๆเชือก ทำหน้าที่เชื่อมกล้ามเนื้อกับกระดูก ตามภาพ เมื่อกล้ามเนื้อขยับ จะดึงเอ็นให้ขยับไปด้วย ทำให้เราขยับข้อมือ นิ้วมือในท่าต่างๆได้
โดยเอ็นบริเวณข้อมือจะเคลื่อนที่ไหลลอดอุโมงค์เล็กๆ (extensor retinaculum) เมื่อมีการใช้งานข้อมือ นิ้วหัวแม่มือซ้ำๆ ท่าเดิมๆ ทำต่อเนื่องมานานๆ
ก็ส่งผลให้เกิดเอ็นอักเสบเรื้อรัง อุโมงค์เล็กๆหนาตัวขึ้น และเอ็นลอดผ่านอุโมงค์ได้ไม่สะดวกเหมือนเดิม ทำให้เกิดอาการเจ็บ อักเสบได้
อาการเอ็นข้อมืออักเสบที่นิ้วโป้ง
- ปวดโคนนิ้วหัวแม่มือ
- บวม
- อาการปวดค่อยๆเป็นมากขึ้นตามการใช้งาน
- อาการปวดจะเจ็บจี๊ดขึ้นมาที่โคนนิ้วหัวแม่มือ เมื่อทำข้อมือท่าหนึ่ง หรือกิจกรรมหนึ่ง
- ขยับนิ้วหัวแม่มือแล้วปวด (จะมีท่าที่ทำให้ปวด)
- ขยับข้อมือแล้วปวด (จะมีท่าที่ทำให้ปวด)
- อาจจะปวดร้าวมาที่แขนส่วนปลาย หรือร้าวมาที่มือได้
- กำมือ ใช้มือหยิบของ เกร็งมือ จับลูกกุญแจ ขยับข้อมือแล้วปวด
แสดงจุดปวดของโรคเอ็นข้อมืออักเสบ
ใช้งานซ้ำๆท่าเดิมๆมานานๆ
พบในแม่บ้าน แม่ครัว ช่าง และอาชีพที่ใช้มือและข้อมือหนักๆ
เอ็นข้อมืออักเสบที่โคนนิ้วหัวแม่มือมักพบในใคร
โรคนี้มักพบในวัยกลางคนครับ อายุ 30-50 ปี พบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย และมักจะใช้งานข้อมือหรือมือท่าเดิมๆ หนักๆ ซ้ำๆ มานานๆ
อาชีพที่พบบ่อยเช่น
งานบ้าน บิดผ้าเปียก กวาดบ้าน ถูบ้าน ตากเสื้อผ้าล้างจาน
ทำสวน ตัดแต่งกิ่งไม้ ขุดดิน พรวนดิน ดายหญ้า
งานช่าง ตอกตะปู บิดลูกบิด ไขควง ยกของหนัก
แม่ครัว ผัดๆๆ สับๆๆ กระทะหนักๆ ตะหลิว ล้างจาน
- พนักงานบริษัท พิมพ์ดีดทั้งวัน นั่งผิดท่า คีย์บอร์ดไม่ได้สัดส่วนกับร่างกาย
- นักดนตรี
- ช่างไม้
- ช่างตัดผม กรรไกรตัดผมทั้งวัน
- นักกีฬาที่ต้องจับอุปกรณ์กีฬาที่เป็นด้าม เช่น ไม้เทนนิส ไม้แบตมินตัน ไม้กอล์ฟ
เอ็นข้อมืออักเสบในกลุ่มคนท้องตั้งครรภ์
คนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่พบโรคนี้ได้บ่อยก็คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ครับ เนื่องจากฮอร์โมนในคนกลุ่มนี้ทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายบวมขึ้น และเอ็นอักเสบได้ง่าย
ประคองศีรษะเด็กขณะให้นมควรมีหมอนให้นมจะได้ไม่เป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
รวมถึงการเลี้ยงดูเด็กด้วยครับ โดยท่าประคองศีรษะเด็กเล็กๆ ก็ทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน แนะนำว่า ถ้าต้องดูแลเด็ก ให้นมบุตร ควรมีหมอนให้นมนะครับ จะได้ไม่ต้องประคองศีรษะเด็กนานๆ
การวินิจฉัยเอ็นข้อมืออักเสบ
- อาการตามที่กล่าวข้างต้น
- กดเจ็บบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ
- ตรวจเอ็นข้อมืออักเสบด้วยตัวเองด้วยการทำ Finkelstein test (ชื่อยากอีกแล้ว)
วิธีตรวจเอ็นข้อมืออักเสบด้วยวิธี Finkelstein test
วิธีตรวจให้เรางอนิ้วหัวแม่มือจากนั้นงอนิ้วมืออื่นๆทับบนนิ้วหัวแม่มือ (กำมือให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านใน) จากนั้นเอียงข้อมือให้มือไปทางฝั่งนิ้วก้อย
ถ้ามีอาการปวดแปล๊บขึ้นมาที่โคนนิ้วหัวแม่มือ ก็น่าจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบนะครับ
เป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบอันตรายไหม
โรคนี้ไม่อันตรายครับ เพียงแต่จะทำให้เราเจ็บ แปล๊บ รำคาญ และทำให้เราทำกิจกรรมที่เราทำมาตลอดได้ลดลง (กิจกรรมนั้นแหละครับที่ทำให้เราเป็นโรคนี้)
แต่จะไม่เป็นหนักจนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือต้องผ่าตัดรักษาใหญ่ๆ ครับ
ถ้าเราพัก ใช้งานพอได้ มีเจ็บๆบางครั้งที่ใช้งานหนักๆ เราก็อยู่กับโรคนี้ไปได้ครับ
การรักษาเอ็นโคนนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
หลักการรักษาคือ
- ลดการอักเสบ
- ขยับบ่อยๆ ป้องกันข้อติด
- ป้องกันการเป็นซ้ำ
ลดการอักเสบ เมื่อเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
เมื่อมีอาการปวด เจ็บ หรือแปล๊บขึ้นมา ที่โคนนิ้วหัวแม่มือ ควรลดการอักเสบด้วยวิธีต่างๆดังนี้
- พัก ลด การทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เป็น
- ใช้ที่ประคองข้อมือ หรือเฝือกอ่อน เพื่อลดการขยับข้อมือ (ถ้าปวดมาก)
- ใช้เทปพัน เพื่อลดการขยับข้อมือ ในนักกีฬาที่ใช้ข้อมือหนักๆ
- เลี่ยงการขยับข้อมือท่าที่ทำให้ปวด เช่น ท่าจับลูกกุญแจ การเอียงข้อมือไปทางด้านนิ้วก้อย
- ประคบเย็น
- ทานยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวดตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
ที่ประคองข้อมือลดอาการปวดจากเอ็นข้อมืออักเสบ
การพันเทปลดอาการเอ็นข้อมืออักเสบ
เป็นเอ็นข้อมืออักเสบ ประคบร้อนหรือประคบเย็นดี
เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น ปวด แปล๊บ จี๊ด ควรประคบเย็นครับ ช่วยลดการอักเสบ ลดบวม ช่วยให้ชา ลดอาการปวดได้
เป็นเอ็นข้อมืออักเสบ กินยาอะไรดี
ควรเป็นยากลุ่มลดการอักเสบ และกลุ่มแก้ปวดครับ ลองปรึกษาเภสัชกรหรือคุณหมอดูนะครับ อาจจะซื้อที่ร้านขายยาก็ได้ แต่ไม่ควรทานยาเองนะครับ
ป้องกันการเป็นซ้ำอย่างไร เมื่อเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
อันนี้ยากที่สุดครับ เนื่องจากโรคนี้เป็นจากการใช้ข้อมือและนิ้วหัวแม่มือทำกิจกรรมเดิมๆซ้ำๆมานานๆ ดังนั้นการจะลดการใช้งาน หรือหยุดทำกิจกรรมนั้นๆไปเลยคงไม่สามารถทำได้ครับ โดยเราจะเน้นไปที่การปรับพฤติกรรมการใช้งานครับ
- นักกีฬา ลองดูเรื่องการพันเทป บริเวณข้อมือ ลดการขยับข้อมือช่วยครับ
- แม่บ้าน ต้องหาอุปกรณ์ช่วยการทำงานบ้านครับ เช่น อุปกรณ์ช่วยบิดผ้า ถังน้ำแบบมีล้อ เครื่องดูดฝุ่น
- ช่าง ลดการบิดข้อมือด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น เครื่องไขน็อตไฟฟ้า
- พนักงานออฟฟิศ ต้องเลือกเมาส์ คีย์บอร์ดที่เหมาะกับเรา
- ถ้าเป็นจากการเล่นมือถือมาก ใช้นิ้วหัวแม่มือกดมือถือต่อเนื่องนานๆ อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ stylus ครับ จะได้ไม่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือ
การฉีดยารักษาเอ็นข้อมืออักเสบ
การฉีดยารักษา จะเลือกใช้วิธีนี้ เมื่อการรักษาด้วยการพัก การทานยา การปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ทุเลาครับ โดยคุณหมอจะฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณที่เจ็บ อาการจะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ สามารถฉีดซ้ำได้ 1-2 ครั้ง ถ้าอาการยังไม่ทุเลา
แต่ผลการรักษาจะดีขึ้นช่วงหนึ่งนะครับ ถ้าเรากลับไปใช้งานข้อมือหนักๆเหมือนเดิม อาการก็จะกลับเป็นซ้ำได้อีก
การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบด้วยการผ่าตัด
ถ้ารักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมาเต็มที่แล้ว ทั้งการพัก ทานยา ฉีดยา การใส่ที่ประคองข้อมือ แต่อาการก็ยังไม่หาย ยังไม่สามารถทำงาน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ โรคนี้สามารถผ่าตัดให้หายได้ครับ
การผ่าตัดรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นหายไว
โดยการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดเล็ก ฉีดยาชาทำ
ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องบล็อกหลังครับ ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก็จะเสร็จ กลับบ้านได้เลย
การผ่าตัดจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถึงจะใช้งานได้ตามปกติครับ
เอ็นข้อมืออักเสบรักษากี่วันหาย
โดยปกติ ถ้าพักการใช้งาน ทานยาระยะสั้นๆ อาการจะดีขึ้นได้ใน 2-3 สัปดาห์ครับ แต่ถ้ายังไปทำกิจกรรมเดิมๆอยู่มีโอกาสเป็นซ้ำได้นะครับ
ถ้าเป็นในหญิงตั้งครรภ์ อาการจะดีขึ้นเมื่อคลอดบุตร หรือหยุดให้นมบุตรครับ ใครเป็นช่วงนี้ก็อดทนนิดนึงครับ อาจจะปรึกษาคุณหมอประจำตัวเรื่องการใช้ยา รวมถึงการฉีดยาสเตียรอยด์ได้ครับ
สรุป
เอ็นข้อมืออักเสบบริเวณนิ้วหัวแม่มือ เป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานข้อมือหรือนิ้วหัวแม่มือซ้ำๆต่อเนื่องกันมานาน การรักษาจะเน้นไปที่การลดการอักเสบ ได้แก่การพัก การใช้ยา หรือการฉีดยาสเตียรอยด์ รวมถึงการป้องกันการเป็นซ้ำโดยการปรับพฤติกรรมการใช้งานข้อมือ