กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดอาการปวดเสียว เจ็บจี๊ดๆ แปล๊บๆ ในข้อเท้า มีอาการข้อเท้าติด ล็อค ข้อเท้าลั่น มีเสียง สามารถเกิดได้กับทุกอายุ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะมีอุบัติเหตุข้อเท้านำมาก่อน และเป็นสาเหตุให้เกิดกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บตามมาได้
กระดูกอ่อนข้อเท้าอยู่ตรงไหน
กระดูกข้อเท้า (Talus) เป็นหัวใจหรือห้องเครื่องของข้อเท้า
ข้อเท้าของเราประกอบไปด้วยกระดูกสามชิ้น
- กระดูกหน้าแข้งชิ้นหลัก (Tibia) และมีส่วนของตาตุ่มด้านใน
- กระดูกหน้าแข้งชิ้นรอง (Fibula) และมีส่วนของตาตุ่มด้านนอก
กระดูกหน้าแข้งชิ้นหลัก และชิ้นรอง จะประกอบกันเป็นส่วนข้อเท้า ลักษณะคล้ายตัว U กลับหัว
- กระดูกข้อเท้า (Talus) เข้ามาสวมเข้ากับส่วนข้อเท้า (ที่มีลักษณะคล้ายตัว U กลับหัว) ด้านบน
กระดูก Talus เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของข้อเท้า ส่วนบนของกระดูก Talus จะถูกหุ้มไว้ด้วยกระดูกอ่อน ทำหน้าที่รับน้ำหนัก และช่วยให้ข้อเท้าขยับได้อย่างลื่นไหล ไม่สะดุด เมื่อมีอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก หรือข้อเท้าหัก ก็มักจะมีกระดูกอ่อนข้อเท้าด้านบน (Talar dome) บาดเจ็บได้
ส่งผลให้มีอาการปวดจี๊ดๆที่ข้อเท้า เจ็บข้อเท้าแปล๊บๆ ข้อเท้ามีเสียง ข้อเท้าลั่น ปวดเสียวในข้อเท้า
กระดูกข้อเท้า (Talus) ด้านบนจะถูกหุ้มด้วยกระดูกอ่อนเต็มพื้นที่
กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ
สาเหตุของกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ
ส่วนใหญ่ของโรคกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ จะมีประวัติข้อเท้าพลิกมาก่อนครับ อาจจะจำได้หรือไม่ได้ก็ตาม ถ้าข้อเท้าพลิกอย่างรุนแรง หรือจังหวะเหมาะเจาะจริงๆ ก็จะเกิดกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บในตำแหน่งต่างๆตามมาได้
การเกิดกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บสามารถเกิดได้หลายตำแหน่ง หลายขนาด และหลายความรุนแรง ขึ้นอยู่กับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ท่าทางของข้อเท้าและทิศทางการพลิกขณะเกิดอุบัติเหตุ และความแรงของอุบัติเหตุด้วย
นอกจากอุบัติเหตุแล้ว กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บยังอาจเกิดจากการใช้งานข้อเท้าอย่างรุนแรงซ้ำๆ ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานๆด้วยก็ได้ครับ
กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ มีอาการอย่างไร
เมื่อเกิดข้อเท้าพลิก ร่วมกับมีกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ จะมีอาการเหมือนข้อเท้าพลิกทั่วๆไปเลยครับ คือ มีอาการปวด บวมข้อเท้า เดินลงน้ำหนักแล้วเจ็บ
จะไม่มีอาการเฉพาะเจาะจงว่าเป็นกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ เอกซเรย์ก็อาจจะเห็นหรือไม่เห็นรอยกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บก็ได้ (ส่วนใหญ่จะไม่เห็น)
จะเห็นว่าภาวะนี้วินิจฉัยขณะเกิดเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุได้ยากครับ
ต่อมา เมื่ออาการบวม ปวด จากข้อเท้าพลิกดีขึ้น อาการของกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ ก็จะเริ่มปรากฏให้เห็น แต่ก็ยังวินิจฉัยได้ยากอยู่ดีครับ
- เจ็บข้อเท้าด้านหน้า
- ปวดจี๊ดๆ เจ็บแปล๊บๆ ในข้อเท้า
- ปวดเสียวลึกๆในข้อเท้า หาจุดกดเจ็บไม่ได้ แต่รู้สึกเจ็บข้างใน
- เสียวในข้อเท้าตอนเดินลงน้ำหนัก
- ข้อเท้าบวม โดยเฉพาะตอนห้อยเท้า ยืน เดิน นานๆ แต่เมื่อนอนยกขาสูง จะยุบ
- ขยับข้อเท้าแล้วติด ลั่น มีเสียงในข้อเท้า
- ขยับข้อเท้าได้ลดลง ไม่ขึ้นสุด ลงสุด เหมือนเดิม
อาการสำคัญที่ทำให้นึกถึงภาวะนี้คือ ข้อเท้าพลิก แล้วอาการต่างๆไม่หายเป็นปกติสักที เนื่องจากส่วนใหญ่ ข้อเท้าพลิกจะหายสนิท หรืออาการดีขึ้นมากๆ ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้ายังไม่หาย จะต้องหาสาเหตุว่ามีการบาดเจ็บอื่นร่วมด้วยหรือไม่
การวินิจฉัยกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ
วินิจฉัยตั้งแต่ตอนเกิดอุบิติเหตุได้ยากครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยเมื่อมีอาการปวดจี๊ดที่ข้อเท้า เจ็บข้อเท้าแปล๊บๆ ข้อเท้ามีเสียง ข้อเท้าลั่น ปวดเสียวในข้อเท้า หาจุดกดเจ็บไม่ได้ ข้อเท้าบวมเป็นๆหายๆ มีอุบัติเหตุข้อเท้ามาก่อนในอดีต
การตรวจร่างกายมักจะไม่มีจุดกดเจ็บชัดเจนว่าเจ็บตรงไหน คุณหมอจะตรวจอาการข้อเท้าหลวม ร่วมไปด้วยเพื่อดูว่ามีเอ็นข้อเท้าบาดเจ็บด้วยหรือไม่
ภาพ MRI ข้อเท้าแสดงกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ
การส่งเอกซเรย์ ก็อาจจะเห็นรอยหรือไม่เห็นรอยกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บก็ได้ครับ เนื่องจากกระดูกอ่อนข้อเท้าไม่สามารถเห็นได้จากเอกซเรย์
เมื่อนึกถึงภาวะนี้ คุณหมออาจจะส่งตรวจพิเศษได้แก่ การทำ CT scan หรือทำ MRI scan เพื่อยืนยันการวินิจฉัยต่อไปครับ
กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บรักษาอย่างไร
ถ้าสงสัยภาวะกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ แนะนำให้พบกับคุณหมอกระดูกและข้อ เพื่อปรึกษาแนวทางการรักษาครับ การรักษาสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด
การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดจะทำในกรณีที่
- อุบัติเหตุเป็นมาไม่นาน มารับการรักษาเร็ว
- กระดูกอ่อนบาดเจ็บ แต่ไม่เคลื่อน
- มีขนาดเล็ก
- ตำแหน่งของการบาดเจ็บ เป็นตำแหน่งที่สามารถรักษาตัวเองได้ดี
- อาการไม่มาก
การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด
ประกอบไปด้วยการใส่เฝือก และการจำกัดการใช้งาน 4-6 สัปดาห์ ต่อด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อฝึกกล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้า รวมถึงฝึกพิสัยการขยับข้อเท้าด้วย และใช้ที่ประคองข้อเท้าต่อจนอาการต่างๆดีขึ้นครับ
นอกจากนั้น บางรายงานยังแนะนำให้ใช้ยาฉีดบางชนิด เช่น Platelet rich plasma หรือ hyaluronic acid ฉีดข้อเท้าเพื่อกระตุ้นการหายของกระดูกอ่อนด้วย แนะนำให้ลองถามคุณหมอที่รักษาดูนะครับ
การส่องกล้องรักษากระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ
ถ้าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดได้ คุณหมอจะแนะนำวิธีผ่าตัดให้ครับ โดยการผ่าตัดอาจจะทำแบบส่องกล้อง(แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นหายไว) หรือแบบเปิดแผล ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยครับ เช่น การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเป็นแบบไหน ตำแหน่ง ความรุนแรง ขนาดของแผล
สรุป
กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ จะทำให้เกิดอาการปวดจี๊ดที่ข้อเท้า เจ็บข้อเท้าแปล๊บๆ ข้อเท้ามีเสียง ข้อเท้าลั่น ปวดเสียวในข้อเท้า หาจุดกดเจ็บไม่ได้ ข้อเท้าบวมเป็นๆหายๆ ส่วนใหญ่จะมีอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกนำมาก่อน อาการที่ทำให้นึกถึงภาวะนี้คือ มีข้อเท้าพลิก แล้วอาการต่างๆไม่หายขาดสักที