เท้าแบนในเด็ก
ลูกเราเป็นเท้าแบนหรือไม่ ดูยังไง อันตรายไหม แก้ยังไง ครบจบที่เดียวทุกข้อกังวล ข้อสงสัย
เท้าแบน คือ ภาวะไม่มีอุ้งเท้า สามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุทั้งในเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนวัยหนุ่มสาว โดยในเด็กสามารถพบได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ไม่อันตราย มักพบเป็นต่อๆกันมาในครอบครัว สามารถใช้งานเท้า ข้อเท้าได้ตามปกติ สามารถเล่นกีฬา ใช้งานหนักๆได้ตามต้องการ แต่ในปัจจุบันก็ยังมีข้อถกเถียง และสรุปไม่ได้ในอีกหลายประเด็น ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ
อ่านเพิ่มเรื่องเท้าแบนในผู้ใหญ่ได้ที่นี่ครับเท้าแบนในเด็กพบได้บ่อยไหม
ภาวะเท้าแบนในเด็กสามารถพบได้บ่อยเลยครับ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไร ใช้งาน วิ่งเล่นได้ตามปกติ แต่การจะบอกว่าลูกของเราเท้าแบน หรือเด็กคนนี้เท้าแบน มีข้อควรรู้ดังนี้ครับ
ในเด็กเท้าปกติ จะมีไขมันอุ้งเท้า ทำให้ดูคล้ายกับว่ามีภาวะเท้าแบน
- ในเด็กช่วง 10 ปีแรก จะมีไขมันที่อุ้งเท้า (fat pad) ทำให้ดูคล้ายกับว่ามีเท้าแบน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เท้าปกติ แต่พอมีไขมันอุ้งเท้า ก็สงสัยภาวะเท้าแบนได้
- ในปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยที่แน่ชัดว่า เท้าแบนในเด็กวินิจฉัยอย่างไร เท้าลักษณะนี้ถือว่าเป็นโรคเท้าแบนหรือยัง หรือเอกซเรย์ออกมาแบบนี้ ถือว่าเป็นเท้าแบนหรือยัง
- ในเด็กตามธรรมชาติ จะมีเท้าแบนนิดๆอยู่แล้วครับ เป็นทุกคน และเมื่อโตมา ร่างกายจะเจริญเติบโตขึ้น และร่างกายจะพัฒนาเท้าให้มีอุ้งเท้าขึ้นมาได้เอง ในเวลา 10 ถึง 10กว่าปี ครับ
- การวินิจฉัย “โรคเท้าแบน” ไม่ว่าจะบอกด้วยลักษณะเท้าภายนอก หรือจากเอกซเรย์ก็ตาม แต่ถ้ายังใช้งานได้ดี ไม่เจ็บ ไม่ปวด เท้ายืดหยุ่นได้ดี การจะบอกว่าเท้าลักษณะนี้ “เป็นโรค” ก็ไม่ถูกต้องสักทีเดียว
สรุปว่า เด็กส่วนใหญ่จะมีลักษณะเท้าแบนนิดๆอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่จะไม่มีอาการ สามารถใช้งานได้ตามปกติ ผู้ใหญ่จะพบเท้าแบนได้ประมาณ 20 ว่าเปอร์เซ็นต์ และเป็นแบบยืดหยุ่นได้ และส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
เท้าแบนมีกี่แบบ ลูกของเราเป็นเท้าแบนแบบไหน
เท้าแบนในเด็ก สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทใหญ่ๆครับ
- เท้าแบนชนิดยืดหยุ่น (flexible flatfoot)
- เท้าแบนชนิดยืดหยุ่น ร่วมกับมีเอ็นร้อยหวายตึง
- เท้าแบนชนิดยึดติด (rigid flatfoot)
เด็กที่มีภาวะเท้าแบนส่วนใหญ่ (เกินครึ่ง) จะตกอยู่ใน 2 แบบแรกครับ
ถ้าไม่มีเอ็นร้อยหวายตึง ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ ใช้งาน วิ่งเล่น เล่นกีฬาได้ตามปกติ แต่ถ้ามีเอ็นร้อยหวายตึงร่วมด้วย ก็จะทำให้มีอาการต่างๆตามมาได้ครับ
เช่น เจ็บบริเวณต่างๆที่เท้า ล้าง่าย น่องตึง เอ็นร้อยหวายอักเสบ ใช้งานได้ไม่เต็มที่ครับ
เท้าแบนแบบยึดติด ภาวะนี้พบได้น้อยครับ และค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่จะมีภาวะผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น tarsal coalition (กระดูกเท้าไม่แยกตัวออกจากกัน) และมักมีอาการต่างๆ แนะนำพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษา และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่ต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขครับ
วิธีแยกเท้าแบนแบบยืดหยุ่น กับเท้าแบนแบบยึดติด ทำอย่างไร
สามารถดูได้คร่าวๆครับ ดังนี้
ถ้าจะวินิจฉัยให้ถูกต้องจริงๆ แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจนะครับ
ยืนแล้วแบน เขย่งแล้วหาย
วิธีนี้ทำได้งายๆครับ ให้เด็กยืนลงน้ำหนักเท่าๆกันทั้งสองขา ผู้ปกครองอยู่ที่ด้านหลังเด็ก นั่งลงดูที่ข้อเท้าด้านหลัง จะสังเกตว่า
- ขณะยืน ส้นเท้าจะชี้ออกด้านนอก และไม่มีอุ้งเท้า
- ให้เด็กเขย่งเท้าขึ้นทั้งสองข้าง
- สังเกตว่า ส้นเท้าจะกลับมาอยู่ตรงกลางขา หรือชี้เข้าด้านในเล็กน้อย และมีอุ้งเท้าขึ้นมา
- ถ้าเป็นแบบนี้ แปลว่าเป็นภาวะเท้าแบนแบบยืดหยุ่นครับ ถ้าส้นเท้าไม่กลับมา แปลว่าเป็นภาวะเท้าแบนแบบยึดติด
มองข้อเท้าด้านหลัง ตอนยืนลงน้ำหนัก จะพบว่าส้นเท้าชี้ออกด้านนอก และไม่มีอุ้งเท้า
ในเท้าแบนชนิดยืดหยุ่น เมื่อให้เขย่งเท้า ส้นเท้าจะชี้เข้าด้านใน และมีอุ้งเท้าขึ้นมา
กระดกนิ้วหัวแม่เท้าแล้ว มีอุ้งเท้ากลับมา
วิธีนี้ก็ง่ายครับ ให้เด็กนั่งวางเท้ากับพื้น จากนั้นผู้ปกครองใช้มือจับนิ้วหัวแม่เท้าของเด็กกระดกขึ้น ถ้ามีอุ้งเท้าขึ้นมา แปลว่าเป็นภาวะเท้าแบนแบบยืดหยุ่น ถ้าไม่มีอุ้งเท้าขึ้นมา แปลว่าเป็นภาวะเท้าแบนแบบยึดติด
เท้าแบนในเด็กมีอาการอย่างไร ตรวจได้ง่ายๆอย่างไร
เด็กเท้าแบนส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไรครับ สามารถใช้งานได้ปกติ ไม่เจ็บ ไม่ปวด วิ่ง เดิน ออกกำลังกาย เล่นกีฬาได้ปกติ เท่าๆกับเด็กคนอื่นๆ
ส่วนใหญ่ผู้ปกครองพามา (ลากมา) เนื่องจากกังวลเรื่องลักษณะเท้า ทรงเท้า ท่าเดิน เดินแบะเท้าออกนอก เดินหมือนเป็ด ท่าเดินไม่สวย กลัวลูกพิการ หรือกลัวว่าต้องรักษาแล้วรักษาช้าไม่ทันการ ต่างๆนาๆครับ
ถ้าสงสัยว่าลูกของเราเท้าแบน ลองดูตามนี้ครับ
ตรวจภาวะเอ็นหย่อนทั่วร่างกาย (Generalized ligament laxity)
ภาวะนี้คือการที่มีเอ็นในร่างกายทั่วทั้งตัวหย่อนกว่าปกติ แต่ก็ไม่อันตรายนะครับ เพียงแต่ต้องเข้าใจโรค และเข้าใจความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยมีการตรวจง่ายๆตามภาพดังนี้
- ดันนิ้วโป้งมือแตะแขน (thumb to forearm)
- จับนิ้วก้อยมือเหยียดไปด้านหลังได้มากกว่า 90 องศา (hyperextension of little finger)
- เข่าเหยียดได้มากกว่าปกติ (ดูท่ายืน)
- ศอกเหยียดได้มากกว่าปกติ (เหยียดด้วยตัวเอง ไม่ต้องจับดัด)
- ยืดเข่าเหยียด แล้วก้มเอามือ (ทั้งฝ่ามือ) แตะพื้นได้ (palm to floor)
ในเด็กที่มีภาวะนี้ มีโอกาสเป็นเท้าแบนได้มากกว่าปกติครับ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นอันตราย หรือต้องรักษาอะไรพิเศษ เราจะดูอาการเป็นหลักครับ
รองเท้าของคนเท้าแบน จะสึกเร็วโดยเฉพาะด้านในบริเวณส้นเท้า
ดูรองเท้า
พลิกรองเท้าขึ้นมาดูพื้นรองเท้า ว่ามีรอยสึกหรือไม่ บริเวณใด ส่วนใดของพื้นรองเท้าที่สึกเร็ว โดนในคนที่มีเท้าแบน
รองเท้าจะสึกเร็วกว่าปกติ และบริเวณที่สึกจะเป็นบริเวณส้นเท้าด้านใน และกลางเท้าด้านใน จะสึกก่อนครับ
สำรวจคนในครอบครัว
ส่วนใหญ่เด็กที่เท้าแบนจะมีคนในครอบครัวที่เท้าแบนร่วมด้วย แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ ถ้าเด็กเท้าแบนแต่พ่อแม่เท้าไม่แบน หรือพ่อแม่เท้าแบนแต่เด็กเท้าไม่แบนก็ไม่ต้องตกใจ สามารถเกิดขึ้นได้ครับ
ดูทรงเท้าตอนยืน
ให้เด็กยืนตรง ลงน้ำหนักที่เท้าเท่าๆกันทั้งสองข้าง ผู้ตรวจนั่งสังเกตลักษณะเท้าในทุกๆมุม
- มองจากด้านในออกนอก จะเห็นอุ้งเท้าต่ำลง หรือไม่มีอุ้งเท้า
- มองจากด้านบนลงล่าง จะเห็นหน้าเท้าชี้ออกด้านนอก
- มองจากด้านหน้าไปหลัง จะเห็นด้านในของเท้าโค้งออกด้านนอก
- มองจากด้านหลังมาหน้า จะเห็นส้นเท้าชี้ออกด้านนอก และน้ำหนักตัวตกลงด้านในต่อส้นเท้า
มองจากด้านในออกนอก จะเห็นอุ้งเท้าต่ำลง หรือไม่มีอุ้งเท้า
มองจากด้านบนลงล่าง จะเห็นหน้าเท้าชี้ออกด้านนอก
มองจากด้านหลังมาหน้า จะเห็นส้นเท้าชี้ออกด้านนอก และน้ำหนักตัวตกลงด้านในต่อส้นเท้า
ตรวจว่าเป็นเท้าแบนชนิดยืดหยุ่นหรือยึดติด
หัวข้อนี้อธิบายที่ด้านบนของบทความนี้แล้วนะครับ ลองกลับขึ้นไปอ่านดู
วิธีตรวจเอ็นร้อยหวายตึงในเด็กเท้าแบน
ตรวจเอ็นร้อยหวายว่าตึงหรือไม่
เอ็นร้อยหวายตึงเป็นภาวะที่พบร่วมกับเท้าแบนได้บ่อยเลยครับ
ถ้ามีเอ็นร้อยหวายตึงร่วมกับเท้าแบน จะก่อให้เกิดอาการต่างๆได้ง่าย แต่ถ้าเอ็นไม่ตึง ส่วนใหญ่เท้าแบนแทบไม่ต้องให้การรักษาอะไรเลยครับ
วิธีตรวจ
- ให้เด็กนั่ง เหยียดขาตรง เข่าเหยียดตรง ไม่งอ
- ผู้ตรวจมือหนึ่งจับข้อเท้าด้านหลัง ให้ข้อเท้าต้อง ไม่เอียง
- ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับปลายเท้าของเด็กกระดกขึ้น
- สังเกตมุมที่ฝ่าเท้าทำกับกระดูกหน้าแข้ง ในคนปกติ ฝ่าเท้าจะสามารถกระดกขึ้นเลยมุมตั้งฉากได้ประมาณ 10 องศา ถ้าน้อยกว่านี้ ถือว่ามีภาวะเอ็นร้อยหวายตึงครับ
ตรวจจุดเจ็บที่เท้า
- เด็กที่มีเท้าแบน และมีอาการ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเจ็บบริเวณต่างๆที่เท้า
- มักมีอาการตอนใช้งานมากๆ วิ่ง กระโดด ออกกำลังกาย เล่นกีฬา แต่พักแล้วจะหาย
- สังเกตจุดแดงช้ำ จุดที่มีตาปลาหรือหนังแข็งๆที่เท้า
- เป็นข้อมูลเพื่อปรึกษากับแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ละเอียดขึ้นได้ครับ
การรักษาเท้าแบนในเด็ก
เด็กเท้าแบนชนิดยืดหยุ่นได้ และไม่มีอาการอะไร เอ็นร้อยหวายไม่ตึง แบบนี้ไม่ต้องรักษาอะไรครับ เนื่องจากดีอยู่แล้ว ปกติอยู่แล้ว ใช้งานได้เท่าที่ต้องการได้เลย ไม่ลดประสิทธิภาพการใช้งาน สู้กับเด็กเท้าไม่แบนได้เท่าๆ กัน ลุยเลยครับ
ไม่มีเหตุผลที่จะต้องรักษาเด็กปกติ
เท้าแบนแบบยืดหยุ่นที่มีอาการ สามารถรักษาอย่างไรได้บ้าง
ฝึกกล้ามเนื้อ
การฝึกกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี สามารถทำให้เท้าแข็งแรงขึ้น ใช้งานได้ดีขึ้น แต่จะไม่ช่วยให้เท้าที่แบน กลับมามีอุ้งเท้าได้นะครับ
กายภาพยืดน่องช่วยลดอาการตึงเอ็นร้อยหวายในเด็กเท้าแบน
การกายภาพยืดน่อง
- ช่วยลดอาการเท้าแบนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเท้าแบนชนิดยืดหยุ่นและมีน่องตึงร่วมด้วย
- สามารถเปลี่ยนเด็กกลุ่มนี้ให้มาเป็นกลุ่ม น่องไม่ตึงได้ ซึ่งอาการจะน้อยลงมาก
- ในเด็กเล็กๆ ให้ผู้ปกครองช่วยดัด
- ในเด็กโต สามารถให้เด็กฝึกเองได้
- การฝึกสามารถทำได้เองที่บ้าน ไม่มีผลเสีย และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเลยครับ
- ไม่สามารถทำให้เท้าที่แบนกลับมามีอุ้งเท้าได้ แต่อาการต่างๆดีขึ้นได้ครับ
รองเท้าแก้เท้าแบน
มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแผ่นรองรองเท้า ที่เสริมอุ้งเท้า รองเท้าเสริมอุ้ง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆคือ
อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าแบบซื้อมาใช้
เช่น ที่เสริมอุ้งเท้า แผ่นรองรองเท้าเสริมอุ้งเท้า รองเท้าที่เสริมอุ้งเท้ามาในตัวเลย ก็มีครับ
- ข้อดีคือ สามารถหาซื้อมาใช้ได้ง่าย และสามารถเปลี่ยนได้บ่อยเนื่องจากเด็กโตขึ้นทุกวันๆ
- แต่ข้อเสียคือ อาจจะไม่พอดีกับเท้าเด็กได้ เช่น เสริมอุ้งมากไปหรือน้อยไป
อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าแก้เท้าแบน
แผ่นรองรองเท้า สำเร็จรูป แบบเสริมอุ้งเท้า
รองเท้าเสริมอุ้งเท้า Scholl Biomechanics
อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าแบบสั่งตัด
- เช่น แผ่นรองรองเท้าแบบสั่งตัด รองเท้าสั่งตัดเสริมอุ้ง แบบนี้จะพอดีกับเท้าของเด็กที่สุดครับ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพง และถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เนื่องจากเด็กโตขึ้น ก็ยิ่งเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้นเกินความจำเป็น
แผ่นรองรองเท้าแบบสั่งตัดเสริมอุ้งเท้ารักษาเท้าแบน
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการใช้รองเท้าแก้เท้าแบน
- มีรายงานทางการแพทย์หลายรายงานบอกว่า ใช้แล้วดี อาการต่างๆดีขึ้น เมื่อใช้ต่อเนื่องจะสามารถมีอุ้งเท้าขึ้นมาได้
- เมื่ออ่านด้านบนจะเห็นว่าดี น่าใช้นะครับ แต่ว่า…..
- ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้รองเท้าแก้เท้าแบน กับไม่ใช้ แล้วพบว่ารองเท้าแก้เท้าแบนสามารถทำให้เท้ากลับมามีอุ้งเท้าได้มากกว่าแบบไม่ใช้ครับ
- ความรู้เดิมที่ว่า ตามธรรมชาติ ในเด็ก อุ้งเท้าจะมีแบนนิดๆอยู่แล้ว และอุ้งเท้าจะค่อยๆสูงขึ้นตามการเจริญเติบโต ทำให้คุณหมอบางกลุ่มสงสัยว่า
การใช้รองเท้าแก้เท้าแบนในเด็ก อาจจะไม่จำเป็นเนื่องจากพอโตมา อุ้งเท้าก็สูงขึ้นได้ตามปกติอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นผลจากการใส่รองเท้าแก้เท้าแบน
คำแนะนำ ควรใช้หรือไม่ใช้ดี
- ใช้ได้ครับ
- เท้าแบบชนิดยืดหยุ่น ร่วมกับมีอาการต่างๆ ปรึกษาแพทย์ และลองใช้ดูครับ อาการต่างๆส่วนใหญ่จะดีขึ้น
- ถ้าไม่มีอาการ ก็ใช้ได้ครับ แต่เลือกที่เข้ากับการใช้งาน
- แนะนำว่าให้เลือกแบบซื้อมาใช้ก่อน เนื่องจากใช้งานง่าย ราคาไม่แพง (ในเด็กจะเปลี่ยนบ่อย เนื่องจากเท้าโตขึ้นตามวัย)
- ถ้ารู้สึกว่าแพงเกิน ก็ไม่ต้องใช้ก็ได้ครับ เนื่องจากข้อมูลหลักฐาน เรื่องประโยชน์การใช้งานยังไม่แน่นนัก
- ถ้าใช้แล้วเจ็บ แทนที่จะสบายขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ และปรับ เปลี่ยน หรือไม่ต้องใช้ครับ
ต้องทราบว่า ใช้แล้ว เท้าไม่หายแบน พอเลิกใช้ก็แบนเหมือนเดิม แต่ว่าพอโตขึ้นมาเท้ากลับมามีอุ้ง อันนี้เป็นการเจริญเติบโตของเท้าตามธรรมชาติ
- ถ้าเป็นเท้าแบนแบบยืดหยุ่นและมีอาการเช่น ล้าง่าย มีตาปลาที่ฝ่าเท้า รองเท้าสึกเร็ว ปวดเท้าทั่วๆ ปวดเมื่อยตอนกลางคืน ลองใช้แผ่นรองรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้าดูครับ จะช่วยลดอาการที่กล่าวมาได้
ก่อนที่จะเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า ต้องแยกให้ได้ก่อนว่า เท้าแบนของเด็ก เป็นแบบไหน
- ถ้าเป็นแบบยืดหยุ่น ลองใช้ตามคำแนะนำด้านบนได้เลยครับ
- เท้าแบนแบบยึดติด อันนี้ไม่แนะนำให้ใช้รองเท้าแก้เท้าแบนนะครับ เนื่องจากทรงเท้ายึดติดจะไม่ปรับตามการเสริมอุ้ง ยิ่งใช้ยิ่งเจ็บครับ
-
เท้าแบนแบบยืดหยุ่นที่มีเอ็นร้อยหวายตึงมาก การหนุนอุ้งเท้าด้วยอุปกรณ์ต่างๆ จะไปดันกระดูกข้อเท้าให้เงยขึ้น ซึ่งกระดูกจะเงยขึ้นได้น้อย หรือไม่ได้เลยเนื่องจากเอ็นร้อยหวายที่ตึงตัวรั้งไว้ ถ้าใช้อาจทำให้เจ็บได้นะครับ
การรักษาเท้าแบนด้วยการผ่าตัด ทำได้หรือไม่
- สามารถทำได้ครับ แต่ไม่ค่อยต้องทำ
- ทรงเท้าที่แบน แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา อันนี้ไม่ต้องผ่านะครับ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการผ่าตัด และผลข้างเคียงจากการรับการผ่าตัดด้วย
- การผ่าตัดจะทำเมื่อ
- เป็นเท้าแบนชนิดยึดติด
- เป็นเท้าแบนชนิดยืดหยุ่นที่มีเอ็นร้อยหวายตึง ร่วมกับมีอาการเจ็บด้านในข้อเท้า(medial midfoot) หรือเจ็บใต้ตาตุ่มนอก (sinus tarsi) และรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมาเต็มที่แล้วยังมีอาการอยู่
สรุป
เท้าแบนในเด็ก พบได้บ่อยแต่ไม่ค่อยก่อให้เกิดปัญหา ไม่อันตราย สามารถใช้งานเท้าได้ตามปกติ เท้าแบนในเด็กสามารถแบ่งประเภทได้ 3 แบบ และพบเท้าแบนแบบยืดหยุ่น ได้บ่อยที่สุด กรณีที่มีอาการ การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการกายภาพบำบัด การฝึกกล้ามเนื้อ และใส่อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า