fbpx

เท้าล้มในผู้ใหญ่

เท้าล้มในผู้ใหญ่

เท้าล้มในผู้ใหญ่ คือ ภาวะเท้าไม่มีอุ้งเท้า หรืออุ้งเท้าล้ม ที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ โดยตอนวัยรุ่น ตอนหนุ่มๆสาวๆ เท้าก็ปกติ มีอุ้งเท้าดี ใช้งานได้ดี โดยโรคนี้เท้าจะมีความผิดรูปอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่

  1. ไม่มีอุ้งเท้า หรือเรียกว่า อุ้งเท้าล้ม โดยสังเกตได้จากอุ้งเท้าที่ด้านในแบนราบกับพื้น
  2. หน้าเท้าแบะออกด้านนอก สังเกตได้จากตอนเดิน เท้าจะชี้ไปด้านนอกมากกว่าปกติ ไม่ชี้มาด้านหน้าตรงๆ คลายๆเดินเหมือนเท้าเพนกวิน
  3. ข้อเท้าเอียงออกด้านนอก สังเกตได้ โดยมองจากด้านหลัง ข้อเท้าจะเอียงทำให้ส้นเท้าชี้ออกด้านนอกตัว
อ่านเพิ่มเติมเรื่องเท้าแบนในเด็กได้ที่นี่ครับ
เท้าล้ม ไม่มีอ้งเท้า

เท้าล้ม ไม่มีอุ้งเท้า

หน้าเท้าแบะออกด้านนอก

หน้าเท้าแบะออกด้านนอก

ข้อเท้าเอียงออกด้านนอก

ข้อเท้าเอียงออกด้านนอก

เท้าล้มในผู้ใหญ่ เกิดจากอะไร

              เราเชื่อว่า (ใช้คำนี้นะครับ เพราะจริงๆแล้วเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของภาวะเท้าล้มในผู้ใหญ่จริงๆเลยครับ)

เกิดจากเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (posterior tibial tendon) ทำงานไม่ได้

เช่น ขาด, ฉีกขาดเรื้อรัง, เอ็นอักเสบเรื้อรังจนเอ็นเปื่อยยุ่ย รวมถึงทำให้อวัยวะอื่นๆในเท้าที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของอุ้งเท้าทำงานไม่ได้

ส่งผลให้ขณะลงน้ำหนักเท้าไม่สามารถคงอุ้งเท้า พยุงให้เป็นอุ้งเท้าได้ และเกิดเป็นอุ้งเท้าล้ม หรืออุ้งเท้าแบนลง

เท้าล้มเข้าด้านใน

กายวิภาคเท้าล้ม

ขอเริ่มจาก การทำความรู้จักกับ “เส้นเอ็น” กันก่อนนะครับ เพื่อความเข้าในในบทความนี้ เส้นเอ็นที่เราเรียกๆกันนั้น จะแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆคือ

  1. เส้นเอ็นกระดูก (ligament) เส้นเอ็นกระดูกจะทำหน้าที่เชื่อมกระดูกกับกระดูกครับ
  2. เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) เส้นเอ็นกล้ามเนื้อจะทำหน้าที่เชื่อมด้านหนึ่งเป็นกล้ามเนื้อ แต่อีกด้านหนึ่งเป็นกระดูกครับ

ที่ต้องเข้าใจเส้นเอ็นให้ละเอียด เพราะเราต้องรู้จักเส้นเอ็นประคองอุ้งเท้า 2 เส้นนี้ครับ

เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน

เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน

  1. เอ็นประคองอุ้งเท้าด้านใน (posterior tibial tendon) เป็นเส้นเอ็นกล้ามเนื้อครับ เอ็นเส้นนี้ส่วนต้นจะเกาะจากกล้ามเนื้อบริเวณน่อง ส่งเส้นเอ็นลงมาด้านล่าง คล้องใต้ตาตุ่มด้านใน และเกาะที่กระดูกเท้าด้านใน (Navicular bone) โดยเอ็นนี้มีหน้าที่คือ
  • ประคองเท้าให้มีอุ้งเท้าขณะเดินลงน้ำหนัก
  • ใช้งานช่วยในการยืน เดิน วิ่ง
  • ช่วยในการเขย่งเท้า และปัดเท้าเข้าด้านใน
spring ligament

Spring ligament

2. Spring ligament เป็นเส้นเอ็นกระดูกครับ เอ็นเส้นนี้จะเชื่อมระหว่างกระดูกส้นเท้า (Calcaneus bone) กับกระดูกเท้า (Navicular bone) มีหน้าที่ช่วย “ขึง” ให้เท้าคงรูปเป็นอุ้งเท้าขณะลงน้ำหนัก

เมื่อเส้นเอ็นดังกล่าวเกิดการอักเสบ หรือบาดเจ็บ จนทำให้เส้นเอ็นทำงานของมันได้ไม่เต็มที่ หรือทำงานไม่ได้

จะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เชื่อว่า ทำให้เท้าลม อุ้งเท้าทรุด และเจ็บข้อเท้าด้านใน

(ที่บอกว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุ เนื่องจากมีสาเหตุอื่นๆอีกที่ทำให้เท้าล้มได้นะครับ)

สาเหตุของเท้าล้มในผู้ใหญ่

              มีได้หลายสาเหตุครับ เช่น

  • เอ็นประคองข้อเท้าอักเสบ จากการใช้งานหนัก พักไม่พอ สะสมมานาน ทำให้เอ็นอักเสบเรื้อรัง และทำงานได้ไม่เต็มที่
  • อุบัติเหตุ เช่น ตกที่สูง แล้วเท้าผิดรูปอย่างแรง ทำให้เอ็นฉีกขาด
  • เอ็นหลวม ทำให้เอ็นประคองข้อเท้าต้องทำงานหนักขึ้น
  • ข้อกลางเท้าสึก ทำให้เอ็นต้องประคองข้อเท้ามากขึ้น
  • พันธุกรรม
ปวดบวมข้อเท้าด้านใน

เท้าล้มในผู้ใหญ่มักพบในใคร

มักพบในผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 40 ปีขึ้นไป

อาจจะมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน หรือน้ำหนักตัวมากสักหน่อย และส่วนใหญ่ทำกิจกรรมที่ต้องยืน เดิน ต่อเนื่องมานาน อาจจะเป็นนักกีฬาหรือไม่เป็นก็ได้ครับ

เมื่อเอ็นประคองข้อเท้าด้านในอักเสบเรื้อรัง แล้วส่งผลต่อเท้าเราอย่างไร ทำไมเท้าล้ม

  • เมื่อเอ็นประคองข้อเท้าด้านในอักเสบ ส่งผลให้ มีอาการปวด บวมบริเวณเส้นเอ็น (มักเป็นบริเวณหลังตาตุ่มด้านใน) จะปวดมากตอนเดิน ตอนใช้งานข้อเท้า

  • เมื่อเอ็นประคองข้อเท้าด้านในอ่อนแรง จะทำให้เอ็นไม่สามารถพยุงให้อุ้งเท้าเป็นอุ้งเท้าขึ้นมาได้ ส่งผลให้อุ้งเท้าล้ม เท้าแบน
  • เมื่ออุ้งเท้าล้ม ร่วมกับเอ็นประคองอุ้งเท้าอ่อนแรง อุ้งเท้าก็ล้มมากขึ้น เป็นวงจรแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ
  • ถ้าเอ็นประคองข้อเท้าด้านในอ่อนแรงมาก ทำงานไม่ได้ จะทำให้ กระดูกเท้าเคลื่อน เลื่อน หลุดได้ครับ ทำให้เกิดกระดูกขบ หรือข้อเสื่อมตามมาได้

อาการข้อเท้าล้มเป็นอย่างไร

  • “ปวด” และ “บวม” บริเวณที่เอ็นประคองข้อเท้าวางอยู่ คือหลังตาตุ่มด้านในลงมาถึงอุ้งเท้า
  • เท้าแบนผิดรูป เท้าล้มไม่มีอุ้งเท้า
  • เท้าผิดรูปในแนวอื่น เช่น เดินแล้วหน้าเท้าแบออกด้านนอก หรือข้อเท้าล้ม
  • อาการปวดบวมในข้อแรก จะเป็นก่อนเท้าล้มสักระยะครับ
  • มีอาการอ่อนแรงข้อเท้า ยืน เดิน นานๆจะปวดบวม เล่นกีฬาหรือใช้งานหนักๆไม่ได้
  • เดินเท้าเปล่า หรือใช้รองเท้าที่ไม่ช่วยพยุงอุ้ง อาการจะเป็นได้ง่าย รวมถึงเป็นมากขึ้น
  • รู้สึกอ่อนแรงตอนใช้ข้อเท้าดันตัวไปข้างหน้าขณะเดิน หรือวิ่ง ถ้าลองเขย่งข้อเท้าดูจะทำไม่ได้ หรือทำได้ยาก
  • เจ็บข้อเท้าด้านนอก เนื่องจาก เมื่อมีเท้าล้ม ส้นเท้าจะเอียงออกด้านนอก และไป “ขบ” กับกระดูกเท้า
เท้าล้มไม่มีอุ้งเท้า

เท้าล้มไม่มีอุ้งเท้า

ปวดบวมข้อเท้าด้านใน

ปวดบวมข้อเท้าด้านใน บริเวณหลังตาตุ่มโค้งมาใต้ตาตุ่ม ตามแนวเส้นเอ็น 

การรักษาเท้าล้ม ทำอย่างไร

เริ่มจากการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อนเสมอครับ แต่การรักษาภาวะนี้ จะใช้เวลานานหน่อยนะครับ อาการปวด บวม จะดีขึ้นใน 2-3 เดือนเลย แต่ถ้าอาการเป็นมานานกว่า 6 เดือน แบบนี้แนะนำพบแพทย์นะครับ

เท้าล้ม พักการใช้งาน
  • พักการใช้งาน

  • การพักการใช้งานไม่ได้ให้หยุดเดิน หรือเลิกออกกำลังกายนะครับ แต่ให้ใช้งานเท่าที่จำเป็น ออกกำลังกายแนะนำเป็นการปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ เนื่องจากเกิดการกระแทกน้อย และแนะนำให้ออกกำลังกายหลายๆอย่างสลับๆกันครับ จะได้ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นชุดเดียวกันซ้ำๆ มากเกินไป
  • การลดน้ำหนักก็เป็นการพักการใช้งานที่ดีมากครับ
  • ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการออกกำลังกายนั้นๆ เช่น เลือกรองเท้าให้เหมาะกับประเภทการออกกำลังกายครับ
ยกขาสูงหลังถอดเล็บ

ประคบเย็น

  • แนะนำใช้ cold pack ประคบบริเวณข้อเท้าด้านใน ที่มีการอักเสบ หลังออกกำลังกาย หรือวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อลดอาการปวดบวม อักเสบครับ

ยกขาสูง

  • เพื่อลดการบวม ปวด เช่นนอนยกขาสูง นั่งก็ควรมีเก้าอี้อีกตัวมายกขาไว้ครับ

การทานยาลดการอักเสบ

  • สามารถลดอาการปวด บวมได้ดีครับ แต่ไม่ช่วยให้เอ็นหายจากการบาดเจ็บได้นะครับ และไม่สามารถทำให้เท้าหายล้มได้จากการทานยาครับ
  • การเลือกใช้ยา ควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง
แผ่นรองรองเท้าเท้าล้ม

อุปกรณ์ประคองเท้าล้ม

  • การเลือกใช้แผ่นรองรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า เพื่อประคองอุ้งเท้าและทรงเท้า รวมถึงช่วยให้อาการปวดบวมบริเวณข้อเท้าดีขึ้น สามารถเดิน ใช้งานได้ดีขึ้น แต่ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกใช้นะครับ เนื่องจากเท้าล้มบางแบบ ก็ไม่ควรใช้แผ่นรองรองเท้าเสริมอุ้ง (เท้าล้มชนิดยึดติด ไม่สามารถดัดกลับได้จากการใส่แผ่นรองรองเท้า )

แผ่นรองรองเท้าเสริมอุ้ง สามารถแบ่งได้ 2 แบบหลักๆครับ

อุปกรณ์แก้เท้าล้ม แบบซื้อมาใช้

  • แบบนี้เราสามารถซื้อมาใช้งานได้ทันที จะซื้อทีละหลายชิ้นหลายแบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้แบบไหนแล้วอาการดีขึ้น ใส่สบาย และข้อดีคือ ราคาไม่แพงมากครับ
  • ถ้าอาการเป็นไม่มาก ปวดไม่มาก เท้าล้มไม่มาก ใช้แบบนี้ก็พอครับ สะดวกดีด้วย

อุปกรณ์แก้เท้าล้ม แบบสั่งตัด

  • แบบนี้ เหมือนเราไปตัดเสื้อสูทเลยครับ แผ่นรองรองเท้าจะเหมาะกับเราที่สุด เข้ากับเท้าของเราที่สุด และช่วยดัดทรงเท้า ช่วยให้เบาเจ็บเบาบวมได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือ ทำยาก ต้องวัดทรงเท้า ต้องสั่งตัดทีละคู่ ใช้เวลาผลิตนาน และราคาค่อนข้างสูงครับ
  • ถ้าอาการเป็นมาก เท้าล้มมาก หรือเลือกใช้แบบซื้อมาใช้แล้วยังไม่ดี เลือกแบบสั่งตัดนี้ก็ดีครับ
  • ควรสั่งตัดโดยแพทย์นะครับ เพื่อให้ได้แผ่นรองรองเท้าที่เข้ากับโรคของเรามากที่สุด
ยืดน่องแก้เท้าล้ม

การกายภาพบำบัด

  • การกายภาพที่ควรทำคือ การยืดน่องครับ เนื่องจากภาวะเท้าล้มจะมาพร้อมกับภาวะน่องตึงเสมอ และน่องตึงจะส่งผลให้เดินแล้วมีอาการเจ็บบริเวณต่างๆมากขึ้นด้วย
  • การฝึกความแข็งแรงของเส้นเอ็น ถ้าอาการเป็นไม่มาก ก็สามารถฝึกได้ครับ ช่วยให้เอ็นประคองข้อเท้าแข็งแรงขึ้น แต่ถ้าเป็นมาก ปวดมาก เอ็นเปื่อย หรือฉีกขาด หรืออักเสบเรื้อรังมานาน ควรข้ามข้อนี้ไปครับ เนื่องจากจะทำให้เอ็นถูกใช้งานมากขึ้น และอาการเป็นมากขึ้นได้

ถ้ารักษาทุกวิธี เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วไม่ได้ขึ้น แนะนำพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการผ่าตัดครับ

อ่านเพิ่มเรื่องกายกายภาพเท้าแบน เท้าล้ม ได้ที่นี่ครับ

สรุป

เท้าล้มในผู้ใหญ่ เชื่อว่าเกิดจากเอ็นประคองข้อเท้าด้านในเกิดการอักเสบมาเรื้อรัง ส่งผลให้เอ็นไม่สามารถพยุงอุ้งเท้าให้เป็นอุ้งเท้าได้ ทำให้มีอาการเท้าล้ม ไม่มีอุ้งเท้า ปวดและบวมบริเวณหลังตาตุ่มด้านใน ส่วนการรักษาเน้นที่การพักการใช้งาน การเลือกอุปกรณ์ประคองข้อเท้า การใช้ยาลดการปวดอักเสบ ถ้าไม่หายสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ครับ