ข้อเท้าบวม คือ อาการบวมที่ส่วนปลายของขา ที่เกิดจากการสะสมของสารน้ำในร่างกาย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ แต่จะมีความไม่สุขสบายจากความบวมตึง มักเกิดที่ขามากกว่าแขนเนื่องจากแรงโน้มถ่วง
สาเหตุของอาการบวมมีได้หลายสาเหตุมากครับ การรักษาอาจจะไม่ต้องทำอะไรเลยอาการก็หายไปเองได้ หรือเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆที่รุนแรงมากๆได้ครับ
ข้อเท้าบวมเกิดจากอะไร
ข้อเท้าบวมมีสาเหตุได้จากหลายสาเหตุมากเลยครับ แต่ที่พบได้บ่อยๆได้แก่
1 ยืนทำงานนาน
การยืนทำงานต่อเนื่องนานๆทำให้กล้ามเนื้อที่บริเวณน่องและข้อเท้า ไม่ถูกใช้งาน ทำให้มันไม่สามารถช่วยเส้นเลือดดำในการลำเลียงเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ ทำให้เลือดและสารน้ำต่างๆคั่งอยู่ที่ข้อเท้าและเท้า
แนะนำ : วิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องยืนทำงานนานๆอ่านได้ที่นี้ครับ
2 การบาดเจ็บที่ข้อเท้า
เช่นข้อเท้าพลิก ตกจากที่สูงแล้วเอาเท้าลงพื้น ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เช่น เอ็นข้อเท้า ผิวหนัง กล้ามเนื้อ หรือแม้แต่กระดูกข้อเท้าหักก็ทำให้เกิดอาการบวมขึ้นมาได้
ข้อแนะนำในการรักษาเบื้องต้น
- พัก ลดการเดิน
- ยกขาสูง ลดการนั่งห้อยเท้า หรือยืนนานๆ
- ประคบเย็น ใช้ cold pack ห่อผ้าขนหนูประคบประมาณ ชั่วโมงละ 10 นาทีครับ
- พันผ้าป้องกันการบวม พันจากปลายเท้ามาที่บริเวณน่อง อย่าพันแน่นเกินไป
แต่ถ้าอาการปวดมาก พักแล้วไม่ทุเลา หรือเดินลงน้ำหนักไม่ได้ แนะนำว่าควรพบแพทย์นะครับ อาจจะมีกระดูกแตกร้าวหรือเอ็นฉีกแบบรุนแรงได้
แนะนำ : อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อเท้าหักและวิธีการรักษาได้ที่นี่
3 การติดเชื้อที่ผิวหนัง
ภาวะนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง มักมีประวัติแผลนำมาก่อน เช่นถูกหนามตำ ถูกตะปูตำ เหยียบของมีคม หรือถูกสัตว์กัด แผลอาจเล็กจนจำไม่ได้แล้วว่ามีแผล หรือแผลหายดีแล้วก็เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ครับ
คนที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าปกติ
เมื่อเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังจะมีอาการบวมบริเวณที่ติดเชื้อ สัมผัสผิวหนังบริเวณนั้นจะอุ่นๆ สังเกตเห็นผิวหนังแดงมากกว่าบริเวณข้างเคียง บางครั้งจะเห็นรอยแดงเป็นขอบเขตชัดเลยครับว่าการติดเชื้อลุกลามมาที่บริเวณใดบ้าง
การรักษาถ้าเป็นไม่มากอาจหายเองได้ แต่ถ้าเป็นมากหน่อยจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อโรคครับ โดยยานี้คุณหมอ หรือคุณเภสัชกรจะเป็นคนพิจารณาจ่ายยา อาจเป็นยาทาน หรือยาฉีดขึ้นกับความรุนแรงของโรคครับ
แต่ถ้าเป็นรุนแรงมาก อาจจะมีหนองอยู่ใต้ผิวหนังที่บวม ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดระบายหนองนะครับ
4 ข้อเท้าบวมบริเวณตาตุ่ม ถุงน้ำตาตุ่มอักเสบ
อาการข้อเท้าบริเวณตาตุ่มบวม อาการนี้เกิดจากถุงน้ำบริเวณตาตุ่มอักเสบครับ มักเกิดได้จากสองสาเหตุหลักๆ
- นั่งทับบริเวณตาตุ่มนอก เช่นนั่งพับเพียบนานๆ นั่งขัดสมาธิ
- ใส่รองเท้าที่ขอบรองเท้าเคืองหรือเสียดสีบริเวณตาตุ่ม เช่นรองเท้าคัทชูที่ทรงไม่เหมาะกับเท้าเรา รองเท้าหุ้มข้อ
การรักษาจะเป็นการระมัดระวังไม่ให้บริเวณตาตุ่มไปกดทับหรือเสียดสีกับสิ่งต่างๆ แต่ถ้าบวมแดงอักเสบมากๆ อาจเกิดจากการติดเชื้อ ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือผ่าตัดถ้ามีหนอง
อ่านเพิ่มเติมเรื่องตาตุ่มบวมได้ที่นี่ครับ5 ผลข้างเคียงจากยา
ยาบางตัวก็มีผลข้างเคียงทำให้บวมได้นะครับ ลองปรึกษาแพทย์หรือคุณเภสัชกรที่จ่ายยาให้เราดูนะครับว่ายาที่เราใช้ทำให้บวมได้หรือไม่ โดยยาที่มีผลข้างเคียงทำให้บวมและพบได้บ่อยๆมีดังนี้
- ยาฮอร์โมน เช่นเอสโตรเจน จะพบในยาคุมกำเนิด ยาเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ยาลดความดันโลหิต โดยเฉพาะกลุ่ม calcium channel blocker
- ยาสเตียรอยด์
- ยากลุ่มจิตเวชเช่น ยาลดอาการซึมเศร้า
- ยากลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDS)
ถ้าอาการบวมเป็นหลังจากได้รับยา แนะนำให้พบคุณหมอที่สั่งยาให้เราครับ จะได้ปรับปริมาณ หรือเปลี่ยนกลุ่มยา อาการบวมจะได้ทุเลาลง
6 ภาวะเส้นเลือดดำทำงานได้ไม่ดี
ทุกๆท่านคงจะทราบว่าเส้นเลือดแดงทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนเส้นเลือดดำทำหน้าที่รวบรวมเลือดกลับเข้าสู่หัวใจเพื่อไปฟอกที่ปอดอีกครั้ง
ในเส้นเลือดดำจะมีวาวล์อยู่ครับ เพื่อให้เลือดไหลได้ทางเดียวคือทางเข้าสู่หัวใจ เช่นส่งเลือดจากปลายขามาที่ต้นขา
ถ้าวาวล์นี้ทำงานได้ไม่ดี ก็จะทำให้เลือดไหลย้อนทางลงสู่ปลายขา และทำให้ข้อเท้าและเท้าบวมได้ครับ
ภาวะนี้ไม่อันตรายแต่ก็ทำให้ไม่สุขสบายนะครับ จะปวดตึง อึดอัด ขยับข้อเท้าลำบาก การรักษาด้วยตัวเองง่ายๆก็คือ การนอนยกขาสูงตอนกลางคืน การนั่งยกขาสูงตอนกลางวันช่วงทำงานถ้าทำได้ ถ้าทำงานที่ต้องยืนนานๆอาจลองใช้ถุงน่องเพื่อสุขภาพเพื่อป้องกันเส้นเลือดขอดมาช่วยก็ได้ผลดีครับ
ถ้ารักษาไม่หาย ต้องปรึกษาแพทย์ดูครับ รักษาได้ทั้งการทานยาและการผ่าตัด
7 ตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์ก็ทำให้เท้าบวมได้นะครับ เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนหลายอย่างและต้องสร้างเลือดมากขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกด้วย
อาการบวมมักพบในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ พบได้ตั้งแต่ เท้า ข้อเท้า แข้ง มือ หน้าบวม
ถ้าอาการบวมเป็นไม่มาก ก็ไม่อันตรายอะไรครับ
แต่ถ้าบวมที่เท้า มือ หน้าขึ้นมากและเป็นอย่างรวดเร็ว (มีอาการปวดศีรษะ หรือตาพร่าร่วมด้วย) อาจเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งต้องรับการรักษาโดยแพทย์ทันทีนะครับ
วิธีการดูแลตัวเองง่ายๆเช่น ลดอาหารเค็ม ใส่รองเท้าสบายๆ หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ ประคบเย็น ยกขาสูงบ่อยๆ ใส่กางเกงไม่รัดจนเกินไป
8 ภาวะอื่นๆทางอายุรกรรม
เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง ก็ทำให้บวมได้เช่นกัน ถ้าสงสัยภาวะทางอายุรกรรมอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์นะครับ
วิธีการรักษาอาการเท้าและข้อเท้าบวมด้วยตัวเองอย่างง่าย
- ยกขาสูง ขณะที่นอนควรใช้หมอนรองใต้น่องให้สูงกว่าระดับหัวใจ ถ้าตอนนั่งพักสบายๆให้ใช้เก้าอี้อีกตัวมารองยกขาไว้ครับ
- หมั่นขยับข้อเท้า หัวเข่า โดยเฉพาะการยืดเหยียดบ่อยๆ
- ลดอาหารเค็ม เนื่องจากการทานเค็มจะทำให้ร่างกายบวมน้ำได้
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดเกินไป เช่น กางเกงยีนส์ฟิตๆ
- พยายามคุมน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักเกิน จะเกิดอาการบวมได้ง่าย
- ใส่ถุงเท้า หรือถุงน่องสุขภาพเพื่อป้องกันเส้นเลือดขอด ก็ช่วยลดอาการเท้าบวมได้
- ถ้าต้องนั่งหรือยืนทำงานนานๆควรลุกยืนเดิน ขยับแข้งขยับขาบ่อยๆ ทุกๆชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
สรุป
อาการเท้าและข้อเท้าบวมเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุตั้งแต่การยืนทำงานนานๆ อุบัติเหตุ ผลข้างเคียงจากยาที่เราใช้ประจำ หรือเกิดจากโรคทางอายุรกรรมอื่นๆก็ได้ อาการมักไม่ค่อยปวด หรือเจ็บ แต่จะมีอาการไม่สุขสบายจากอาการบวมตึงครับ
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล