เนื้อหาในบทความนี้
นิ้วโป้งเท้าเอียง (Hallux valgus) คือ ภาวะเท้าผิดรูปที่ทำให้นิ้วโป้งเท้าเอียงออกไปทางนิ้วเท้าที่สอง และกระดูกฝ่าเท้าเอียงเข้าด้านใน ทำให้โคนนิ้วโป้งเท้ามีกระดูกนูนออกทำ บางครั้งจะมีอาการบวมแดงและเจ็บที่โคนนิ้วหัวแม่เทา มักพบในผู้หญิงที่ใส่รองเท้าหน้าแคบๆส้นสูง
กายวิภาคของนิ้วโป้งเท้าเอียงและมีกระดูกงอกที่โคนนิ้ว
ข้อนิ้วหัวโป้งเท้าของเราประกอบไปด้วยกระดูกสองชิ้นต่อกันครับ คือกระดูกฝ่าเท้า กับกระดูกนิ้วเท้า รวมกันเป็นข้อโคนนิ้วโป้งเท้า ซึ่งข้อนี้จะเป็นสาเหตุของภาวะนิ้วโป้งเท้าเก
โรคนิ้วโป้งเท้าเอียง เกิดจาก กระดูกฝ่าเท้าเอียงเข้าใน และกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงออกด้านนอกไปทางนิ้วเท้านิ้วที่สอง ทำให้นิ้วโป้งเท้าดูเอียงผิดรูป และโคนนิ้วโป้งเท้าตุ่ยออกมาได้ครับ
โคนนิ้วหัวแม่เท้าที่ดูตุ่ยๆออกมา อาจมีกระดูกงอกหรือไม่มีก็ได้นะครับ เนื่องจากนิ้วโป้งเท้าที่เอียงผิดรูปออกด้านนอก ทำให้เห็นกระดูกตุ่ยๆออกมาโดยไม่มีกระดูกงอกก็ได้
นิ้วโป้งเท้าเอียงถ้าปล่อยไว้จะเป็นมากขึ้นไหม
โรคนี้จะค่อยเป็นค่อยไปครับ เริ่มแรกนิ้วโป้งเท้าจะเอียงน้อยๆก่อน มีกระดูกโคนนิ้วตุ่ยๆไม่มาก แต่ถ้าปล่อยไว้นาน
โดยเฉพาะถ้าเรายังใส่รองเท้าที่คับๆ หัวแคบๆ ส้นสูงๆ อยู่บ่อยๆ นิ้วโป้งเท้าก็จะเกมากขึ้นๆได้ ทำให้มีอาการเจ็บ โคนนิ้วอักเสบและเดินลำบากในเวลาต่อมา
ถ้าเป็นมาก นิ้วโป้งเท้าสามารถเอียงออกจนไปเบียดนิ้วเท้านิ้วที่สอง บางคนเป็นแผลกดทับ บางคนนิ้วโป้งเท้าไปอยู่บนหรืออยู่ใต้นิ้วเท้าที่สองได้เลยครับ ยิ่งทำให้เดินลำบาก หารองเท้าใส่ยากขึ้นไปอีก
นิ้วโป้งเท้าเอียงเกิดได้อย่างไร
เกิดได้จากหลายสาเหตุครับ ได้แก่
- ใส่รองเท้าไม่เข้ากับเท้า เช่น รองเท้าคับเกินไป รองเท้าหน้าแคบเกินไป รองเท้าส้นสูงทำให้ขณะยืนเดิน น้ำหนักจะถ่ายมาหน้าเท้ามากก็ทำให้นิ้วโป้งเท้าเอียงได้ ลองดูวิธีเลือกรองเท้าได้ที่นี่ครับ
- กรรมพันธุ์ ทำให้ทรงเท้าของเราเกิดนิ้วโป้งเท้าเอียงได้ง่ายขึ้น
- โรคประจำตัว เช่นรูมาตอยด์ หรือโรคโปลิโอ ก็ทำให้เกิดนิ้วโป้งเท้าเอียงได้
อาการของโรคนิ้วโป้งเท้าเอียง
อาการหลักๆและเจอบ่อยที่สุดก็คือ
มีนิ้วโป้งเท้าเอียงออกด้านนอก และมีกระดูกตุ่ยๆบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าครับ
นอกจากนั้นยังอาจมีอาการดังนี้
- ปวดบวมบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า
- แดงอักเสบที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า
- ผิวหนังบริเวณโคนนิ้วโป้งเท้ามีลักษณะหนาแข็ง
- ขยับนิ้วหัวแม่เท้าแล้วเจ็บ ฝืด ส่งผลให้เดินลำบาก เดินแล้วเจ็บ (ถ้ามีอาการนี้อาจจะมีภาวะข้อนิ้วโป้งเท้าเสื่อมร่วมด้วยนะครับ)
นอกจากบริเวณนิ้วโป้งเท้า อาการบริเวณอื่นๆในเท้าที่พบร่วมได้แก่
- ฝ่าเท้าบริเวณใต้นิ้วเท้าที่สองมีหนังแข็งๆเกิดขึ้น กดเจ็บ
- นิ้วโป้งเท้าเอียงมาเบียดนิ้วเท้าที่สองจนเป็นแผล หรือนิ้วโป้งเท้าเอียงมาทับด้านบนหรือด้านใต้นิ้วเท้าที่สอง
- เท้าแบน
- เจ็บหลังเท้าบริเวณกลางเท้า (ถ้ามีอาการนี้อาจจะมีภาวะข้อกลางเท้าเสื่อมร่วมด้วยนะครับ)
การรักษาโรคนิ้วโป้งเท้าเอียง
การรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบไม่ผ่าตัดนะครับ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า
การรักษาแบบนี้จะไม่สามารถทำให้นิ้วโป้งเท้ากลับมาตรงได้
เพียงแต่สามารถทำให้อาการต่างๆที่เกิดขึ้นทุเลาลงได้ อาการปวด แดง อักเสบจะดีขึ้น การเดินจะดีขึ้น และลดโอกาสเกิดนิ้วโป้งเท้าเอียงแบบรุนแรง
เลือกรองเท้าให้เหมาะกับทรงเท้าของเรา
คนที่มีนิ้วโป้งเท้าเอียงส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้เพียงแค่เปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะกับทรงและขนาดเท้าของเราครับ ลองดูคำแนะนำดังนี้ครับ
- อย่าเลือกขนาดรองเท้าที่ตัวเลข เช่นเบอร์ 39, 40 ,41 เนื่องจากรองเท้าแต่ละแบรน แต่ละรูปทรงมีขนาดไม่เท่ากัน ต้องลองใส่ทุกครั้งก่อนซื้อ
- ถ้าต้องซื้อรองเท้าผ่านทางออนไลน์ ต้องเป็นรองเท้าที่เคยใส่มาแล้วเท่านั้น ถึงจะได้ขนาดที่พอดี
- เลือกรองเท้าที่ทรงเข้ากับเท้าของเรา อย่างเลือกรองเท้าแฟชั่นที่ใส่ไม่พอดี
- วัดขนาดเท้าทั้งสองข้าง เนื่องจากเท้าทั้งสองข้างอาจมีขนาดไม่เท่ากันได้ และควรเลือกขนาดรองเท้าตามเท้าข้างที่ใหญ่กว่าเสมอ
- เลือกซื้อ และลองรองเท้าช่วงบ่าย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เท้าบวมและขนาดเท้าใหญ่ที่สุดในช่วงวัน
- ตอนลองรองเท้าให้ยืนลงน้ำหนักด้วย เนื่องจากตอนยืนเท้าของเราจะยาวที่สุด และต้องมีพื้นที่เหลือบริเวณปลายนิ้วเท้าเล็กน้อย
- ช่วงหน้าเท้าบางคนที่กว้าง รองเท้าต้องเป็นทรงที่กว้างพอดีด้วย
- อย่าเลือกรองเท้าที่ คับนิดหน่อย เพื่อรอ เดี๋ยวก็ยืด
- อย่าเลือกรองเท้าที่ หลวมนิดหน่อย เนื่องจากพอใช้งานไป จะเกิดการเสียดสีขึ้น โดยเฉพาะบริเวณกระดูกตุ่ยๆที่โคนนิ้วโป้งเท้า บางคนอักเสบ เป็นแผลได้
การใช้อุปกรณ์ประคองนิ้วโป้งเท้า
ถ้าท่านมีนิ้วโป้งเท้าเอียง ให้ดูว่ามีอาการที่ทำให้ไม่สบายเท้าหรือไม่ เช่นมีปวดบริเวณกระดูกตุ่ยๆที่โคนนิ้วโป้งเท้า มีอาการเดินเจ็บ หรือมีชานิ้วเท้าหรือไม่
ถ้าไม่มีอาการ มีแค่นิ้วโป้งเท้าเอียง การรักษาควรจะเป็นการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมตามที่กล่าวไปก็พอครับ ไม่มีความจำเป็นต้องใส่ที่ประคองอะไรเลย
- ถ้ามีอาการปวดบริเวณกระดูกตุ่ยๆที่โคนนิ้วโป้งเท้าเท้า หรือมีกระดูกงอกและมีอาการเจ็บ อักเสบ จากการถูกรองเท้าบีบ หรือเจ็บจากการถูกรองเท้าเสียดสี ถ้าหารองเท้าใส่ไม่พอดีสักที ควรเลือกใช้ที่ประคองชนิดที่มีซิลิโคนหุ้มที่โคนนิ้วโป้งเท้าครับ
- แต่ถ้ามีอาการจากนิ้วโป้งเท้าเกแล้วไปเบียดนิ้วเท้าที่สอง จนมีอาการต่างๆเช่น เจ็บ มีแผลกดทับที่ง่ามนิ้ว หรือนิ้วหัวแม่เท้าไปเบียดนิ้วเท้าที่สองจนผิดรูป ควรใช้ที่ประคองนิ้วชนิดที่มีที่คั่นนิ้วนะครับ
ต้องลองใส่ก่อนนะครับ เนื่องจากบางครั้งการใส่ซิลิโคน แล้วใส่รองเท้าอีกที ทำให้บริเวณโคนนิ้วโป้งเท้ายิ่งเบียดคับกันเข้าไปใหญ่ บางคนจะเจ็บมากขึ้นก็ได้
อยากให้เข้าใจว่า นิ้วหัวแม่เท้าเก ไม่สามารถดัดให้กลับมาตรงได้โดยการใช้ที่ประคอง การใช้แผ่นรองรองเท้า หรือการใส่รองเท้าแบบต่างๆ ดังนั้นถ้าไม่มีอาการก็ไม่ต้องใช้นะครับ เลือกรองเท้าที่เหมาะกับเท้าเราก็พอ แต่ถ้ามีอาการจึงจะพิจารณาเลือกใช้ที่ประคองตามอาการที่มี
มีปัญหานิ้วโป้งเท้าเอียง ออกกำลังโดยการวิ่งได้หรือไม่
วิ่งได้สิครับ วิ่งมาราธอนยังได้เลย
คนที่มีนิ้วโป้งเท้าเอียง ถ้าไม่มีอาการอะไร สามารถวิ่ง ใส่รองเท้า ทำกิจกรรมได้เหมือนคนปกติเลยครับ แต่ถ้ามีปัญหากับการวิ่งหรือออกกำลังกายต้องมีเทคนิคในการจัดการกันหน่อยครับ
- เลือกรองเท้าต้องเลือกรุ่นที่มีหน้าเท้าที่กว้างสักหน่อย และถ้ามีเท้าแบนร่วมด้วยอาจจะต้องเลือกพื้นรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้าด้วยจะดีมากๆเลยครับ ในบางยี่ห้อ รองเท้ารุ่นหนึ่งๆจะมีความกว้างของหน้าเท้าหลายขนาดให้เลือก แต่มักจะต้องไปซื้อที่ช็อปรองเท้าใหญ่ๆครับ
- ลองร้อยเชือกรองเท้าใหม่ โดยไม่ร้อยผ่านรูที่อยู่บริเวณกระดูกตุ่ยๆ วิธีนี้จะช่วยให้รองเท้าไม่รัดบริเวณที่เจ็บได้ครับ
- เลือกถุงเท้าดีๆ ไม่หนามาก บางคู่จะมีแผ่นป้องกันการเสียดสีบริเวณที่กระดูกตุ่ยๆติดมาด้วย ถ้านิ้วโป้งเท้าเอียงไปเสียดสีกับนิ้วเท้านิ้วที่สอง อาจเลือกใช้ถุงเท้าแบบแยกนิ้วก็ช่วยลดการเสียดสีได้
- เลือกอุปกรณ์ประคองนิ้วโป้งเท้าตามที่กล่าวข้างต้น
- ถ้ามีเท้าผิดรูป ที่พบบ่อยคือเท้าแบน ถ้าเราปฏิบัติตามข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจลองใช้แผ่นรองรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า หรือใช้แบบตัดเฉพาะบุคคล
- หลังวิ่งเสร็จ ถ้ามีอาการบวมๆ เจ็บๆ แดงๆ รีบกลับมาใช้น้ำแข็งห่อผ้า หรือ cold pack ประคบเลยนะครับ ยิ่งเร็วยิ่งดี
สรุป
โรคนิ้วโป้งเท้าเก เป็นความผิดปกติของกระดูกฝ่าเท้าและนิ้วโป้งเท้า ทำให้เกิดกระดูกตุ่ยๆออกมาที่โคนนิ้ว อาจทำให้เจ็บ บวม อักเสบได้ ถ้าเป็นมากๆจะรบกวนการเดิน การเลือกรองเท้าใส่จะหาคู่ที่ใส่สบายยาก การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ถ้าไม่หายจริงๆจึงพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดครับ
บทความโดยนายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล