fbpx

ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม

ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม

ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกขึ้น บางครั้งจะมีอาการบวม ปวด อักเสบ ที่บริเวณตาตุ่มได้ เนื่องจากตาตุ่มเป็นจุดเกาะที่สำคัญของเส้นเอ็นในข้อเท้า ที่อาจจะเกิดการบาดเจ็บจากข้อเท้าพลิกได้ครับ

ข้อเท้าพลิก เอ็นบาดเจ็บ

 ข้อเท้าของเราประกอบขึ้นด้วยกระดูกหลักๆ 3 ชิ้นด้วยกันครับ คือ

  • กระดูกหน้าแข้งชิ้นหลัก (Tibia)
  • กระดูกหน้าแข้งชิ้นรอง (Fibula)
  • กระดูกข้อเท้า (Talus)
อ่านเพิ่มเรื่องกระดูกเท้าได้นะครับ
กระดูกตาตุ่ม

กระดูกทั้ง 3 ชิ้นจะยึดกันด้วยเส้นเอ็นครับ โดยจะมีเอ็นทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน (ที่เรียกเป็นกลุ่มเนื่องจากแต่ละตำแหน่งจะประกอบด้วยเอ็นมากกว่า 1 เส้นครับ) ได้แก่

  • เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก (lateral ankle ligament complex)
  • เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (medial ankle ligament complex, Deltoid ligament)
  • เอ็นข้อเท้าด้านบน (Syndesmotic ligament)
อ่านเพิ่มเรื่องเอ็นข้อเท้าฉีกได้ที่นี่ครับ
เอ็นข้อเท้าตาตุ่มบวม

เมื่อเกิดข้อเท้าพลิกขึ้น จะมีการบาดเจ็บของอวัยวะในข้อเท้าได้หลายอย่างเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกข้อเท้าหัก, กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ เอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ

และเอ็นข้อเท้าที่บาดเจ็บได้บ่อยที่สุดคือ เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก บริเวณตาตุ่มด้านนอกนั่นเองครับ

ข้อเท้าพลิก เอ็นข้อเท้าฉีก

ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม เกิดจากอะไร

เมื่อมีข้อเท้าพลิก และมีตาตุ่มด้านนอกบวม สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักๆ 2 อย่างด้วยกันครับ คือ

เอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ

โดยเมื่อมีเอ็นบาดเจ็บ อาจจะฉีกขาดหรือไม่ก็ได้ จะทำให้มีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆเส้นเอ็นขึ้น ก็ทำให้มีการบวมบริเวณตาตุ่มได้ ข้อสังเกต

  • ส่วนใหญ่จะบวมบริเวณหน้าตาตุ่ม
  • กดบริเวณตาตุ่มจะไม่เจ็บมาก
  • (อาจจะ) พอจะเดินลงน้ำหนักได้บ้าง
ตาตุ่มบวม ข้อเท้าพลิก
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง ได้ที่นี่ครับ

กระดูกข้อเท้าหัก

โดยเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้น แสดงว่ามีข้อเท้าพลิกที่รุนแรง ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆอักเสบ และบวมได้ รวมถึงข้อเท้าที่หักจะมีเลือดออกจากบริเวณกระดูกหัก ก็จะทำให้รอบๆตาตุ่มบวมได้เช่นกัน ข้อสังเกตคือ

  • บวม และกดเจ็บบริเวณตาตุ่ม
  • บวมทั่วๆตาตุ่ม
  • เดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย หรือได้แต่เจ็บมากๆๆ
  • มีรอยช้ำใต้ผิวหนังบริเวณตาตุ่ม
ข้อเท้าพลิก กระดูกหัก
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระดูกข้อเท้าหักได้ที่นี่ครับ

ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม ปฐมพยาบาลอย่างไร

เมื่อเกิดข้อเท้าพลิกขึ้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ใช้วิธี RICE protocol คือ

รักษาเบื้องต้นข้อเท้าแพลง

R (rest) คือการพัก ลดการเดิน ใช้งาน ไปก่อน งดเล่นกีฬา หรือใช้งานข้อเท้าหนักๆ

I (ICE) คือการประคบเย็นบริเวณที่ปวดอักเสบ โดยใช้ถุงเจลเย็น ห่อผ้าขนหนู และนำมาประคบ แนะนำว่าใน 1 ชั่วโมง ให้ประคบประมาณ 10-15 นาที

C (compression) คือการพันผ้า เพื่อลดอาการข้อเท้าบวม โดยให้ใช้ผ้ายืดทางการแพทย์ (elastic bandage) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา มาพันโดยพันจากส่วนปลายเท้า ขึ้นไปจนถึงส่วนน่อง

E (elevation) คือการยกขาสูง ไม่ว่าจะตอนนอน ตอนนั่ง ควรยกขาสูงไว้ครับ เพื่อลดอาการบวม ปวด และไม่ควรห้อยขานานๆด้วย เนื่องจากเท้าจะบวมและปวดมากขึ้นได้

ถ้ามีอาการดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอดูอาการไปก่อนนะครับ

  • ข้อเท้าบวมมาก
  • ข้อเท้ามีรอบฟกช้ำใต้ผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง
  • ปวดมาก ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เลย
  • ข้อเท้าผิดรูป
  • มีแผลเปิด
  • พัก ทำตาม RICE Protocol แล้วไม่ดีขึ้นเลย
ข้อเท้าพลิก ต้องพบแพทย์
ยารักษาข้อเข่าเสื่อม

ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กินยาอะไร

              ปรึกษาคุณหมอ หรือเภสัชกร เรื่องการทานยาครับ แนะนำทานยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทานสั้นๆ เมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดได้ครับ

ตาตุ่มบวม ประคบ

ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม ประคบ

              เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น แนะนำให้ประคบเย็นครับ โดยใช้เจลเย็น (cold pack) ห่อผ้าขนหนู ประคบบริเวณตาตุ่มที่บวม เจ็บ ประมาณ 10-15 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงครับ

              การประคบอุ่น ถ้ายังมีการอักเสบ บวมอยู่ยังไม่แนะนำนะครับ

ตาตุ่มบวม นวดได้ไหม

ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม นวดได้ไหม

              ยังไม่แนะนำให้นวดเมื่อมีอาการปวด บวม อักเสบนะครับ เนื่องจากจะทำให้อาการอักเสบเป็นมากขึ้นได้ ถ้าจะนวดจริงๆ แนะนำนวดคลึงเบาๆก็เพียงพอครับ

กายภาพตาตุ่มบวม

ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กายภาพ

              เมื่อมีข้อเท้าพลิก และตาตุ่มบวมขึ้น ยังไม่ต้องกายภาพทันทีนะครับ รอให้อาการปวด บวม เจ็บ อักเสบทุเลาลงก่อนจึงกายภาพ โดยการกายภาพให้ทำดังนี้

  1. การกายภาพฝึกขยับข้อเท้า (range of motion exercise)
  2. การกายภาพฝึกความแข็งแรงของเอ็นข้างข้อเท้า (peroneal strengthening exercise)
  3. การกายภาพฝึกการทรงตัว (proprioception exercise)
คลิปกายภาพในภาวะข้อเท้าพลิก
ข้อเท้าพลิก ไม่หายสักที

ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม กี่วันหาย

              ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของข้อเท้าพลิก ข้อเท้าพลิกแล้วมีการบาดเจ็บมากหรือไม่ การปฐมพยาบาลทำได้ดีหรือไม่

แต่ส่วนใหญ่ข้อเท้าพลิก อาการต่างๆจะหายดีขึ้น หรือหายสนิทเลยภายใน 2 สัปดาห์นะครับ

              ถ้า 2 สัปดาห์แล้ว อาการต่างๆยังไม่ดีขึ้น หรือยังไม่หาย แนะนำให้พบแพทย์นะครับ เนื่องจากอาจจะมีการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นๆที่ต้องมีการรักษาเฉพาะได้ เช่น เอ็นฉีกขาดอย่างรุนแรง กระดูกข้อเท้าหัก หรือกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ

ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวมไม่หายสักที

ข้อเท้าพลิกตาตุ่มบวม เรื้อรัง ไม่หายสักที เกิดจากอะไร

              ส่วนใหญ่อาการบวมที่เกิดจากข้อเท้าพลิก จะหายไปเองใน 2-4 สัปดาห์ ถ้าไม่หายสักทีมักเกิดจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงทำให้มีอวัยวะภายในเสียหาย เช่น เอ็นข้อเท้าฉีกขาด กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ กระดูกข้อเท้าหัก แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมครับ

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก ข้อเท้าหลวม

ข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม แล้วต่อมามีข้อเท้าพลิกซ้ำได้บ่อย มีข้อเท้าหลวม

              ถ้าข้อเท้าพลิกเป็นชนิดรุนแรง อาจจะเกิดเอ็นประคองข้อเท้าฉีกขาดมากๆได้ครับ ถ้าร่างกายของเราไม่สามารถรักษาเอ็นที่บาดเจ็บให้กลับมาตึง แข็งแรงดังเดิมได้

ก็จะทำให้มีภาวะข้อเท้าหลวม และพลิกง่าย พลิกบ่อยได้ครับ

ถ้าใครที่มีอาการดังนี้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องนะครับ ไม่ควรรักษาเอง ไม่ควรรอให้หายเอง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะข้อเท้าหลวมได้ที่นี่ครับ

สรุป

ตาตุ่มบวม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเมื่อมีข้อเท้าพลิกเกิดขึ้น มักจะเกิดจากเอ็นประคองข้อเท้าบาดเจ็บ และเนื้อเยื่อรอบๆข้อเท้าอักเสบ และเกิดการบวมขึ้น การรักษาเมื่อไม่มีภาวะเร่งด่วน ให้การรักษาด้วยวิธี พัก ยกขาสูง ประคบเย็น พันผ้าลดอาการปวด