Plantar fibroma คือ ก้อนเนื้องอกของพังผืดฝ่าเท้าเกิดขึ้นบริเวณกลางฝ่าเท้า ถ้าก้อนใหญ่จะมีอาการเจ็บที่กลางฝ่าเท้า เจ็บตอนเดินลงน้ำหนักกดที่ก้อน (เหมือนเราเหยียบก้อนหิน)
เมื่อเราคลำได้ก้อนที่ฝ่าเท้า แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูนะครับ
เนื่องจากยังมีสาเหตุของก้อนอื่นๆอีกที่สามารถเกิดได้ที่ฝ่าเท้าด้วย เช่น ก้อนซีสต์ ก้อนฝี เนื้องอกของเส้นประสาท เนื้องอกของก้อนไขมัน หรือโรคอื่นๆอีก
ก้อนพังผืดฝ่าเท้า (Plantar fibroma) คืออะไร?
Plantar fibroma คือก้อนเนื้องอกชนิดไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณพังผืดฝ่าเท้า (plantar fascia) โดยปกติแล้ว ก้อนจะมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร
ส่วนใหญ่ก้อนนี้จะไม่มีอาการอะไร ไม่เจ็บ สามารถใช้งานเท้าได้ปกติ แต่ในบางราย
ก้อนที่มีขนาดใหญ่ หรือก้อนอยู่บริเวณที่กดพื้นตอนเดินลงน้ำหนัก ก็จะมีอาการเจ็บกลางฝ่าเท้าขึ้นมาได้
โดยเฉพาะตอนเดินบนพื้นแข็งๆ หรือใส่รองเท้าที่พื้นแข็งสักหน่อย จะรู้สึกเหมือนเดินเหยียบก้อนหินเล็กๆ หรือมีเมล็ดผลไม้ติดที่เท้า
ในบางคน จะมาตรวจด้วยการคลำฝ่าเท้าได้ก้อน แต่ไม่มีอาการอะไร ไม่เจ็บกลางฝ่าเท้าสามารถเดิน วิ่ง เล่นกีฬา ออกกำลังกายได้ปกติ ก็พบได้บ่อยครับ
โรค Plantar fibroma นั้นเกือบจะทั้งหมดไม่ใช่ก้อนมะเร็ง ไม่ลุกลาม ไม่แพร่กระจายไปที่อื่น แต่ถ้าเราคลำได้ก้อนที่ฝ่าเท้า เจ็บกลางฝ่าเท้า หรือสงสัยโรคนี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูนะครับว่าเป็นโรคนี้จริงๆหรือไม่ เนื่องจากบริเวณฝ่าเท้าสามารถมีก้อนที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆได้ด้วย
โดยเฉพาะถ้ามีอาการ บวม แดง จับแล้วอุ่นๆ ก้อนโตขึ้น เจ็บตลอด ให้พบแพทย์ทันทีนะครับ
ก้อนพังผืดฝ่าเท้า Plantar fibroma มักพบในใคร ?
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจะอะไร จึงยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นมาครับ สามารถเกิดกับใครก็ได้ โดยจะพบมากในวัยกลางคน (อายุมากกว่า 40 ปี), ผู้ชายจะพบได้มากกว่าผู้หญิง, มีประวัติเป็นโรคนี้ในครอบครัว
ก้อนพังผืดฝ่าเท้า Plantar fibroma มีอาการอย่างไร?
- โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไรครับ ไม่เจ็บ เดิน ใช้งานได้ปกติ
- บางคนจะมาด้วยการคลำพบก้อนที่ฝ่าเท้า หรือมองเห็นก้อนนูนๆขึ้นมาที่ฝ่าเท้า โดยที่ไม่มีอาการอะไร
- เจ็บกลางฝ่าเท้า บางคนจะเจ็บที่ก้อน ตอนที่เดินย่ำก้อนกับพื้น โดยเฉพาะเดินเท้าเปล่า หรือใส่รองเท้าพื้นแข็งๆ รู้สึกเหมือนเดินเหยียบหิน หรือมีเม็ดผลไม้ติดที่ฝ่าเท้า
- ก้อนที่ฝ่าเท้าสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้เช่นกัน ถ้าสงสัยภาวะนี้ควรพบแพทย์เพื่อตรวจนะครับ
แม้อาการจะไม่มาก เจ็บกลางฝ่าเท้าเนิดหน่อย แต่ถ้าเดินทุกวัน วันละหลายพันก้าว ก็ทำให้ไม่อยากเดิน หรือออกกำลังได้ไม่เต็มที่ได้นะครับ
ก้อนพังผืดฝ่าเท้า (Plantar fibroma) แตกต่างจาก รองช้ำ (Plantar fasciitis) อย่างไร?
เนื่องจากทั้งสองโรคเป็นโรคที่เกิดบริเวณพังผืดฝ่าเท้าเหมือนกัน แต่มีสาเหตุของโรคและอาการไม่เหมือนกันครับ
สาเหตุของโรค
- รองช้ำ (Plantar fasciitis) เกิดจากพังผืดฝ่าเท้าอักเสบเรื้อรัง จากการใช้งานหนัก ขาดการยืดเหยียดที่ดี
- ก้อนพังผืดฝ่าเท้า (Plantar fibroma) เกิดจากการมีก้อนเกิดขึ้นที่พังผืดฝ่าเท้า
อาการของโรค
- รองช้ำ (Plantar fasciitis) จะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้า หรือกลางเท้า จะเป็นตอนเริ่มเดิน เช่นตื่นนอนตอนเช้า หรือนั่งนานๆแล้วลุกเดิน เมื่อเดินไปสักพัก อาการจะดีขึ้น
- ก้อนพังผืดฝ่าเท้า (Plantar fibroma) จะมีอาการเจ็บกลางฝ่าเท้า ปวดตอนเดินลงน้ำหนัก เนื่องจากเดินเหยียบก้อนลงบนพื้นแข็งๆ ถ้าไม่เดินก็จะไม่ปวด
การรักษาก้อนพังผืดฝ่าเท้า (Plantar fibroma)
การรักษาก้อนพังผืดฝ่าเท้าจะเน้นที่การรักษาตามอาการเป็นหลักครับ โดยมีการรักษาดังนี้
- ถ้าไม่มีอาการใดๆเลย สามารถใช้งานเท้าได้ปกติทุกอย่าง ไม่ต้องทำการรักษา สามารถใช้งานเท้าได้เต็มที่ ให้สังเกตอาการว่าก้อนโตขึ้นหรือไม่ หรือมีอาการเจ็บขณะใช้งานหรือไม่
- ถ้ามีอาการเจ็บกลางฝ่าเท้า ลองรักษาโดยทานยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบ โดยปรึกษาคุณเภสัชกรก่อน
- หลีกเลี่ยงเดินบนพื้นแข็งๆ พื้นขรุขระ ใส่รองเท้าบ่อยๆเท่าที่ทำได้ อยู่ในบ้านก็ควรหารองเท้านุ่มๆมาใส่ด้วย
- ใช้แผ่นรองรองเท้าที่นุ่มๆหนาๆ
- ยืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้าบ่อยๆ
- ถ้าอักเสบมาก เจ็บกลางฝ่าเท้าจนเดินไม่ไหว อาจปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดยาสเรียรอยด์ลดอาการอักเสบได้
ข้อที่ต้องทราบคือ การรักษาดังกล่าว จะเป็นการรักษาเพื่อลดอาการปวด เจ็บกลางฝ่าเท้า ไม่สบายเท้า แต่ก้อนจะไม่ได้หายนะครับ
ถ้าก้อนใหญ่ หรืออาการเป็นมากรบกวนการใช้งาน อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อผ่าตัดนำก้อนออกครับ
การใช้แผ่นรองรองเท้า ลดการเจ็บกลางฝ่าเท้า
ท่ายืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้า
สรุป
ก้อนที่พังผืดฝ่าเท้าเป็นก้อนเนื้องอกชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอะไร สามารถใช้งานเท้าได้ปกติ ถ้ามีอาการส่วนใหญ่จะเป็นอาการเจ็บกลางฝ่าเท้า ปวดจากการเหยียบลงบนก้อน สามารถรักษาตามอาการได้ ถ้าเป็นมาก เช่นก้อนใหญ่มาก หรือเจ็บกลางฝ่าเท้ามาก ปวดมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนำก้อนออก