นิ้วซ้นคือ
อาการนิ้วเท้าบาดเจ็บส่วนใหญ่จะมีสาเหตุจากอุบัติเหตุทำให้เนื้อเยื่อหรือเอ็นนิ้วเท้าอักเสบ หรือฉีกขาด โดยนิ้วซ้นจะต้องไม่มีการบาดเจ็บของอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น ไม่มีภาวะข้อนิ้วเท้าหลุด (Dislocated toe) ไม่มีกระดูกนิ้วเท้าหัก(Fracture toe) ไม่มีเอ็นประคองนิ้วเท้าขาด (Turf toe)
นิ้วซ้นเกิดจาก
ส่วนใหญ่นิ้วซ้นจะมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ เช่น นิ้วเท้าพลิก เดินเตะของแข็งๆ หรือนิ้วเท้าบิดหมุน หรือการบาดเจ็บใดๆที่ทำให้เอ็นรอบๆข้อนิ้วเท้าบาดเจ็บ เรียกว่านิ้วซ้น โดยมีสาเหตุของอุบัติเหตุหลักๆ 3 อย่างคือ
- ล้มแล้วนิ้วเท้าจิกพื้น ทำให้ข้อนิ้วเท้าต้องรับแรงจากน้ำหนักตัวของเราที่โถมลงไป ทำให้เอ็นประคองข้อนิ้วเท้าถูกฉีกอย่างแรงจนเอ็นบาดเจ็บ และเกิดนิ้วซ้นได้
- เดินเตะ หรือมีของแข็งมากระแทกปลายนิ้วเท้า ทำให้นิ้วเท้าบิด หรือเบี้ยวออกได้ เช่น เดินเตะโต๊ะ เตะบันได หรืออุบัติเหตุจราจรแล้วนิ้วเท้าไปกระแทกฟุตบาธ
- เดินหรือวิ่งแล้วนิ้วพลิก ส่วนใหญ่จะเป็นตอนวิ่งขึ้น-ลงเขา หรือวิ่งบนพื้นไม่เรียบ
ขอขอบคุณภาพจาก : JonesSaladThailand
อาการนิ้วซ้น
- ปวดบริเวณนิ้ว
- ปวดมากตอนเดินลงน้ำหนัก
- ขยับนิ้วเท้าแล้วเจ็บมาก หรือขยับไม่ได้
- นิ้วเท้าบวม
- มีรอยช้ำๆใต้ผิวหนัง
- กดเจ็บรอบๆข้อนิ้ว
นิ้วซ้นทำไง
ทำไงหาย, รักษาอย่างไร, แก้ยังไง
นิ้วซ้นส่วนใหญ่เป็นภาวะที่หายได้เองครับ ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการตาม RICE protocol ดังนี้
R (rest) พัก งดออกกำลังกาย งดวิ่ง งดเดินมากๆไปก่อนครับ ถ้าปวดมากอาจใช้วิธีเดินลงส้นเท้า หรือใช้ข้างเท้าเดิน
นิ้วซ้นประคบเย็น
I (ice) ประคบเย็น ใช้ที่ประคบเย็น ห่อผ้าสักชั้น แล้วประคบได้เลยครับ จะได้ลดปวด และลดบวม
C (compression) จริงๆแล้วคือการพันผ้าเพื่อลดอาการบวม แต่นิ้วซ้น พันผ้าไม่ได้
ผมเลยแนะนำวิธีที่เรียกว่า Buddy splint แทนครับ (เหมือนวิชาลูกเสือเลย)
E (elevation) ยกเท้าสูง เพื่อลดอาการบวม เลือดจะได้ไม่คั่งบริเวณนิ้วเท้า
นิ้วซ้นพันผ้า (Buddy splint)
โดยการใช้เทปทางการแพทย์ (ซื้อได้จากร้านขายยา) พันนิ้วที่ซ้นเข้ากับนิ้วเท้าข้างเคียง เพื่อให้นิ้วที่ไม่ซ้นประคองนิ้วที่ซ้นขยับไปด้วยกัน
คำแนะนำในการทำ (Buddy splint)
- เลือกพันกันนิ้วที่ขนาดใหญ่กว่า เช่นเป็นที่นิ้วเท้าที่ 3 ก็พันเข้ากับนิ้วเท้าที่ 2
- อย่างพันแน่นเกินไปจนเลือดมาเลี้ยงปลายนิ้วไม่สะดวก
- ควรมีผ้าก๊อซคั่นระหว่างนิ้วด้วย ป้องกันการเกิดแผลกดทับ
- เปลี่ยนบ่อยๆ วันละ 2-3 ครั้ง เช่นหลังอาบน้ำ
ถ้านิ้วซ้นอาการเป็นมาก แนะนำเพิ่มเติมดังนี้
- ทานยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบ โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- ใช้อุปกรณ์พยุงเท้าช่วยตอนเดิน เช่น walking boot
- ใส่รองเท้าที่พื้นแข็งๆหน่อย ขณะเดินจะได้ไม่ต้องขยับนิ้วเท้ามาก (แนะนำรองเท้ากีฬา รองเท้าวิ่ง)
- ใช้อุปกรณ์พยุงเดิน เช่นไม้เท้า ไม้ยันรักแร้
รองเท้าช่วยเดินนิ้วซ้น
อุปกรณ์พยุงเดินนิ้วซ้น
นิ้วซ้น กี่วันหาย
โดยส่วนใหญ่นิ้วซ้นจะใช้เวลารักษาตัวเองประมาณ 1-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าอาการเป็นมากหรือไม่
ช่วงที่รอให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองควร พักการใช้งาน ยกขาสูง ประคบเย็น ทำที่ประคองนิ้วด้วยครับ จะช่วยให้สบายขึ้น หายเร็วขึ้น กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมไวๆ
ถ้าใน 1 สัปดาห์ยังไม่ดีขึ้น (อาจจะยังไม่หายขาด) ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่นมีกระดูกนิ้วเท้าหัก
ถ้าใน 2 เดือน แล้วอาการยังไม่หายจนใช้งานได้ปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูเช่นกันครับ
ภาวะการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยๆ
กระดูกนิ้วเท้าหัก
การเกิดกระดูกนิ้วเท้าหัก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ เหมือนกับภาวะนิ้วซ้น หรือเกิดจากของแข็งๆตกใส่นิ้วเท้าก็ได้
อาการที่ทำให้สงสัยว่าจะมีนิ้วเท้าหัก
- ปวดมาก
- บวมมาก
- มีรอยฟกช้ำใต้ผิวหนัง เป็นบริเวณกว้าง หรือรอบๆนิ้วเท้า
- นิ้วเท้าผิดรูป นิ้วเอียง เบี้ยว นิ้วบิด
การตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อบอกว่ามีกระดูกหักหรือไม่ มีเส้นเลือดหรือเส้นประสาทนิ้วเท้าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และจะส่งตรวจเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีกระดูกนิ้วเท้าหักหรือไม่
การรักษากระดูกนิ้วเท้าหัก
ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่กระดูกหัก กระดูกที่หักเคลื่อนหรือไม่ มีนิ้วเท้าผิดรูปหรือไม่ ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาแนวทางการักษาที่เหมาะสม เพื่อให้นิ้วเท้ากลับมาใช้งานได้ตามปกติครับ
ข้อนิ้วเท้าหลุด (dislocated toe)
เกิดจากมีแรงมากระทำกับข้อนิ้วเท้าอย่างรุนแรง เหมือนๆกับนิ้วซ้นแต่แรงมากกว่ามาก จนทำให้เอ็นฉีกขาด ส่งผลให้ไม่สามารถประคองข้อนิ้วให้อยู่ในที่ได้ และเกิดข้อนิ้วเท้าหลุดในที่สุด
อาการที่ทำให้สงสัยว่าจะมีนิ้วเท้าหลุด
- นิ้วเท้าดูผิดรูปมาก นิ้วบิด งอ หมุน
- นิ้วเท้าบวม ช้ำ
- ขยับข้อนิ้วไม่ได้เลย เจ็บมากๆ
การรักษาข้อนิ้วเท้าหลุด
ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีข้อนิ้วหลุดหรือไม่ หลุดไปทิศทางใด มีภาวการณ์บาดเจ็บอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่นมีกระดูกหักร่วม มีเส้นเลือดเส้นประสาทขาดร่วมด้วย รวมถึงส่งตรวจเอกซเรย์ด้วยครับ
ถ้ามีอุบัติเหตุที่ข้อนิ้วเท้า และมีผิดรูป
อย่าดัดเอง ให้พบแพทย์ทันที ไม่ควรรอ ขณะไปพบแพทย์ถ้าประคบเย็น และยกขาสูงร่วมด้วยจะดีมากๆครับ นิ้วเท้าจะได้ไม่บวม
การดัดข้อนิ้วเท้าหลุด แพทย์จะทำให้เราไม่รู้สึกที่นิ้วก่อนครับ เช่น การฉีดยาชารอบๆนิ้ว หรือการบล็อกหลัง จากนั้นจึงดัดตามทิศทางที่ข้อนิ้วหลุด ถ้าเข้าดีก็จะดามนิ้วให้ ถ้าไม่เข้าหรือมีภาวการณ์บาดเจ็บอื่นร่วมด้วย เช่นกระดูกหัก อาจจะต้องผ่าตัดรักษาครับ
ข้อนิ้วเท้าหลุด ห้ามปล่อยทิ้งไว้ครับ เนื่องจากจะไม่หายเอง และถ้าปล่อยไว้นานเกินไป การดัดให้ข้อเข้าที่จะต้องผ่าตัดเท่านั้นครับ
และถ้าปล่อยไว้นานนิ้วเท้าจะผิดรูป เจ็บ เดินเจ็บ ลงน้ำหนักไม่ได้ มีนิ้วเท้าผิดรูปถาวรหรือมีข้อนิ้วเท้าเสื่อมได้ครับ
เอ็นนิ้วเท้าฉีก (turf toe)
ภาวะนี้จะเกิดบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าครับ
คือการบาดเจ็บบริเวณเอ็นใต้โคนนิ้วหัวแม่เท้า ซึ่งพบบ่อยในนักกีฬาที่ต้องใช้การดัน การกระแทก การตะลุมบอน
เช่นนักกีฬารักบี้ อเมริกันฟุตบอล จะเกิดในจังหวะที่นักกีฬาใช้นิ้วหัวแม่เท้าจิกพื้นอย่างแรง และส้นลอยเหนือพื้น เพื่อช่วยดันหรือส่งตัวไปข้างหน้า จากนั้นเกิดการโถมน้ำหนักเข้ามาที่ข้อเท้า หรือลำตัวของเรา ทำให้ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าแอ่นมากขึ้น และเอ็นที่อยู่บริเวณใต้โคนนิ้วหัวแม่เท้าฉีกขาดได้
อาการ turf toe
- ปวด บวม
- ช้ำโดยเฉพาะบริเวณใต้โคนนิ้วหัวแม่เท้า
- จับนิ้วหัวแม่เท้ากระดกขึ้นแล้วเจ็บ
- ไม่สามารถขยับนิ้วหัวแม่เท้าได้เต็มที่เนื่องจากเจ็บ
การรักษา turf toe
การรักษาเบื้องต้น เป็นการพัก ประคบเย็น ยกขาสูง ตามอาการครับ ถ้ามีอาการมาก อาจต้องใส่เฝือกหรือใช้รองเท้าพยุงเดินเพื่อให้นิ้วหัวแม่เท้าได้พักและขยับน้อยที่สุด แต่ถ้าเป็นมากคุณหมออาจแนะนำเรื่องการผ่าตัดเพื่อซ่อมเอ็นนิ้วหัวแม่เท้าครับ
สรุป
นิ้วเท้าซ้น มักเกิดจากอุบัติเหตุที่นิ้วเท้า เป็นการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ หรือเอ็น โดยที่ไม่มีการบาดเจ็บอวัยวะสำคัญอื่นๆร่วมด้วย การรักษามักรักษาตามอาการและหายเองในเวลาไม่นาน สิ่งที่สำคัญคือต้องแน่ใจว่าไม่มีการบาดเจ็บอื่นๆที่ต้องการการรักษาเฉพาะโรคร่วมด้วย