เนื้อหาในบทความนี้
ลักษณะอาการหนังแข็งๆที่เท้า อาจเป็นตุ่ม หรือผิวหนังที่หนาตัวขึ้น อาจมีอาการเจ็บ บวมแดง เดินลงน้ำหนักแล้วเจ็บ อาการดังกล่าวอาจเกิดจากหูด หรือ ตาปลา ก็ได้ครับ
อาการของโรคทั้งสองอย่างนี้คล้ายกันครับ บางครั้งก็บอกยากว่ารอยโรคนี้เกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งทั้งสองโรคนี้มีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกัน รวมถึงการป้องกัน และรักษาที่ต่างกันด้วย
ดังนั้นจึงควรแยกให้ได้คร่าวๆว่ารอยนี้เกิดจากอะไรจะได้รักษาได้ตรงจุด
หูด
หูด คือตุ่มเล็กๆที่เกิดจากผิวหนังที่หนาตัวขึ้น พบได้ทุกบริเวณของร่างกาย แต่จะพบบ่อยที่เท้าและมือ
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งครับ (HPV) ซึ่งเกิดเป็นโรคติดต่อ อาจจะเกิดจากการสัมผัสโดยตรง หรือโดยอ้อมก็ได้ เช่นการเดินเข้าห้องน้ำสาธารณะเปียกๆด้วยเท้าเปล่า เช่นที่สระว่ายน้ำ เป็นต้น
แต่ไม่ใช่ว่าไปสัมผัสคนที่เป็นหูดมาแล้วจะติดทันทีเลยนะครับ บางครั้งอาจต้องรอนานหลายเดือนถึงจะมีรอยโรคให้เห็น หรือบางคนที่ภูมิคุ้มกันดีก็อาจไม่ติดเชื้อหูดก็ได้
รอยโรคหูด จะเป็นตุ่มเล็กๆ จับแล้วขรุขระ มักพบมีจุดดำๆอยู่บริเวณตุ่ม
ตาปลา
ตาปลา คือ ผิวหนังที่หนาตัวขึ้น เกิดเป็นชั้นหนังแข็งๆ เกิดได้จากสองสาเหตุหลักๆคือ
- เกิดการเสียดสี
- เกิดการลงน้ำหนักผิดจุดทำให้มีแรงกดบริเวณนั้นมากกว่าปกติ
ทำให้เกิดชั้นหนังแข็งๆขึ้น
ดังนั้น ตาปลามักเกิดบริเวณที่มีการลงน้ำหนัก คือบริเวณเท้า นิ้วเท้า ได้บ่อย
รอยโรคของตาปลาจะเห็นเป็น รอยผิวหนังที่หนาตัวนูนขึ้น แข็งๆ แห้งๆ บางครั้งจะมีขุยๆ
สาเหตุของตาปลาส่วนใหญ่เกิดจากรองเท้าไม่พอดี
- รองเท้าที่คับเกินไปจะทำให้เกิดการบีบตำแหน่งต่างๆที่เท้ามากกว่าปกติ
- รองเท้าที่หลวมเกินไป ทำให้เกิดการเสียดสีของเท้ากับรองเท้าขณะเดิน ก็ทำให้เกิดตาปลาได้
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การที่มีเท้าผิดรูป ทำให้มีการเดินลงน้ำหนักผิดปกติ มีการลงน้ำหนักตำแหน่งหนึ่งๆในเท้ามากกว่าปกติ ก็ทำให้เกิดตาปลาบริเวณนั้นขึ้นมาได้
วิธีแยกรอยโรคระหว่างหูด กับ ตาปลา
หูด
- เกิดจากเชื้อไวรัส
- เมื่อมีอาการเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว
- ตุ่มเล็ก ขรุขระ มีจุดดำๆบริเวณตุ่ม
- บีบเจ็บ (ตาปลาจะกดเจ็บ)
- พบได้ที่มือ เท้า จะพบส่วนไหนของเท้าก็ได้ ไม่จะเป็นต้องเป็นจุดลงน้ำหนักเช่น เป็นที่ง่ามนิ้วเท้าก็ได้
ตาปลา
- เกิดจากการเสียดสี หรือลงน้ำหนักผิดจุด
- รอยโรคจะค่อยๆเป็นมากขึ้นๆ ช้าๆ
- รอยโรคเป็นปื้นผิวหนังหนาตัวขึ้น ยกตัว แข็งๆ แห้งๆ สากๆ
- กดเจ็บ (หูดจะบีบเจ็บ)
- พบบริเวณจุดลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าเป็นหลัก เช่น บริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าที่เกผิดรูป หรือบริเวณหน้าเท้า (จมูกเท้า)
การรักษาหูด
ปกติหูดจะหายเองได้ครับ แต่ใช้เวลานานมาก ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป บางครั้งใช้เวลาเป็นปีถึงจะดีขึ้น
แต่ถ้าเจ็บหรือรำคาญมากๆ อาจซื้อยาที่ขายตามร้านขายยามาใช้ก็ได้ครับ มีทั้งแบบแผ่นแปะ ครีม หรือน้ำมันทาหูด ก็ได้ผลดีพอสมควรครับ โดยถ้าจะไปซื้อยามาใช้เอง
ต้องเป็นยาที่มีส่วนผสมของ กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) นะครับถึงจะได้ผล
เทคนิคการใช้ยารักษาหูด
-
- แช่น้ำอุ่นก่อนทายาประมาณ 5 นาที เพื่อให้รอยโรคนุ่มลง จากนั้นเช็ดให้แห้ง
- ทายาบริเวณรอยโรคทุกวัน
- หลีกเลี่ยงทายาบริเวณผิวหนังปกติรอบๆรอยโรค เนื่องจากทำให้ระคายเคืองผิวหนังปกติได้
- อาจใช้ตะไบ หรือหินขัดเท้า ขัดบริเวณรอยโรค เพื่อให้ผิวหนังที่ตายลอกหลุดออกก่อนจึงทายา
- ใจเย็นๆ ใช้ยาติดต่อกันหลายสัปดาห์จึงจะเห็นผลนะครับ
- แนะนำว่าใช้แบบแผ่นแปะจะดีกว่า เนื่องจากยาอยู่บริเวณรอยโรคได้นานครับ
ถ้ายังไม่หายอาจต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยการรักษามีหลายวิธีการครับ เช่น ใช้ไนโตรเจนเหลวจี้ ใช้เลเซอร์ หรือการผ่าตัดเล็กเพื่อนำหูดออกก็ได้ครับ (ฉีดยาชา)
การรักษาตาปลา
การรักษาตาปลาที่ได้ผลที่สุดคือ
การลดการเสียดสี และการลงน้ำหนักผิดจุดบริเวณเท้าให้ได้ เช่น การเลือกรองเท้าที่เหมาะกับทรงเท้า และขนาดไม่คับ หรือหลวมเกินไป
บางคนใช้แผ่นรองรองเท้า หรือแผ่นแปะบริเวณต่างๆที่เท้า เพื่อช่วยลดการกด การเสียดสี ก็ได้ผลดีครับ
การแช่น้ำอุ่นเพื่อให้ตาปลานุ่มขึ้น และขัดด้วยหินขัดเท้า ก็ช่วยให้ตาปลาบางลงได้ รวมถึงการใช้ครีมทาเท้าก่อนนอน เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นด้วยครับ
สรุป
รอยตุ่มแข็งๆบริเวณเท้า สามารถเกิดขึ้นได้จากสองสาเหตุหลักๆ คือหูด กับ ตาปลา ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกัน หูดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนตาปลาเกิดจากการลงน้ำหนักผิดจุด หรือการเสียดสี ดังนั้นจึงมีวิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกัน การวินิจฉัยให้ได้ว่ารอยโรคเกิดจากหูดหรือตาปลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เลือกการรักษาได้ถูกวิธีครับ
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล