เอ็นข้อเท้าอักเสบ เจ็บด้านหน้าข้อเท้า คือ เอ็นบริเวณด้านหน้าข้อเท้าชื่อว่า tibialis anterior tendon ซึ่งทำหน้าที่กระดกข้อเท้าขึ้น มีการอักเสบขึ้น ทำให้มีอาการปวด บวม ใช้งานเดินหรือวิ่งมากๆแล้วเจ็บ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้งานมากเกินไป หรืออุบัติเหตุก็ได้
เอ็นในภาษาไทยของเรา มีความหมายสองอย่างในระบบกายวิภาคนะครับ ขอทำความเข้าใจก่อน
- เอ็นกระดูก (ligament) เป็นเอ็นที่เกาะระหว่างกระดูกกับกระดูก
2. เอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) เป็นเอ็นที่เกาะระหว่างกระดูกและกล้ามเนื้อ
ในบทความเรื่องนี้เราจะพูดถึง เอ็น(กล้ามเนื้อ)ข้อเท้าอักเสบทางด้านหน้า หรือ anterior tibialis tendinitis
เอ็นด้านหน้าข้อเท้าหรือ tibialis anterior tendon จะอยู่ที่ด้านหน้าข้อเท้า ปลายหนึ่งจะเป็นกล้ามเนื้อเกาะที่หน้าแข้ง อีกปลายหนึ่งจะเป็นเส้นเอ็นเกาะที่กระดูกเท้า โดยเอ็นเส้นนี้จะพาดผ่านบริเวณข้อเท้าทางด้านหน้า
ดังนั้นหน้าที่หลักๆของเอ็นเส้นนี้ก็คือการกระดกข้อเท้าขึ้นนั่นเองครับ
สาเหตุของเอ็นด้านหน้าข้อเท้าอักเสบ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานมากเกินไป เช่นฝึกซ้อมวิ่งระยะไกล ไปขึ้นเขาสูงๆ ฝึกทางการทหารหนักๆ
อาจมีปัจจัยเสี่ยงจากการมีกล้ามเนื้อน่องที่ตึงเกินไปด้วย
เนื่องจากเอ็นทั้งสองเส้นนี้จะทำงานตรงข้ามกันอย่างผสมผสาน ถ้าเอ็นน่องตึง (เอ็นจิกข้อเท้าลง) เอ็นกระดกข้อเท้าขึ้นก็ต้องทำงานหนักตามไปด้วย
ถ้ามีอุบัติเหตุนำมาก่อน ไม่ว่าจะอุบัติเหตุจากการกีฬาหรือจากการจราจร ร่วมกับ อาการเจ็บข้อเท้าทางด้านหน้าที่บริเวณเอ็น อาจจะเป็นมากกว่าการอักเสบก็ได้นะครับ อาจจะมีเอ็นฉีกขาดร่วมด้วยได้ โดยจะมีอาการเดินแล้วข้อเท้าตก ไม่สามารถกระดกข้อเท้าได้เต็มที่
เอ็นข้อเท้าอักเสบ รักษาอย่างไร (เฉพาะเอ็นด้านหน้าข้อเท้า)
ในเบื้องต้น ส่วนใหญ่จะรักษาหายได้ด้วยการพัก ประคบเย็น ยกขาสูง อาจใช้ยาแก้อักเสบช่วยนิดหน่อย (ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนนะครับ)
อ่านเพิ่มเรื่องการยืดน่องได้ที่นี่ครับถ้ามีอาการของน่องตึงร่วมด้วย ควรกายภาพบำบัดยืดน่องช่วยด้วย เอ็นหน้าข้อเท้าจะได้ลดการใช้งานลงในแต่ละก้าวเดิน
ในนักวิ่ง เอ็นข้อเท้าด้านหน้าอักเสบ น่ารำคาญมากๆครับ
ในช่วงแรกที่เป็นเอ็นอักเสบ อาการปวดจะมาทักทายช่วงแรกของการวิ่ง พอวิ่งไปสักพัก อาการก็จะค่อยๆหายไป แต่ถ้าเป็นมากๆ อาการปวดจะรบกวนตลอดเวลาที่วิ่งเลยครับ
เราลองมาดูวิธีป้องกันและรักษากันครับ
ในการวิ่งก้าวหนึ่งๆ จังหวะที่ใช้เอ็นกระดกข้อเท้ามากที่สุดคือ
จังหวะที่ส้นเท้าแตะพื้น และปลายเท้าของเราค่อยๆลดลงมาเพื่อให้เท้าทั้งเท้าวางราบกับพื้น (heel strike to foot flat)
ในคนที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นนี้ไม่แข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งานระยะยาวๆ เช่นวิ่งมาราธอน ตอนที่เอ็นเส้นนี้ล้ามากๆ ขณะวิ่งเมื่อส้นเท้าลงพื้นแล้ว ข้อเท้าจะไม่สามารถ “ค่อยๆ” ลดปลายเท้ามาวางราบกับพื้นได้ แต่ปลายเท้าของเราจะกระแทกพื้นอย่างแรง สังเกตได้ว่าขณะวิ่งจะได้ยินเสียงเท้ากระทบพื้น ดัง แปะๆ ตลอด
ถ้าใครวิ่งแล้วเท้ากระแทกพื้นเสียงดัง มีอาการเจ็บด้านหน้าข้อเท้า ต้องสงสัยว่าเป็นเอ็นข้อเท้าด้านหน้าอักเสบ จากเส้นเอ็นไม่แข็งแรงเพียงพอครับ
เอ็นข้อเท้าอักเสบด้านหน้า ถ้าไม่หายสักที หรือเป็นๆหายๆ มาดูคำแนะนำกันครับว่าควรทำอย่างไร หรือฝึกอะไรเพิ่มเติมบ้าง
- หลีกเลี่ยงการผูกเชือกรองเท้าแน่นเกินไป โดยเฉพาะช่วงบนสุด ให้คลายให้หลวมหน่อยก็ดีครับ รองเท้าจะได้ไม่กดบริเวณหน้าข้อเท้ามาก (lace bite)
แนะนำ : อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผูกเชือกรองเท้าได้ที่นี่ครับ
- เลือกรองเท้าที่ความหนาของส้นเท้ากับหน้าเท้าไม่ต่างกันมาก (lower heel-to-toe drop) เพื่อให้เราไม่ต้องกระดกข้อเท้ามากขณะวิ่ง
- วิ่งบนพื้นนุ่มๆ เช่นสนามหญ้า หรือลู่วิ่งรอบสนามฟุตบอล
- ปรับท่าวิ่ง
- ให้วิ่งก้าวให้สั้นลง (ลด strike length)
- ขณะก้าวขาจากหลังมาหน้า ควรปล่อยข้อเท้าสบายๆ ไม่ควรกระดกข้อเท้ามากเกินไป
- เปลี่ยนจากวิ่งลงส้นเท้าเป็นวิ่งลงหน้าเท้า หรือฝึกให้วิ่งได้ทั้งสองแบบ และใช้สลับกันในการวิ่งระยะไกลมากๆ เช่น วิ่ง full marathon
แนะนำ : อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงเท้าสำหรับวิ่งได้ที่นี่ครับ
- ฝึกความแข็งแรงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อข้อเท้าด้านหน้า
- ท่าเดินด้วยส้น (heel walk) ให้ฝึกโดยการถอดรองเท้า เดินด้วยส้นเท้าอย่างเดียว โดยกระดกข้อเท้าขึ้นตลอดเวลา เดินประมาณ 10-20 เมตร แล้วพัก ฝึก 5-10 รอบ ถ้าแข็งแรงดีแล้วค่อยเพิ่มความเข้มข้นของการฝึก แนะนำว่าฝึกบนพื้นนุ่มๆ เช่นพรม สนามหญ้า
- ฝึกยืดกล้ามเนื้อน่องอย่างสม่ำเสมอ ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย
- ใช้เทปพัน เพื่อลดการใช้งานเส้นเอ็นหน้าข้อเท้า ด้วย Kinesio tape
แนะนำ : ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพันเทปลดการบาดเจ็บต่อเอ็นข้อเท้าด้านหน้า
- ใช้ถุงเท้าหรือถุงรัดน่องสำหรับวิ่งระยะไกลโดยเฉพาะ
สรุป
เอ็นข้อเท้าอักเสบทางด้านหน้า หรือ tibialis anterior tendinitis มักพบในนักกีฬาที่ใช้ข้อเท้ามากๆ เช่นนักวิ่ง การรักษามุ่งเน้นที่การลดการใช้งานเส้นเอ็น และการสร้างความแข็งแรงของเส้นเอ็นเพื่อให้กลับมาเล่นกีฬาได้ตามที่ต้องการ
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล