เท้าชา คือ การรับความรู้สึกที่เท้าลดลง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก ร้อน เย็น หรือการรับความรู้สึกถึงลักษณะของพื้นที่เราเหยียบ เช่นความแข็ง-นุ่ม เรียบลื่น-ขรุขระ ความลาดชัน รวมถึงความสามารถในการทรงตัวก็ใช้การรับการรู้สึกที่เท้าเช่นกัน
เมื่อมีอาการเท้าชาเกิดขึ้น ต้องใส่ใจมากๆนะครับ เนื่องจากการชาเท้าอาจทำให้เกิดอันตรายตามมาได้หลายอย่าง เช่น
- เท้าชาแล้วไปเหยียบสิ่งมีคมจนเกิดแผลแล้วไม่รู้สึก กว่าจะรู้ว่ามีแผลก็มีการอักเสบติดเชื้อแล้ว
เท้าชาทำให้การทรงตัวไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
- เท้าชาเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆได้อีกหลายอย่างครับ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน
- อ่านต่อเรื่องเท้าเบาหวานได้ที่นี่ครับ
อาการเท้าชาสามารถเกิดได้จากหลายๆสาเหตุครับ โดยเราจะแบ่งสาเหตุเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้
- โรคในเท้าของเราเช่น โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทเท้า โรคปมประสาทเท้าอักเสบ
- โรคที่เส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณเท้าโดยกดทับนอกเท้า เช่นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง โรคกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบร้าวลงขา
- โรคที่เป็นจากระบบต่างๆในร่างกายบกพร่อง เช่น เบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเส้นเลือดอักเสบ
- ภาวะอื่นๆที่ทำให้เท้าชา เช่น ตั้งครรภ์ ขาดวิตามิน โรคภูมิคุ้มกันตัวเองบกพร่อง โรคติดเชื้อบางสาเหตุ
เราลองมาดูภาวะที่ทำให้เท้าชาที่พบได้บ่อยๆกันครับว่า แต่ละโรคมีอาการเฉพาะตัวอะไรบ้างที่ช่วยให้แยกอาการชาเท้าเกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุที่พบเท้าชาได้บ่อยๆ
เท้าชาจากเบาหวาน
สาเหตุที่ทำให้ชาเท้าที่พบได้บ่อยที่สุด อาการชาเท้าที่เกิดจากเบาหวาน เกิดจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณเท้าทำงานได้ไม่ดีเนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
อาการของภาวะชาเท้าจากโรคเบาหวาน
- ชาที่ปลายมือ และปลายเท้า
- มีแผลที่เท้าบ่อยและแผลหายช้า
- มีแผลเรื้อรังบริเวณต่างๆที่เท้า
- ผิวแห้ง
- มีหนังแข็งๆที่บริเวณที่เดินลงน้ำหนัก
- บางคนมีเท้าผิดรูป
การดูแลภาวะชาเท้าจากเบาหวาน ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป นอกจากนั้นยังต้องดูแลเท้าเป็นพิเศษด้วยนะครับ
วิธีดูแลเท้าเบาหวานด้วยตัวเองขอแนะนำเป็นข้อๆดังนี้
- ล้างเท้าทุกวันด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ
- ถ้าใช้น้ำอุ่นต้องเช็คอุณหภูมิน้ำด้วยมือก่อนทุกครั้ง
- ไม่ควรแช่เท้าในน้ำนานๆ
- หลังล้างเท้าควรเช็ดเท้าให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
- ใช้โลชั่นทาบริเวณเท้าหลังเช็ดเท้า เพื่อให้เท้านุ่มและชุ่มชื้น แต่ไม่ควรทาบริเวณซอกนิ้วเท้า
- ตัดเล็บเท้าตามแนวขวาง ไม่ควรตัดขอบเล็บให้สั้นเกินไป
- ถ้ามีเล็บขบ หรือแผลที่ซอกเล็บควรพบแพทย์
- ไม่ควรใช้แผ่นประคบร้อน หรือเครื่องมือที่มีความคมกับเท้า
- รักษาเท้าให้อบอุ่นเสมอ ตอนนอนอาจใส่ถุงเท้านุ่มๆ
- ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด และเลี่ยงการนั่งขัดสมาธิหรือนั่งทับขาตัวเองนานๆ เนื่องจากเลือดจะไปเลี้ยงเท้าได้น้อยลง
เท้าชาจากโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อเท้า (Tarsal tunnel syndrome)
โรคนี้เกิดจากพังผืดกดทับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงเท้าบริเวณฝ่าเท้า พังผืดนี้จะอยู่บริเวณตาตุ่มด้านใน การกดทับเกิดได้จากหลายๆสาเหตุเช่นอาจเกิดจากมีก้อนมากดโดยตรง มีโครงสร้างเท้าผิดรูป หรือไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนก็ได้ครับ อาการของโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นดังนี้
- ชาที่ฝ่าเท้า อาจชาด้านใดด้านหนึ่งของฝ่าเท้า หรือชาทั้งฝ่าเท้าก็ได้
- อาจรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ เจ็บแหลมๆ เจ็บแบบไฟช็อต เจ็บแบบถูกไฟลวก ที่เท้า
- เจ็บแปล๊บๆบริเวณใต้ตาตุ่มด้านใน อาจมีอาการตอนใช้งานหนักๆ หรือตอนทำท่าใดท่าหนึ่งเช่นนั่งยองแล้วเจ็บก็ได้
- อาการเจ็บจะร้าวขึ้นมาที่น่อง หรือร้าวลงไปที่ปลายเท้าก็ได้
- ถ้าเป็นมานานๆ อาการดังกล่าวจะเป็นตอนพัก หรือตอนนอนหลับก็ได้
การรักษาเริ่มจากการพัก ประคบเย็น อาจทานยาแก้อักเสบระยะสั้นๆ(ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนนะครับ) ส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้นได้ แต่ถ้าไม่ทุเลา หรือเป็นซ้ำบ่อยๆอาจต้องพบแพทย์เพื่อตรวจละเอียดและหาสาเหตุของเส้นประสาทกดทับครับ
โรคเส้นประสาทเท้าเป็นปม หรือปมประสาทเท้าอักเสบ (Morton’s Neuroma)
โรคนี้พบได้บ่อยเหมือนกันครับ โรคเส้นประสาทเท้าเป็นปม โดยเส้นประสาทเท้าที่เป็นปมได้บ่อยจะอยู่บริเวณระหว่างนิ้วเท้าที่สามและสี่ (ง่ามนิ้วเท้าที่สาม) ส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้
- ปวดจี๊ดๆ ปวดแบบแสบร้อนที่บริเวณหน้าเท้า (จมูกเท้า)
- อาจมีปวดร้าวไปที่นิ้วเท้า
- ชาบริเวณนิ้วเท้า โดยเฉพาะนิ้วเท้าที่สามและสี่
- มีอาการมากตอนใส่รองเท้าหน้าแคบๆ หรือส้นสูงๆ เดินมางานทั้งวัน
- อาการจะลดลงเมื่อเปลี่ยนมาใส่รองเท้าหน้ากว้าง หรือส้นต่ำๆ และได้พัก
- ตอนนอนกลางคืนมักไม่มีอาการ
การรักษาด้วยตัวเองจะเป็นการเลือกรองเท้าที่เหมาะสม คือรองเท้าที่หน้ากว้างๆ ส้นต่ำๆ ขนาดและทรงรองเท้าพอเหมาะกับเท้าของเรา หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูงนะครับ
การรักษาโดยแพทย์ทำอย่างไร
ถ้าไม่หายแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และการรักษาโดยแพทย์เช่นการปรับรองเท้าให้เข้ากับเท้าเรามากขึ้น การใช้ยาทานรักษา การฉีดยาสเตียรอยด์อย่างถูกวิธี หรือแม้แต่การผ่าตัดนำปมประสาทออกก็สามารถทำได้ครับ
เท้าชาจากภาวะกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท
ภาวะนี้เส้นประสาทที่มารับความรู้สึกที่ขาและเท้าจะถูกกดทับจากภาวะต่างๆบริเวณกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท อาการส่วนใหญ่จะมีอาการบริเวณหลัง ได้แก่
- มีอาการปวดหลังเรื้อรัง
- ปวดสะโพกร้าวลงขา
- ชาบริเวณเท้า ส่วนใดส่วนหนึ่งที่ขา ตามที่เส้นประสาทที่ถูกกดทับมารับความรู้สึก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณต่างๆตามที่เส้นประสาทที่ถูกกดทับมาเลี้ยง เช่น กระดกข้อเท้าอ่อนแรง กระดกนิ้วหัวแม่เท้าอ่อนแรง
- เดินไกลๆไม่ได้ต้องพัก เนื่องจากปวดหลังร้าวลงขา
การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการพัก ทานยา และการทำกายภาพบำบัด ร่วมกับการปรับพฤติกรรม แต่ถ้ามีอาการชาเท้ามาก อ่อนแรง แนะนำว่าต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโดยละเอียดนะครับ
อ่านต่อเรื่องหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้ที่นี่ครับเท้าชาจากภาวะขาดวิตามิน
วิตามินที่ขาดแล้วทำให้เกิดอาการชาเท้าได้คือวิตามินบี ครับ
สาเหตุของการขาดวิตามินเช่น การทานน้อย การมีโรคบางอย่างในระบบทางเดินอาหารทำให้การดูดซึมวิตามินทำได้ไม่ดี
อาการของภาวะขาดวิตามิน บี ได้แก่
- อ่อนแรง อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ชาบริเวณมือ เท้า
- มือเท้าเย็น
- มีอาการของโรคทางเดินอาหาร
สรุป
อาการเท้าชาเป็นภาวะที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดอันตรายด้านต่างๆตามมาได้ เท้าชาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การรักษาต้องรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้นจึงจะหายได้ โดยแต่ละสาเหตุมีอาการที่ไม่เหมือนกัน ทำให้พอจะบอกได้ว่าอาการเท้าชาเกิดจากสาเหตุใด จึงจะวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล