fbpx

กระดูกงอก

กระดูกงอกที่พบได้บ่อย

กระดูกงอกคือ กระดูกที่งอกหรือยื่นออกมาจากกระดูกปกติ มักพบในตำแหน่งต่างๆที่มีการใช้งานหนัก เช่นส่วนเท้า และข้อเท้า และเป็นส่วนใกล้ข้อต่อ หรือส่วนที่เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็น กระดูกงอกเป็นสัญญาณเตือนว่าข้อต่อถูกใช้งานมาหนัก มานาน จนเริ่มมีปัญหาแล้ว การรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และอาการของกระดูกงอก

เนื้องอกกระดูก

เนื้องอกกระดูก ถ้าสงสัยภาวะนี้ ต้องพบแพทย์ทันทีเลยครับ ไม่ควรปล่อยไว้

กระดูกงอก ในบทความนี้จะไม่เกี่ยวกับเนื้องอกกระดูก (bone tumor)ที่เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านะครับ

ถ้าสงสัยว่าเรามีกระดูกผิดปกติไปจากเดิมเป็นกระดูกงอก หรือเนื้องอกของกระดูก ให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยครับ

ทำไมกระดูกงอกถึงพบที่เท้าได้บ่อย

  • เท้าเป็นส่วนรับน้ำหนักของร่างกาย ดังนั้นจึงต้องทำงานหนัก รับน้ำหนักของเรามานาน
  • เท้าเป็นส่วนที่มีข้อต่อหลายตำแหน่ง กระดูกงอกมักเกิดจากข้อต่อที่ใช้งานมาจนมีปัญหา
  • เท้าเป็นส่วนที่มีเส้นเอ็นมายึดเกาะหลายตำแหน่ง กระดูกงอกที่เกิดจากการใช้เส้นเอ็นมาหนักๆ ก็พบได้ครับ
  • เท้าและข้อเท้าเป็นส่วนที่มีกล้ามเนื้อน้อย ส่วนใหญ่เป็นผิวหนังหุ้มกระดูก ทำให้เมื่อมีกระดูกงอก เราจะคลำเจอ หรือเห็นจากภายนอกได้ง่าย
  • เท้าเป็นส่วนที่ใช้งานตลอดเวลาที่เดินหรือวิ่ง ถ้ามีอาการเจ็บจากกระดูกงอก จะสังเหตุหรือรู้สึกได้ง่าย
เท้ามีกระดูกงอก

เท้ามีข้อต่อมากมาย ทำให้เป็นกระดูกงอกได้ง่าย

กระดูกงอกที่เอ็นร้อยหวาย

เท้ามีกล้ามเนื้อน้อย ทำให้คลำพบกระดูกงอกได้ง่าย

กระดูกงอกที่อุ้งเท้าด้านใน

เท้ามีเส้นเอ็นมาเกาะหลายตำแหน่ง และพบกระดูกงอกในเส้นเอ็นได้บ่อย

กระดูกงอกที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า (Hallux rigidus)

กระดูกงอกที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า

กระดูกงอกที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า

อาการ

จะมีอาการปวด บวม บริเวณข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า คลำได้กระดูกแข็งๆ บริเวณที่ปวด ขยับข้อนิ้วหัวแม่เท้าขึ้น-ลง จะเจ็บ ฝืด ขึ้นลงได้ไม่สุด ขณะเดินจะเดินลำบาก เดินเจ็บ เดินเท้าเปล่าไม่ได้ ต้องใส่รองเท้าหนาๆเดิน

สาเหตุ

เกิดจากข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าเสื่อมครับ อาจจะเกิดจากใช้งานหนัก หรือมีอุบัติเหตุนำมาก่อนก็ได้ กระดูกงอกที่เกิดขึ้น จะทำให้มีข้อนิ้วเท้าขบได้ง่าย ทำให้ขยับข้อนิ้วหัวแม่เท้าแล้วเจ็บได้

การรักษาเบื้องต้น

  • ถ้าปวดมาก ให้พัก ประคบเย็น ทานยาแก้อักเสบสั้นๆ
  • ถ้าทุเลาปวดแล้ว ให้ฝึกงอ เหยียด ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าเป็นประจำ เพื่อป้องกันข้อยึดติด
  • ใส่รองเท้าตลอดเวลา แม้แต่ในบ้าน
  • เลือกรองเท้าที่พื้นหนาหน่อยครับ หน้าเชิดๆ หรือเลือกรองเท้าสุขภาพที่พื้นเป็นลักษณะ rocker buttom เพื่อให้ขณะเดิน ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าไม่ต้องขยับมาก
เอกซเรย์กระดูกงอกข้อนิ้วหัวแม่เท้า

เอกซเรย์กระดูกงอกข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ร่วมกับมีข้อเสื่อม

รองเท้าสุขภาพสำหรับกระดูกงอก

รองเท้าพื้นโค้ง (rocker bottom shoe) ช่วยให้ขณะเดินข้อนิ้วหัวแม่เท้าขยับลดลง

กระดูกงอกจากโรคนิ้วโป้งเท้าเอียง (Hallux valgus, bunion)

กระดูกงอกร่วมกับนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

กระดูกงอกร่วมกับนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

อาการ

นิ้วหัวแม่เท้าเอียง มีกระดูกงอกที่โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านใน จะมีปัญหาเจ็บบริเวณกระดูกงอก กระดูกงอกเสียดสีกับรองเท้าทำให้เจ็บ เป็นแผลได้ง่าย ชานิ้วหัวแม่เท้า หารองเท้าใส่ยาก

              บางคนเป็นมาก นิ้วหัวแม่เท้าจะไปไขว้ เกย กับนิ้วเท้าที่สอง แบบนี้ถือว่าเป็นรุนแรงครับ

สาเหตุ

จริงๆแล้วเรายังไม่ทราบสาเหตุของนิ้วโป้งเท้าเอียงครับว่าเกิดจากสาเหตุอะไร บางคนก็บอกว่าเกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูงมานาน บางคนก็บอกว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่ก็ยังไม่สรุปว่าเกิดจากอะไรครับ

การรักษาเบื้องต้น

  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสม หน้ากว้างๆ ถ้าเป็นไปได้อย่าให้มีอะไรมาบีบส่วนที่มีกระดูกงอก
  • ใช้ที่ประคองนิ้วหัวแม่เท้า
  • ใช้ซิลิโคนบริเวณกระดูกงอก ถ้าเจ็บจากรองเท้าบีบ หรือเสียดสีกับรองเท้า
  • ใช้ที่คั่นนิ้วเท้า ถ้านิ้วหัวแม่เท้าเอียงไปเบียดนิ้วเท้าที่สอง
อ่านเพิ่มเติมเรื่องนิ้วโป้งเท้าเอียงได้ที่นี่ครับ
เอกซเรย์กระดูกงอกนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

นิ้วหัวแม่เท้าเอียง ทำให้คลำได้กระดูกตุ่ยๆออกมา

ที่ประคองนิ้วหัวแม่เท้า

ที่ประคองนิ้วหัวแม่เท้าสำหรับคนที่มีนิ้วห้วแม่เท้าเอียง

กระดูกงอกที่โคนนิ้วเท้าที่ห้า (Bunionette)

กระดูกงอกที่โคนนิ้วก้อยเท้า

กระดูกงอกบริเวณโคนนิ้วก้อยเท้า

อาการ

คลำพบกระดูกตุ่ยๆบริเวณโคนนิ้วเท้าที่ห้า (นิ้วก้อยเท้า) บางคนเดินแล้วเจ็บ บางคนนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบแล้วเจ็บ เนื่องจากกระดูกงอกไปกดกับพื้น

สาเหตุ

เกิดจากกระดูกฝ่าเท้าที่ห้าเอียง ทำให้ดูเหมือนมีกระดูกงอกออกมา บางคนมีอาการ บางคนไม่มีอาการ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการเมื่อใส่รองเท้าบีบๆหน้าเท้า หรือนั่งทับบริเวณที่มีกระดูกงอก

การรักษาเบื้องต้น

  • เลือกรองเท้าหน้ากว้างๆ
  • เลือกทรงรองเท้าที่ไม่มีอะไรมากด รัด หุ้ม บริเวณที่มีกระดูกงอก
  • หลีกเลี่ยงการนั่งทับกระดูกงอก โดยเฉพาะท่านั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบให้เท้าที่มีกระดูกงอกอยู่ด้านล่าง
อ่านเพิ่มเรื่องนิ้วก้อยเท้าเอียงได้ที่นี่ครับ
กระดูกงอกที่โคนนิ้วเท้าที่ห้า

กระดูกฝ่าเท้าเอียง ทำให้คลำได้กระดูกงอกบริเวณโคนนิ้วก้อยเท้า

กระดูกงอกที่นิ้วก้อยเท้า

กระดูกงอกที่นิ้วก้อยเท้า

กระดูกงอกที่หลังเท้า (Midfoot arthritis)

กระดูกงอกที่หลังเท้า

กระดูกงอกที่หลังเท้า คลำได้กระดูกแข็งๆ เจ็บๆ

อาการ

เจ็บที่หลังเท้า คลำได้กระดูกแข็งๆตุ่ยๆออกมา เดินแล้วเจ็บ ตอนไม่ได้ลงน้ำหนักมักไม่เจ็บ บางคนกระดูกงอกที่หลังเท้าไปกระแทกกับรองเท้า ยิ่งทำให้อักเสบ และเจ็บมากขึ้น

สาเหตุ

ส่วนใหญ่คนที่มีกระดูกงอกที่หลังเท้าจะมีข้อหลังเท้าบริเวณนั้นสึกร่วมด้วยครับ โดยกระดูกงอกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยพยุงข้อที่สึกนั่นเอง ดังนั้นถ้าจะรักษากระดูกงอก ต้องรักษาข้อสึกด้วยครับ อาการต่างๆถึงจะดีขึ้นได้

การรักษาเบื้องต้น

  • ลดการใช้งาน
  • พัก ยกขาสูง ประคบเย็นถ้ามีอาการอักเสบ เจ็บมากขึ้น
  • เลือกรองเท้าที่ไม่มีส่วนที่กด รัด บริเวณกระดูกงอก
  • ใส่รองเท้าที่พยุงอุ้งเท้า
  • ใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า
  • ตัดแผ่นรองรองเท้าที่พอดีกับเท้า (total contact insole)
ข้อกลางเท้าสึก มีกระดูกงอก

กระดูกงอกหลังเท้าร่วมกับข้อกลางเท้าสึก

แผ่นรองรองเท้าพยุงข้อกลางเท้า

แผ่นรองรองเท้าพยุงข้อกลางเท้า

กระดูกงอกที่ส้นเท้าบริเวณพังผืดฝ่าเท้า (calcaneal spur)

เจ็บส้นเท้า ทำไงหาย

กระดูกงอกที่ส้นเท้า เจ็บบริเวณส้นเท้าเวลาเดิน วิ่ง

อาการ

สำหรับโรครองช้ำจะมีอาการเจ็บส้นเท้าตอนเช้าๆตอนตื่นนอน ตอนเริ่มเดินก้าวแรกๆ หลังจากเดินสักพัก อาการจะดีขึ้น ปวดลดลง แต่พอมานั่งพัก นั่งทำงาน นั่งประชุม สักพักใหญ่ๆแล้วเริ่มเดิน อาการปวดจะกลับมาอีก

สาเหตุ

มีผู้ป่วยจำนวนมาก มารับการรักษาด้วยเรื่องรองช้ำ และไปเอกซเรย์มาพบว่ามีกระดูกงอกที่ส้นเท้า แต่จริงๆแล้ว รองช้ำกับกระดูกงอกที่ส้นเท้ามีความสัมพันธ์กันน้อยนะครับ

คนที่เป็นรองช้ำอาจจะมีหรือไม่มีกระดูกงอกส้นเท้าก็ได้ คนที่มีกระดูกงอก ก็อาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการรองช้ำก็ได้

หนึ่งในสิบ ของคนทั่วๆไปจะมีกระดูกงอกที่ส้นเท้า และ 1 ใน 20 ของคนที่มีกระดูกงอกที่ส้นเท้าจะมีอาการปวดส้นเท้า ดังนั้นเราสามารถสรุปว่า กระดูกงอกส้นเท้าไม่ได้เป็นสาเหตุของอาการรองช้ำครับ

การรักษาเบื้องต้น

ถ้ามีอาการรองช้ำ และเคยเอกซรย์พบกระดูกงอกส้นเท้าก็ให้รักษาอาการเหมือนโรครองช้ำครับ

  • กายภาพยืดน่อง ยืดพังผืดฝ่าเท้า เป็นประจำ
  • นวดบริเวณพังผืดฝ่าเท้า ด้วยลูกบอลนิ่มๆ ลูกเทนนิส หรือขวดน้ำทรงกระบอก
  • ใส่รองเท้านุ่มๆ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
  • ทำช็อคเวฟก็ช่วยได้เป็นอย่างดีเลยครับ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับรองช้ำได้ที่นี่ครับ
กระดูกงอกส้นเท้า

เอกซเรย์กระดูกงอกส้นเท้า

ช็อคเวฟรักษารองช้ำ

รักษารองช้ำด้วยการทำช็อคเวฟ

กระดูกงอกที่อุ้งเท้าด้านใน (accessory navicular)

กระดูกงอกที่อุ้งเท้าด้านใน

กระดูกงอกในเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเท้าด้านใน กดดูจะเจ็บๆครับ

อาการ

มีกระดูกตุ่ยๆยื่นออกมาที่อุ้งเท้าด้านใน บางทีเจ็บ บางทีไม่เจ็บ พอใช้งานหนักๆจะเจ็บ ล้า เล่นกีฬาหนักๆนานๆไม่ได้ ใช้มือกดบริเวณกระดูกงอกจะเจ็บมาก บางคนใส่รองเท้าจะเจ็บเนื่องจากรองเท้าบีบ

สาเหตุ

มีกระดูกงอกใน ”เส้นเอ็น” ประคองข้อเท้าด้านใน ทำให้เส้นเอ็นทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเมื่อใช้งานหนักๆ นานๆ จะมีอาการเจ็บ หรือเอ็นอักเสบได้

บางคนก็ไม่มีอาการอะไรเลยนะครับ ใช้งานได้ตามปกติ

การรักษาเบื้องต้น

  • ถ้าไม่มีอาการอะไร เพียงแต่คลำได้กระดูกงอกยื่นออกมา มักจะไม่ต้องรักษาอะไรครับ ใช้งานได้ตามปกติ
  • ถ้ามีอาการปวด ให้พักการใช้งาน ประคบเย็น
  • ใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า รองเท้าเสริมอุ้งเท้า ก็จะช่วยได้ โดยเฉพาะถ้ามีภาวะเท้าแบนร่วมด้วย
  • กายภาพบำบัดเพื่อให้เส้นเอ็นแข็งแรง
อ่านเพิ่มเติมเกี่่ยวกับกระดูกงอกในเส้นเอ็นที่อุ้งเท้าด้านในที่นี่ครับ
เอกซเรย์กระดูกงอกที่เท้าด้านใน

เอกซเรย์กระดูกงอกที่เท้าด้านใน

แผ่นพยุงอุ้งเท้า

แผ่นรองรองเท้าพยุงอุ้งเท้า

กระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย (insertional achilles tendinitis)

กระดูกงอกที่เอ็นร้อยหวาย

กระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย

อาการ

เจ็บ บวม คลำได้กระดูกตุ่ยๆออกมาบริเวณข้อเท้าด้านหลัง บริเวณที่เอ็นร้อยหวายมาเกาะที่กระดูกส้นเท้า ถ้าใช้งานข้อเท้ามากๆ เดินมากๆ ยืนนานๆ จะเจ็บ ล้า ตึงน่องได้

คนที่ใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นประจำ กระดูกงอกนี้ก็จะเสียดสีกับขอบรองเท้าได้เช่นกัน

สาเหตุ

เกิดจากการใช้งานข้อเท้ามาหนักๆ ต่อเนื่องมานานๆ มักพบในเกษตรกร นักกีฬา คนที่ต้องยืนทำงานนานๆ

บางคนเกิดจากการมีภาวะเอ็นร้อยหวายตึง ทำให้ในแต่ละก้าวเดิน เอ็นร้อยหวายทำงานมากกว่าปกติ ก็มีกระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวายได้เช่นกัน

การรักษาเบื้องต้น

  • ถ้าปวดอักเสบ ก็ต้องพักการใช้งาน ทานยา ประคบเย็น
  • พยายามกายภาพยืดน่อง ให้คลายความตึง
  • ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย
  • ใส่รองเท้าที่ส้นสูงสักหน่อย เพื่อหย่อนเอ็นร้อยหวาย
  • อาจใช้แผ่นรองรองเท้า เพื่อเสริมให้ส้นสูงขึ้นมาก็ช่วยได้ครับ
  • ทำกายภาพช็อคเวฟเพื่อกระตุ้นจุดเกาะเอ็นร้อยหวาย
อ่านเพิ่มเติมเกี่่ยวกับกระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวายที่นี่ครับ
เอกซเรย์กระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย

เอกซเรย์กระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย

ช็อคเวฟรักษากระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย

ช็อคเวฟรักษากระดูกงอกที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย

กระดูกงอกที่ข้อเท้าด้านหน้า (anterior ankle impingement)

กระดูกงอกร่วมกับมีข้อเท้าขบด้านหน้า

กระดูกงอกร่วมกับมีข้อเท้าขบด้านหน้า

อาการ

เจ็บบริเวณข้อเท้าด้านหน้า มักเจ็บตอนกระดกข้อเท้าขึ้น ตอนกระโดด มีข้อเท้าบวมเมื่อใช้งานหนักๆ มักพบในนักกีฬาที่ใช้ข้อเท้าหนักๆ ต้องกระโดด วิ่งเปลี่ยนทิศเป็นประจำ นักฟุตบอล นักบาส

สาเหตุ

ใช้ข้อเท้าหนักๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะท่ากระโดด (นักบาส นักวอลเลย์บอล) และนักฟุตบอล ทำให้กระดูกงอกบริเวณกระดูกปลายขา เมื่อมีการกระดกข้อเท้าขึ้น กระดูกข้อเท้าจะมากระแทกกับกระดูกงอก เกิดอาการเจ็บขึ้นมาได้

การรักษาเบื้องต้น

  • พัก ทานยา ประคบเย็นเมื่อมีอาการปวด อักเสบขึ้นมา
  • ลดการใช้งาน
  • เปลี่ยนชนิดกีฬาถ้าทำได้ ลองเล่นกีฬาชนิดลู่ และไม่ปะทะ เช่นวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน จะดีกับโรคนี้มากกว่า บาส ฟุตบอล ครับ
  • เลือกรองเท้าที่ส้นสูงสักหน่อย จะทำให้กระดูกงอกเกิดการ “ขบ” น้อยลงได้ครับ
เอกซเรย์กระดูกงอกข้อเท้า

เอกซเรย์กระดูกงอกที่ข้อเท้าด้านหน้า ร่วมกับมีข้อเท้าขบ

กระดูกงอกข้อเท้าด้านหน้าพบในนักฟุตบอล

กระดูกงอกข้อเท้าด้านหน้าพบในนักฟุตบอล

กระดูกงอกที่ข้อเท้าด้านหลัง (posterior ankle impingement)

กระดูกงอกข้อเท้าด้านหลัง

กระดูกงอกข้อเท้าด้านหลัง กดเจ็บลึกๆ จิกข้อเท้าลงแล้วเจ็บ

อาการ

เจ็บด้านหลังข้อเท้า เจ็บตอนจิกข้อเท้าลง หรือใช้งานข้อเท้าหนักๆ โดยเฉพาะท่ากระโดด จะเจ็บจี๊ดขึ้นมาบริเวณด้านหลังข้อเท้า ส่วนใหญ่จะบอกตำแหน่งของอาการปวด เจ็บไม่ได้แน่ชัด เนื่องจากกระดูกงอกอยู่ด้านในข้อเท้า มีเอ็นร้อยหวายบังอยู่ครับ

สาเหตุ

มีได้ 2 สาเหตุหลักๆ

  1. เกิดจากการใช้งานข้อเท้าหนักๆมานานๆ โดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องกระโดด เป็นประจำ เช่น นักบาส นักวอลเลย์บอล ทำให้เกิดกระดูกงอก และกระดูกขบกันที่ด้านหลังข้อเท้าได้
  2. เกิดจากอุบัติเหตุทางข้อเท้า เช่นข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง ทำให้ส่วนกระดูกงอกด้านหลังข้อเท้าหัก และทำให้เกิดอาการเจ็บขึ้นมาได้

การรักษาเบื้องต้น

  • พัก ทานยา ประคบเย็นเมื่อมีอาการปวด อักเสบขึ้นมา
  • ลดการใช้งาน
  • เปลี่ยนชนิดกีฬาถ้าทำได้ ลองเล่นกีฬาชนิดลู่ และไม่ปะทะ เช่นวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน จะดีกับโรคนี้มากกว่า บาส ฟุตบอล ครับ
  • เลือกรองเท้าที่ส่วนส้นเท้า กับส่วนหน้าเท้าความหนาไม่ต่างกันมาก เนื่องจากถ้าใส่รองเท้าส้นหน้าแต่หน้าต่ำ จะทำให้กระดูกงอกชนิดนี้ ขบ กันได้ง่ายขึ้น
เอกซเรย์กระดูกงอกข้อเท้าด้านหลัง

เอกซเรย์กระดูกงอกที่ข้อเท้าด้านหลัง ร่วมกับมีข้อเท้าขบ

กระดูกงอกข้อเท้าด้านหลังพบในกีฬาที่ต้องกระโดด

กระดูกงอกข้อเท้าด้านหลัง พบในนักกีฬาที่ต้องกระโดดเป็นประจำ

กระดูกงอกบริเวณอื่นๆในร่างกายที่พบได้บ่อย

  • กระดูกงอกที่เข่า สาเหตุจากเข่าเสื่อม (knee osteoarthritis)
  • กระดูกงอกที่สะโพก ทำให้เกิดข้อสะโพกขบ (hip impingement)
  • กระดูกงอกที่กระดูกสันหลัง จากกระดูกสันหลังเสื่อม ทำให้เกิดโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (spinal canal stenosis)
  • กระดูกงอกที่เอ็นข้อไหล่ ทำให้มีอาการปวด (calcific tendinitis)
กระดูกงอกเข่า ร่วมกับเข่าเสื่อม

กระดูกงอกเข่า ร่วมกับเข่าเสื่อม

กระดูกงอกข้อสะโพก ร่วมกับข้อสะโพกขบ

กระดูกงอกข้อสะโพก ร่วมกับข้อสะโพกขบ

กระดูกงอกกระดูกสันหลัง ร่วมกับกระดูกสันหลังเสื่อม

กระดูกงอกกระดูกสันหลัง ร่วมกับกระดูกสันหลังเสื่อม

กระดูกงอกที่เอ็นไหล่

กระดูกงอกที่เอ็นไหล่

สรุป

กระดูกงอกสามารถเกิดขึ้นได้ในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อ และจุดเกาะเส้นเอ็นที่ใช้งานหนักๆ ส่วนที่พบได้บ่อยคือบริเวณเท้าและข้อเท้า การรักษาจะรักษาตามอาการ และการปรับพฤติกรรมการใช้งาน