ตาตุ่มบวม
คือ ภาวะที่มีถุงน้ำบริเวณตาตุ่มด้านนอกอักเสบ มีอาการบวม กดเจ็บ อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อก็ได้ มักเกิดจากการกดทับ หรือเสียดสีบริเวณตาตุ่มมากเกินไป มีสาเหตุหลักๆสองอย่างคือ ท่านั่งไม่ดี กับ รองเท้าไม่เหมาะสมครับ
ข้อเท้าของเรามีกระดูกเป็นส่วนประกอบ 3 ชิ้นดังนี้
- ข้อส่วนบน ประกอบไปด้วยกระดูกหน้าแข้งใหญ่ (Tibia) และหน้าแข้งเล็ก (Fibula)
- ข้อส่วนล่างมีกระดูกข้อเท้า (Talus) สวมเข้ากับข้อส่วนบน
โดยข้อส่วนล่างและข้อส่วนบนจะเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นประคองข้อเท้าทั้งด้านในและด้านนอก บริเวณตาตุ่มทั้งสองด้านของเรานั่นเอง
ตาตุ่มของเราสำคัญมากๆเลยนะครับ
ถุงน้ำตาตุ่ม
ถุงน้ำตาตุ่มเป็นถุงเล็กๆที่ข้างในบรรจุของเหลว มีหน้าที่ช่วยกันกระแทก บริเวณกระดูกตาตุ่ม อยู่ระหว่างกระดูกตาตุ่มและผิวหนัง
ทำไมเราถึงมีถุงน้ำตาตุ่ม?
- เนื่องจากบริเวณตาตุ่มเป็นส่วนที่กระดูกยื่นตุ่ยๆออกมาจากข้อเท้า ทำให้กระดูกบริเวณนี้เสียดสีกับขอบรองเท้า หรือถูกกดทับกับพื้นบ่อย การมีถุงน้ำจะช่วยลดการเสียดสีและกดทับได้
- ส่วนข้อเท้าและตาตุ่มเป็นส่วนที่ไม่มีกล้ามเนื้อมาช่วยรับแรงกระแทก (ไม่เหมือนส่วนน่องหรือต้นขาที่มีกล้ามเนื้อมารับแรงกระแทก) การมีถุงน้ำจะช่วยลดการกระแทกได้
สาเหตุของตาตุ่มบวม
ตาตุ่มบวมมักเกิดจากถุงน้ำตาตุ่มอักเสบ ซึ่งสาเหตุของการอักเสบมักเกิดจากการ
- กระแทก
- ส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุต่างๆ
2. เสียดสี
-
- เช่นการใส่รองเท้าขอบสูงๆที่ไม่พอดี มักพบในกลุ่มคนทำงานในเครื่องแบบ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือเกษตรกรที่ต้องใส่รองเท้าบูท หรือคนที่ต้องใช้รองเท้าเซฟตี้ก็พบได้บ่อยครับ
- คนไข้อีกกลุ่มที่อาจพบได้จากสาเหตุนี้คือนักกีฬาที่ต้องใส่รองเท้าหุ้มข้อหรือรองเท้าขอบสูงๆ เช่นนักสเก็ต นักกีฬาโรเลอร์เบลด นักบาสเก็ตบอล
3. ถูกกดทับนานๆ
-
- เช่นการนั่งทับนานๆ เช่น ท่านั่งพับเพียบ ท่านั่งขัดสมาธิ พบในกลุ่มคนที่ต้องนั่งพื้นทำงาน หรือกลุ่มคนที่ชอบนั่งสมาธิ เป็นต้น
ถุงน้ำบริเวณอื่นๆมีไหม ตำแหน่งไหนที่พบการอักเสบได้บ่อยๆ
มีแน่นอนครับ บริเวณไหนที่เป็นกระดูกยื่นๆ และไม่มีกล้ามเนื้อมาคอยรับแรงกระแทก ส่วนใหญ่ก็จะมีถึงน้ำมาคอยช่วยรับแรงอยู่นะครับ โดยมักพบถุงน้ำอักเสบบริเวณอื่นๆได้แก่
- ถุงน้ำข้อศอกอักเสบ
- ถุงน้ำสะโพกอักเสบ
- ถุงน้ำกระดูกส้นเท้าอักเสบ
แนะนำ : อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับถุงน้ำอักเสบรอบๆเท้าและข้อเท้าได้ที่นี่ครับ
อาการของถุงน้ำตาตุ่มอักเสบ
อาการจะค่อยๆเป็น จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นมากตอนที่เราทำกิจกรรมที่ทำให้มีการกดทับหรือเสียดสี
- บวม
- กดเจ็บ
- คลำได้ก้อนบริเวณตาตุ่มด้านนอก กดดูจะเหมือนเป็นถุงน้ำอยู่ข้างใน
- แดงอักเสบ
- เดินลำบาก ขยับข้อเท้าได้ลดลง
- ถ้าเป็นมานานๆ จะคลำได้หนังแข็งๆ บริเวณตาตุ่มนอก
- ถ้ามีแผล หนองไหล มีไข้ อาจมีการติดเชื้อได้ครับ
แนะนำ : อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการเจ็บข้อเท้าบริเวณต่างๆได้ที่ลิ้งนี้ครับ
การรักษาถุงน้ำตาตุ่มอักเสบ
การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบตามอาการครับ เน้นที่ต้องหาสาเหตุของการเกิดให้ได้ และหลีกเลี่ยงสาเหตุนั้นๆ
- พัก ประคบเย็น ในช่วงแรกที่มีอาการปวด บวม อักเสบ
- ทานยาลดการอักเสบ (ปรึกษาเภสัชกรก่อนทานนะครับ)
- ทายา หรือใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบ
- ใส่รองเท้าสบายๆ ขนาดพอดี ไม่คับหรือหลวมเกินไป
- ระวังการเสียดสีบริเวณตาตุ่มด้านนอกกับขอบรองเท้า (ส่วนใหญ่รองเท้าหลวมเกินไป)
- ระวังการกดทับบริเวณตาตุ่มด้านนอกกับรองเท้า (ส่วนใหญ่รองเท้าแน่นเกินไป)
- เลือกทรงรองเท้าที่ไม่มีขอบรองเท้ามาเสียดสีหรือกดบริเวณตาตุ่ม
- ระวังท่านั่งที่ตาตุ่มจะกดทับกับพื้น เช่น ท่านั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ
- ถ้าเป็นบ่อยๆ หรือเป็นมาไม่หายสักที ลองปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดยาบางชนิดเข้าถุงน้ำเพื่อลดการอักเสบ (ต้องเป็นชนิดที่ไม่ติดเชื้อเท่านั้น)
- การรักษาโดยแพทย์วิธีอื่นๆ เช่น การเจาะน้ำออก การพันผ้า ทำได้ครับ แต่มีโอกาสเป็นซ้ำสูงหน่อย
- ถ้ามีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น บวมแดงมาก มีหนองไหลออกจากแผล มีไข้ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็วครับ
ถ้าคนที่มีถุงน้ำตาตุ่มอักเสบมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานด้วย นี่ต้องระวังมากๆเลยครับ เนื่องจากคนที่เป็นเบาหวานบางคนจะมีอาการชาที่เท้า ซึ่งตอนอักเสบหรือเป็นแผลจะไม่รู้สึกเจ็บมาก กว่าจะรู้ว่ามีปัญหาก็อาจจะเป็นมากแล้วได้
บางคนปล่อยไว้นาน จะมีแผลเล็กๆเกิดขึ้น ต่อมาจะลุกลามใหญ่ขึ้นเป็นแผลเรื้อรัง มีน้ำใสๆไหลออกมาตลอด ทำให้แผลหายยากได้ครับ ถ้าใครเป็นแบบนี้ ต้องรีบพบแพทย์รักษาเลยนะครับ
สรุป
ตาตุ่มบวมเป็นภาวะที่เกิดจากการเสียดสี หรือกดทับตำแหน่งตาตุ่ม ทำให้ถุงน้ำตาตุ่มอักเสบ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบตามอาการ ได้แก่การพัก ประคบเย็น ทานยาแก้อักเสบ และสำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงต้นเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบให้ได้ครับ
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล