ปวดน่องเส้นตึง คือ มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณน่องมากขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ทำให้เกิดอาการปวด ตึง ไม่สุขสบายบริเวณน่อง เมื่อใช้งานกล้ามเนื้อ เช่นขณะเดิน วิ่ง ยืน จะทำให้ปวด ตึง และลดประสิทธิภาพการทำงานได้
อาการปวดน่อง เส้นน่องตึง ยังทำให้เกิดอาการต่างๆบริเวณเท้าและข้อเท้าตามมาได้ด้วย เช่น อาการเจ็บหน้าเท้า, รองช้ำ, เอ็นร้อยหวายอักเสบ
กล้ามเนื้อน่องประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ 3 มัด อยู่บริเวณหลังกระดูกหน้าแข้ง คือ
- กล้ามเนื้อ Gastrocnemius 2 มัด
- กล้ามเนื้อ Soleus 1 มัด
รวมกันเป็นกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อทั้ง 3 มัดนี้ จะรวมกันและเชื่อมต่อกับเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) ทำหน้าที่จิกข้อเท้าลง ใช้ในกิจกรรมที่ใช้ขาแทบทุกอย่าง ตั้งแต่การยืน เดิน วิ่ง กระโดด
น่องตึง ปวดน่อง เกิดจาก?
อาการปวดน่องเส้นตึง เกิดได้จากหลายสาเหตุมากๆเลยครับ แต่ที่พบได้หลักๆ ได้แก่
- ตะคริว เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อน่องขึ้นมาทันที ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของตะคริวที่แน่ชัด แต่น่าจะเกิดจาก กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอที่จะใช้งานหนักๆ, กล้ามเนื้อล้าจากการใช้งานมาหนัก, การขาดสารอาหารบางอย่าง
- ใช้งานกล้ามเนื้อหนัก และนานเกินไป ทำให้เกิดกล้ามเนื้อล้า ไม่ว่าจะยืนทำงานนานๆ, เล่นกีฬาหนักๆ ต้องกระโดดบ่อยๆ, วิ่งระยะยาว (ลองอ่านบทความเรื่องการยืนนานๆต้องทำยังไงดูนะครับ)
- กล้ามเนื้อบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเล่นกีฬาหนักๆ หรืออุบัติเหตุทำให้กล้ามเนื้อน่องฉีก
- โครงสร้างเท้าผิดรูปบางอย่าง ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อน่องตึง ปวดน่องได้ครับ
- เท้าแบน ไม่มีอุ้งเท้า ภาวะนี้พบร่วมกันน่องตึงได้บ่อยมากๆครับ
- เท้าโก่ง อุ้งเท้าสูง เอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้า เท้า และน่อง จะตึงตัวกว่าปกติครับ
- รองช้ำ เกิดจาก พังผืดฝ่าเท้าตึงตัว เอ็นร้อยหวายตึงตัว น่องตึงตัว ซึ่งมักจะมาพร้อมกัน และการรักษาต้องรักษาให้ครบ ไม่อย่างนั้นจะไม่หายขาดครับ
- ภาวะอื่นๆ เช่น การขาดน้ำ ผลข้างเคียงจากยาบางตัว การขาดสารอาหาร โรคเส้นเลือดขอด โรคหลอดเลือดอุดตันที่ขา โรคกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาทขา โรคเบาหวาน หรือกระดูกหน้าแข้งร้าว ก็ทำให้มีอาการปวดตึงน่องได้ ดังนั้นถ้าอาการเป็นมาก รักษาเบื้องต้นแล้วไม่ทุเลา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจนะครับ
เท้าแบน ทำให้ปวดน่องเส้นตึง
เท้าโก่ง อุ้งเท้าสูง ทำให้เส้นน่องตึง ปวดน่อง
เส้นน่องตึง ทำให้ภาวะรองช้ำไม่หายสักที
ตึงน่องไม่รู้สาเหตุ
สามารถพบได้ครับ อยู่ๆก็มีอาการปวดน่อง ตึงน่อง เส้นตึง ขึ้นมาเอง ไม่ได้ไปใช้งานหนัก ไม่มีอุบัติเหตุอะไร กีฬาก็ไม่ได้เล่นหนัก ไม่ได้ไปทำอะไรที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน อยู่ๆก็ปวดตึงน่องขึ้นมาเอง
อาการแบบนี้จะต้องนึกถึง 2 สาเหตุหลักๆ ซึ่งคงต้องพูดคุยซักถามประวัติ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ รวมถึง การตรวจร่างกาย ถึงจะพอบอกได้ว่าสาเหตุของการตึงน่องเกิดจากอะไร
- สาเหตุจากระบบกระดูกและข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ
- สาเหตุอื่นๆเช่น ระบบเส้นเลือด ระบบเส้นประสาท โรคทางอายุรกรรมอื่นๆ
ปวดน่อง เส้นตึง มีอาการอย่างไร
อาการบริเวณน่อง และเอ็นน่อง (เอ็นร้อยหวาย)
- ปวดบริเวณน่อง ตึงน่อง เดินแล้วไม่สบายน่อง
- ถ้ามีกล้ามเนื้อน่องบาดเจ็บ จะมีอาการบวมทั่วๆ รอยฟกช้ำใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บจี๊ดที่น่อง
- เจ็บบริเวณเอ็นร้อยหวาย หรือจุดเกาะเอ็นร้อยหวาย
- ขยับข้อเท้า นิ้วเท้าแล้วปวดมากขึ้น
น่องตึง บวม ปวดมาก
น่องตึง รวมกับมีอาการบวม กดเจ็บทั่วๆ ปวดมาก พักไม่หาย ยกขาสูงก็ไม่ดีขึ้น ทานยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา ยิ่งถ้ามีประวัติใช้งานหนักมากๆ เช่นไปวิ่งมาราธอนมา หรือประวัติอุบัติเหตุรุนแรงนำมาก่อน ให้นึกถึงภาวะ Compartment syndrome ไว้ด้วยครับ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอครับ เป็นภาวะฉุกเฉิน
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง compartment syndrome ได้ที่นี่ครับอาการทางเท้าและข้อเท้าที่เกิดจากน่องตึง
เมื่อมีอาการปวดน่อง เส้นตึงขึ้น จะทำให้กลไกการยืน เดิน วิ่ง เปลี่ยนไปเล็กน้อย การลงน้ำหนักจะลงที่หน้าเท้ามากขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าเราต้องใช้งานเท้าวันละนานๆ วันละหลายๆก้าว การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการตามมาหลายๆอย่างได้ครับ เช่น
- อาการเจ็บหน้าเท้า (metatarsalgia)
- อาการเจ็บนิ้วหัวแม่เท้า ถ้ามีนิ้วหัวแม่เท้าเกอยู่เดิม (hallux valgus)
- เจ็บหลังเท้า
- รองช้ำ (plantar fasciitis)
- เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles tendinitis)
นิ้วโป้งเท้าเอียง จะเจ็บมากขึ้น
รองช้ำ จะเป็นเรื้อรัง หายยาก
เอ็นร้อยหวายอักเสบจะเป็นง่ายขึ้น บ่อยขึ้น
เจ็บหน้าเท้าจากน่องตึงเกินไป
น่องตึง ตรวจร่างกายตัวเองอย่างไร
เรามีภาวะน่องตึงไหม สามารถเช็คด้วยตัวเองได้ง่ายๆครับ ด้วยวิธีนี้
Knee to wall test
- วางเท้าให้แนวของเท้าตั้งฉากกับกำแพงดังภาพ
- โน้มตัวไปข้างหน้าให้หัวเข่าแตะบริเวณกำแพง
- ให้ส้นเท้าแตะพื้นอยู่ตลอดเวลาห้ามยกขึ้น
- ถอยเท้าไปด้านหลังให้ได้มากที่สุด โดยที่เข่ายังแตะกำแพงอยู่ และส้นเท้าไม่ยกลอย
- วัดระยะระหว่างกำแพงถึงหลายนิ้วหัวแม่เท้า
- ระยะห่าง 1 เซนติเมตร หมายถึง ข้อเท้ากระดกขึ้นได้ 6 องศา (ค่าปกติคือ 7.1 – 34.7 องศา)
ปวดน่อง เส้นตึง ทำไง
-
น่องตึงที่เกิดจากตะคริว
- อาการมักหายเองในเวลาไม่นาน
- แนะนำยืดเหยียดบ่อยๆเท่าที่ไม่เจ็บ
-
น่องตึงที่เกิดจากการใช้งานหนักเกินไป
- พักระหว่างฝึกบ้าง
- มีวันพักบ้าง อาจจะฝึกกล้ามเนื้อส่วนอื่นคั่น
- ยืดเหยียดก่อนและหลังออกกำลังกายให้มากหน่อย
-
น่องตึงที่เกิดจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บ กล้ามเนื้อฉีก
- พัก ยกขาสูง ประคบเย็บ เพื่อให้การอักเสบดีขึ้น
- เมื่อทุเลาแล้ว ค่อยๆฝึกจากน้อยไปมาก เอาที่ไม่เจ็บ ไม่ฝืน
ท่าบริหารแก้ปวดน่อง
การฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
ยืดน่องตึง ท่ายืน
ยืดน่องตึง ท่านั่ง
แท่นยืนยืดน่อง
การฝึกกล้ามเนื้อน่องให้แข็งแรง
สามารถทำได้ตามคลิปนี้ครับ
วิธีนวดเส้นขาตึง น่องตึง
ถ้าจะนวดด้วยตัวเอง แนะนำให้ใช้ อุปกรณ์ช่วยที่เรียกว่า roller foam ครับ
ปวดน่องยืนทำงานนาน
งานที่ต้องยืนทำนานๆ อาจจะทำให้ปวดน่องเส้นตึงได้ครับ แนะนำให้
- เลือกรองเท้าที่ใส่สบาย หลวมๆนิดหน่อย
- มีที่พักเท้าขณะทำงาน คอยพักขา ซ้าย ขวา สลับกัน
- ยืนบนพรมสำหรับยืน (ถ้าทำได้)
- ยืดเหยียดบ่อยๆ ระหว่างยืนทำงาน
- ช่วงพัก ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง ยกขาสูง จะช่วยคลายเส้นได้ครับ
ปวดน่อง นั่งนาน
นั่งทำงานนานๆก็ปวดน่องขึ้นมาได้ครับ ไม่จำเป็นต้องเดิน วิ่ง ถ้าต้องนั่งทำงานนานๆ มีคำแนะนำดังนี้
- ลุกยืดเหยียดบ้าง เช่น ลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ ลุกไปหยิบของ หาเรื่องลุกบ่อยๆ
- ไม่นั่งงอเข่ามากๆ ให้พยายามนั่งเหยียดเข่าไว้
- มีที่พักเท้า พักขา ใต้โต๊ะที่ทำงาน
- ถอดรองเท้า หรือมีรองเท้าสบายๆเปลี่ยน ตอนอยู่ที่โต๊ะทำงาน
- นั่งทำงานมาทั้งวัน ตอนกลับถึงบ้าน ให้ยืดเหยียดมากสักหน่อย และยกขาสูงครับ ช่วยได้
ปวดน่องในผู้สูงอายุ
ส่วนใหญ่เกิดจาก
- การอยู่ท่าเดียวนานๆ แนะนำให้ลุกเดินบ่อยๆ อย่านั่งท่าเดียวนานๆ เดินออกกำลังกายรอบๆบ้าน รอบๆสวนบ้างครับ จะได้ยืดเส้นยืดสาย
- การใช้งานหนักโดยที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอ เกิดกล้ามเนื้อล้าขึ้น ให้ลดการใช้งานลง พักบ่อยๆ
ปวดน่องตอนตื่นนอน
จะปวดน่องตอนตื่นนอน ตอนเดินก้าวแรกหลังจากนอนมาทั้งคืน เมื่อเดินสักพัก อาการปวดจะดีขึ้น อาการนี้เกิดจาก ตอนที่เรานอนหรือนั่งนานๆ ข้อเท้าจะอยู่ในท่าจิกลง และกล้ามเนื้อน่อง รวมทั้งเอ็นร้อยหวายจะอยู่ในท่าหดสั้น เมื่อเราตื่นและยืนขึ้นมา กล้ามเนื้อน่องจะถูกยืดตึงขึ้นมาทันที ทำให้มีอาการปวดได้ครับ
แนะนำให้ยืดเหยียดน่อง หลังจากตื่นนอนก่อน ค่อยลุกเดินครับ ทำบ่อยๆทุกๆเช้า อาการจะค่อยๆดีขึ้นครับ
วิ่งแล้วน่องตึง
เกิดได้จากหลายสาเหตุมากๆๆๆ เลยครับ การรักษาต้องดูหลายๆองค์ประกอบร่วมกัน ตั้งแต่
รองเท้าที่ใช้, สนามที่วิ่ง (พื้นสนาม ความชัน ความเอียง), ความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ, ท่าวิ่ง, ความเร็วและระยะวิ่ง ซึ่งแต่ละอย่างสามารถเป็นสาเหตุทำให้ปวดน่อง และน่องตึงได้ครับ
แต่ถ้าปวดน่องมากๆ แนะนำพักก่อนครับ พัก ยกขาสูง ประคบเย็น ทานยาแก้ปวดแก้อักเสบระยะสั้นๆ
สรุป
อาการปวดน่อง เส้นตึง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้งานหนัก กล้ามเนื้อล้า บาดเจ็บ หรือมีความผิดปกติทางโครงสร้างของเท้าและข้อเท้าบางอย่าง ทำให้เส้นตึง และปวดน่องได้ การรักษาส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใช้งานให้เหมาะสม การยืดเหยียด และฝึกกล้ามเนื้อเป็นประจำ
อาการทางเท้าและข้อเท้าหลายๆอย่างก็มีสาเหตุมาจากภาวะปวดน่อง เส้นตึงได้เช่นกันเช่น รองช้ำ เอ็นร้อยหวายอักเสบ ถ้าไม่รักษาให้ตรงจุด อาการต่างๆอาจจะไม่หายหรือเป็นเรื้อรังได้