เบาหวานลงเท้า เกิดขึ้นได้อย่างไร
เบาหวานเป็นโรคที่ทำให้เส้นเลือดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพโดยเฉพาะเส้นเลือดเล็กๆส่วนปลาย เช่นปลายมือ ปลายเท้า การที่เบาหวานลงเท้า เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักๆคือ
1
เบาหวานลงเท้า ส่งผลให้เส้นประสาทเท้าทำงานได้ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการรับความรู้สึก และการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเล็กๆในเท้า
ชาเท้า ทำให้การรับความรู้สึก ร้อน, เย็น, เจ็บ ได้ลดลง หรือไม่รู้สึกไปเลย เช่น เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น จะไม่รู้สึกเจ็บ เมื่อตรวจดูจึงพบว่าเป็นแผลเรื้อรัง ทำให้แผลหายยาก หรือติดเชื้อไปแล้ว
อ่านเพิ่มเรื่องชาเท้าได้ที่นี่ครับกล้ามเนื้อเล็กๆในเท้าทำงานไม่สัมพันธ์กัน ทำให้เท้าผิดรูป ซึ่งจะทำให้การลงน้ำหนักที่เท้าไม่กระจายเหมือนปกติ มีการลงน้ำหนักที่จุดใดจุดหนึ่งในเท้ามากกว่าปกติ ทำให้เกิดแผล หนังแข็งๆ และเจ็บได้
อ่านเพิ่มเรื่องเท้าผิดรูปได้ที่นี่ครับ2
เบาหวานลงเท้า ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงเท้าทำงานได้ลดลง
- เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนปลายได้ลดลง เช่นปลายเท้า นิ้วเท้า
- เมื่อเป็นแผล แผลจะหายช้า และเกิดแผลติดเชื้อได้ง่าย
- ปลายมือปลายเท้าคล้ำ ดำ เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง
เท้าเบาหวาน ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เท้าอะไรได้บ้าง
แผลเบาหวาน
เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากๆนะครับ
มักเกิดจากมีอาการเท้าชา ทำให้เป็นแผลโดยไม่รู้ตัว อาจเริ่มจากแผลบาดเจ็บเล็กๆ หรือแผลที่เกิดจากการเสียดสีเล็กน้อยตื้นๆ
แล้วไม่ได้ดูแลแผลอย่างถูกวิธี ทำให้แผลหายช้า ลุกลาม และมีการติดเชื้อขึ้นได้
นิ้วเท้าผิดรูป
เกิดจากกล้ามเนื้อเล็กๆในเท้าทำงานไม่สัมพันธ์กัน ทำให้นิ้วเท้าผิดรูป ส่งผลให้เดินแล้วนิ้วเท้าจิกพื้น เจ็บ หรือมีแผลได้ หรือทำให้ใส่รองเท้าแล้วเกิดการเสียดสีได้ง่าย
เล็บขบ
ถ้าเป็นในเท้าปกติก็ไม่น่ากลัวครับ แต่ถ้าเป็นเบาหวานด้วย เล็บขบอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาแผลเรื้อรังได้ ดังนั้น ระวังไม่ให้เป็นดีที่สุดครับ
- เลือกรองเท้าที่พอดี โดยเฉพาะส่วนหน้าเท้า
- ตัวเล็บเท้าให้ถูกวิธี
- ถ้ามองไม่ชัด ควรให้คนอื่นตัดเล็บเท้าให้
- ถ้ามีเท้าผิดรูปอาจทำให้มีการเดิน หรือวิ่งผิดท่าจนเล็บโดนกระแทกตลอดเวลา ต้องปรึกษาแพทย์แล้วครับ
ติดเชื้อราได้ง่าย
โดยเฉพาะบริเวณซอกเล็บ ง่ามนิ้วเท้า จะมีอาการคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังแตก
ติดเชื้อราที่เล็บเท้า
จะพบว่าเล็บเท้าจะแข็งๆ หนาๆ สีเล็บเท้าจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล คล้ำๆ เล็บจะผิดรูปไป บางทีเล็บจะยกตัวแยกจากพื้นเล็บก็ได้ มักเกิดจากใส่รองเท้าชื้นๆเป็นเวลานาน
เกิดหนังแข็งๆที่ฝ่าเท้า (Corn, Callus)
เกิดจากการลงน้ำหนักที่มากผิดปกติในบริเวณต่างๆที่เท้า อาจเกิดจากเท้าผิดรูป เอ็นร้อยหวายตึง ก็ได้ บางครั้งเกิดจากการเลือกรองเท้าที่ไม่พอดี ทั้งขนาดและทรงของรองเท้า
- แนะนำให้ใช้หินขัดเท้า มาขัดบริเวณที่มีหนังแข็งๆครับ ทำหลังอาบน้ำ
-
ห้ามใช้ของมีคมตัดหนังแข็งๆออกเองนะครับ เดี๋ยวพลาดเป็นแผล
- ถ้าเป็นจากรองเท้า ต้องเลือกที่พอดีทั้งขนาดและทรงรองเท้า อาจใช้อุปกรณ์ป้องกันรองเท้ากัด หรือใช้แผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคลก็ได้ครับ
ผิวแห้ง ผิวแตก
บางคนเป็นมากจนผิวแตกลึกมีเลือดออกได้เลยครับ แนะนำทาครีม และใส่ถุงเท้าถ้านอนห้องแอร์นะครับ
ถุงน้ำ
เกิดจากการเสียดสี มักเกิดจากการใส่รองเท้าที่ไม่พอดี ไม่ใส่ถุงเท้า
- เมื่อเกิดถุงน้ำ ให้ระมัดระวังการติดเชื้อ และไม่ควรเจาะและเอาผิวหนังบริเวณถุงน้ำออกนะครับ จะติดเชื้อได้ง่าย
กระดูกงอกที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า
ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่เกี่ยวกับเบาหวานครับ แต่คนที่มีภาวะนี้ และเป็นเบาหวาน ส่วนที่มีกระดูกงอกที่โคนนิ้วหัวแม่เท้าจะเกิดการกด เบียด รัด กับรองเท้าทำให้เกิดการอักเสบ บวมแดง เจ็บได้ง่าย
อ่านเรื่องนิ้วหัวแม่เท้าเกเบาหวานลงเท้า เท้าเบาหวาน มีอาการอย่างไร
- สีผิวเปลี่ยน อาจซีดลง บวมแดง หรือคล้ำขึ้นก็ได้
- ปลายเท้าคล้ำ หรือดำ
- เท้าผิดรูป นิ้วเท้าผิดรูป
- เท้าอุ่นหรือเย็นกว่าปกติ
- เท้าบวม
เบาหวานเท้าดำ นิ้วเท้าดำ
เบาหวานเท้าบวม
เบาหวานเท้าผิดรูป
- ปวด/เจ็บที่เท้า มักเป็นตอนกลางคืน บางคนต้องตื่นมากลางดึกเนื่องจากปวดเท้า
- แผลที่เท้าหายยาก หายช้า
- เล็บขบบ่อย เล็บมีเชื้อรา
- มีหนังแข็งๆที่ฝ่าเท้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า
- ผิวหนังแห้ง แตก โดยเฉพาะส้นเท้า
- เท้ามีกลิ่นผิดปกติ
แผลเท้าเบาหวาน
เบาหวานเชื้อราที่เท้า
เบาหวานหนังแข็งที่ฝ่าเท้า
การดูแลเท้าเบาหวาน
คุมระดับน้ำตาลให้ปกติ อันนี้สำคัญที่สุดครับ ต้องปรึกษากับคุณหมอประจำตัวนะครับว่าต้องทำอย่างไร ต้องปรับยาทาน ยาฉีด คุมอาหารอย่างไร
ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดมาเลี้ยงส่วนปลายมือปลายเท้าอยู่เสมอ
- ล้างเท้าแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อนทุกวัน
- ใช้มือทดสอบอุณหภูมิน้ำ ห้ามรองน้ำแล้วแช่เท้าเลย เพราะเท้าที่รับความรู้สึกได้ลดลงจะไม่รู้สึกว่าน้ำร้อนเกินไปหรือไม่
- เช็ดเท้าให้แห้งเสมอ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
- ตรวจดูเท้าทุกวัน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น แผล ผิวหนังบวมแดง รอยช้ำ ถุงน้ำ หรือหนังแข็ง ถ้าสายตาไม่ดี ต้องให้คนอื่นช่วยดูให้
- ถ้าผิวแห้ง ให้ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นหลังล้างเท้า แต่หลีกเลี่ยงการทาครีมบริเวณซอกนิ้วเท้า
- ถ้ามีหนังแข็งๆเกิดขึ้น ให้ใช้หินขัดเท้าหลังอาบน้ำ ไม่ควรใช้ของมีคมตัด
- ตัดเล็บเท้าให้ถูกวิธี
- ใช้รองเท้าปิดหัว ป้องกันอันตรายจากการเดินเตะ หรือสิ่งของหล่นใส่เท้า
- ไม่ควรเดินเท้าเปล่าแม้แต่ในบ้าน
- เลือกรองเท้าให้เหมาะสม ควรเป็นรองเท้าที่พอดีทั้งขนาดและทรงรองเท้า
- ถ้าเป็นไปได้ควรใช้รองเท้าสำหรับคนที่เป็นเบาหวานโดยเฉพาะ หรือรองเท้าตัดเฉพาะบุคคล
- การใส่รองเท้าควรแน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมในรองเท้า (ใช้มือล้วงไปเช็ค) จะได้ไม่ไปเหยียบโดยไม่ตั้งใจ
- ใส่ถุงเท้าตอนนอน กรณีนอนห้องแอร์ เท้าจะได้ไม่เย็น แห้งเกินไป
- ระวังเรื่องการสัมผัสสิ่งร้อนหรือเย็นเกินไป เช่น เดินบนพื้นร้อนๆ หรือนอนตากแอร์เย็นๆ
- พยายามให้เลือดไปเลี้ยงเท้าให้มากที่สุด
- ไม่ห้อยเท้านานๆ เลือดจะไหลเวียนยาก
- บริหาร ขยับข้อเท้า และนิ้วเท้าบ่อยๆ เป็นประจำ ครั้งละหลายๆรอบ
- ออกกำลังกายเบาๆเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างนานๆ
- ถ้าสูบบุหรี่ ควรเลิกตั้งแต่ตอนนี้เลย
- ตรวจเท้าโดยผู้ชำนาญเป็นประจำ ปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง
- พบแพทย์เพื่อประเมิน และรับคำแนะนำเมื่อมีความผิดปกติ หรือไม่แน่ใจ
วิธีตรวจเท้าเบาหวานด้วยตัวเอง
ปัญหาเท้าเบาหวานใหญ่ๆ เรื้อรัง รักษายาก และยาวนาน สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจเท้าด้วยตัวเองเป็นประจำ เนื่องจากจะสามารถเจอปัญหาได้ตั้งแต่เริ่มเป็น และรักษาได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม ควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเท้าเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งครับ
- ดูการบาดเจ็บ
มีแผล, รอยบวมช้ำ, ถุงน้ำ, รอยไหม้/ลวก
- ดูสัญญาณเท้าเบาหวานอื่นๆ
สี (ขาวซีด, แดงอักเสบ, ช้ำ, คล้ำ, ดำ), รูปทรงเท้า, กลิ่น, เชื้อรา, หนังแข็งที่เท้า, ผิวแห้ง, เท้าอุ่น, เท้าอุ่นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง, เท้าเย็น
ตรวจเท้าทีละด้านให้ครบ
- ตรวจดูฝ่าเท้า : หนังแข็ง, แผล, หูดหรือตาปลา
- ตรวจดูหลังเท้า : มีหนังแข็ง, นิ้วเท้าผิดรูป, ขนร่วง, ผิวเป็นมัน
- ตรวจดูส้นเท้า : มีหนังแข็ง, แผล, ผิวหนังแห้ง, ผิวแห้งจนแตกเป็นแผล
- ตรวจดูเล็บเท้า : มีเชื้อรา, เล็บเปลี่ยนสี, เล็บแตกหัก, เล็บหนา, เล็บหลุดจากพื้นเล็บ
ตรวจการรับความรู้สึก
- ตรวจโดยการใช้นิ้วมือ แตะบริเวณฝ่าเท้าดูว่ารู้สึกปกติหรือไม่ ถ้ามีอาการชา หรือความรู้สึกลดลง ให้รีบพบแพทย์
- ควรตรวจหลายๆตำแหน่งของเท้า
-
ลองตรวจโดยใช้นิ้วแตะที่ปลายนิ้วหัวแม่เท้า นิ้วเท้าที่3 นิ้วเท้าที่5 ดูครับ
- ไม่ควรใช้ของมีคม ของแหลมๆ ของร้อน ทดสอบนะครับ เดี๋ยวจะเป็นแผล
Reference : https://care.diabetesjournals.org/content/34/7/1517
วิธีเลือกรองเท้าเบาหวาน
ลักษณะรองเท้าเบาหวาน
- ควรเป็นรองเท้าปิดหัว, หุ้มส้น,
- ไม่มีตะเข็บด้านใน จะได้ไม่เกิดการเสียดสี
- ทำจากหนัง หรือผ้า เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี
ทรงรองเท้าเบาหวาน
- เลือกทรงตามทรงของเท้าของเรา
- เลือกหน้ากว้างๆ
ขนาดรองเท้าเบาหวาน
- รองเท้าเบอร์เดียวกัน แต่คนละยี่ห้อ ขนาดก็ต่างกัน
- รองเท้ายี่ห้อเดียวกัน ทรงต่างกัน ขนาดก็ต่างกัน
- ต้องลองใส่ ก่อนซื้อเท่านั้น
- ตอนลองรองเท้า ต้องใส่ทั้งสองข้าง เพราะเท้าของเราเองอาจขนาดไม่เท่ากันก็ได้
- ตอนลองรองเท้า ต้องใส่หลายๆอิริยาบถ ยืน นั่ง เดิน ลองใส่ระยะเวลาหนึ่งจะได้แน่ใจว่าพอดีจริงๆ
- ต้องพอดีทั้งความยาวและความกว้างของรองเท้า
- ส้นเท้าพอดี ใส่แล้วไม่เสียดสี ไม่มีรองเท้ากัดเป็นแผล ถ้าหลวมเกินไปรองเท้าจะหลุดง่าย
- ถ้าต้องเสริมรองเท้าด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ควรนำติดตัวไปลองรองเท้าด้วย เช่นแผ่นรองรองเท้า อุปกรณ์กันรองเท้ากัด เนื่องจากอุปกรณ์พวกนี้จะทำให้รองเท้าคับขึ้นได้
- เท้าเปลี่ยนขนาดได้ตามกิจกรรมที่ทำ เช่น เดิน, วิ่ง, นั่งห้อยเท้านานๆ ควรเลือกให้เหมาะกับกิจกรรมที่ต้องการ
แผ่นพับการดูแลเท้าเบาหวานและการเลือกรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (file PDF)
ขอขอบคุณ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
แผ่นพับการดูแลเท้าเบาหวานแผลเบาหวาน
สามารถเกิดขึ้นได้จากบาดแผลขนาดเล็ก เช่นเดินเหยียบหิน แผลตัดเล็บพลาด และเนื่องจากเบาหวานทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณแผลได้น้อย ร่วมกับอาการชาเท้าจากเบาหวานทำให้ไม่รู้สึกเจ็บมาก ทำให้แผลหายช้า ลุกลามได้
การรักษาแผลเบาหวาน
ต้องพิจารณาหลายๆอย่างประกอบกัน ได้แก่
- ชนิดของบาดแผล ตำแหน่งของแผล ความลึกของแผล
- มีการติดเชื้อหรือไม่
- มีสัญญาณว่าการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดหรือไม่
หลักในการรักษาแผลเบาหวาน
- ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ ถ้าควบคุมไม่ได้อาจต้องใช้ยาฉีดเบาหวานช่วย
- คุมอาหาร และเพิ่มภาวะโภชนาการให้ดี
- ทำแผลเป็นประจำ
- ลดแรงกดที่แผลหรือรอบๆแผล
- เพิ่มเลือดมาเลี้ยงแผล
- Hyperbaric oxygen therapy
- Negative pressure wound therapy
- รักษาอาการติดเชื้อ อาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือด การล้างแผล การผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก
- การผ่าตัดโดยมีจุดประสงค์เพื่อ ลดการกดบริเวณแผล, ผ่าตัดล้างแผลนำเนื้อตายและเนื้อติดเชื้อออก
อาการของแผลเบาหวานที่มีการติดเชื้อ (ควรพบแพทย์ทันที)
- ไข้
- หนาวสั่น
- ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงมาก
- ยาคุมระดับน้ำตาลที่ใช้ตามปกติ ไม่สามรถคุมระดับน้ำตาลได้
- แผลบวมแดง มีหนอง
- ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าดำ คล้ำ เท้าเย็น
- ความดันต่ำ ความรู้สึกตัวลดลง
การลดแรงกดที่แผลหรือรอบๆแผล
- ใส่เฝือกและเดินไม่ลงน้ำหนัก
- ใช้อุปกรณ์ช่วยลดการกดบริเวณแผล
- แผ่นรองรองเท้าช่วยกระจายน้ำหนักและลดการกดที่แผล
เฝือก Total contact cast ลดการกดบริเวณแผลเบาหวาน
รองเท้าช่วยลดการกดบริเวณแผล
แผ่นรองรองเท้าลดการกดบริเวณแผลและช่วยกระจายน้ำหนัก
เบาหวานเท้าดำ (gangrene)
เมื่อเกิดเท้าดำ หรือบางส่วนของเท้าดำ คล้ำลง เกิดจากเลือดมาเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นได้ไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดของเนื้อเยื่อ การเป็นเบาหวานก็ทำให้เส้นเลือดส่วนปลายทำงานได้ไม่ดีก็เกิดภาวะปลายเท้าดำได้เช่นกัน
อาการของเบาหวานเท้าดำ
- เท้าส่วนปลาย หรือนิ้วเท้า คล้ำลง ดำ หรือบางครั้งจะเป็นสีแดงๆ
- ปวดบริเวณส่วนที่เปลี่ยนสี
- ชา
การรักษาเบาหวานเท้าดำ
ถ้าเป็นมากอาจต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นออกไป
ถ้าเริ่มเป็น การรักษาประกอบไปด้วย
- การผ่าตัดนำเนื้อตายออก
- การผ่าตัดเพิ่มเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย
- การใช้ Hyperbaric oxygen therapy เพิ่มปริมาณออกซิเจนบริเวณปลายเท้า
- การให้ยาปฏิชีวนะถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วย
สรุป
เบาหวานลงเท้า สามารถเกิดขึ้นได้ในคนไข้เบาหวาน โดยมีสาเหตุมาจากเลือดไปเลี้ยงปลายเท้าได้ไม่ดี ทำให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้ไม่ดีตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการชา, เท้าผิดรูป และเป็นปัญหาอื่นๆตามมาได้อีกมาก การป้องกันโดยการคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ค่าที่ปกติ และการดูแลเท้าเป็นประจำอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพเท้าที่แข็งแรงไปได้นานๆครับ
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล