เล็บเท้าห้อเลือด หรือในภาษาทางแพทย์เราจะเรียกภาวะนี้ว่า Subungual hematoma คือ การมีเลือดออกอยู่ใต้เล็บจากสาเหตุต่างๆ ทำให้เล็บเห็นเป็นสีม่วงๆ ช้ำๆ บางครั้งจะมีอาการเจ็บจากแรงดันที่มากขึ้นของเลือดที่ออก
สาเหตุของเล็บเท้าห้อเลือด
เล็บเท้าห้อเลือดมักเกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเลือดเล็กๆใต้เล็บเท้า อาจจะมีอุบัติเหตุหรือไม่มีมาก่อนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีนะครับ
- เหตุการณ์ที่พบได้บ่อยๆเช่น โดนประตูหนีบนิ้ว หรือถูกของแข็งหนักๆตกทับปลายนิ้วเท้า
- ถ้าไม่มีอุบัติเหตุ ก็มักจะมีเหตุการณ์ที่เล็บไป “กระแทก” หรือ “จิก” หรือ “ตะกุย” กับของต่างๆ โดยเฉพาะการใส่รองเท้าที่คับเกินไป หรือสั้นเกินไปแล้วใช้งานบ่อยๆก็ได้
- การเล่นกีฬาที่ต้องเปลี่ยนทิศบ่อยๆ เช่น เล่นเทนนิส เล่นบาสเก็ตบอล หรือตีแบตมินตัน ก็ทำให้เล็บเท้าห้อเลือดได้เหมือนกัน
- นักกีฬาที่ต้องวิ่งขึ้นหรือลงที่ชันๆตลอด เช่นนักวิ่งเทรล ก็เล็บห้อเลือดได้บ่อยครับ
อาการเล็บเท้าห้อเลือด
- ปวดบริเวณเล็บเท้าที่ห้อเลือด เนื่องจากการมีเลือดออกใต้เล็บ และเลือดถูก “ขัง” อยู่ใต้เล็บ ทำให้มีแรงดันใต้เล็บสูง จึงทำให้มีอาการปวดได้
- เล็บห้อเลือด เห็นเป็นสีช้ำๆ ม่วงๆ คล้ำๆ อาจจะทั้งเล็บ หรือบางส่วนของเล็บก็ได้
- อาการปวดจะเป็นอยู่ 3-5 วันแรก แต่เล็บที่เปลี่ยนสีช้ำๆ จะเป็นไปนานเลยครับ เนื่องจากเลือดที่ออกใต้เล็บไม่สามารถระบายออกไปไหนได้
เลือดที่คั่งอยู่ใต้เล็บ ที่สุดแล้วก็จะหายเองครับ แต่ต้องรอให้เล็บงอกใหม่และดันส่วนที่ช้ำๆออกมา บางครั้งก็ให้เล็บหลุดออกมาเองก็ได้ครับ
เล็่บเท้าห้อเลือด เนื่องจากมีเลือดขังอยู่ใต้เล็บ
เล็บเท้าห้อเลือดที่เล็บค่อยๆงอก และดันเลือดที่ขังอยู่ออกมา ช่วงนี้จะไม่ปวดแล้วครับ
การวินิจฉัยเล็บเท้าห้อเลือด
ส่วนใหญ่จะใช้ประวัติการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ชน กระแทก หนีบ ที่ปลายนิ้ว ร่วมกับการตรวจปลายเล็บว่ามีเลือดคั่งอยู่ใต้เล็บ
บางครั้งถ้าอุบัติเหตุรุนแรง หรือปวดมาก คุณหมอจะส่งเอกซเรย์ เพื่อดูว่ามีกระดูกปลายเล็บหักหรือไม่
ตรวจเล็บเท้าห้อเลือด ดูว่ามีการบาดเจ็บของเล็บส่วนใดบ้าง
เอกซเรย์ดูว่ามีกระดูกปลายนิ้วหักหรือไม่
การรักษาเล็บเท้าห้อเลือด
ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการครับ
- พักอย่างเพิ่งเดินเยอะ ยกขาสูงลดอาการปวด ประคบเย็น ลดบวมลดปวด ส่วนใหญ่ก็ความปวดจะหายเองครับ แต่จะมีเล็บสีช้ำๆต่อไปอีกนานเลยครับ
- ไม่ควรแช่น้ำอุ่น หรือประคบร้อน
- ถ้าปวดมาก ให้ทานยาแก้ปวดระยะสั้นๆได้
- ถ้าไปพบแพทย์ คุณหมออาจจะส่งเอกซเรย์ดูว่ามีกระดูกแตกหรือไม่
- ส่วนเล็บที่ห้อเลือด คุณหมออาจพิจารณาเจาะเล็บด้วยอุปกรณ์ปราศจากเชื้อ เพื่อระบายเลือดที่คั่งอยู่ เมื่อเลือดถูกระบายออกแล้ว ก็จะทำให้ความดันลดลง และหายปวดได้อย่างรวดเร็วเลย
- การเจาะเล็บไม่ควรทำด้วยตัวเองนะครับ เนื่องจากอาจจะทำให้ฐานเล็บบาดเจ็บและอาจติดเชื้อได้
การเจาะเล็บระบายเลือดจากเล็บห้อเลือด ทำอย่างไร
- เริ่มจากต้องทำให้บริเวณที่ทำสะอาดปราศจากเชื้อก่อนครับ
- จากนั้น คุณหมออาจจะพิจารณาฉีดยาชา ถ้ามีอาการปวดมาก
- และใช้เข็มปราศจากเชื้อ เพื่อเจาะบริเวณเล็บเป็นรูเล็กๆ เพื่อระบายเลือด
- เลือดที่คั่งอยู่จะถูกระบายออกมา เพื่อลดความดันใต้เล็บ ส่วนใหญ่อาการปวดจะดีขึ้นมากๆทันทีหลังจากเจาะเลยครับ
กรณีอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ร่วมกับเล็บเท้าห้อเลือด
- ฐานเล็บบาดเจ็บ คุณหมออาจจะต้องถอดเล็บมาเย็บซ่อมฐานเล็บ
- ถ้ามีเล็บฉีกและมีเลือดออกจากข้างๆเล็บ คุณหมออาจจะต้องถอดเล็บเพื่อทำความสะอาดบาดแผล
- ถ้ามีกระดูกปลายนิ้วหัก คุณหมออาจจะใส่เฝือกดามนิ้วระยะสั้นๆ เพื่อให้กระดูกติดนะครับ
ถ้ามีเล็บห้อเลือดแต่ไม่มีประวัติอุบัติเหตุ
แบบนี้ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยแลยครับ ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งสามารถเป็นได้หลายโรคมากๆเลย เช่น Glomus tumor, melanoma บางโรคค่อนข้างอันตรายนะครับ ดังนั้น ถ้ามีเล็บห้อเลือด ปวด แต่ไม่มีอุบัติเหตุอะไร แนะนำพบแพทย์ทันทีครับ
เล็บห้อเลือดต้องถอดเล็บไหม
ถ้าเกิดจากอุบัติเหตุ และไม่มีเลือดออกมาภายนอก ไม่มีเล็บฉีก ไม่มีกระดูกหัก มีเพียงเล็บห้อเลือด
อ่านเพิ่มเรื่องการถอดเล็บได้ที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่ต้องถอดเล็บนะครับ แต่ถ้าปวดมาก คุณหมอจะใช้วิธีเจาะเล็บ เพื่อระบายเลือด ลดความดัน และลดปวด
วิ่งแล้วเล็บดำทำอย่างไร
วิ่งแล้วเล็บดำ มักพบในนักวิ่งระยะไกล หรือนักวิ่งเทรล ที่ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงเขาชันๆ
วิ่งมากๆ วิ่งเทรลขึ้นลงที่ชัน แล้วเล็บห้อเลือด เล็บดำ
ทำไมวิ่งแล้วเล็บดำ
- รองเท้าคับเกินไป ทำให้วิ่งแล้วปลายนิ้วเท้ากระแทก หรือตะกุยกับรองเท้าอยู่ตลอด ทำให้เลือดออกใต้เล็บ หรือบางคนเล็บหลุดได้
- ถุงเท้าแน่นเกินไป ทำให้เล็บขูดกับถุงเท้า และเล็บห้อเลือดได้
- วิ่งระยะไกลแล้วเท้าบวม ทำให้รองเท้าที่พอดี กลายเป็นรองเท้าที่คับได้
ข้อแนะนำถ้าวิ่งแล้วเล็บเท้าห้อเลือด
- ตัดเล็บให้สั้นเสมอ
- ถ้าเล็บห้อเลือด แต่ไม่เจ็บก็วิ่งได้นะครับ ไม่ต้องหยุด
- เลือกรองเท้าและถุงเท้าที่ใส่สบาย พอดี ไม่คับเกินไป ไม่หลวมเกินไป
- รองเท้าวิ่งควรเลือกแบบผูกเชือก เนื่องจากถ้าเท้าบวม เราสามารถคลายเชือก เพื่อให้รองเท้าพอดีกับเท้าที่บวมได้
- ถ้าเล็บเท้าห้อเลือด และส่วนปลายเล็บถอน หรือเผยอออกมา แนะนำพบแพทย์เพื่อทำการถอดเล็บนะครับ
สรุป
เล็บเท้าห้อเลือด ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกประตูหนีบ หรือถูกของแข็งๆตกใส่นิ้วเท้า ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดมากเนื่องจากเลือดที่ออกใต้เล็บ ไม่สามารถระบายออกได้ ทำให้แรงดันใต้เล็บสูง การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ แต่ถ้าปวดมาก แนะนำพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการเจาะเล็บระบายเลือดเพื่อลดความดัน