หลังเท้า ของเรา มีปัญหาต่างๆได้บ่อยๆเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหลังเท้า เอ็นหลังเท้าอักเสบ กระดูกงอกหลังเท้าเป็นก้อนแข็งๆ มีก้อนซีสต์ที่หลังเท้านิ่มๆ เส้นประสาทหลังเท้าถูกรบกวนทีให้มีอาการชาหลังเท้าหรือเจ็บจี๊ดๆได้ เรามาศึกษาดูกันครับว่า ปัญหาหลังเท้าของเราเกิดจากอะไรและต้องดูแลอย่างไร
หลังเท้าภาษาอังกฤษ
เราใช้คำว่า Top of foot ก็ได้ หรือว่าภาษาทางการหรือภาษาแพทย์ เราจะใช้คำว่า Dorsal of foot ครับ
หลังเท้าคือตรงไหน?
หลังเท้าคือส่วนที่อยู่ด้านบนของเท้า ตอนที่เรายืนครับ งงไหมครับ
ทางการแพทย์นั้น เราจะแบ่งเท้าของเป็นสามส่วนหลักๆครับ คือ
- forefoot หรือว่าเท้าส่วนหน้า ประกอบไปด้วยกระดูกฝ่าเท้า 5 ชิ้น และนิ้วเท้า
- midfoot หรือว่าเท้าส่วนกลาง ประกอบไปด้วย กระดูกกลางเท้า 5 ชิ้น
- hindfoot หรือว่าเท้าส่วนหลัง ประกอบไปด้วย กระดูกส้นเท้า และกระดูกข้อเท้า
หลังเท้า จะใช้เรียกส่วนด้านบนของเท้าส่วน forefoot และ midfoot ครับ
หลังเท้าของเรามีอวัยวะอะไรอยู่บ้าง ?
หลังเท้าของเรามีอวัยวะต่างๆอยู่หลายอย่างเลยครับ ยกตัวอย่างเฉพาะที่สำคัญได้แก่
- กระดูก หลังเท้ามีกระดูกหลายชิ้นเลยครับ เพื่อให้เท้าของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ข้อต่อ มีกระดูกหลายชิ้นก็จะต้องมีข้อต่อหลายส่วนตามไปด้วย เพื่อให้เท้าของเรายืดหยุ่นและแข็งแรง ถ้าข้อต่อมีปัญหา หลังเท้าก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ครับ
- เอ็นหลังเท้า เส้นเอ็นที่ผ่านบริเวณหลังเท้า ส่วนใหญ่จะเป็นเอ็นที่ทำหน้าที่กระดกนิ้วเท้า และเอ็นเสริมความแข็งแรงของเท้าครับ
- เส้นประสาท ที่ผ่านหลังเท้า จะทำหน้าที่รับความรู้สึกส่วนหลังเท้า ถ้าเส้นประสาทนี้ถูกรบกวน ก็จะทำให้มีเจ็บแปล๊บๆได้
กระดูกหลังเท้า
เส้นเอ็นหลังเท้า
เส้นประสาทหลังเท้า
กระดูกงอกหลังเท้า
ก้อนแข็งๆหลังเท้า กระดูกปูดหลังเท้า กระดูกโปนหลังเท้า
ก้อนแข็งๆที่หลังเท้าจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีกระดูก 2 ชิ้นมารวมกันเป็นข้อ และข้อต่อนั้นถูกใช้งานอย่างหนัก จนเกิดการบาดเจ็บขึ้นเรื้อรัง และร่างกายของเราสร้างกระดูกงอกขึ้นมาพยุงข้อต่อไว้
กระดูกปูดหลังเท้าเกิดจากอะไร?
กระดูกงอกที่หลังเท้า เป็นก้อนแข็งๆที่หลังเท้า
- การใช้งานเท้าหนักมานานๆ ยืน เดิน เล่นกีฬา หรือทำงานที่ต้องยืนนานๆ หรือใส่รองเท้าคับๆ
- มีอุบัติเหตุทำให้มีเอ็นบริเวณข้อกลางเท้าฉีก หรือมีกระดูกเล็กๆหัก หรือมีกระดูกอ่อนบาดเจ็บ เมื่อผ่านไปสักพัก กลไกการทำงานของข้อกลางเท้าผิดปกติไป ทำให้มีกระดูกงอกบริเวณข้อกลางเท้าได้
- มีข้อกลางเท้าสึก กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อบางลง ทำให้มีอาการเจ็บข้อกลางเท้าตอนใช้งานและกระดูกงอกที่หลังเท้า
- ภาวะอื่นๆ ที่ทำให้มีกระดูกงอกที่หลังเท้า เช่น มีกระดูกขาดเลือดมาเลี้ยง ภาวะกระดูกละลายจากเบาหวาน เป็นต้น
อาการของกระดูกปูดหลังเท้า
- มีกระดูกงอกที่หลังเท้า คลำได้ก้อนแข็งๆที่หลังเท้า
- กดบริเวณก้อนแข็งๆแล้วเจ็บ
- ใช้งานเท้ามากๆ โดยเฉพาะการกระโดด หรือขึ้นที่สูงจะเจ็บ เสียวในเท้า
- มีอาการบวม แดง อักเสบ ได้ถ้าใช้งานหนัก
- ยืนเขย่งเท้าแล้วเจ็บ
ถ้ากระดูกงอกหลังเท้า ไปตรงกับส่วนที่เป็นเส้นประสาทที่ผ่านบริเวณนั้น กระดูกงอกจะไปเคือง หรือกดเบียดเส้นประสาท จะมีอาการเจ็บจี๊ดๆ หรือชาบริเวณหลังเท้าได้
ถ้าใส่รองเท้าคับๆ หรือใส่รองเท้าที่รัดบริเวณกระดูกงอก อาการจะเป็นมากขึ้น
ก้อนแข็งๆที่หลังเท้า กดเจ็บ บวมอักเสบได้ง่ายเมื่อใช้งาน
กระดูกงอกถ้าไปกดเบียดเส้นประสาทจะทำให้มีอาการชา เจ็บแปล๊บๆ
การวินิจฉัยกระดูกงอกหลังเท้า
แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และอาจจะต้องเอกซเรย์ดูด้วยครับว่า ก้อนแข็งๆที่คลำได้เป็นกระดูกงอกหรือไม่ มีภาวะอื่นเช่น ข้อกลางเท้าเสื่อมร่วมด้วยหรือไม่ มีโครงสร้างเท้าผิดรูปหรือไม่
กระดูกงอกหลังเท้าร่วมกับข้อกลางเท้าสึก
การรักษากระดูกงอกหลังเท้าเบื้องต้น
- ถ้าปวดอักเสบ ให้พัก ประคบเย็น ทานยาแก้ปวดตามคำแนะนำของเภสัชกร
- เลือกรองเท้าที่ไม่คับเกินไป
- เลือกรองเท้าที่ไม่รัดบริเวณหลังเท้า
- ถ้าใส่รองเท้าแบบผูกเชือก ให้คลายความแน่นของเชือก หรือไม่ร้อยเชือกผ่านรูที่อยู่บริเวณกระดูกงอก
- กายภาพข้อเท้าเน้นที่การยืดเหยียดเอ็นร้อยหวาย เพื่อลดการใช้งานข้อกลางเท้า
- กีฬาเลือกที่ไม่ต้องกระโดดมากนัก หลีกเลี่ยงกีฬาปะทะ
- ถ้าเป็นมากอาจเลือกใช้แผ่นรองรองเท้า ที่ช่วยลดภาระการทำงานของเท้า
- ใช้แผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคล
- ใช้อุปกรณ์หนุนอุ้งเท้า กรณีที่มีภาวะเท้าแบน
- เลือกรองเท้าที่มีลักษณะพื้นรองเท้าโค้งๆ (rocker button shoe)
การผูกเชือกรองเท้า เมื่อมีกระดูกงอกหลังเท้า
กระดูกปูดหลังเท้า ควรเลือกรองเท้าที่ไม่รัดหลังเท้า
แผ่นรองรองเท้า ช่วยลดการใช้งานข้อกลางเท้า
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระดูกงอกบริเวณต่างๆในเท้าได้ที่นี่
อาการชาที่หลังเท้า
ชาที่หลังเท้า, หลังเท้าชา, แสบหลังเท้า
อาการชาที่หลังเท้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่อาการกดเบียดเส้นประสาทที่หลัง หรือที่สะโพก อาการทางสมอง หรือเส้นประสาทบริเวณเท้าถูกรบกวน
ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึงแต่อาการชาหลังเท้าที่เกิดจากเส้นประสาทเท้าถูกรบกวนนะครับ
เส้นประสาท superficial peroneal nerve
เส้นประสาทบริเวณหลังเท้าที่พบว่าถูกรบกวนบ่อย คือเส้นประสาท superficial peroneal nerve เส้นประสาทเส้นนี้จะทีหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณหลังเท้าเป็นหลัก โดยมีสิ่งที่มาเคืองเส้นประสาทได้หลายอย่างเช่น
- กระดูกงอกหลังเท้า
- ถุงน้ำหลังเท้า
- รองเท้าที่รัดหลังเท้าแน่นเกินไป
- ผูกเชือกรองเท้าแน่นเกินไป
- ใส่รองเท้าที่มีส่วนที่กดหลังเท้า
- ใช้งานเท้าหนัก เดิน ยืนนานๆ
- นั่งเท้าที่ทับหลังเท้านานๆ เช่น นั่งคุกเข่านานๆ
อาการของเส้นประสาทหลังเท้าถูกรบกวน ชาหลังเท้า
- จะมีอาการชาที่หลังเท้า อาการจะเป็นมากถ้ามีการกดเส้นประสาทหลังเท้านานๆ เช่นใส่รองเท้าแล้วชา ถอดสักพักอาการดีขึ้น
- แปล๊บๆ หรือรู้สึกแปลกๆ คล้ายๆไฟช็อต บริเวณหลังเท้า อาจมีร้าวไปส่วนอื่นๆเช่นปลายเท้า ฝ่าเท้า
- กดหรือเคาะบริเวณหลังเท้าแล้วกระตุ้นให้มีอาการได้
เมื่อเส้นประสาทหลังเท้าถูกระกวนจะมีอาการชาบริเวณที่เส้นประสาทไปเลี้ยง (สีเขียวขี้ม้า)
การรักษาอาการชาหลังเท้าเบื้องต้น
- เลือกรองเท้าที่ไม่คับเกินไป
- เลือกรองเท้าที่ไม่รัดบริเวณหลังเท้า
- ถ้าใส่รองเท้าแบบผูกเชือก ให้คลายความแน่นของเชือก
- ปรึกษาเภสัชกรทานยาแก้ปวดปลายประสาท
- ไม่นั่งทับหลังเท้า
- ไม่นั่งไขว่ห้าง นานๆ
- ถ้าคลำได้กระดูกงอก หรือถุงน้ำ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
- ลองสังเกตตัวเองดูว่าอะไร หรือกิจกรรมอะไรที่กระตุ้นให้ชา และอะไรทำให้อาการชาลดลง
ศึกษาเพิ่มเติม : อาการชาบริเวณต่างๆในร่างกาย
ซีสต์หลังเท้า
ก้อนน้ำ ถุงน้ำนิ่มๆที่หลังเท้า
ก้อนถุงน้ำ บริเวณหลังเท้าพบได้บ่อยเลยครับ เนื่องจากบริเวณหลังเท้าจะมีกระดูกเท้าเล็กๆหลายๆชิ้นประกอบกันอยู่ ทำให้บริเวณนี้มีข้อต่อจำนวนมาก เมื่อมีการใช้งานหนักๆมานานๆ เยื่อบุข้ออักเสบ และเกิดเป็นถุงน้ำ หรือซีสต์ในที่สุด
ซีสต์ที่หลังเท้า นุ่มๆ ไม่เจ็บ
อาการซีสต์หลังเท้า
- มีก้อนบริเวณหลังเท้า ลักษณะก้อนจะนิ่มๆ จับขยับไปมาได้เล็กน้อย ไม่เจ็บ
- ก้อนอาจจะใหญ่ขึ้น แต่จะใหญ่ขึ้นช้าๆ
- ถ้าก้อนไปกดเบียดบริเวณเส้นประสาทหลังเท้า อาจจะทำให้มีอาการชาหลังเท้า หรือเจ็บแปล๊บๆที่บริเวณก้อนได้
- ถ้าก้อนเกิดจากข้อกลางเท้าสึก หรือเสื่อม อาจจะมีอาการปวดเสียวบริเวณหลังเท้า ซึ่งเป็นอาการของข้อสึกได้
ถ้ามีก้อนบริเวณหลังเท้า ลักษณะแข็ง กดเจ็บ จับเลื่อนไปมาไม่ได้ ก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่แน่ใจ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจนะครับว่าเป็นก้อนอะไร อาจจะไม่ใช่ซีสต์ก็ได้
การรักษาซีสต์หลังเท้าเบื้องต้น
เมื่อมีซีสต์ที่หลังเท้า แต่ถ้าไม่มีอาการ ไม่เจ็บ ไม่ไปกดเบียดเส้นประสาท การรักษาเพียงแต่ระวังไม่ให้มีอะไรมากดบริเวณซีสต์ เลือกรองเท้าที่ใส่พอดี ไม่รัด ก็น่าจะได้ครับ ไม่ต้องผ่าตัดนำก้อนออก
แต่ถ้าซีสต์ที่หลังเท้า มีอาการเจ็บ อักเสบบ่อย ต้องใส่รองเท้าที่กด (บางอาชีพเลือกรองเท้าที่ใส่ไม่ได้ เช่นรองเท้าฟุตบอล รองเท้าบูทของเกษตรกร) หรือก้อนซีสต์ไปอยู่บริเวณที่มีเส้นประสาทพอดี
แบบนี้อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อผ่าตัดนำก้อนออกนะครับ
การเจาะก้อนซีสต์ การฉีดยาเข้าก้อนซีสต์ หรือการบีบให้แตก เป็นการรักษาที่ไม่แนะนำให้ทำนะครับ เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายกับอวัยวะข้างเคียงได้ และยังมีโอกาสที่ก้อนจะเป็นซ้ำได้ด้วยครับ
ถ้าซีสต์ไปเคืองเส้นประสาทหลังเท้า จะทำให้ชา เจ็บจี๊ดๆ ถ้าไม่หายแนะนำผ่าตัดนำซีสออก
ศึกษาเพิ่มเติม : ถุงน้ำตาตุ่มอักเสบ คลำได้ก้อนนิ่มๆบริเวณตาตุ่ม
เจ็บแปลบหลังเท้า จากเอ็นหลังเท้าอักเสบ
ปวดจี๊ดหลังเท้า, เจ็บจี๊ดๆที่หลังเท้า, เจ็บเอ็นหลังเท้า
กลุ่มกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหลังเท้า (Extensor digitorum brevis) ที่เป็นสาเหตุของเอ็นหลังเท้าอักเสบได้บ่อยๆ
เอ็นหลังเท้าอักเสบ จะมีกลุ่มกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นกลุ่มเล็กๆที่อยู่บริเวณหลังเท้า ทำหน้าที่กระดกนิ้วเท้าขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดแปล๊บๆ ที่หลังเท้า บางคนทำให้เป็นตะคริวหลังเท้าตอนนอน หรือเป็นสาเหตุของนิ้วเท้าผิดรูปได้
อาการของเอ็นหลังเท้าอักเสบ
- เจ็บแปล๊บๆที่หลังเท้า ปวดจี๊ดๆ
- มีตะคริวที่หลังเท้า โดยเฉพาะตอนนอน คลำดูจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อตึงตัวมาก
- เดินแล้วปวดมากที่หลังเท้า
- กดเจ็บที่หลังเท้า บวมที่หลังเท้า
- ลองกระดกนิ้วเท้า กระดกข้อเท้า แล้วเจ็บ
- นิ้วเท้าผิดรูป
เอ็นหลังเท้าอักเสบ จะเจ็บบริเวณนี้ได้บ่อย
นิ้วเท้าผิดรูปจากความผิดปกติของเอ็นหลังเท้า
สาเหตุของเอ็นหลังเท้าอักเสบ
- การเลือกรองเท้าที่ไม่เข้ากับเท้าของเรา เช่นทรงรองเท้าไม่เหมาะ หรือใส่รองเท้าคับเกินไป
- วิ่งออกกำลังกายบนพื้นไม่เรียบ ทำให้ต้องใช้งานเอ็นหลังเท้าตลอด เช่นวิ่งเทรลขึ้นลงเขา
- วิ่งขึ้นที่ชัน หรือลงที่ชัน มากๆ
- ใส่รองเท้าส้นสูง ส้นแคบ(ต้องใช้กล้ามเนื้อในการทรงตัวไม่ให้ตกส้นสูง)
- โดนกระแทกที่หลังเท้า เช่นเตะฟุตบอลด้วยหลังเท้าบ่อยๆ
การรักษาเอ็นหลังเท้าอักเสบ เจ็บแปล๊บที่หลังเท้า เบื้องต้น
- พัก ยาขาสูง ประคบเย็น ถ้ามีเอ็นอักเสบ บวม ปวด
- นวดเบาๆ
- ยืดเหยียดเอ็นหลังเท้า
- ใส่รองเท้าที่เข้ากับทรงเท้า
- ไม่ใส่รองเท้าที่คับ หรือรัดบริเวณหลังเท้ามากเกินไป
สรุป
หลังเท้าของเราประกอบไปด้วยอวัยวะหลายอย่างตั้งแต่ กระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น เส้นประสาท อาการผิดปกติที่บริเวณหลังเท้าสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น ข้อสึก กระดูกงอก ซีสต์ เส้นประสาทถูกรบกวน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการใช้งานเท้าหนักเกินไป หรือใส่รองเท้าไม่คับเกินไปครับ