กระดูกเท้า คือ กระดูกหลายๆชิ้นที่ประกอบกันเป็นเท้า โดยเท้าของเราเป็นโครงสร้างที่มีความแข็งแรง และความยืดหยุ่น ทำให้เรายืน เดิน วิ่ง เล่นกีฬา ได้ตามต้องการ นอกจากกระดูกแล้ว อวัยวะที่ทำให้เท้ามีคุณสมบัติดังกล่าวยังมีกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกอ่อน ในเท้าช่วยทำงานประสานกันด้วย
กระดูกเท้ามีทั้งหมดกี่ชิ้น
โดยเท้าของเราจะแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักๆครับ คือ
เท้าส่วนหน้า หรือส่วน forefoot
กระดูกเท้าส่วนนี้ประกอบไปด้วย
- กระดูกฝ่าเท้า 5 ชิ้น (metatarsal bone)
- กระดูกนิ้วเท้าทั้ง 5 นิ้ว (phalanges) โดยแต่ละนิ้วจะประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้น ยกเว้นนิ้วหัวแม่เท้าจะมีกระดูก 2 ชิ้น รวมเป็น 14 ชิ้น (2+3+3+3+3)
เท้าส่วนกลาง หรือส่วน midfoot
กระดูกเท้าส่วนนี้ประกอบไปด้วย
- กระดูก navicular
- กระดูก cuneiform 3 ชิ้น (medial, middle และ lateral cuneiform)
- กระดูก cuboid
กระดูกเท้าส่วนนี้จะทำหน้าที่เป็นส่วนอุ้งเท้า เมื่อทำงานร่วมกับเอ็น กล้ามเนื้อ และพังผืดฝ่าเท้า
ส่วนอุ้งเท้าจะทำหน้าที่เป็นสปริงให้กับเท้า ทำให้เราสามารถเดินได้อย่างคล่องตัว วิ่งได้อย่างรวดเร็ว และกระโดดได้สูงและไกลครับ
กระดูกส้นเท้าเป็นจุดเกาะของเอ็นร้อยหวายและพังผืดฝ่าเท้า
เท้าส่วนหลัง หรือส่วน hindfoot
กระดูกเท้าส่วนนี้ประกอบไปด้วย
- กระดูกส้นเท้า หรือ calcaneus bone
- กระดูกข้อเท้า หรือ talus bone
กระดูก calcaneus จะเป็นกระดูกส่วนส้นเท้า เป็นจุดเกาะของเอ็นร้อยหวายและพังผืดฝ่าเท้า ทำหน้าที่รับน้ำหนักของเราขณะยืน เดิน วิ่ง
ถ้ามีอุบัติเหตุตกจากที่สูง กระดูกส่วนนี้จะมีโอกาสบาดเจ็บ หรือกระดูกหักได้มากกว่าส่วนอื่นครับ
กระดูกส่วน talus จะเป็นกระดูกที่เป็นห้องเครื่องของข้อเท้า เป็นตัวเชื่อมการทำงานระหว่างกระดูกชิ้นต่างๆ เป็นส่วนส่งผ่านแรงจากปลายขากับกระดูกเท้า
ดังนั้นเท้าของเราประกอบไปด้วยกระดูกทั้งหมด
- ถ้าไม่รวมนิ้วเท้า จะมีกระดูกทั้งหมด 12 ชิ้น
- ถ้ารวมนิ้วเท้า จะมีกระดูกทั้งหมด 26 ชิ้น
โรคที่พบได้บ่อยๆของกระดูกเท้า
กระดูกเท้าปูด กระดูกเท้าผิดรูป
กระดูกเท้าที่ปูดออกมาเกิดได้หลายตำแหน่งในเท้าครับ เช่น
- กระดูกเท้าปูดที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า หรือ Bunion, Hallux valgus
- กระดูกเท้าปูดที่โคนนิ้วเท้าที่ 5 หรือ Bunionette
- กระดูกเท้าปูดที่หลังเท้า ส่วนใหญ่เกิดจากข้อกลางเท้าสึก หรือ midfoot osteoarthritis
- กระดูกเท้าปูดที่ด้านในของเท้า เกิดจากกระดูกงอกในเส้นเอ็น หรือ accessory navicular
- กระดูกเท้าปูดที่จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย หรือ insertional Achilles tendinitis
โดยกระดูกเท้าที่ปูดออกมา เกิดได้จากสาเหตุหลายๆอย่างครับ เช่น โครงสร้างเท้าผิดรูป, ข้อสึก และมีกระดูกงอก, จุดเกาะเอ็นเสื่อม, กระดูกงอกในเส้นเอ็น เป็นต้น โดยการรักษากระดูกเท้าปูด ควรได้รับการวินิจฉัยก่อนว่าเกิดจากอะไร เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องครับ
อ่านเพิ่มเรื่องกระดูกปูด กระดูกงอก บริเวณเท้าที่พบได้บ่อยๆกระดูกเท้าหัก แตก ร้าว
กระดูกเท้าหัก ส่วนใหญ่จะต้องมีอุบัติเหตุบางอย่างนำมาก่อนครับ เช่น อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุจากการจราจร
อาการที่น่าสงสัยว่าจะมีกระดูกเท้าหัก หรือร้าว
- อาการปวดมากๆบริเวณที่มีกระดูกหัก
- บวมรอบๆกระดูกที่หัก
- ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เต็มที่ หรือเดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย
- เท้าผิดรูป
- มีรอบฟกช้ำ เขียวๆ ม่วงๆ บริเวณที่มีกระดูกหัก
การวินิจฉัยกระดูกเท้าหัก จะทำการพูดคุยประวัติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจร่างกายและส่วนใหญ่คุณหมอจะส่งเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีกระดูกเท้าหักหรือไม่
กระดูกเท้าหัก กับ กระดูกเท้าร้าว ต่างกันอย่างไร
ภาษาไทยมีความสละสลวย และให้คำที่ใกล้เคียงกันครับ กระดูกหัก กระดูกแตก กระดูกร้าว
ต่างก็หมายถึงกระดูกที่มีแรงมากระทำมากจนไม่สามารถทนได้ มีการหัก (break)ของกระดูกขึ้น
ถ้าจะพูดถึงความต่างกันของหัก กับร้าว คงจะพอเทียบได้ดังนี้
- กระดูกเท้าหัก หมายถึงกระดูกหัก และมีการเคลื่อนของกระดูก (displaced fracture)
- กระดูกเท้าร้าว หมายถึงกระดูกหัก แต่ไม่มีการเคลื่อนของกระดูก (non- displaced fracture)
กระดูกเท้าหัก ชนิดไม่กระดูกไม่เคลื่อน
กระดูกเท้าหัก ชนิดกระดูกที่หักเคลื่อน หรือแยกออกจากกัน
การรักษากระดูกเท้าหัก แตก ร้าว
ขึ้นอยู่กับว่าเป็นกระดูกเท้าชิ้นไหน กระดูกที่หักเคลื่อนหรือไม่ ต้องปรึกษากับคุณหมอกระดูกและข้อเพื่อวางแผนการรักษาต่อไปครับ การรักษาหลักๆจะแบ่งได้ 2 วิธี
- การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด จะใช้วิธีทำให้กระดูกที่หักอยู่นิ่งด้วยเฝือกแบบต่างๆ ถ้ากระดูกที่หักเข้ารูป นิ่ง และมีเวลาที่นานพอ กระดูกที่หักก็จะติดเองได้ ใช้งานได้ตามปกติ
- การรักษาด้วยการผ่าตัด จะต้องผ่าตัดเข้าไปจัดกระดูกให้เข้าที่ และใช้อุปกรณ์ดามกระดูกเข้าไปทำให้กระดูกที่หักอยู่นิ่ง หลังจากนั้นกระดูกที่หักจะติดเองโดยใช้เวลาระยะหนึ่ง
รักษากระดูกเท้าหักด้วยการใส่เฝือก
รักษากระดูกเท้าหักด้วยการผ่าตัดดามเหล็ก
กระดูกเท้าหลุด เคลื่อน
กระดูกเท้าหลุด หรือเคลื่อน จะเกิดจากอุบัติเหตุอย่างรุนแรงที่เท้า ทำให้เอ็นที่ยึดกระดูกและข้อต่างๆในเท้าฉีกขาด และทำให้กระดูกเท้าหลุด หรือเคลื่อนได้ อาการที่ทำให้สงสัยภาวะนี้คือ ปวด, บวม, เท้าผิดรูป, เดินลงน้ำหนักไม่ได้เนื่องจากเสียวและปวดมาก, พักแล้วไม่ทุเลา
การรักษากระดูกเท้าหลุด กระดูกเท้าเคลื่อน ส่วนใหญ่ต้องดึง จัด กระดูกให้เข้าที่และใส่เฝือกเพื่อให้เอ็นที่ฉีกสมานอย่างดีที่สุดครับ หรือในบางกรณีอาจจะต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมอวัยวะที่เสียหายด้วย
ดังนั้นถ้าสงสัยภาวะนี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างรวดเร็วนะครับ
การดัดกระดูก ถ้าทำอย่างถูกวิธี และทำหลังเกิดเหตุไม่นาน การรักษาจะง่ายกว่า ถ้าปล่อยไว้นาน อาจจะรักษายากกว่าปกติมากได้ครับ
เอกซเรย์กระดูกเท้า
สามารถทำได้ที่สถานพยาบาลที่มีเครื่องเอกซเรย์ทุกที่ครับ แต่ต้องมีคุณหมอมาตรวจก่อนจึงจะส่งเอกซเรย์ได้นะครับ เนื่องจากจะได้ส่งตรวจเอกซเรย์ได้ถูกท่า ถูกจุด เพื่อให้การวินิจฉัยได้ตรงและแม่นยำที่สุดครับ
และโรคบางอย่างก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยเอกซเรย์นะครับ
เช่น เอ็นข้อเท้าฉีก กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ เนื่องจากเป็นส่วนที่เอกซเรย์ไม่เห็นครับ
เอกซเรย์กระดูกเท้าพบมีกระดูกหักที่กระดูกฝ่าเท้า
เอกซเรย์กระดูกข้อเท้าพบมีข้อเท้าหัก
เอกซเรย์ข้อเท้าพบมีกระดูกงอกที่ส้นเท้า
สรุป
เท้าของเราเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างของกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ ที่ทำงานประสานกัน เพื่อให้เท้าเป็นอวัยวะที่แข็งแรง และยืดหยุ่นในเวลาเดียวกัน ช่วยให้เราสามารถ เดิน วิ่ง กระโดด ได้อย่างคล่องตัวในทุกสภาวะ