อาการเจ็บฝ่าเท้า สามารถบอกโรคได้จริงๆครับ แต่ว่า โรคที่กล่าวถึง จะเป็นโรคเกี่ยวกับเท้านะครับ ไม่ใช่ว่า เจ็บฝ่าเท้าบริเวณนี้ แปลว่าไตไม่ดี หรือตับทำงานบกพร่อง ตามที่เคยได้ยินกันมาบ่อยๆ
มาดูกันครับว่า อาการเจ็บฝ่าเท้าบริเวณต่างๆ สามารถบอกโรคเกี่ยวกับเท้าอะไรได้บ้าง
เราขอแบ่งเท้าเป็นส่วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบอกโรคนะครับ ได้แก่
มาดูกันครับว่า แต่ละส่วนของเท้ามีโรคอะไรบ้างพบได้บ่อยๆ
เจ็บฝ่าเท้าส่วนหน้าเท้า
ถ้าท่านมีอาการเจ็บฝ่าเท้าส่วนหน้า เจ็บทั่วๆ ไม่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง มีอาการตึงๆที่น่อง ล้าน่องง่าย บางคนจะเจ็บที่เอ็นร้อยหวาย อาการเจ็บหน้าเท้ามักจะเจ็บตอนเดินมากๆ วิ่งนานๆ อาจจะมีอาการเฉพาะตอนที่ใส่รองเท้าส้นสูงหน้าแคบๆ เดินบนพื้นแข็งๆไม่ใส่รองเท้าจะเจ็บ
- อาการแบบนี้เรียกว่าอาการเจ็บหน้าเท้า (metatarsalgia) จากน่องตึง (calf tightness) เนื่องจากเมื่อมีน่องตึงแล้ว เวลาเดินน้ำหนักจะเทไปหน้าเท้ามากกว่าปกติ ทำให้มีอาการเจ็บหน้าเท้าขึ้นมาได้ครับ
- การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการกายภาพยืดน่อง และการเลือกรองเท้าที่นุ่มๆสวมใส่สบาย ส้นไม่สูง หน้ารองเท้ากว้างๆ
ถ้าท่านมีอาการเจ็บฝ่าเท้าส่วนหน้า โดยอาการเจ็บจะเจ็บเป็นจุด ระหว่างนิ้วเท้าที่สาม และนิ้วเท้าที่สี่ บริเวณนี้จะพบบ่อยที่สุด อาการเจ็บจะเจ็บแปล๊บๆ จี๊ดๆ บางคนมีอาการชาที่นิ้วเท้าร่วมด้วย บางคนอาการเจ็บจะร้าวมาที่หลังเท้าได้ ขณะเดินจะรู้สึกว่าเจ็บเหมือนเดินบนพื้นหินอ่อนเย็นๆ ตอนกลางคืนนอนอยู่ก็เจ็บแปล๊บขึ้นมาได้
-
อาการนี้บอกถึงโรค Morton neuroma นะครับ เรียกว่าปมประสาทเท้าอักเสบ โรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทที่ฝ่าเท้าเป็นปมและอักเสบขึ้นมา
-
การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยา การเลือกรองเท้าที่หน้ากว้างๆส้นต่ำๆ ถ้าอาการยังไม่หายคุณหมออาจจะพิจารณาฉีดยาเข้าบริเวณเส้นประสาท และการผ่าตัดจะเป็นการรักษาทางเลือกสุดท้ายถ้าไม่หายจริงๆ
ถ้าท่านเคยมีอุบัติเหตุที่นิ้วเท้าถูกกระแทกจนกระดกขึ้นอย่างรุนแรง หรือเป็นนักกีฬาที่ต้องใช้การดัน การปะทะ การกระแทกอย่างแรงบ่อยๆ และมีอาการเจ็บฝ่าเท้าส่วนหน้า บริเวณนิ้วใดนิ้วหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า เดินลงน้ำหนักแล้วเจ็บ นั่งคุกเข่าไหว้พระแล้วเจ็บ (ท่านี้นิ้วเท้าจะกระดกขึ้นเยอะ) เดินไม่ใส่รองเท้าแล้วเจ็บ รู้สึกอ่อนแรงในการจิกนิ้วเท้าลง
-
อาการเจ็บฝ่าเท้าบริเวณดังกล่าว บอกถึงโรค Turf toe หรือเอ็นใต้ข้อนิ้วเท้าบาดเจ็บครับ โดยเฉพาะคนที่มีอุบัติเหตุนิ้วเท้ากระดกขึ้นอย่างรุนแรง แล้วมีอาการเจ็บหลังอุบัติเหตุอย่างเรื้อรัง
-
ภาวะนี้ ส่วนใหญ่จะลองรักษาด้วยการใช้เทปประคองนิ้วเท้า การเลือกรองเท้าที่พื้นโค้งๆ (rocker buttom shoe) แต่ถ้าไม่หายอาจจะต้องผ่าตัดซ่อมเป็นใต้ข้อนิ้วเท้านะครับ
เจ็บฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้า
ถ้ามีอาการเจ็บส้นเท้าเยื้องมาหน้าๆหน่อย เจ็บตอนเช้าๆ ตอนตื่นนอนแล้วลุกเดินก้าวแรกๆ เจ็บตอนเริ่มเดินเช่น นั่งนานๆแล้วเดิน พอเดินสักพักอาการจะดีขึ้น แบบนี้เป็นโรครองช้ำ (plantar fasciitis) แน่เลยครับ
-
รองช้ำ เกิดจากพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ และมีความตึงของพังผืดฝ่าเท้า และเอ็นร้อยหวายมากเกินไป
-
การรักษาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การกายภาพบำบัดยืดพังผืดฝ่าเท้า และยืดน่อง การเลือกรองเท้าที่ใส่สบายๆ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า และการนวดคลึงเส้นพังผืดฝ่าเท้าครับ
ถ้าท่านเคยประสบอุบัติเหตุที่ส้นเท้าอย่างแรง เคยมีกระดูกส้นเท้าหัก หรือเคยได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณส้นเท้ามาหลายครั้ง แล้วต่อมาทีอาการเจ็บส้นเท้าตอนเดินลงน้ำหนัก โดยเฉพาะตอนเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็งๆ
ประวัติดังกล่าวจะเป็นอาการของโรคไขมันส้นเท้าฝ่า (fat pad atrophy) เนื่องจากบริเวณส้นเท้าของเราจะมีชั้นไขมันหนาๆเกาะอยู่ เพื่อรองรับแรงกระแทกที่ส้นเท้า ถ้ามีสาเหตุที่ทำให้เซลล์ไขมันบาดเจ็บ ก็จะส่งผลให้ชั้นไขมันบางลง และเจ็บตอนเดินลงน้ำหนักได้
-
การรักษาภาวะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการครับ ได้แก่การใส่รองเท้านุ่มๆ ไม่เดินเท้าเปล่า การกายภาพยืดน่องถ้ามีภาวะน่องตึงร่วมด้วย การดูแลไม่ให้ชั้นไขมันฝ่อมากขึ้น
ถ้าท่านมีอาการเจ็บฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้าร่วมกับมีอาการชาบริเวณต่างๆของส้นเท้า หรือบริเวณเท้า อาการจะเป็นมาก ทั้งเจ็บมากและชามากตอนเดินใช้งานมากๆ ตอนนั่งยองๆ (ท่านี้ข้อเท้าจะต้องกระดกขึ้นสุด) ใส่รองเท้าหุ้มข้อ หรือรองเท้ารัดๆ ก็จะทำให้มีอาการมากขึ้น บางคนกดบริเวณใต้ตาตุ่มด้านในจะเจ็บ และมีอาการบวมบริเวณดังกล่าว
-
อาการเจ็บส้นเท้า ร่วมกับการชาฝ่าเท้า ส่วนใหญ่จะนึกถึงโรค พังผืดรัดเส้นประสาทข้อเท้า (tarsal tunnel syndrome) ภาวะนี้จะทำให้มีอาการปวดบริเวณข้อเท้าด้านใน ร่วมกับชาฝ่าเท้าบริเวณต่างๆตามที่เส้นประสาทไปเลี้ยง และจะส่งผลให้มีอาการเจ็บส้นเท้าและชาส้นเท้าได้ด้วยครับ
-
การรักษาจะเริ่มจากการใช้ยา การเลือกรองเท้านุ่มๆ ถ้ายังไม่หายอาจจะต้องหาสาเหตุของการกดเบียดเส้นประสาท เช่นมีก้อนกดเบียดเส้นประสาท หรือมีข้อเท้าผิดรูป ทำให้เส้นประสาทตึงตัวมากเกินไป ซึ่งการรักษาก็ต้องรักษาตามสาเหตุครับ
อาการเจ็บฝ่าเท้าบริเวณอุ้งเท้า หรือฝ่าเท้าด้านใน
ถ้ามีอาการเจ็บฝ่าเท้าด้านใน คลำได้ก้อนตุ่ยๆออกมา กดเจ็บ อาการจะเป็นตอนใช้งานมากๆ ไปวิ่ง ออกกำลังกาย เดินไกลๆ จะมีอาการเจ็บมาก พอพักก็หาย บางคนจะมีภาวะเท้าแบนร่วมด้วย
-
อาการนี้อาจจะมีสาเหตุมาจาก กระดูกงอกในเส้นเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (accessory navicular) ได้นะครับ โรคนี้ในบางคนก็ไม่มีอาการ บางคนก็มีอาการนานๆที แต่บางคนจะมีอาการปวด เจ็บ อักเสบบริเวณกระดูกงอกได้บ่อยๆเลยครับ
-
แนวทางการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นรักษาตามอาการ พัก ประคบเย็น ทานยา เมื่อมีอาการอักเสบ และรักษาด้วยการกายภาพ และเลือกรองเท้าที่เหมาะสมเพื่อให้อาการเป็นไม่บ่อยไม่รุนแรงครับ แต่ถ้ารักษาไม่หายจริงๆ ก็รักษาด้วยการผ่าตัดนำกระดูกงอกออกได้ครับ
ถ้ามีอาการเจ็บฝ่าเท้าด้านใน ร่วมกับมีอาการเท้าแบน เดินมากๆแล้วเจ็บ ตึง ล้าที่ฝ่าเท้าด้านใน ไปตามแนวเส้นเอ็นประคองเท้า บางคนจะบวมๆที่ด้านใต้ตาตุ่มด้านในด้วย
-
อาการแบบนี้จะเป็นภาวะเท้าแบน ร่วมกับมีเอ็นอักเสบครับ โดยปกติ เท้าแบนส่วนใหญ่จะไม่ทำให้สมรรถภาพในการใช้งานเท้าลดลงครับ สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ถ้ามีภาวะเท้าแบน ร่วมกับอาการต่างๆ เช่นอาการเจ็บฝ่าเท้าด้านใน เท้าแบนแบบนี้ต้องรักษานะครับ
-
ส่วนใหญ่การรักษาจะแนะนำเรื่องการทำกายภาพฝึกความแข็งแรงของเส้นเอ็น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง และการเลือกรองเท้าเสริมอุ้งเท้าเพื่อลดการทำงานของเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน
ถ้ามีอาการเจ็บฝ่าเท้าด้านใน ไปตามแนวฝ่าเท้าทั้งฝ่าเท้า กดเจ็บ บวม จะมีอาการตอนใช้งานหนักๆ เช่นหลังซ้อมกีฬาที่ใช้เท้าหนักๆ เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล แบตมินตัน ไม่มีจุดกดเจ็บชัดเจน
-
อาการแบบนี้สงสัยภาวะเอ็นนิ้วหัวแม่เท้าอักเสบครับ (Abductor Hallucis longus strain) กล้ามเนื้อมัดนี้จะใช้ในการควบคุมการใช้งานของนิ้วหัวแม่เท้า ถ้าใช้นิ้วหัวแม่เท้ามากๆ เช่นการเล่นกีฬาที่ต้องปะทะ ดัน เปลี่ยนทิศ กระโดด บ่อยๆ หรือวิ่งขึ้น ลงที่ชัน บ่อยๆ ต่อเนื่องนานๆ ก็จะทำให้มีภาวะนี้ขึ้นได้
-
การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการครับ พัก ทานยา ประคบเย็น ยกขาสูง นวดเบาๆ เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ควรเลือกรองเท้าที่พอดี ไม่รัดเกินไป เพื่อให้อาการไม่กลับมาเป็นอีกครับ
อาการเจ็บฝ่าเท้าบริเวณข้างเท้า
ถ้ามีอาการเจ็บฝ่าเท้าบริเวณข้างเท้า โดยเจ็บบริเวณโคนนิ้วเท้าที่ 5 อาจจะมีอาการบวม แดง อักเสบ คลำได้กระดูกแข็งๆ บางคนจะมีกิจวัตรที่ต้องนั่งขัดสมาธินานๆ หรือนั่งพับเพียบ นานๆ บางคนก็เกิดจากการใส่รองเท้ารัดๆ ก็ได้ครับ
-
อาการแบบนี้ เกิดจากภาวะ กระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 ผิดรูป ทำให้มีกระดูกตุ่ยๆออกมาที่ฐานของนิ้วเท้าที่ 5 และเมื่อบริเวณดังกล่าวถูกเสียดสี หรือถูกกดเบียด เป็นเวลานานๆ เช่นท่านั่งที่กล่าวข้างต้น จะทำให้บริเวณนี้อักเสบได้ง่าย
-
การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการป้องกันครับ ได้แก่ หลีกเลี่ยงท่านั่งที่บริเวณนี้ต้องกดกับพื้น หรือเลือกใช้เบาะนุ่มๆรองเท้า ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงรองเท้าด้วยครับ ต้องเลือกที่ไม่รัดบริเวณหน้าเท้ามากนัก
เจ็บข้างเท้า เดินแล้วข้อเท้าเอียงๆ อุ้งเท้าโก่งๆ บางคนเป็นเยอะๆจะข้อเท้าพลิกง่าย พลิกบ่อย อาการจะเป็นมากตอนเดินใช้งานมากๆ เดินบนพื้นแข็งๆ ตอนเดินจะเหมือนใช้ข้างเท้าเดิน
-
อาการแบบนี้สงสัยภาวะ อุ้งเท้าโก่ง (cavus foot) เมื่อมีอุ้งเท้าโก่ง จะทำให้ข้อเท้าเอียง และทำให้คนที่เป็นโรคนี้ใช้ข้างเท้าด้านนอกเดินลงน้ำหนัก ก็จะมีอาการเจ็บฝ่าเท้าด้านข้างได้
-
การรักษาส่วนใหญ่ถ้าเป็นไม่มากจะแนะนำเรื่องการกายภาพยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง การใส่รองเท้าหุ้มข้อ การใส่รองเท้าพื้นนุ่มๆ ไม่เดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็งๆ การใส่แผ่นรองรองเท้าชนิดพิเศษเพื่อปรับมุมข้อเท้า
ถ้ามีอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก ตกส้นสูง หรือตกบันได แล้วต่อมามีอาการเจ็บข้างเท้าด้านนอก เดินลงน้ำหนักแล้วเจ็บมาก บวมที่ข้างเท้า บางครั้งจะมีรอยช้ำม่วงๆใต้ผิวหนังถ้าเป็นมากๆ บางคนเดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย
-
อาการนี้สงสัยภาวะกระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 หัก นะครับ ถ้าสงสัยภาวะนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และอาจจะส่งเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยด้วย การรักษามีได้ตั้งแต่ การใช้เฝือกอ่อน การใช้เฝือกแข็ง รวมถึงการผ่าตัดเพื่อดามกระดูกด้วย
สรุป
อาการเจ็บฝ่าเท้าสามารถบอกโรคได้ โดยแบ่งตามตำแหน่งที่เจ็บ รวมถึงอาการร่วมต่างๆ อาการเจ็บฝ่าเท้า ถ้าเป็นมาก เป็นซ้ำบ่อยๆ เป็นจนไม่สามารถใช้งานได้ตามต้องการ หรือมีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะครับ