fbpx

กระดูกงอกที่เท้าด้านใน

กระดูกงอกที่เท้า

เนื้อหาในบทความนี้ 

กระดูกงอกที่เท้า (Accessory Navicular) 

โรคกระดูกงอกที่เท้า (Accessory Navicular syndrome)

อาการของโรคกระดูกงอกที่เท้า

การวินิจฉัยกระดูกงอกที่เท้า

การรักษากระดูกงอกที่เท้าแบบไม่ผ่าตัด

การรักษากระดูกงอกที่เท้าด้วยการผ่าตัด

 กระดูกงอกที่เท้า (Accessory Navicular) คือ กระดูกที่งอกออกมาบริเวณด้านในของเท้า จะอยู่บริเวณกลางเท้าด้านใน(ฝั่งนิ้วหัวแม่เท้า) เหนืออุ้งเท้าขึ้นมาเล็กน้อย กระดูกงอกนี้จะอยู่ในเส้นเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (Posterior tibial tendon) ซึ่งมาเกาะที่กระดูกบริเวณนี้ (Navicular bone) ทำให้เส้นเอ็นดังกล่าวมาเกาะที่กระดูกได้ไม่สมบูรณ์

ภาวะนี้จะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่ในบางคนจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเนื่องจากไม่มีอาการ

กระดูกงอกที่เท้าเกิดจากอะไร

การที่กระดูกงอกนี้เป็นกระดูกงอกที่อยู่ในเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นไปเกาะที่จุดเกาะกระดูกได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาขณะใช้งานเส้นเอ็นนี้หนักๆครับ 

โรคกระดูกงอกที่เท้า (Accessory Navicular syndrome)

กระดูกงอกที่เท้าชนิดนี้ ถ้าไม่มีอาการอะไร บางคนก็ไม่ทราบว่าตัวเองมีกระดูกงอกก็ได้นะครับ แต่ถ้ามีอาการต่างๆ เราจะเรียกว่าโรคกระดูกงอกที่เท้า (Accessory Navicular syndrome)

สาเหตุที่ทำให้ภาวะกระดูกงอกมีอาการเจ็บหรือมีอาการอื่นๆมีได้ตั้งแต่

กระดูกปูดที่เท้า
  • มีกระดูกตุ่ยออกมาแล้วไปเสียดสีกับรองเท้า ทำให้เจ็บ อักเสบ ส่วนใหญ่จะเป็นรองเท้าคัทชู รองเท้ากีฬา รองเท้าบูท ถ้าไม่ใส่รองเท้าที่ทำให้เสียดสีก็ไม่เป็น
เอ็นข้อเท้าอักเสบกระดูกงอก
  • ใช้งานเยอะแล้วเจ็บ กลุ่มนี้จะเกิดจากกระดูกงอกซึ่งอยู่ในเส้นเอ็น (Posterior tibial tendon) ทำให้เส้นเอ็นนี้ไปเกาะที่จุดเกาะกระดูกได้ไม่สมบูรณ์ เมื่อมีการใช้งานอย่างหนักหรือใช้งานนานๆ ขึ้นจะทำให้เอ็นอักเสบ และเจ็บได้
  • ส่วนใหญ่ใช้งานในชีวิตประจำวันจะไม่เจ็บ แต่เมื่อใช้งานมากๆเช่นไปเล่นกีฬา หรือเดินนานๆ วิ่งไกลๆจะมีอาการเจ็บ เอ็นอักเสบขึ้น เมื่อพักก็จะหาย แต่เมื่อใช้งานหนักอีกก็จะเจ็บอีกครับ
ข้อเท้าพลิก กระดูกงอก
  • อุบัติเหตุ เช่นข้อเท้าพลิก ตกที่สูง ทำให้เอ็นที่มีกระดูกงอกอยู่ (จุดนี้จะอ่อนแอกว่าปกติ) ถูกดึงกระชากอย่างแรง ทำให้เอ็นข้อเท้าบริเวณที่มีกระดูกงอกบาดเจ็บได้
  • ถ้าเป็นหนักๆอาจมีเอ็นบริเวณกระดูกงอกขาดหรือกระดูกงอกหักได้

ในคนที่มีภาวะเท้าแบนร่วมกับกระดูกงอกที่เท้า อาการต่างๆจะเป็นได้ง่ายขึ้น และเป็นหนักขึ้น เนื่องจากภาวะเท้าแบนจะเพิ่มการใช้งานของเอ็นประคองข้อเท้าด้านในที่มีกระดูกงอกอยู่ และทำให้เอ็นดังกล่าวตึงตัวมากกว่าปกติด้วย

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเท้าแบนได้ที่นี่ครับ เรื่องเท้าแบนในเด็ก อ่านได้ที่นี่ครับ

อาการของโรคกระดูกงอกที่เท้า

ภาวะกระดูกงอกจะเป็นตั้งแต่กำเนิด แต่อาการปวด เจ็บ ส่วนใหญ่จะพบในช่วงวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ใช้งานข้อเท้ามาก เช่นเล่นกีฬา เดินทาง ทำงานหนัก และเป็นช่วงที่กระดูกที่งอกออกมาเจริญเติบโตเต็มที่ด้วย

กระดูกงอกที่ตาตุ่ม
  • มีกระดูกตุ่ยๆยื่นออกมา บริเวณกลางเท้าด้านฝั่งนิ้วหัวแม่เท้า
  • มีอาการบวมแดง กดเจ็บ บริเวณที่มีกระดูกตุ่ยๆ
กระดูกปูด
  • เจ็บบริเวณกลางเท้าด้านใน และบริเวณอุ้งเท้า ขณะทำหรือหลังทำกิจกรรมที่ใช้เท้ามากๆ เช่น เดินนานๆ วิ่งไกลๆ เล่นกีฬา ยืนทำงานนานๆ

การวินิจฉัยกระดูกงอกที่เท้า

เมื่อเข้ารับการรักษา คุณหมอจะซักประวัติเกี่ยวกับการใช้งาน หรืออุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น การตรวจร่างกายจะตรวจบริเวณกระดูกที่ตุ่ยๆออกมา ส่วนใหญ่จะกดเจ็บ ตรวจความแข็งแรงของเส้นเอ็นประคองข้อเท้า ตรวจว่ามีเท้าแบนหรือไม่ รวมถึงท่าทางการเดินด้วย

เอกซเรย์จะช่วยในการยืนยันการวินิจฉัยได้ดีที่สุดครับ ซึ่งเราจะเห็นเจ้ากระดูกงอกที่เท้าจากแผ่นฟิล์มเอกซเรย์นี่เอง

จากฟิล์มเอกซเรย์ เราจะเห็นแต่กระดูกงอกบริเวณอุ้งเท้าด้านในนะครับ จะไม่เห็นเอ็นประคองข้อเท้าที่กระดูกงอกอยู่ เนื่องจากเอกซเรย์เป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถถ่ายเห็นเอ็นได้ 

การรักษากระดูกงอกที่เท้าแบบไม่ผ่าตัด

ในคนที่มีกระดูกงอกที่เท้า แต่ไม่มีอาการใดๆ สามารถใช้ชีวิต ทำกิจกรรมได้ตามปกติ ใช้งานหนักได้เท่าที่ต้องการ คนกลุ่มนี้จะไม่ต้องการการรักษาใดๆครับ

ส่วนใหญ่จะบังเอิญพบกระดูกงอกจากการเอกซเรย์ เช่นมีอุบัติเหตุแล้วเอกซเรย์ดูว่ามีกระดูกหักหรือไม่ แต่ไปพบกระดูกงอก เป็นต้น

คนที่มีกระดูกงอกที่เท้า ร่วมกับมีอาการ จึงต้องทำการรักษาครับ

กระดูกเท้างอก วิ่ง

การรักษาแบบไม่ผ่าตัดต้องทำความเข้าใจก่อนว่า

ไม่สามารถทำให้กระดูกงอกนี้หายไปได้

เป้าหมายหลักของการรักษาคือ ทำให้ลดอาการปวด และพยายามทำให้เท้าใช้งานได้มากขึ้น หนักขึ้น

เมื่อมีอาการปวดอักเสบของเส้นเอ็น เนื่องจากกระดูกงอกที่เท้าเกิดขึ้น การรักษาเราทำดังนี้ครับ

  • พักการใช้งาน
  • ประคบเย็น
  • ทานยาลดการอักเสบ และลดอาการปวด (ปรึกษาคุณเภสัชกร หรือแพทย์ประจำตัวก่อนนะครับ)
  • ถ้าปวดมาก อาจต้องใช้เฝือกอ่อน หรือรองเท้าบูทช่วยเดิน ทำให้ข้อเท้านิ่ง ลดการใช้งานเส้นเอ็น อาการอักเสบจะหายได้เร็วขึ้น

ถ้าอาการปวด เอ็นอักเสบ เกิดขึ้นบ่อยทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามที่เราต้องการ เช่น วิ่งได้ไม่ไกล ยังไม่เหนื่อยก็ต้องหยุดวิ่งเนื่องจากปวดเท้า ปวดบ่อยทุกๆสัปดาห์ หรือปวดทุกครั้งที่ออกกำลังกายการรักษาทำดังนี้ครับ

รองเท้ากระดูกงอกที่เท้า
  • ใช้ที่ประคองอุ้งเท้าช่วย หรืออาจเลือกใช้รองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า การเสริมอุ้งเท้าขึ้นมา ช่วยลดภาระการทำงานของเอ็นประคองข้อเท้าด้านในได้
ศึกษาเรืองอุปกรณ์หนุนอุ้งเท้าได้นที่นี่ครับ
กายภาพกระดูกงอกที่เท้า
  • ทำกายภาพให้เอ็นประคองข้อเท้าด้านในแข็งแรงขึ้น
คลิกที่นี่เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการกายภาพเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน

แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น หลังทำการรักษาดังกล่าว อาจต้องปรึกษากับคุณหมอเพื่อพิจารณาผ่าตัดนำกระดูกงอกออกนะครับ

การรักษากระดูกงอกที่เท้าด้วยการผ่าตัด

การรักษากระดูกเท้างอกด้วยการผ่าตัด จะเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กประมาณ 2-3 เซนติเมตร นอนโรงพยาบาลพักฟื้น 1-2 คืนก็กลับบ้านได้ครับ

แต่จะทำในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆตามที่กล่าวมาอย่างเต็มที่แล้วไม่หายนะครับ

หลักการผ่าตัดกระดูกงอกคือ

  • นำกระดูกงอกออก
  • แต่งทรงกระดูกบริเวณที่มีกระดูกงอกให้ไม่ตุ่ยๆออกมา
  • ซ่อมเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (Posterior tibial tendon) ให้แข็งแรงและกลับไปเกาะจุดเกาะที่กระดูกได้สมบูรณ์ที่สุด

ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ช่วยในการผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นให้เกาะจุดเกาะที่กระดูกได้แน่นหนามากขึ้น เรียกว่า anchor suture ทำให้การรักษากระดูกงอกที่เท้าด้วยการผ่าตัดมีผลการรักษาที่ดีมากๆครับ

นอกจากโรค Accessory Navicular syndrome แล้ว ภาวะกระดูกงอกยังสามาถเกิดได้กับส่วนอื่นๆบริเวณเท้าด้วยเช่นกัน เช่น จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย หรือโคนกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเป็นต้น ซึ่งอาการและการรักษาไม่เหมือนกับโรคนี้นะครับ

สรุป

กระดูกงอกที่เท้าเป็นภาวะที่มีกระดูกงอกเกิดขึ้นมาในเส้นเอ็นประคองข้อเท้า เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ในคนที่ไม่มีอาการไม่ต้องรักษาใดๆ ส่วนคนที่มีอาการปวด เจ็บ การรักษาจะเริ่มจากการไม่ผ่าตัดก่อน ถ้าไม่หายหรือเป็นซ้ำบ่อยๆ ไม่สามารถใช้งานเท้าได้เท่าที่ต้องการ การรักษาจึงจะพิจารณาการผ่าตัดครับ

บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล