เนื้อหาในบทความนี้
ใครมีโอกาสเป็นข้อเท้าเสื่อมบ้าง
การรักษาข้อเท้าเสื่อมด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
การรักษาข้อเท้าเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัด
ข้อเท้าเสื่อม คือ ภาวะที่กระดูกอ่อนในข้อเท้าค่อยๆสึก และเสื่อมไปอย่างช้าๆ ทำให้ผิวสัมผัสบริเวณข้อเท้าจากเดิมที่เคยเรียบและลื่น กลายมาเป็น ขรุขระและฝืด
ถ้าเป็นมากๆ ชั้นกระดูกอ่อนที่วางตัวป้องกันกระดูกแข็งอยู่ที่ผิวข้อจะสึกออกจนหมดชั้น
อ่านเรื่องกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บได้ที่นี่ครับเกิดกระดูกแข็งเสียดสีกันขึ้นขณะขยับข้อเท้า ทำให้เกิดอาการปวดเสียวข้อเท้ามาก รวมถึงเกิดภาวะกระดูกงอกตามมาได้
ตามปกติแล้วข้อต่างๆในร่างกายจะเสื่อมลงตามการใช้งาน โดยเฉพาะข้อบริเวณขาเนื่องจากเป็นส่วนที่ใช้ลงน้ำหนัก ยิ่งใช้งานหนัก หรือใช้งานมานาน (ในผู้สูงอายุ) จะมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมได้โดยไม่ต้องมีอุบัติเหตุหรือโรคต่างๆนำมาก่อน เช่นข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม
แต่ข้อเท้าจะแตกต่างออกไป
ที่ข้อเท้าจะพบภาวะข้อเสื่อมตามการใช้งานได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ
เช่นข้อเข่า ข้อสะโพก เนื่องจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อเท้ามีความแข็งแรง ทนแรงกดและแรงฉีกได้มากกว่ากระดูกอ่อนที่ข้อตำแหน่งอื่นๆ รวมถึงลักษณะข้อเท้าที่เข้ารูปกันมากด้วยทำให้พบเข่าเท้าเสื่อมตามการใช้งานทั่วๆไปได้น้อย
ใครมีโอกาสเป็นข้อเท้าเสื่อมบ้าง
โดยปกติโรคข้อเสื่อมอื่นๆที่ไม่ใช่ข้อเท้า เช่นโรคข้อเข่าเสื่อม มักจะพบในคนที่ทำงานหนัก หรือคนที่อายุมากสักหน่อยที่ใช้งานข้อมานานๆ อาจมีสาเหตุของข้อเสื่อมหรือไม่มีก็ได้
แต่สำหรับข้อเท้า โรคข้อเท้าเสื่อมมักจะมีสาเหตุนำมาก่อนครับ ส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุบริเวณข้อเท้าที่ค่อนข้างแรงในอดีต หรือไม่ก็มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดข้อเท้าอักเสบได้ง่ายครับ
อ่านเพิ่มเรื่องข้อเท้าหักได้ที่นี่ครับ อ่านเพิ่มเรื่องข้อเท้าพลิกเอ็นฉีกได้ที่นี่ครับคนที่เป็นโรคข้อเท้าเสื่อมบางท่าน ก็จำไม่ได้ว่าเคยมีอุบัติเหตุนำมาก่อนนะครับ เช่น เคยข้อเท้าพลิกอย่างรุนแรงเมื่อหลายปีก่อน แต่ลืมๆไปแล้วก็มีเหมือนกัน
สาเหตุของโรคข้อเท้าเสื่อม
-
อุบัติเหตุทางด้านข้อเท้า
- กระดูกข้อเท้าหัก แม้ว่าจะได้รับการรักษาจะหายดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใส่เฝือก หรือการผ่าตัดก็ตาม ก็สามารถทำให้เกิดข้อเท้าเสื่อมตามมาได้ กระบวนการเกิดอาการ อาจเป็นเดือน หรือเป็นปีๆก็ได้ครับ
- เอ็นข้อเท้าฉีก ทำให้เกิดภาวะข้อเท้าหลวม ข้อเท้าพลิกง่าย และเกิดภาวะข้อเท้าไม่เข้ารูปกันสนิทเหมือนปกติ ทำให้การลงน้ำหนักบริเวณข้อเท้าผิดปกติไป ทำให้เกิดข้อเท้าเสื่อมตามมาได้
- กระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ (ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ามีการบาดเจ็บนี้) ทำให้กระดูกอ่อนข้อเท้าไม่เรียบและไม่ลื่นเหมือนเดิม ถ้าปล่อยไว้ กระดูกอ่อนผิวข้อเท้าจะขรุขระมากขึ้นและเกิดการเสียดสีกัน ทำให้เกิดข้อเท้าเสื่อมตามมา
- ข้อเท้าผิดรูป ทำให้การลงน้ำหนักบริเวณข้อเท้าไม่กระจายไปทั่วทั้งข้อเท้าเท่าๆกัน การลงน้ำหนักจะเทไปบริเวณหนึ่งๆของข้อเท้า ทำให้บริเวณนั้นต้องรับภาระในการรับน้ำหนักมากเกินปกติ และเกิดข้อเท้าเสื่อมตามมาได้
-
โรคประจำตัว
- โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดข้อต่างๆในร่างกายอักเสบได้ง่าย เช่น โรครูมาตอยด์ โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น
-
ไม่มีสาเหตุ
- เกิดข้อเท้าเสื่อมขึ้นตามธรรมชาติ จากการใช้งานหนัก หรือใช้งานมานานตามอายุ สามารถเกิดขึ้นได้ครับ แต่เป็นส่วนน้อย
อาการข้อเท้าเสื่อม
-
ปวดข้อเท้า
- จะเริ่มปวดจากน้อยๆก่อน ต่อมาจะปวดมากขึ้น
- เป็นๆหายๆ
- จะปวดเสียวมากตอนเดินลงน้ำหนัก เมื่อพักจะหายปวด
- อาจมีปวดตอนกลางคืนได้ บางคนนอนไม่หลับ หรือต้องตื่นมาตอนกลางคืนเนื่องจากปวด
-
ข้อเท้าบวม
- จะบวมบริเวณข้อเท้าทั่วๆ ไม่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง
- จับดูมักจะไม่อุ่น ลักษณะภายนอกจะไม่แดงอักเสบ
- มักจะบวมมากตอนห้อยเท้านานๆ เช่นนั่งห้อยเท้า ยืนต่อเนื่องกันนานๆ
- นอนยกขาสูง จะทำให้อาการบวมทุเลาลง
-
ข้อเท้าฝืด
- กระดกข้อเท้าขึ้น-ลงได้ลดลง
- ขณะกระดกข้อเท้าขึ้น-ลงทำได้ยากขึ้น
- อาการมักเป็นตอนเช้า หลังตื่นนอน
-
ขยับข้อเท้าแล้วมีเสียง
- เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อขรุขระ หรือกระดูกอ่อนผิวข้อสึกจนหมด ทำให้กระดูกแข็งเสียดสีกัน ทำให้มีเสียงเกิดขึ้น
-
กระดกข้อเท้าขึ้น-ลง ได้ไม่สุดเท่าเดิม
-
ข้อเท้าผิดรูป
- สังเกตดูจะพบว่าส้นเท้าเอียงออกนอก หรือเข้าใน มากกว่าอีกข้างหนึ่งที่ปกติ โดยจะเห็นได้ชัดถ้ายืนลงน้ำหนัก
- ขึ้นบันได วิ่ง ยกของหนัก ทำให้ปวดเสียวข้อเท้ามาก บางคนจะทำไม่ได้เลย
การรักษาข้อเท้าเสื่อมด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
- ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักตัวเกิน พยายามลดหน่อยครับ ข้อเท้าของเราจะได้ไม่ต้องรับภาระมาก
- ทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ตามความเหมาะสม (ปรึกษาคุณเภสัชกรหรือคุณหมอประจำตัวก่อนนะครับ)
- ใช้ที่เสริมรองเท้า เช่นที่เสริมอุ้งเท้า (arch support) ในคนที่มีเท้าแบน หรือเสริมแผ่นเอียงที่ส้นเท้า(heel wedge) เพื่อช่วยปรับโครงสร้างเท้าให้สมดุล ทำให้การกระจายน้ำหนักบริเวณข้อเท้าทำได้ดีขึ้น
- เลือกพื้นรองเท้าแบบโค้ง (Rocker bottom shoes) เพื่อลดการใช้ข้อเท้าในการเดิน โดยพื้นรองเท้าที่โค้งจะช่วยให้การเดินไหลไปตามความโค้งของพื้นรองเท้า
- ที่ประคองข้อเท้าแบบแข็ง ไม่ว่าจะเป็น ankle brace หรือ walking boot เพื่อให้ข้อเท้าขยับลดลง และช่วยประคองโครงสร้างของข้อเท้าด้วย
- ใช้ไม้เท้าช่วย อาจเป็นสามขา หรือไม้เท้าขาเดียวก็ยังดีครับ จะได้ช่วยแบ่งรับน้ำหนักตัวไปได้บ้าง
- กายภาพบำบัด เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้า และช่วยเพิ่มพิสัยการขยับของข้อเท้าด้วย
- การออกกำลัง โดยเลือกการออกกำลังที่ใช้ข้อเท้ารับน้ำหนักน้อยๆ ไม่กระแทก เช่นว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน
- การฉีดยาเข้าข้อเท้า อันนี้ต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวนะครับ (ฉีดแล้วได้ผลดีในบางกรณี) ไม่ว่าจะเป็นฉีดสเตียรอยด์ หรือฉีดน้ำเลี้ยงข้อเท้า
การรักษาข้อเท้าเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัด
ถ้ารักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดไม่หาย ก็ต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดแล้วครับ มีหลายวิธี โดยต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวครับ
การเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับ อายุ กิจกรรมที่ชอบทำ กีฬาที่ชอบเล่น อาชีพ
และที่สำคัญที่สุด คือ ข้อเท้าเสื่อมตอนนี้เป็นขั้นไหนแล้ว ถ้าเป็นไม่มาก สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเพื่อให้ข้อกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติได้ครับ
- ส่องกล้องทำความสะอาดข้อเท้า
- ผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้า
- ผ่าตัดปรับแนวข้อเท้าให้ตรง
- ผ่าตัดปรับแนวข้อเท้าให้บริเวณที่ข้อเท้าเสื่อมน้อยรับน้ำหนักแทนบริเวณที่ข้อเท้าเสื่อมมาก
ภาพแสดงการผ่าตัดข้อเท้าเทียม
ภาพแสดงการผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า
สรุป
ข้อเท้าเสื่อมเป็นโรคที่มักเกินภายหลังจากมีอุบัติเหตุที่ข้อเท้าอย่างรุนแรง ซึ่งต่างจากข้อบริเวณอื่นๆเสื่อม ที่มักเกิดจากการใช้งานหนัก การรักษาต้องเริ่มจากวิธีไม่ผ่าตัดก่อน ถ้าไม่ทุเลาจึงพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล