ฝ่าเท้า คือ ส่วนที่เป็นพื้นของเท้า เป็นส่วนที่สัมผัสพื้นขณะยืน เดิน ทำหน้าที่รับน้ำหนักของเราทั้งตัว ฝ่าเท้าของเราทำงานหนักมากนะครับเนื่องจากรับแรงกดจากน้ำหนักตัวของเราตลอด ทั้งการเดิน วิ่ง กระโดด ดังนั้นต้องสนใจฝ่าเท้าของเรากันหน่อย
แสดงส่วนต่างๆของฝ่าเท้าที่ใช้แยกโรคเมื่อมีการเจ็บฝ่าเท้า
ฝ่าเท้าจะประกอบไปด้วยหลายๆส่วน เมื่อมีการปวด หรือบาดเจ็บบริเวณฝ่าเท้าเกิดขึ้น จะต้องหาสาเหตุของอาการเจ็บให้ได้ก่อนครับว่า เกิดจากอะไร จะได้รักษาให้ตรงจุด
โดยฝ่าเท้าของเราประกอบไปด้วยส่วนต่างๆดังนี้
- หน้าเท้า หรือบางคนเรียกว่าจมูกเท้า (ball of foot)
- ฝ่าเท้าด้านนอก หรือด้านข้างเท้า (lateral foot)
- ฝ่าเท้าด้านใน หรืออุ้งเท้า (arch of foot)
- พังผืดฝ่าเท้า (plantar fascia)
- ส้นเท้า (heel)
- ฝ่าเท้าด้านบน (dorsal foot) จริงๆส่วนนี้ไม่ได้เป็นส่วนของฝ่าเท้านะครับ แต่ส่วนใหญ่จะเรียกรวมๆกัน
ปวดฝ่าเท้าเกิดจากอะไร
เมื่อมีอาการปวดฝ่าเท้าขึ้น ให้สังเกตก่อนว่า อาการเกิดขึ้นมีลักษณะเฉพาะใด เช่น
ปวดแบบใด สัมพันธ์กับการทำกิจกรรมต่างๆหรือไม่ เกิดช่วงใดของวัน พักหายหรือไม่ แต่หลักๆคือต้องแยกให้ได้ว่า อาการปวดเกิดบริเวณใดของฝ่าเท้า
โดยมีแนวทางคร่าวๆดังนี้ (ถ้าอาการเป็นมากหรือเป็นเรื้อรัง แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยสาเหตุนะครับ)
ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า
ปวดฝ่าเท้าด้านหน้าเกิดจากอะไร, สาเหตุ
มีแรงกดบริเวณหน้าเท้ามากเกินไป (Metatarsalgia)
เนื่องจากน่องและเอ็นร้อยหวายตึงเกินไป
ทำให้ขณะเดิน หรือวิ่ง จะมีแรงกระแทก แรงกด บริเวณหน้าเท้ามากกว่าปกติ อาการจะปวดหน้าเท้าทั่วๆ ไม่ปวดส่วนใดส่วนหนึ่ง จะปวดตอนเดิน หรือวิ่ง ใช้งานนานๆ พักก็จะดีขึ้น
อ่านเพิ่มเรื่องปวดน่องเส้นตึงได้ที่นี่ครับเส้นประสาทหน้าเท้าเป็นปม (Morton’s neuroma)
จะมีอาการปวดบริเวณหน้าเท้าเป็นจุด ไม่ปวดไปทั่วๆหน้าเท้า
มักจะเป็นบริเวณระหว่างนิ้วเท้าที่สาม กับนิ้วเท้าที่สี่ บางคนจะชานิ้วเท้า หรือไม่ก็ปวดร้าวมาส่วนหลังเท้าหรือฝ่าเท้าส่วนอื่นได้ เดินใช้งานมากๆ หรือใส่รองเท้าที่บีบบริเวณหน้าเท้าจะทำให้อาการเป็นมากขึ้น ในบางครั้งอาการจะเกิดขึ้นตอนนอน หรือพักก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาการสัมพันธ์กับการเดินลงน้ำหนัก
อ่านเพิ่มเรื่องเส้นประสาทหน้าเท้าอักเสบได้ที่นี่ครับถ้ามีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน อาการปวดฝ่าเท้าด้านหน้า อาจเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุเลยครับ เช่น เอ็นโคนนิ้วเท้าฉีกขาด (Turf toe), กระดูกหัก, ข้อนิ้วเท้าเสื่อมจากอุบัติเหตุ
วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า
การรักษาอาการปวดฝ่าเท้าด้านหน้า จริงๆแล้วจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรครับ จึงจะแก้ได้ถูกจุดที่สุด แต่จะขอแนะนำการปฏิบัติตัวคร่าวๆดังนี้
- หลีกเลี่ยงการยืน เดิน ทำงานนานๆต่อเนื่อง ให้พักบ่อยๆ
- ถ้าต้องยืนทำงานนานๆ ควรมีที่พักเท้า
- เลือกรองเท้าที่มีลักษณะ พื้นนุ่มๆ ส้นไม่สูง(ลดแรงกดส่วนหน้าเท้า) หน้ากว้างๆ (เพื่อกระจายแรง)
- ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ควรหารองเท้ามาใส่ในบ้านด้วย
- กายภาพยืดน่องบ่อยๆ ส่วนใหญ่คนที่มีอาการเจ็บหน้าเท้า จะมีเอ็นร้อยหวายตึงร่วมด้วยครับ
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง มีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะครับ
อ่านเพิ่มเรื่องการยืนนานๆต้องทำอย่างไรได้ที่นี่ครับการกายภาพยืดน่องรักษาอาการน่องตึง ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า
แท่นยืนยืดน่อง รักษาอาการน่องตึง ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า
ปวดฝ่าเท้าด้านใน
ปวดฝ่าเท้าด้านในเกิดจากอะไร, สาเหตุ
เท้าแบน (flatfoot)
ในคนที่มีภาวะเท้าแบน จะทำให้อุ้งเท้าล้ม และมีอาการเจ็บฝ่าเท้าด้านในได้ อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานมากๆ บางคนจะเจ็บและบวม ตามแนวเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (อยู่ข้างๆตาตุ่มด้านใน) ร่วมด้วย
อ่านเพิ่มเรื่องเท้าแบนได้ที่นี่ครับกระดูกงอกที่เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (accessory navicular)
จะมีก้อนกระดูกงอกบริเวณฝ่าเท้าด้านใน กระดูกตุ่ยๆออกมา จะมีอาการเจ็บบริเวณที่กระดูกงอก เมื่อใช้งานเท้ามากๆ จะเจ็บมาก เมื่อพักจะหาย
เนื่องจากกระดูกงอกบริเวณนี้จะเกิดขึ้นในเส้นเอ็นประคองข้อเท้า ส่วนใหญ่จะเจ็บตอนใช้งานหนักๆ
เช่นเพิ่มโปรแกรมการซ้อมกีฬา ไปทริปเที่ยวเดินขึ้นเขา
อ่านเพิ่มเรื่องกระดูกงอกที่เอ็นประคองข้อเท้าด้านในที่นี่ครับปวดฝ่าเท้าบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า
บริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า เป็นส่วนที่ทำงานหนักครับ โดยเฉพาะในนักกีฬา หรือคนที่น้ำหนักตัวเยอะ มีสาเหตุการบาดเจ็บได้หลายอย่างครับ เช่น กระดูกในเอ็นงอนิ้วหัวแม่เท้าอักเสบ (sesamoiditis), ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าเสื่อม (hallux rigidus), เอ็นประคองนิ้วหัวแม่เท้าฉีกขาด (turf toe)
วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าด้านใน
การรักษาอาการปวดฝ่าเท้าด้านในจริงๆแล้วจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรครับ จึงจะแก้ได้ถูกจุดที่สุด แต่จะขอแนะนำการปฏิบัติตัวคร่าวๆดังนี้
- หลีกเลี่ยงการยืน เดิน ทำงานนานๆ
- พักบ่อยๆ ยกขาสูงบ่อยๆเท่าที่ทำได้
- ถ้ามีภาวะเท้าแบน ลองเลือกรองเท้าเสริมอุ้งหรืออุปกรณ์เสริมอุ้งในรองเท้ามาใส่
- กายภาพยืดน่องบ่อยๆ เนื่องจากเท้าแบน จะมาพร้อมกับภาวะน่องตึงเสมอ
- ถ้าปวดฝ่าเท้าด้านในตอนใช้งานหนักๆ ให้ฝึกความแข็งแรงของเอ็นประคองฝ่าเท้า คอยๆเพิ่มความเข้มข้นของการฝึกทีละนิด เอาที่ไม่เจ็บ
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง มีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะครับ
อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า สำหรับใส่ในรองเท้า
แท่นยืนยืดน่อง รักษาอาการน่องตึง
ปวดฝ่าเท้าด้านนอก
ปวดฝ่าเท้าด้านนอกเกิดจากอะไร, สาเหตุ
เท้าโก่ง (cavus foot)
ภาวะเท้าโก่ง หรืออุ้งเท้าสูง
จะทำให้มีการลงน้ำหนักบริเวณด้านข้างเท้ามากผิดปกติ
จะทำให้ปวดฝ่าเท้าด้านนอก บางคนจะมีปัญหาข้อเท้าพลิกได้บ่อย อาจจะมีตาปลาหรือหนังแข็งๆที่ฝ่าเท้าด้านนอก รองเท้าจะสึกบริเวณส้นรองเท้าด้านนอกได้เร็ว ลึกกว่าปกติ
กระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 หัก
ถ้าเคยมีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน อาจต้องนึกถึงภาวะกระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 หัก ซึ่งเป็นภาวะที่พบร่วมกับการเกิดข้อเท้าพลิก ตกบันได ตกส้นสูง ได้บ่อย ถ้ามีอุบัติเหตุแล้วปวดฝ่าเท้าด้านนอกเรื้อรัง แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์ดูนะครับ
วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าด้านนอก
การรักษาอาการปวดฝ่าเท้าด้านนอกจริงๆแล้วจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรครับ จึงจะแก้ได้ถูกจุดที่สุด แต่จะขอแนะนำการปฏิบัติตัวคร่าวๆดังนี้
- เลือกรองเท้าที่พื้นนุ่มๆ
- พยายามใส่รองเท้าตลอดเวลา ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
- เลือกแผ่นรองรองเท้าที่นุ่มๆใส่เสริม
- กายภาพยืดน่องบ่อยๆ
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง มีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะครับ
รองเท้าวิ่งแบบ support ช่วยรักษาอาการปวดฝ่าเท้าด้านนอก
แท่นยืนยืดน่อง รักษาอาการน่องตึง
ปวดพังผืดฝ่าเท้า
พังผืดฝ่าเท้า ช่วยให้อุ้งเท้าคงความเป็นอุ้งเท้า
พังผืดฝ่าเท้า เป็นอวัยวะที่สำคัญมากนะครับ จะเป็นเอ็นเส้นนึง ที่ยึดจากกระดูกส้นเท้า ไปที่กระดูกหน้าเท้าหลายๆชิ้น มีลักษณะเป็นแผ่นเส้นเอ็น มีหน้าที่ขึง และช่วยประคองอุ้งเท้าให้เป็นอุ้งเท้าอยู่ได้ แม้ในขณะเดินลงน้ำหนัก เท้าของเราก็จะไม่แบน ยังมีอุ้งอยู่
ปวดพังผืดฝ่าเท้าเกิดจากอะไร, สาเหตุ
รองช้ำ (plantar fasciitis)
รองช้ำส่วนใหญ่จะปวดบริเวณส้นเท้า แต่ในบางคน รองช้ำก็จะปวดที่ฝ่าเท้าบริเวณพังผืดฝ่าเท้าได้นะครับ อาการปวดจะปวดแปล๊บๆ ปวดขณะเริ่มเดิน เช่นตื่นนอนตอนเช้าแล้วปวด นั่งทานอาหารแล้วลุก ก็จะปวด
อ่านเพิ่มเรื่องรองช้ำได้ที่นี่ครับก้อนพังผืดฝ่าเท้า (plantar fascial fibromatosis)
อาการจะคล้ายๆรองช้ำ ครับ คือมีอาการเจ็บพังผืดฝ่าเท้าตอนเริ่มใช้งาน แต่ถ้าก้อนใหญ่หน่อย จะสังเหตุหรือคลำได้ก้อนบริเวณพังผืดฝ่าเท้าด้วย บางคนเวลาเดินลงน้ำหนัก จะเจ็บคล้ายๆเหยียบหินในรองเท้า
พังผืดฝ่าเท้าขาด (plantar fascia rupture)
ถ้ามีประวัติอุบัติเหตุรุนแรงมาก่อน ชวงหลังอุบัติเหตุใหม่ๆ จะมีอาการปวดฝ่าเท้ามาก และมีรอยช้ำเลือดออกบริเวณฝ่าเท้า
วิธีแก้ปวดพังผืดฝ่าเท้า
การรักษาอาการปวดพังผืดฝ่าเท้า จริงๆแล้วจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรครับ จึงจะแก้ได้ถูกจุดที่สุด แต่จะขอแนะนำการปฏิบัติตัวคร่าวๆดังนี้
- กายภาพยืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้าบ่อยๆ
- กายภาพยืดน่องบ่อยๆ
- นวดคลึง โดยใช้การกด หรือเหยียบวัตถุกลมๆ เช่นลูกเทนนิส ขวดน้ำ
- ใส่รองเท้าพื้นนุ่มๆ
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง มีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะครับ
อ่านเพิ่มเรื่องการกายภาพสำหรับโรครองช้ำที่นี่ครับท่ายืดพ้งผืดฝ่าเท้า รักษาอาการรองช้ำ
กายภาพยืดน่อง รักษาอาการรองช้ำ
นวดพังผืดฝ่าเท้าด้วยการเหยียบบนลูกบอล ขวดน้ำ ลูกเทนนิส ลูกกอล์ฟ
ปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้า
ปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้าเกิดจากอะไร, สาเหตุ
รองช้ำ (plantar fasciitis)
อาการรองช้ำจะมาด้วย อาการปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้าเป็นส่วนใหญ่ครับ โดยจุดปวดจะปวดบริเวณส้นเท้า เยื้องมาด้านหน้า และด้านในหน่อย อาการจะเป็นมากตอนเริ่มเดิน เช่นตื่นนอนมาเดินนี่จะปวดมากๆ พอเดินไปสักพัก อาการปวดจะดีขึ้นได้ครับ พอนั่งทำงาน นั่งรถ แล้วลงเดินจะปวดอีก
ไขมันส้นเท้าฝ่อ (fat pad atrophy)
ไขมันส้นเท้าฝ่อ
ก็เหมือนกับส้นเท้าไม่มีเบาะรองรับแรงกด แรงกระแทก ทำให้มีอาการเจ็บตอนเดินลงส้นเท้า
สาเหตุของไขมันส้นเท้าฝ่อ ส่วนใหญ่เกิดจากได้รับยาฉีดบริเวณส้นเท้า แล้วยาไปรวมกันบริเวณไขมัน (ฉีดยาส้นเท้าบ่อยเกินไป) ทำให้ชั้นไขมันส้นเท้าฝ่อได้ หรือบางคนที่มีอุบัติเหตุกระแทกอย่างรุนแรงที่ส้นเท้า ก็ทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้า
การรักษาอาการปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้า จริงๆแล้วจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรครับ จึงจะแก้ได้ถูกจุดที่สุด แต่จะขอแนะนำการปฏิบัติตัวคร่าวๆดังนี้
- กายภาพยืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้าบ่อยๆ
- กายภาพยืดน่องบ่อยๆ
- นวดคลึง โดยใช้การกด หรือเหยียบวัตถุกลมๆ เช่นลูกเทนนิส ขวดน้ำ
- ใส่รองเท้าพื้นนุ่มๆ โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า
- เลือกแผ่นรองรองเท้ามาใช้ เลือกที่ส้นเท้านุ่มๆ
- ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์ ในโรคไขมันส้นเท้าฝ่อ จะทำให้อาการเป็นมากขึ้น
- การฉีดยาส้นเท้า เพื่อรักษาโรครองช้ำ ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษา และไม่ควรฉีดบ่อยเกินไป (ฉีดห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน และฉีดไม่เกิน 1-2 ครั้ง ถ้าไม่หายก็ไม่ควรฉีดซ้ำนะครับ)
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง มีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะครับ
อ่านเพิ่มเรื่องการเลือกรองเท้าสำหรับโรครองช้ำที่นี่ครับการฉีดยาสเตียรอยด์ รักษาอาการรองช้ำ ควรฉีดเมื่อจำเป็นจริงๆ ฉีดไม่บ่อย และควรมีเครื่องอัลตราซาวน์ช่วยในการบอกตำแหน่ง
ท่ายืดพ้งผืดฝ่าเท้า รักษาอาการรองช้ำ
ปวดฝ่าเท้าด้านบน
ปวดฝ่าเท้าด้านบน เราจะเรียกบริเวณนี้ว่าหลังเท้านะครับ บริเวณนี้มีอวัยวะอยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระดูก ข้อต่อ เส้นประสาท เส้นเอ็น เมื่อมีอาการปวดฝ่าเท้าด้านบน แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยครับว่าเกิดจากอะไร
ปวดฝ่าเท้าด้านบนเกิดจากอะไร, สาเหตุ
ข้อกลางเท้าสึก (midfoot osteoarthritis)
จะมีอาการปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านบน ปวดตอนใช้งานมากๆ เดินมากๆ วิ่งไกลๆ บางคนจะคลำได้กระดูกงอกที่หลังเท้าด้วย
อ่านเพิ่มเรื่องอาการปวดหลังเท้าได้ที่นี่ครับซีสบริเวณหลังเท้า (ganglion cyst)
จะคลำได้ก้อนถุงน้ำที่หลังเท้า ก้อนอาจจะไปกดเส้นประสาททำให้ปวดจี๊ดๆ หรือชาหลังเท้า ถ้าถุงน้ำเกิดขึ้นบริเวณที่ขอบรองเท้ามาโดน ทำให้ใส่รองเท้าแล้วเจ็บได้
เอ็นหลังเท้าอักเสบ (tendinitis)
เกิดจากการใช้งานเท้าหนัก วิ่งหนักๆไกลๆ เดินนานๆ หรือใส่รองเท้าที่รัดมากเกินไป ทรงไม่เหมาะกับเท้าของเรา
วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าด้านบน
การรักษาอาการปวดฝ่าเท้าบริเวณหลังเท้าจริงๆแล้วจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรครับ จึงจะแก้ได้ถูกจุดที่สุด แต่จะขอแนะนำการปฏิบัติตัวคร่าวๆดังนี้
- ใส่รองเท้าที่ไม่รัดบริเวณหลังเท้า
- ถ้าใส่รองเท้าแบบผูกเชือก อย่าดึงเชือกจนรัดหลังเท้าแน่นเกินไป
- ถ้าใส่รองเท้าแบบผูกเชือก ลองไม่ร้อยเชือกรูที่ตรงกับอาการปวด เพื่อลดการกดจากเชือกรองเท้า
- ลองใส่รองเท้าเสริมอุ้งเท้า อาจจะช่วยได้
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง มีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะครับ
ผูกเชือกรองเท้าเว้นช่วงที่่เจ็บบริเวณฝ่าเท้าด้านบน
ที่เสริมอุ้งเท้า ใส่ในรองเท้า ลดการใช้งานของข้อกลางเท้าได้
ปวดฝ่าเท้าเดินเยอะ
เดินเยอะแล้วปวดฝ่าเท้า เป็นของคู่กันครับ ลองเลือกรองเท้าเดินดีๆสักคู่ หาเรื่องพักบ่อยๆ ยืดเหยียดบ่อยๆ น่าจะช่วยได้
อ่านเพิ่มเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อต้องเดินนานๆได้ที่นี่ครับปวดฝ่าเท้าหลังตื่นนอน
อาการปวดฝ่าเท้าหลังตื่นนอนนี่เป็นอาการหลักๆของโรครองช้ำครับ จริงๆคือปวดตอนเริ่มเดิน เช่นหลังตื่นนอน หลังนั่งทานอาหาร นั่งประชุมนานๆ หลังขับรถ
เมื่อมีอาการปวดแล้ว พอเดินไปสักพัก อาการปวดจะดีขึ้น แต่พอช่วงเย็นๆ หลังจากเดินมาทั้งวัน อาการปวดจะกลับมาอีก แบบนี้เป็นอาการของรองช้ำนะครับ
อ่านเพิ่มเรื่องรองช้ำได้ที่นี่ครับอยู่ดีๆก็ปวดฝ่าเท้า
ต้องหาสาเหตุนะครับว่าเกิดจากอะไร ลองสังเหตุดูว่า อาการจะปวดตอนไหน สัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำหรือไม่ ปวดตอนไหนของวัน พักแล้วหายหรือไม่ มีอาการข้างเคียงอื่นๆหรือไม่ และทำสำคัญ ปวดบริเวณใดของฝ่าเท้า ข้อมูลพวกนี้จะพอบอกได้ว่า ปวดฝ่าเท้าจากสาเหตุใด
ถ้าปวดมาก ปวดเรื้อรัง หรือมีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์นะครับ
ปวดฝ่าเท้ากินยาอะไร
ลองทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอย์ แต่ต้องปรึกษาคุณหมอ หรือคุณเภสัชกรก่อนนะครับ นอกจากทานยาแล้วยังมีการรักษาอื่นๆที่ช่วยได้นะครับ เช่นการกายภาพยืดเหยียด การเลือกรองเท้าที่เหมาะกับเท้าของเรา
สรุป
อาการปวดฝ่าเท้าเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ โดยมีหลายสาเหตุที่ทำให้ปวดฝ่าเท้าได้ ผู้ที่เป็นควรสังเกตอาการ โดยเฉพาะบริเวณที่ปวดฝ่าเท้า เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีอาการปวดมาก ปวดเรื้อรัง หรือมีอุบัติเหตุนำมาก่อน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย