fbpx

เท้าชา เส้นประสาทเท้าอักเสบ

ฝ่าเท้าชา เส้นประสาทเท้าอักเสบ

ฝ่าชาเท้า คือกลุ่มอาการที่มีอาการชาเกิดขึ้นที่ฝ่าเท้า อาจชาข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากโรคเบาหวาน จากภาวะขาดวิตามินบี ปลายประสาทอักเสบ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

โรคทางเท้าโรคหนึ่งที่ทำให้มีอาการชาบริเวณฝ่าเท้าได้ และพบได้บ่อยๆคือ โรคเส้นประสาทข้อเท้าถูกกดทับ (Tarsal tunnel syndrome)

ฝ่าเท้าชา

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำก่อนครับ เส้นประสาทที่มารับความรู้สึกบริเวณฝ่าเท้าของเรา คือเส้นประสาทที่ชื่อว่า posterior tibial nerve เส้นประสาทเส้นนี้จะคล้องอยู่ด้านหลังของตาตุ่มด้านในของข้อเท้า จากนั้นจะแตกแขนงเพื่อไปรับความรู้สึกที่ฝ่าเท้า

บริเวณที่เส้นประสาทคล้องหลังตาตุ่มด้านในนี่แหละครับที่มีการกดทับเส้นประสาทได้บ่อยและทำให้มีอาการชาฝ่าเท้าขึ้นมาได้ และส่วนใหญ่จะพบร่วมกับอาการปวดข้อเท้าด้านใน

เส้นประสาทเท้าอักเสบเนื่องจากถูกกดเบียด มี สาเหตุจากอะไรบ้าง

อาจมีการกดทับเส้นประสาทได้จากหลายๆสาเหตุเลยครับ เช่นอาจมีก้อนซีสไปกด หรือมีกระดูกงอกมากดก็ได้ 

               เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เราจะแบ่งสาเหตุการกดหลักๆดังนี้ครับ

    1. มีก้อนมาเบียดเส้นประสาท เช่น ก้อนไขมันโตผิดที่, เส้นเลือดขอดขดตัวเป็นก้อน, ข้อบริเวณนั้นเสื่อมและมีกระดูกงอกมากด, เคยมีกระดูกหักแล้วติดผิดรูปมากด
    2. โครงสร้างเท้าผิดปกติ ทำให้บริเวณช่องเส้นประสาท (Tarsal tunnel) ตีบแคบลง ส่วนใหญจะเป็น เท้าแบน (flat foot) หรือเท้าโก่ง (cavus foot)
    3. การบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า เช่นข้อเท้าพลิกแล้วมีอาการบวมจะเนื้อเยื่อกดเบียดช่องเส้นประสาท
    4. ไม่มีสาเหตุ ซึ่งอันนี้เป็นข้อที่พบบ่อยที่สุดเลยครับ ไม่มีอะไรมากด แต่เกิดจากเนื้อเยื่อหุ้มช่องเส้นประสาท (retinaculum) ถูกใช้งานมานาน อักเสบและหนาตัวขึ้นมากด

อาการ เส้นประสาทเท้าอักเสบ

               ชา โรคนี้จะทำให้มีอาการชาบริเวณฝ่าเท้าเป็นหลัก อาจชาทั้งฝ่าเท้าหรือชาด้านใดด้านหนึ่งของฝ่าเท้าก็ได้

             ปวด โรคนี้จะทำให้ปวดบริเวณด้านในข้อเท้า และฝ่าเท้า ส่วนใหญ่จะอธิบายยากว่ามันรู้สึกยังไง เช่น รู้สึกแปล๊บๆ รู้สึกไฟช็อต รู้สึกเหมือนโดนลวก รู้สึกเหมือนโดนของมีคมแทง

               ปวดร้าว จะร้าวจากหลังตาตุ่มด้านในขึ้นมาที่น่องหรือลงไปที่ฝ่าเท้าก็ได้

               ทำกิจกรรมแล้วจะมีอาการมากขึ้น เช่น เดิน วิ่ง เล่นกีฬา เดินขึ้นที่สูง และอาการจะดีขึ้นเมื่อพักครับ

               คนที่เป็นบางคนจะบอกได้เลยครับว่า ทำท่าไหนแล้วเป็นมากขึ้น เช่น ถ้านั่งยองแล้วจะมีอาการ ถ้ากระโดดหรือวิ่งมากๆแล้วจะมีอาการ บางคนยืนนานๆก็มีอาการ

               บางครั้งอาจมีอาการตอนนอนกลางคืน หรือตอนพักก็ได้เหมือนกันครับ

การตรวจร่างกายด้วยตัวเอง

ถ้าเรามีอาการชาฝ่าเท้า ร่วมกับมีอาการปวดด้านในข้อเท้า (รอบๆตาตุ่มด้านใน) เราก็อาจมีภาวะเส้นประสาทเท้าถูกกดทับได้ครับ ลองสังเกตตัวเองแบบนี้ดูนะครับ

นอกจากความรู้สึกชาฝ่าเท้า ปวดบริเวณด้านในข้อเท้าและฝ่าเท้าแล้ว ให้เราลองใช้นิ้วเคาะบริเวณหลังตาตุ่มด้านในดูครับ ถ้าเจ็บแปล๊บขึ้นมา ก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้ครับ (เรียกว่า tinel sign)

หรือลองทำตามนี้ดูนะครับ ใช้มือจับเท้าข้างที่มีอาการทำท่า กระดกข้อเท้า + กระดกนิ้วเท้า + เอียงข้อเท้าออกด้านนอก ทำค้างไว้ 1-2 นาที ถ้าอาการปวดชาเป็นมากขึ้นหรือปวดมากขึ้น ก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้ครับ

ลองดูคลิปวีดีโอการตรวจร่างกายนะครับ

ตรวจฝ่าเท้าชา
ตรวจเส้นประสาทเท้าอักเสบ

การรักษาเบื้องต้น เส้นประสาทเท้าอักเสบ

ถ้ามีอาการดังกล่าว การรักษาเริ่มจากวิธีง่ายๆก่อนครับ ให้เราพักการใช้งานข้อเท้า เช่น ลดการออกกำลัง หรือเปลี่ยนวิธีออกกำลังที่ใช้ข้อเท้ามากๆ มาเป็นการออกกำลังที่ใช้ข้อเท้าลดลง หลีกเลี่ยงท่าทางที่ข้อเท้าต้องกระดกขึ้นมากๆ เช่นท่านั่งยอง เลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดด หรือวิ่งหนักๆ

รองเท้าก็สำคัญนะครับ ถ้าใส่รองเท้าคับเกินไป ให้เปลี่ยนมาใส่รองเท้าที่พอดีสักหน่อย หรือถ้าเป็นรองเท้าแบบผูกเชือก อาจลองคลายเชือกดูก็อาจจะช่วยได้

ทานยา ต้องปรึกษาทางเภสัชกรทุกครั้งนะครับ ว่าควรใช้ยาประเภทใด

ถ้ามีอาการปวดบวมอักเสบจากการใช้งานหนัก ต้องพัก ยกขาสูง ประคบเย็นช่วยนะครับ

เมื่อมีเท้าชา ควรพบแพทย์เมื่อไหร่

ถ้ารักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น ถึงเวลาต้องมาปรึกษาแพทย์แล้วครับ

คุณหมอจะทำการซักประวัติ เช่นอาการปวด อาการชา โรคประจำตัว ประวัติสุขภาพ เนื่องจากอาการชามีสาเหตุได้หลายอย่างมากครับ ดังนั้นต้องคุยกันยาวหน่อย

การตรวจร่างกาย ต้องตรวจตั้งแต่หลังถึงเท้าเลยครับ เพื่อวินิจฉัยให้ได้ว่า อาการชาเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร ตำแหน่งไหน และต้องตรวจความผิดปกติของเท้าด้วยว่ามีโครงสร้างผิดรูปหรือไม่  

ถ้าจำเป็นคุณหมอจะแนะนำให้ไปตรวจทางเดินไฟฟ้าของเส้นประสาท ที่เรียกว่า EMG เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ว่าการกดทับเส้นประสาท เกิดบริเวณข้อเท้าด้านในจริงๆ

ถ้าสงสัยภาวะมีก้อนกดทับเส้นประสาท อาจต้องตรวจพิเศษ MRI เพื่อดูว่ามีก้อนจริงหรือไม่ และน่าจะเป็นก้อนอะไรด้วยครับ

ตรวจเส้นประสาทเท้าชา
ตรวจเอกซเรย์เท้าชา

การรักษาโดยแพทย์ ทำอะไรได้บ้าง

ถ้าสามารถวินิจฉัยว่าเป็นเส้นประสาทข้อเท้าถูกกดทับจริง

หากมีสาเหตุจากก้อนมากดเบียด การรักษาแนะนำให้ผ่าตัดนำก้อนออก จะมีโอกาสหายมากกว่าครับ

ถ้าไม่มีก้อนกด การรักษาจะใช้การพัก ปรับพฤติกรรม ตามที่กล่าวข้างต้น จะใช้ยาหลากหลายประเภทมากขึ้น

บางกรณีจะมีการฉีดยาเข้าช่องเส้นประสาทเพื่อลดการอักเสบเฉพาะจุดร่วมด้วย แต่ต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้นนะครับ

ถ้ามีอาการมากถึงขึ้นเดินกะเผลก หรือเดินลงน้ำหนักไม่ได้ อาจต้องใช้เฝือกอ่อน หรือที่ประคองข้อเท้าช่วย ร่วมกับอุปกรณ์ช่วยเดิน ก็ทำให้ทุเลาอาการลงได้

ถ้ามีภาวะเท้าผิดรูป การรักษาอาจใช้การปรับรองเท้า การใช้แผ่นรองรองเท้า เพื่อปรับทรงเท้าให้เข้ารูปมากขึ้น ก็ช่วยได้ครับ

ภาวะเท้าแบน ส่งผลให้เส้นประสาทข้อเท้าบริเวณตาตุ่มด้านในถูกยืดจนอักเสบเรื้อรัง

ที่ประคองเท้า ฝ่าเท้าชา

การใช้แผ่นรองรองเท้าเพื่อปรับทรงเท้าผิดรูป

ถ้ารักษาไม่หายสักทีทำอย่างไร

ถ้าเป็นมานาน โดยที่รักษาด้วยวิธีต่างๆมาอย่างเต็มที่แล้ว และไม่มีภาวะอื่นร่วมด้วย การรักษาสามารถใช้การผ่าตัดได้ครับ โดยจะใช้การผ่าตัดคลายพังผืดบริเวณช่องเส้นประสาท

ถ้ามีก้อนเบียดเส้นประสาท การผ่าตัดนำก้อนออกจะดีที่สุด ถ้ามีโครงสร้างเท้าผิดรูป อาจต้องแก้ความผิดรูปด้วยการผ่าตัดด้วย

สรุป

อาการฝ่าเท้าชา เป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่เราพบได้บ่อยๆคือ เส้นประสาทข้อเท้าอักเสบ เนื่องจากถูกกดเบียดบริเวณตาตุ่มด้านใน การรักษาต้องแยกโรคให้ได้ก่อนว่าอาการชาเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากเส้นประสาทถูกกดเบียดจริง จึงรักษาด้วยการพัก ทานยา การใช้ประคองข้อเท้า ถ้าไม่หายสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ โดยต้องหาสาเหตุของการกดเบียดให้ได้ก่อน

 

บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล