fbpx

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก

ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับข้อเท้า สามารถได้ทุกเมื่อนะครับ ไม่ว่าจะเดินตกบันได ตกส้นสูง อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุจากการจราจร ทำให้เกิดการบาดเจ็บกับอวัยวะต่างๆได้ เช่น กระดูกข้อเท้าหัก เอ็นข้อเท้าฉีก กระดูกอ่อนบาดเจ็บ หรือแม้แต่การบาดเจ็บอื่นๆนอกข้อเท้า เช่น ข้อเท้าพลิก แล้วล้มจนสะโพกหักเป็นต้น

อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อเท้าพลิกได้ที่นี่ครับ

เมื่อมีข้อเท้าพลิกขึ้น สิ่งสำคัญที่จะต้องทำมี 2 อย่างหลักๆด้วยกัน ได้แก่

1 ต้องทำให้มั่นใจว่า ข้อเท้าของเราไม่หัก

              การที่จะทำให้มั่นใจว่าเมื่อเกิดข้อเท้าพลิกแล้วข้อเท้าไม่หัก จริงๆแล้วจะต้องตรวจร่างกายโดยแพทย์ และเอกซเรย์ข้อเท้าเพื่อประกับการวินิจฉัย แต่เราก็ประเมินตัวเองก่อนคร่าวๆได้นะครับ เช่น

ข้อเท้าพลิก กระดูกหัก

ภาพเอกซเรย์ข้อเท้าพลิก มีกระดูกหัก บริเวณศรสีแดง

  • ถ้าข้อเท้าผิดรูป เช่นเบี้ยว เอียง หมุน น่าจะมีกระดูกหัก
  • ถ้ามีข้อเท้าบวมมาก มีรอยช้ำม่วงๆเขียวๆ น่าจะมีกระดูกหัก
  • เดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย แม้แต่ก้าวเดียว น่าจะมีกระดูกหัก
  • อุบัติเหตุรุนแรงมาก น่าจะมีกระดูกหัก
อ่านเพิ่มเติมเรื่องกระดูกข้อเท้าหักได้ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าเราจะมีข้อเท้าหัก แนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  • หาอุปกรณ์ดามข้อเท้า ลดการขยับ และการบาดเจ็บเพิ่มเติม
  • ยกขาสูง ประคบเย็น ลดอาการบวม
  • รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ และเอกซเรย์อย่างรวดเร็ว ไม่ควรรอดูอาการ
  • ให้งดน้ำและอาหารทันที เผื่อว่ามีภาวะฉุกเฉินต้องเข้ารับการผ่าตัด (ก่อนผ่าตัดควรงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง)

2 ต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ถูกวิธี

              เพื่อให้ข้อเท้าแพลง สามารถหายกลับมาใช้งานได้ปกติอย่างรวดเร็ว ลดการเกิดการบาดเจ็บซ้ำ ให้ปฏิบัติตามหลัก RICE protocol ดังนี้

RICE protocol

R (rest) คือการพัก ลดการเดิน ใช้งาน ไปก่อน งดเล่นกีฬา หรือใช้งานข้อเท้าหนักๆ

I (ICE) คือการประคบเย็นบริเวณที่ปวดอักเสบ โดยใช้ถุงเจลเย็น ห่อผ้าขนหนู และนำมาประคบ แนะนำว่าใน 1 ชั่วโมง ให้ประคบประมาณ 10-15 นาที

C (compression) คือการพันผ้า เพื่อลดอาการข้อเท้าบวม โดยให้ใช้ผ้ายืดทางการแพทย์ (elastic bandage) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา มาพันโดยพันจากส่วนปลายเท้า ขึ้นไปจนถึงส่วนน่อง

E (elevation) คือการยกขาสูง ไม่ว่าจะตอนนอน ตอนนั่ง ควรยกขาสูงไว้ครับ เพื่อลดอาการบวม ปวด และไม่ควรห้อยขานานๆด้วย เนื่องจากเท้าจะบวมและปวดมากขึ้นได้

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก คืออะไร

ข้อเท้าพลิกอย่างรุนแรง จนทำให้เส้นเอ็นยึดข้อเท้าตำแหน่งต่างๆเกิดการบาดเจ็บขึ้น โดยการบาดเจ็บอาจจะเป็นแค่เอ็นอักเสบ เอ็นฉีกขาดบางส่วน หรือเอ็นฉีกขาดแบบเต็มเส้นก็ได้

เอ็นข้อเท้าที่บาดเจ็บจะมีทั้งหมด 3 ตำแหน่งหลักๆ โดยขออธิบายเกี่ยวกับกระดูกและเอ็นของข้อเท้าแบบง่ายๆก่อนนะครับ

กายวิภาคข้อเท้าแพลง

กระดูกข้อเท้าประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้น คือ

  1. กระดูกหน้าแข้งชิ้นหลัก(Tibia)
  2. กระดูกหน้าแข้งชิ้นรอง(Fibula)
  3. กระดูกข้อเท้า (Talus)

โดยกระดูกทั้งสองชิ้นนี้จะเชื่อมติดกันด้วยเส้นเอ็นข้อเท้าด้านบน (Syndesmotic ligament)

              จากนั้นกระดูกข้อเท้า (Talus) เข้ามาสวมกับกระดูกสองชิ้นที่กล่าวไปแล้ว โดยกระดูกข้อเท้าจะเชื่อมกับกระดูกหน้าแข้งทั้งสองฝั่งด้วยเอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก(lateral ankle ligament complex) และเอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (Deltoid ligament complex)

              เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับข้อเท้าพลิกจนเอ็นฉีกได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติมเรื่องกระดูกข้อเท้าได้ที่นี่ครับ

ข้อเท้าพลิกเอ็นฉีก (ด้านนอก)

ข้อเท้าพลิกชนิดบิดเข้าใน

ข้อเท้าพลิกชนิดพลิกเข้าด้านใน (inversion ankle sprain)

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านนอก) คืออะไร

              เมื่อเกิดข้อเท้าพลิกขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นข้อเท้าพลิกชนิดพลิกเข้าด้านใน ตามภาพ ทำให้เอ็นข้อเท้าด้านนอก (lateral ankle ligament complex)เกิดการกระชากขึ้นอย่างแรง และเกิดเอ็นข้อเท้าด้านนอกฉีกขึ้นมาได้ อาจจะฉีกขาดบางส่วน หรือฉีกขาดเต็มเส้นก็ได้

เจ็บข้อเท้าแปล๊บๆ ข้อเท้ามีเสียง ข้อเท้าลั่น

ตกส้นสูง ตกบันไดข้อเท้าพลิก

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านนอก) เกิดขึ้นได้อย่างไร

              ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกเข้าด้านใน ไม่ว่าจะเป็น ตกบันได ตกส้นสูง ลื่นข้อเท้าพลิก หรืออุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาก็เกิดขึ้นได้

ข้อเท้าบวม จากข้อเท้าพลิก

ข้อเท้าบวม จากข้อเท้าพลิก

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านนอก) มีอาการอย่างไร

              เมื่อมีเอ็นข้อเท้าด้านนอกฉีกขาด ช่วงแรกจะมีอาการเจ็บ บวม โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าของตาตุ่มนอก ถ้าเป็นมากจะมีรอยช้ำเขียวๆเกิดขึ้นรอบๆตาตุ่มด้านนอกด้วย บวมมาก เดินลงน้ำหนักไม่ได้

              ถ้าเป็นมานานๆ จะมีอาการข้อเท้าหลวม รู้สึกไม่มั่นคง ตอนเดินเตะเท้าไปข้างหน้าจะรู้สึกว่าเหมือนข้อเท้าจะหลุด บางคนมีปัญหาข้อเท้าพลิกง่าย พลิกบ่อย เดินนิดๆหน่อยๆบนทางปกติก็พลิก

อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อเท้าพลิก ตาตุ่มบวม ได้ที่นี่ครับ อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อเท้าหลวมได้ที่นี่ครับ
รองเท้าบูทพยุงเดิน

รองเท้าบูทพยุงเดิน

การรักษาเบื้องต้นเมื่อเป็น ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านนอก)

              ในช่วงแรกทำตาม RICE protocol ไปก่อนครับ ถ้าอาการเป็นไม่มากส่วนใหญ่จะหายดี หรือรู้สึกดีขึ้นมากๆใน 2 สัปดาห์

              ถ้าอาการเริ่มดีขึ้น อาการปวด บวม ลดลงมากแล้ว แนะนำให้ทำกายภาพบำบัด เพื่อฝึกกล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้า รวมถึงฝึกการทรงตัวเพื่อให้ข้อเท้าฟื้นไวๆนะครับ

              การใช้อุปกรณ์ประคองข้อเท้า ไม้ค้ำยัน การทานยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบ (ปรึกษาเภสัชกรก่อนนะครับ)ก็ช่วยให้อาการปวดลดลงได้นะครับ

อ่านเพิ่มเรื่องอุปกรณ์่ช่วยเดินได้ที่นี่ครับ
ข้อเท้าพลิกเรื้อรัง พลิกบ่อย ข้อเท้าหลวม ควรพบแพทย์นะครับ

ข้อเท้าพลิกเรื้อรัง พลิกบ่อย ข้อเท้าหลวม ควรพบแพทย์นะครับ

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านนอก)เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

  • ถ้าข้อเท้าพลิกแล้วรักษาตาม RICE protocol พักมา 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น
  • สงสัยภาวะกระดูกหักตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
  • มีอาการเจ็บข้อเท้าด้านข้างเรื้อรัง ข้อเท้าบวมตอนห้อยเท้านานๆ เดินนานๆ
  • มีภาวะข้อเท้าไม่มั่นคง ข้อเท้าพลิกง่าย พลิกบ่อย

ข้อเท้าพลิกเอ็นฉีก (ด้านบน)

เอ็นยึดข้อเท้าด้านบน

เอ็นยึดกระดูกหน้าแข้งหลัก (tibia) กับกระดูกหน้าแข้งรอง (fibula) เรียกว่า Syndesmotic ligament

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านบน) คืออะไร

              เอ็นข้อเท้า (ด้านบน) หรือ Syndesmotic ligament จะเป็นเส้นเอ็นที่แข็งแรงมาก ทำหน้าที่ยึดระหว่างกระดูกหน้าแข้งหลัก (tibia) กับกระดูกหน้าแข้งรอง (fibula) เข้าไว้ด้วยกัน ประกอบกันเป็นข้อเท้า  

ข้อเท้าพลิกเอ็นด้านบนฉีก

ข้อเท้าพลิกเอ็นด้านบนฉีกจากการเล่นกีฬาอย่างรุนแรง

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านบน) เกิดขึ้นได้อย่างไร

              ข้อเท้าพลิกส่วนใหญ่จะเป็นชนิดพลิกเข้าด้านใน ทำให้เอ็นข้อเท้าด้านนอกเกิดการบาดเจ็บ แต่เราพบว่า ในอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกที่เกิดจากการเล่นกีฬา หรือแข่งกีฬาที่แรงๆ เร็วๆ เปลี่ยนทิศทางบ่อยๆ กระแทก หรือกระโดดหนักๆ เช่น ฟุตบอล, บาสเก็ตบอล, รักบี้ จะพบเอ็นข้อเท้า (ด้านบน) บาดเจ็บ หรือฉีกได้บ่อยขึ้น โดยพบประมาณ 20 %

              โดยจังหวะที่พบข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านบน) ส่วนใหญ่จะเป็นตามลำดับแบบนี้ครับ 

  1. เท้าวางยึดไว้กับพื้น
  2. ตัว (หน้าแข้ง) บิด
  3. ล้มตัวลงไปด้านหน้า หรือมีคนโถมตัวใส่อย่างแรง จากการเล่นกีฬา โดยที่เท้าอยู่ที่เดิม ทำให้ข้อเท้าอยู่ในท่ากระดกขึ้นอย่างแรง
จุดกดเจ็บบริเวณเอ็นข้อเท้าด้านบน

จุดกดเจ็บบริเวณเอ็นข้อเท้าด้านบน

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านบน) มีอาการอย่างไร

              อาการของข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านบน) จะมีอาการปวด บวม เหนือข้อเท้า

จะมีอาการตอนเดิน วิ่ง โดยเฉพาะกระโดดจะทำให้ปวดมาก ถ้าใครที่สงสัยอาการนี้ ลองกระโดดขาเดียวดูครับ ถ้าทำแล้วเจ็บหรือทำไม่ได้ ก็ให้คิดถึงภาวะนี้ไว้ได้เลยครับ

              บางคนที่เป็นมากๆ เอ็นฉีกขาดแบบเต็มเส้น จะมีอาการปวด กดเจ็บขึ้นไปบริเวณหน้าแข้งส่วนล่างได้เลย

รักษากระดูกเท้าหักด้วยการใส่เฝือก

การใส่เฝือกรักษาข้อเท้าพลิก เอ็นด้านบนฉีก

การรักษาเบื้องต้นเมื่อเป็น ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านบน)

              ในช่วงแรกทำตาม RICE protocol ไปก่อนครับ ถ้าอาการเป็นไม่มากส่วนใหญ่จะหายดี หรือรู้สึกดีขึ้นมากๆใน 2 สัปดาห์  

              ถ้ามีอาการมาก ปวดมาก บวมมาก แนะนำให้พบแพทย์นะครับ โดยเฉพาะนักกีฬา โดยในช่วงแรกคุณหมอจะรักษาด้วยการใช้ที่ประคองชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฝือก หรือรองเท้าพยุงเดิน (walking boot) เมื่ออาการดีขึ้น แนะนำให้รีบทำกายภาพบำบัดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นฝึกพิสัยการขยับข้อเท้า และฝึกกำลังรอบๆข้อเท้า เพื่อให้ข้อเท้ากลับมาใช้ได้ไวๆครับ

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก(ด้านบน) จนกระดูกอ้าออกจากกัน

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก(ด้านบน) จนกระดูกอ้าออกจากกัน และสังเกตุเห็นกระดูกหน้าแข้งชิ้นรองหักด้วย

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านบน)เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

  • นักกีฬา ที่ต้องใช้ข้อเท้าแบบเต็มที่
  • อุบัติเหตุรุนแรงมาก ปวดมาก เดินลงน้ำหนักไม่ได้

เอกซเรย์แล้วพบว่า ไม่มีกระดูกหัก แต่ข้อที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกหน้าแข้งหลัก (tibia) กับกระดูกหน้าแข้งรอง (fibula) อ้าออกจากกัน

  • เป็นข้อเท้าพลิกเอ็นฉีก (ด้านบน) มานานแล้วไม่หายสักที อาการเรื้อรัง ไม่สามารถใช้ข้อเท้าได้ตามต้องการ

ข้อเท้าพลิกเอ็นฉีก (ด้านใน)

ข้อเท้าพลิก เอ็นด้านในฉ๊ก

เอ็นบริเวณตาตุ่มด้านใน (deltoid ligament complex of ankle) บาดเจ็บจากข้อเท้าพลิก

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านใน) คืออะไร

เท้ากับข้อเท้าของเรายึดกันไว้ด้วยเส้นเอ็นหลักๆสองกลุ่ม บริเวณตาตุ่มทั้งสองด้าน ไปยึดกับกระดูกเท้าบริเวณต่างๆ เมื่อเกิดข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านใน) หมายถึงเอ็นบริเวณตาตุ่มด้านใน (deltoid ligament complex of ankle) ที่ไปยึดกระดูกเท้าได้รับบาดเจ็บ

เท้าอยู่กับที่ แต่ตัวและหน้าแข้งบิด ทำให้เอ็นข้อเท้า (ด้านใน) บาดเจ็บ

เท้าอยู่กับที่ แต่ตัวและหน้าแข้งบิด ทำให้เอ็นข้อเท้า (ด้านใน) บาดเจ็บ

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านใน) เกิดขึ้นได้อย่างไร

เอ็นข้อเท้า (ด้านใน) บาดเจ็บมักจะเกิดจากข้อเท้าพลิกแบบพลิกออกด้านนอก (ankle eversion injury) หรืออีกสถาณการณ์หนึ่งที่พบได้บ่อยๆก็คือ “เท้าหมุนออกนอก แข้งหมุนเข้าใน”

เหตุการณ์ที่พบได้บ่อย เช่น วิ่งลงบันไดแล้วข้อเท้าพลิก, กระโดดลงพื้นที่ไม่เรียบ, เต้นหรือกระโดดหมุนตัวแล้วพลาด เท้ากับขาไปคนละทิศกัน

บวม เจ็บ รอบๆตาตุ่มด้านใน

บวม เจ็บ รอบๆตาตุ่มด้านใน

ข้อเท้าผิดรูป จากเอ็นข้อเท้าด้านในบาดเจ็บเรื้อรัง

ข้อเท้าผิดรูป จากเอ็นข้อเท้าด้านในบาดเจ็บเรื้อรัง

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านใน) มีอาการอย่างไร

              อาการของเอ็นข้อเท้า (ด้านใน) ฉีกจะทำให้มีอาการ ปวดบริเวณด้านหน้า หรือใต้ ตาตุ่มใน (medial malleolus) ,

รู้สึกไม่มั่นคง เหมือนเท้าจะหลุดขณะเดิน โดยเฉพาะการเดินลงเขา ลงที่ลาดชัน ลงบันได

              ถ้าเป็นมากๆ เอ็นขาดแบบเต็มเส้น เป็นมาเรื้อรัง จะสังเกตุเห็นข้อเท้าผิดรูปได้ โดยจะมีลักษณะเท้าแบนมากกว่าอีกข้างที่ปกติ อาจจะสังเกตเห็นตาตุ่มด้านในตุงออกมามากกว่าอีกข้าง หรือเมื่อมองจากด้านหลังจะพบว่าข้อเท้าเอียงเข้าใน (valgus) มากกว่าอีกข้างหนึ่งก็ได้

อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อเท้าผิดรูปได้ที่นี่ครับ
การใช้ที่พยุงข้อเท้าแบบมีแกน ประคองข้อเท้าพลิก

การใช้ที่พยุงข้อเท้าแบบมีแกน ประคองข้อเท้าพลิก

การรักษาเบื้องต้นเมื่อเป็น ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านใน)

              ในช่วงแรกทำตาม RICE protocol ไปก่อนครับ ถ้าอาการเป็นไม่มากส่วนใหญ่จะหายดี หรือรู้สึกดีขึ้นมากๆใน 2 สัปดาห์ 

              ถ้าอาการเป็นมาก การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใส่เฝือก หรือรองเท้าช่วยเดินในช่วงแรก และรักษาด้วยการทำกายภาพ การใช้ที่ประคองข้อเท้า รวมถึงการใช้เทปพันข้อเท้าเพื่อช่วยพยุงเอ็นที่บาดเจ็บ

 

ข้อเท้าพลิก เอ็นข้อเท้าด้านในบาดเจ็บ

ข้อเท้าพลิก เอ็นข้อเท้าด้านในบาดเจ็บ หรือฉีกขาด ถ้าอาการเป็นไม่หาย ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจรักษานะครับ

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก  (ด้านใน)เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

  • นักกีฬาที่จริงจัง ต้องใช้ข้อเท้าแบบเต็มประสิทธิภาพ
  • มีอาการเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการปวด และอาการข้อเท้าหลวมเหมือนจะหลุดตอนเดิน

มีข้อเท้าผิดรูป ได้แก่ เท้าเหมือนจะดูแบนมากกว่าอีกข้าง มีตาตุ่มด้านในตุงออกมา ข้อเท้าเอียงเข้าด้านในมากกว่าอีกข้าง

สรุป

ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในนักกีฬา โดยเอ็นที่บาดเจ็บจะมีได้ด้วยกัน 3 ตำแหน่งหลักๆ ขึ้นอยู่กับว่าขณะเกิดข้อเท้าพลิกเท้าอยู่ในท่าใด และล้มไปทิศใด การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาตาม RICE protocol แต่ถ้าอาการยังไม่หาย หรือเป็นเรื้อรังควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ เช่นการใช้เฝือกพยุงข้อเท้า การทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกกล้ามเนื้อและการทรงตัว