ข้อเท้าพลิก หรือข้อเท้าแพลง คือ การบาดเจ็บของข้อเท้าที่เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดการบิด พลิก หมุน ข้อเท้าในทิศทางต่างๆ เช่น ตกบันได ตกส้นสูง อุบัติเหตุจากกีฬา ทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะในข้อเท้า ส่วนใหญ่จะเกิดการบาดเจ็บที่เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอกซึ่งยึดกระดูกส่วนขากับส่วนเท้าเข้าด้วยกัน
กายวิภาค
ข้อเท้าประกอบไปด้วยกระดูกทั้งหมด 3 ชิ้น คือ กระดูกหน้าแข้งใหญ่ (tibia) กระดูกหน้าแข้งรอง (fibular) เชื่อมต่อกันเป็นเบ้าข้อเท้า ลักษณะเป็นรูปตัว U คว่ำ และมีกระดูกข้อเท้า (talus) เข้ามาสวม
สังเกตุว่าขาบริเวณหน้าแข้ง กับส่วนเท้าของเรานั้นไม่ได้เชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาแบบข้อต่อของตัวต่อเลโก้นะครับ แต่ส่วนข้อเท้าจะเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็น โดยจะมีเอ็นทั้งหมด 3 กลุ่มคอยเชื่อมข้อเท้าเข้าด้วยกัน
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน เชื่อมกระดูกหน้าแข้งใหญ่กับเท้า
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก เชื่อมกระดูกหน้าแข้งรองกับเท้า
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านบน เชื่อมกระดูกหน้าแข้งใหญ่กับกระดูกหน้าแข้งรอง
เมื่อมีข้อเท้าพลิกเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดการบาดเจ็บบริเวณเอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก แต่ก็อาจจะเกิดการบาดเจ็บที่เอ็นอื่นๆ หรือแม้แต่กระดูกข้อเท้าชิ้นต่างๆหักได้เช่นกัน
ข้อเท้าพลิกจะมีอาการต่างๆดังนี้
-
- ปวด
- เดินลงน้ำหนักแล้วปวด
- บวมบริเวณข้อเท้า
- รอยช้ำเป็นปื้นๆใต้ผิวหนัง
- ขยับข้อเท้าได้ลดลง
ความเสี่ยงที่จะเกิดข้อเท้าพลิก
ข้อเท้าพลิกจะเกิดกับใครก็ได้ครับ แต่จะมีโอกาสมากกว่าปกติสำหรับคนกลุ่มต่างๆดังนี้
-
- นักกีฬาโดยเฉพาะกีฬาปะทะหรือกีฬาที่ต้องกระโดดหรือเปลี่ยนทิศทางบ่อยๆ
- อุปกรณ์เล่นกีฬาไม่เหมาะสม เช่นพื้นสนามไม่เรียบ รองเท้าไม่พอดี ใช้รองเท้าผิดประเภท
- อาชีพที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง
- เคยมีข้อเท้าพลิกอย่างรุนแรงมาก่อนจนเกิดข้อเท้าหลวม
ควรพบแพทย์ทันทีไหม /ต้องเอกซเรย์ไหม
โดยส่วนใหญ่ข้อเท้าพลิกสามารถรักษาด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์นะครับ แต่ถ้าข้อเท้าพลิกอย่างรุนแรง อันนี้ต้องพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ อาจจะต้องทำเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีกระดูกหักหรือไม่ อาจต้องใส่ที่ประคองข้อเท้าหรือเฝือกอ่อน และอาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงเดินช่วยด้วยครับ
อาการที่ควรต้องไปพบแพทย์ (และทำเอกซเรย์) เมื่อเกิดข้อเท้าแพลงมีดังนี้
การรักษาเบื้องต้น
เมื่อมีข้อเท้าพลิกเกิดขึ้น การรักษาเบื้องต้นคือการพัก และลดการอักเสบให้ได้อย่างเต็มที่ มีวิธีการดังนี้ครับ
- พัก ลดการใช้งานลง
- ยกขาสูง ตอนนอนให้ใช้หมอนหนุนบริเวณน่อง ตอนนั่งใช้มีเก้าอีกอีกตัวไว้วางเท้า ไม่ควรห้อยเท้านานเพราะจะทำให้บวม
- ประคบเย็น ให้ใช้แผ่นประคบเย็นในตู้เย็นห่อผ้าขนหนู ประคบบริเวณที่ปวดบวม
- พันผ้า ใช้ผ้ายืดพันบริเวณปลายเท้าขึ้นมาที่น่อง ไม่ควรเริ่มพันจากน่องลงไป
- ถ้าปวดมากสามารถทานยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบได้ ตามคำแนะนำของแพทย์
- ถ้าปวดมากเดินลงน้ำหนักไม่ไหว ให้ใช้เฝือกอ่อนประคองข้อเท้าไปก่อน ร่วมกับใช้การเดินด้วยไม้ยันรักแร้ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์นะครับ
ประคบร้อนหรือเย็น
เมื่อมีข้อเท้าแพลงเกิดขึ้น ช่วงแรกให้ใช้การประคบเย็นไปก่อน เพื่อลดการอักเสบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ในช่วงฟื้นฟู อาจใช้การประคบอุ่นช่วยบ้างก็ได้ เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่บาดเจ็บจะได้หายไวๆครับ
การทำกายภาพให้หายข้อเท้าแพลงไวๆ
เมื่ออาการปวดจากข้อเท้าพลิกดีขึ้นแล้ว การรักษาเพื่อฟื้นฟูให้ข้อเท้ากลับมาใช้ได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้งจะต้องมีการทำกายภาพด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วยครับ โดยการทำกายภาพต้องทำดังต่อไปนี้
- การฝึกพิสัยการขยับข้อเท้า ฝึกโดยการนั่ง ยกขาลอย ให้ฝึกหมุนข้อเท้าเป็นวงกลม หรือให้วาดปลายเท้าเป็นเลข 1-9 เพื่อให้ข้อเท้าขยับในทุกๆทิศ
- การฝึกความแข็งแรงของเอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก อันนี้ต้องมีอุปกรณ์ช่วยครับ ให้ใช้ยางยืดออกกำลังกาย (สามารถซื้อได้ตามช็อปปิ้งออนไลน์ ค้นคำว่า TheraBand) คล้องปลายเท้าทั้งสองไว้ดังภาพ ส้นเท้าทั้งสองข้างวางบนพื้น ให้ใช้ข้อเท้าข้างที่บาดเจ็บหมุนออกด้านข้าง เพื่อฝึกเอ็นประคองข้อเท้าด้านนอก
- การฝึกการทรงตัว ถ้าฝึกแบบจริงจัง จะมีอุปกรณ์ฝึกการทรงตัวโดยเฉพาะครับ เช่น balance board แต่เราสามารถฝึกด้วยตัวเองง่ายๆคือ การฝึกยืนขาเดียวบนที่นอนนุ่มๆ หรือบนหมอนแบนๆ ก็ช่วยฝึกการทรงตัวได้แล้ว ระวังล้มด้วยนะครับ
ดูคลิปวีดีโอเทคนิคการใช้ยางยืดออกกำลัง TheraBand เพื่อฟื้นฟูภาวะข้อเท้าพลิกได้ที่นี่ครับ (นาทีที่ 3)
สำหรับนักกีฬาที่ต้องกลับไปเล่นกีฬา มีเวลาพัก ฟื้นฟูจำกัด ่ลองใช้เทคนิคพันเทปดูนะครับ ทำให้ข้อเท้ากระชับขึ้น และลดโอกาสเกิดข้อเท้าพลิกได้ด้วยครับ
ลองชมคลิปวิธีพันเทปนะครับ ถ้าสนใจก็ไปเลือกชมได้ตามลิ้งด้านล่างครับ
ข้อเท้าพลิกมานานแล้วยังไม่หายสักทีเกิดจากอะไร
ข้อเท้าพลิกถ้าเป็นไม่มา ควรหายภายใน 2-3 สัปดาห์นะครับ ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจใช้เวลานานกว่านั้น แต่ถ้าพักและทำกายภาพมานานแล้วแต่ไม่หายสนิท ยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ แบบนี้ต้องหาสาเหตุเพิ่มเติมแล้วครับ โดยเราจะแบ่งอาการออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
1
- มีอาการข้อเท้าไม่มั่นคง ข้อเท้าพลิกง่าย เดินอยู่เฉยๆ ไม่ได้เล่นกีฬา หรือไม่ได้ตกบันได ก็ข้อเท้าพลิกได้ ข้อเท้าพลิกบ่อยขึ้น เดินๆทำงานไป เดี๋ยวก็ข้อเท้าพลิกอีกแล้ว แบบนี้มักมีเอ็นข้อเท้าฉีกขาดอย่างรุนแรง จนทำให้เอ็นข้อเท้าซ่อมแซมตัวเองได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้เกิดข้อเท้าหลวม และข้อเท้าพลิกได้ง่าย
- การรักษาต้องทำกายภาพฝึกความแข็งแรงของข้อเท้าอย่างเต็มที่ ใช้อุปกรณ์ป้องกันข้อเท้าพลิก ถ้าอาการเป็นมากจริงๆ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมเอ็นข้อเท้าครับ
- อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเท้าหลวมได้ครับ
2
- มีอาการเจ็บตำแหน่งต่างๆของข้อเท้า หรือมีข้อเท้าบวม อาการเจ็บตำแหน่งต่างๆเกิดจากการบาดเจ็บที่อวัยวะบริเวณนั้น เช่น มีกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บ มีกระดูกเล็กๆแถวๆนั้นหัก หรือมีเอ็นเส้นอื่นๆบาดเจ็บร่วมด้วย
- การรักษาต้องรักษาตามสาเหตุครับ ควรต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม ต้องส่งเอกซเรย์ หรือส่งตรวจทางรังสีอื่นๆตามความเหมาะสม และรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้นครับ
- อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระดูกอ่อนข้อเท้าบาดเจ็บได้ครับ
ทำไมข้อเท้าแพลงแล้ว ไปเอกซเรย์หมอบอกว่าข้อเท้าไม่หัก แต่ไม่หายซักที
ต้องเข้าใจก่อนครับว่าเอกซเรย์ไม่สามารถวินิจฉัยการบาดเจ็บได้ทุกอย่าง เอกซเรย์จะเห็นเฉพาะเงาของกระดูกดังนั้นจึงสามารถวินิจฉัยกระดูกข้อเท้าหักได้
แต่การบาดเจ็บทางข้อเท้าหลายๆอย่างไม่สามารถวินิจฉัยได้จากเอกซเรย์นะครับ เช่น กระดูกอ่อน เส้นเอ็น เส้นประสาท
สาเหตุที่ข้อเท้าแพลงแล้ว เอกซเรย์ไม่พบกระดูกหัก แต่อาการไม่หายขาดสักทีเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ครับ
- มีกระดูกชิ้นเล็กๆหักที่มองไม่เห็นจากเอกซเรย์ อาจเป็นการจัดท่าขณะเอกซเรย์ไม่เหมาะสม หรือกระดูกชิ้นเล็กจริงๆ แต่เป็นจุดสำคัญของข้อเท้า
- มีอวัยวะในข้อเท้าอื่นๆบาดเจ็บที่ไม่สามารถเห็นได้จากเอกซเรย์ ถ้าตรวจร่างกายแล้วสงสัย แพทย์จะพิจารณาส่งการตรวจวินิจฉัยทางรังสีอื่นๆเพิ่มเติม เช่น MRI หรือ CT scan
- การรักษายังทำไม่ได้เต็มที่ ครบถ้วน
ข้อเท้าพลิก ไปพบหมอมา ทำ MRI บอกว่าเอ็นข้อเท้าฉีก ต้องผ่าตัดเลยไหม
ถึงแม้ว่า MRI มาแล้วพบว่าเอ็นข้อเท้าฉีกขาดรุนแรง ก็สามารถรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดให้หายได้ครับ แต่ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆพัก ค่อยๆกายภาพ ต้องมีการใช้ที่ประคองข้อเท้าพักใหญ่ๆเลยครับ
การผ่าตัดซ่อมเอ็นข้อเท้าจะทำต่อเมื่อมีเอ็นข้อเท้าฉีกร่วมกับมีอาการข้อเท้าไม่มั่นคง และรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมาอย่างเต็มที่แล้วครับ
แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นนักกีฬาที่จริงจัง เช่นนักกีฬาลีค,นักกีฬาอาชีพ หรือมีเอ็นข้อเท้าฉีกหลายเส้น ก็เป็นข้อพิจารณาเรื่องการผ่าตัดได้ครับ
อ่านเพิ่มเกี่ยวกับเอ็นข้อเท้าฉีกได้ที่นี่
สรุป
ข้อเท้าพลิก ถ้าเป็นไม่มาก สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง โดยใช้หลัก RICE โดย R(rest) คือพักการใช้งาน I(ice) คือการประคบเย็น C(compress) คือการพันผ้ายืดเพื่อลดบวม E(elevation) คือการยกขาสูงบ่อยๆ ไม่นั่งห้อยเท้านานๆ
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล