fbpx

ปวดข้อเท้า

ปวดข้อเท้า

อาการปวดข้อเท้าคือ อาการปวด เจ็บ ไม่สบาย บริเวณต่างๆของข้อเท้า อาจมีอาการร่วมเช่น บวม แดง ขยับข้อเท้าได้ลดลง ซึ่งส่งผลถึงการใช้งานข้อเท้า เช่น เดิน วิ่ง ออกกำลัง

การรักษาอาการปวดข้อเท้าส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้งานมากเกินไป หรืออุบัติเหตุต่างๆ การรักษาส่วนใหญ่จะหายด้วยการพัก ประคบเย็น ยกขาสูง ทานยาแก้ปวดที่รับจากร้านขายยา  ถ้าเป็นซ้ำบ่อยๆอาจต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเอ็นรอบๆข้อเท้า

ควรพบแพทย์ถ้าอาการเป็นหนัก หรือเป็นเรื้อรัง โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำถูกจุดที่สุด แนะนำเรื่องการทำกายภาพ อาจสั่งที่ประคองข้อเท้าให้ใช้ถ้ามีอาการปวดมาก หรือมีความไม่มั่นคง  ซึ่งมีหลายแบบ บางอาการอาจได้รับการฉีดยา หรือผ่าตัดเพื่อแก้ไข้อาการปวดให้หายขาดครับ

ปวดข้อเท้าตอนวิ่ง

สาเหตุของอาการปวดข้อเท้า

อาการปวดข้อเท้าสามารถแบ่งออกได้เป็นสาเหตุหลักๆได้แก่

  • อุบัติเหตุ
  • การใช้งานมากเกินไป พักไม่พอ
  • การอักเสบ
  • ข้อเท้าบาดเจ็บเรื้อรังจากอุบัติเหตุแล้วรักษาไม่หายขาด

โดยคนที่มีความเสี่ยงมีอาการปวดข้อเท้าได้แก่

    • คนที่เล่นกีฬาที่ใช้ข้อเท้ามากๆ เช่นกีฬาที่ต้องปะทะ กระโดด หรือวิ่งเปลี่ยนทิศบ่อยๆ
    • มีอุบัติเหตุทางข้อเท้ามาก่อนแล้วรักษาไม่หาย
    • น้ำหนักตัวมาก

การวินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดข้อเท้านั้น เราจะแบ่งตำแหน่งความปวดเป็นส่วนๆ เพื่อให้หาโรคที่เป็นได้ง่ายขึ้น

ปวดข้อเท้าด้านหน้า

ปวดข้อเท้าด้านหน้า ขบ

ข้อเท้าขบทางด้านหน้า (anterior ankle impingement)

  • เกิดจากกระดูกข้อเท้ากระแทกกันด้านหน้า เนื่องจากมีกระดูกงอกหรือมีเนื้อเยื่ออักเสบไปแทรกในข้อเท้า จะมีอาการปวดหน้าข้อเท้าขณะกระดกข้อเท้าขึ้นอย่างแรง พบในนักกีฬาที่ใช้ข้อเท้ามากๆ เช่นนักฟุตบอล นักบาส
ข้อเท้าแพลงเจ็บด้านหน้า

เอ็น Syndesmotic บาดเจ็บ

  • คนที่มีภาวะนี้ จะมีข้อเท้าพลิกนำมาก่อนซะส่วนใหญ่ครับ ซึ่งขณะข้อเท้าพลิก กระดูกข้อเท้าจะบิดหมุนจนเอ็นเส้นนี้บาดเจ็บ จะมีอาการเจ็บข้อเท้าด้านหน้า เยื้องไปด้านข้าง (ตามภาพ)
  • นอกจากเจ็บข้อเท้าตำแหน่งนี้แล้ว ยังมีอาการปวดเสียวตอนหมุนตัว เช่นเดินเลี้ยว หรือเปลี่ยนทิศอย่างรวดเร็วขณะเล่นกีฬา บางคนยืนหรือกระโดดขาเดียวไม่ได้เลยครับ เนื่องจากปวดบริเวณนี้มาก
ด้านหน้าข้อเท้าเจ็บ

ข้อ Talo-Navicular อักเสบหรือสึก

  • ข้อนี้จะอยู่ต่ำลงมาหน่อยครับ ถ้าใครเจ็บบริเวณนี้ ก็อาจมีภาวะนี้ได้ ส่วนใหญ่จะเจ็บตอนยืนเขย่ง จังหวะถีบตัวส่งขณะก้าวเดิน

ปวดข้อเท้าด้านข้างนอก (ด้านตาตุ่มนอก)

บริเวณด้านนี้มีอวัยวะที่สำคัญหลายอย่าง เราจะยึดตำแหน่งของตาตุ่มนอกเป็นหลักครับ

เจ็บด้านหน้าตาตุ่มนอก

  • พบได้บ่อยมากในคนที่เคยมีข้อเท้าพลิกครับ ส่วนใหญ่จะมีเอ็นบริเวณนี้บาดเจ็บ ถ้าพลิกรุนแรงก็มีเอ็นขาดได้ ทำให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรังครับ ถ้ามีเอ็นฉีกและร่างกายรักษาไม่หายขาด ก็อาจทำให้มีข้อเท้าหลวมและข้อเท้าพลิกซ้ำได้ง่ายครับ
ปวดข้อเท้าด้านข้าง

เจ็บด้านหลังตาตุ่มนอก

  • ตำแหน่งนี้เป็นบริเวณที่มีเอ็น peroneus อยู่ครับ จะเห็นว่าเอ็นนี้มี 2 เส้น ถ้ามีอุบัติเหตุนำมาก่อน ก็อาจทำให้เอ็นตึงตัวและเสียดสีกันเองและมีเอ็นฉีกขาดได้ ทำให้ปวดบริเวณหลังตาตุ่มนอก โดยเฉพาะตอนเล่นกีฬาครับ
  • อีกภาวะนึงที่พบไม่บ่อย แต่ส่วนใหญ่ไม่หายเอง ก็คือเอ็นหลุดจากร่องครับ คนที่มีภาวะนี้จะรู้สึกกรึ๊บๆ (เอ็นหลุดจากร่องและกลับเข้าร่อง) อยู่หลังตาตุ่มนอกขณะขยับข้อเท้า และมีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อนครับ
เจ็บข้อเท้าตาตุ่ม

เจ็บด้านใต้ตาตุ่มนอก

  • ส่วนนี้มีได้หลายโรคครับ แต่โรคที่พบบ่อยคือ อาการบาดเจ็บของข้อใต้ข้อเท้า (Subtalar joint) โดยอาการจะปวด เสียวบริเวณนี้ตอนเดินบนพื้นที่ที่ไม่เรียบ เช่นพื้นตัวหนอน พื้นหญ้า พื้นดินแดง
เจ็บตาตุ่มนอกถุงน้ำ

เจ็บบริเวณตาตุ่มด้านนอก

  • ถ้าเป็นคนที่ต้องทำงานนั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบเป็นประจำ อาจเกิดจากถุงน้ำอักเสบที่บริเวณตาตุ่มนอกได้ครับ จะคลำได้ก้อนถุงน้ำนิ่มๆ กดเจ็บ

ปวดข้อเท้าด้านข้างใน (ด้านตาตุ่มใน)

ปวดข้อเท้าด้านใน

เจ็บใต้ตาตุ่มด้านใน (medial ankle sprain)

  • ถ้าเจ็บบริเวณนี้ มักเป็นที่เอ็น deltoid นะครับ เป็นเอ็นที่ยึดตาตุ่มในกับกระดูกข้อเท้า มักมีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน เช่นข้อเท้าพลิก
ข้อเท้าด้านในเอ็นอักเสบ

เจ็บตามแนวเส้นเอ็นประคองข้อเท้า (posterior tibial tendinitis)

  • เอ็นประคองข้อเท้าเส้นนี้ชื่อว่า posterior tibial tendon ครับ จะพบในคนที่ใช้งานข้อเท้าซ้ำๆ เช่นนักวิ่งมาราธอน นักจักรยาน หรือนักบาสที่กระโดดเป็นประจำ อาจมีประวัติเพิ่มการฝึกในช่วงนี้ เช่นซ้อมเตรียมไปแข่ง หรือตารางการซ้อมเข้มข้นมากขึ้น

เจ็บตามแนวเส้นประสาทข้อเท้าร่วมกับมีเท้าชา (tarsal tunnel syndrome)

  • ถ้ามีอาการปวดข้อเท้าด้านใน ร่วมกับมีปวดร้าวขึ้นน่อง ชาเท้า กดบริเวณเส้นประสาทแล้วเจ็บ ก็อาจจะเป็นโรค เส้นประสาทข้อเท้าอักเสบได้ครับ

ปวดข้อเท้าด้านหลัง

ปวดข้อเท้าด้านหลัง

เอ็นร้อยหวายอักเสบ

  • พบในคนไข้ที่ใช้งานข้อเท้าหนักๆ เช่นไปวิ่งมาราธอนมา หรือไปปีนเขามา จะกดเจ็บบริเวณเอ็นร้อยหวาย (3-5 เซนติเมตรจากจุดเกาะเอ็นร้อยหวายขึ้นมา)

จุดเกาะเอ็นร้อยหวายอักเสบ

  • พบในคนที่ใช้ข้อเท้ามากๆ ทำงานด้วยการยืน เดิน วันละหลายๆชั่วโมง มีการบาดเจ็บสะสมมานาน จะกดเจ็บบริเวณจุดเกาะเอ็นร้อยหวาย อาจคลำได้กระดูกงอกตุ่ยๆออกมาด้วย
หลังข้อเท้าเจ็บ

ข้อเท้าขบทางด้านหลัง

  • โรคนี้พบได้บ่อยในนักกีฬาที่ต้องกระโดดเช่นนักบาส หรือใช้ข้อเท้าลักษณะจิกบ่อยๆเช่นนักฟุตบอลตอนเตะบอลด้วยหลังเท้า อาการจะมาด้วยปวดข้อเท้าด้านหลัง แต่อาการปวดจะอยู่ด้านหน้าต่อเอ็นร้อยหวาย (กดบริเวณเอ็นร้อยหวายจะไม่เจ็บ)
  • เอกซเรย์อาจจะพบกระดูกงอกยื่นออกมาแบบในภาพครับ

ปวดข้อเท้าลึกๆ รอบๆ ข้อเท้า

เจ็บข้อเท้าสึก

ข้อเท้าสึก

เกาต์ปวดข้อเท้า

เกาต์

  • เกาต์คือโรคที่มีกรดยูริคในเลือดสูง โดยปกติแล้วกรดยูริคในร่างกายจะขับออกไปกับปัสสาวะ ถ้ามีกรดยูริคในเลือดสูง จะทำให้มีการสะสมผลึกเกาต์ในข้อ ซึ่งทำให้เกิดข้ออักเสบได้ครับ
  • โรคเกาต์จะมีอาการปวดมาก ปวดแบบสุดๆ ปวดทรมาน ปวดเดินแทบไม่ได้ ข้อเท้าบวม แดง อุ่น อาการมักเป็นตอนกลางคืน อาจมีอุบัติเหตุนำมาก่อนหรือไม่ก็ได้ครับ
ข้อเท้าติดเชื้อปวด

ข้อเท้าติดเชื้อ

  • การติดเชื้อในข้อต่างๆเป็นภาวะอันตรายมากๆนะครับ ต้องรักษารักษาโดยแพทย์เท่านั้น อาจต้องทำการเจาะข้อ หาเชื้อโรค และให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ
  • เชื้อโรคมาที่ข้อเท้าได้ 3 ทางหลักๆครับ ได้แก่ แผลบริเวณข้อเท้า ทำให้สิ่งสกปรก และเชื้อโรคเข้าข้อเท้าได้, มาทางเลือด เช่นมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ เชื้อโรคก็มาอักเสบที่ข้อได้เช่นกัน, มาทางเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่นมีฝีที่หน้าแข้ง หรือแผลเรื้อรังบริเวณขา เชื้อโรคก็มาที่ข้อเท้าได้ครับ
  • อาการจะมีไข้ ปวดข้อเท้ามาก บวมแดง ขยับข้อเท้าแล้วปวดมาก
ปวดข้อเท้าวิ่ง

ลองดูคลิปวีดีโอเกี่ยวกับอาการปวดข้อเท้าตำแหน่งต่างๆนะครับ

นอกจากโรคหรือภาวะที่กล่าวมาแล้วยังมีสาเหตุอีกมากเลยนะครับ ถ้ามีอาการปวดมาก พักไม่หาย หรือปวดเรื้อรัง ผมแนะนำให้ปรึกษาแพทย์นะครับ

 

สรุป

อาการปวดข้อเท้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแยกได้ตามตำแหน่งที่มีอาการ ถ้าพัก ประคบเย็น ทานยาจากเภสัชกรแล้วไม่ทุเลา หรือเป็นเรื้อรังสามารถพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุได้ครับ

 

บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล