เอ็นร้อยหวายขาด คือ ภาวะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดจากสาเหตุต่างๆ เช่น โดนของมีคมบาด เล่นกีฬาผิดจังหวะ หรืออาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่น เคยฉีดสเตียรอยด์บริเวณเอ็นร้อยหวายมาก่อน ก็ทำให้เอ็นร้อยหวายฉีกขาดได้ง่ายขึ้น การรักษาสามารถรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด หรือวิธีผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการตัดสินในร่วมกันของผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา
สาเหตุของเอ็นร้อยหวายขาด
ส่วนใหญ่เอ็นร้อยหวายฉีกขาดจะเกิดขึ้นบริเวณ 3-4 เซนติเมตรขึ้นมาจากจุดเกาะบริเวณกระดูกส้นเท้าเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย ทำให้การซ่อมแซมตัวเองของเอ็นทำได้ไม่เต็มที่
เอ็นร้อยหวายสามารถฉีกขาดได้ทั้งแบบฉีกขาดเต็มเส้น หรือฉีกขาดบางส่วน (ไม่เต็มเส้น) ก็ได้ โดยมีสาเหตุหลักๆมาจาก
- โดนของมีคมบาด เช่นมีดบาด อุปกรณ์การเกษตรบาด เช่นจอบ เสียม
- เอ็นร้อยหวายถูกยืดอย่างรุนแรง เช่นกระโดดแรงๆ วิ่งเปลี่ยนทิศแรงๆ ออกตัววิ่งแรงๆ
- อุบัติเหตุอื่นๆเช่น เดินตกหลุม ตกที่สูงแล้วเอาเท้าลง
ปัจจัยเสี่ยงเอ็นร้อยหวายขาด
ใครที่มีโอกาสเกิดเอ็นร้อยหวายขาดได้ง่ายขึ้น
- ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง
- อายุกลางคน 30-50 ปี
- ชอบเล่นกีฬาเฉพาะวันหยุด เช่น วันจันทร์ถึงศุกร์ทำงานนั่งโต๊ะ พอวันเสาร์ นัดเพื่อนตีแบต หรือเตะบอล
- น้ำหนักมากเกินไป
- มีประวัติเคยฉีดสเตียรอยด์เข้าบริเวณข้อเท้าด้านหลัง
- มีประวัติใช้ยาบางตัว โดยเฉพาะกลุ่ม Quinolone
อาการเมื่อเกิดเอ็นร้อยหวายขาด
- ปวดข้อเท้าด้านหลังขึ้นมาทันที บางคนบอกว่ารู้สึกเหมือนโดนเตะข้อเท้า หรือโดนแทงบริเวณด้านหลังข้อเท้า
ได้ยินเสียงเหมือนเชือกขาดในจังหวะอุบัติเหตุ ดังเปรี๊ยะ
- บวมด้านหลังข้อเท้า บางคนเห็นรอยช้ำๆบริเวณนั้นด้วย
- เดินลำบาก ส่วนใหญ่ต้องออกจากการแข่งขันทันที
- รู้สึกอ่อนแรงข้อเท้า เดินก้าวยาวๆไม่ได้
- ยืนเขย่งขาข้างเดียวไม่ได้
การวินิจฉัยเอ็นร้อยหวายขาด
ในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ หรือเล่นกีฬาแล้ว
ปวดด้านหลังข้อเท้าบริเวณเอ็นร้อยหวายขึ้นมาทันที ควรต้องสงสัยภาวะเอ็นร้อยหวายขาด โดยสามารถสังเหตุด้วยตัวเองดังนี้
- ปวดบวมบริเวณด้านหลังข้อเท้า บางคนจะเป็นรอยช้ำม่วงๆบริเวณเอ็นร้อยหวาย
ลองคลำเอ็นร้อยหวายจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างดูครับ จะพบคลำได้ช่องบริเวณที่เอ็นร้อยหวายขาด
- ถ้าคลำไม่ได้อาจเกิดจากความบวม หรือเป็นการฉีกขาดแบบไม่เต็มเส้นก็ได้
- กระดกข้อเท้าได้มากกว่าอีกข้าง
- อ่อนแรงข้อเท้า ไม่สามารถยืนเขย่งข้อเท้าข้างเดียวได้
การรักษาเอ็นร้อยหวายขาด
เมื่อเกิดเอ็นร้อยหวายฉีกขาดขึ้น การรักษาสามารถทำได้ทั้งวิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยต้องใช้ข้อเท้าเยอะหรือไม่เช่นเป็นนักกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ต้องเดิน วิ่งหนักๆ รวมถึงสุขภาพและโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย
การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
เลือกใช้ในคนไข้ที่เอ็นร้อยหวายฉีกขาดไม่เต็มเส้น ปกติแล้วทำกิจกรรมไม่หนัก มีโรคประจำตัวที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัด หรือแผลผ่าตัดอาจติดช้าได้
การรักษาจะใช้การใส่เฝือก การใช้รองเท้าบูทช่วยเดิน การใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดิน และการกายภาพบำบัดท่าต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาที่ทำการรักษา
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ผลการรักษาดีทีเดียวครับ ในแง่การฉีกขาดซ้ำ และกำลังข้อข้อเท้า
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
วิธีนี้จะดีในแง่ลดโอกาสการเกิดเอ็นฉีกขาดซ้ำ และกำลังของข้อเท้าจะกลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด
แต่คนไข้ก็ต้องนอนโรงพยาบาล และมีแผลที่ด้านหลังข้อเท้านะครับ
ในปัจจุบันการรักษาเอ็นร้อยหวายฉีกขาดด้วยวิธีผ่าตัดพัฒนาไปมากมีเทคนิคการผ่าตัดที่เพิ่มผลสำเร็จในการรักษาหลายอย่างเลยครับ เช่น
- สามารถทำได้ด้วยวิธีส่องกล้องเพื่อลดการเปิดแผล แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นหายไว
- เทคนิคการใช้เอ็นอื่นๆในข้อเท้ามาช่วยเสริมความแข็งแรงของเอ็นร้อยหวายกรณีที่เอ็นร้อยหวายเปื่อยมาก ไม่สามารถนำมาเย็บซ่อมตรงๆได้
ซึ่งวิธีการรักษาต้องปรึกษากับคุณหมอที่จะทำการผ่าตัดอีกทีนะครับ ว่าเราเป็นแบบนี้ รักษาด้วยวิธีไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด
ผ่าตัดเปิดแผลซ่อมเอ็นร้อยหวายขาด
ผ่าตัดเอ็นร้อยหวายขาดด้วยการส่องกล้อง
แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นหายไว
ผ่าตัดเอ็นร้อยหวายขาดเรื้อรังด้วยการใช้เอ็นข้างเคียงมาเสริมความแข็งแรง
เอ็นร้อยหวายขาดรักษานานกี่เดือน
ไม่ว่าจะเลือกวิธีผ่าตัด หรือไม่ผ่าตัด การรักษาเอ็นร้อยหวายขาดให้กลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงเดิมที่สุดนั้น จะต้องทำกายภาพเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น รวมถึงการฝึกการขยับข้อเท้าในมุมต่างๆ การฝึกการทรงตัว และการใช้ไม้ช่วยเดินด้วย
โดยปกติแล้วจะใช้เวลารักษาประมาณ 4-6 เดือนจึงจะกลับมาใช้งานได้ดีครับ
สรุป
เอ็นร้อยหวายเป็นเอ็นที่ใหญ่ที่สุดและใช้งานหนักที่สุดในร่างกาย เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จนเอ็นร้อยหวายตึงตัวเกินไป ทำให้เกิดเอ็นร้อยหวายขาดได้ การวินิจฉัยต้องนึกถึงภาวะนี้เสมอถ้ามีอาการปวดบวมบริเวณหลังข้อเท้า การรักษาสามารถรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ลักษณะการใช้งานข้อเท้า และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล