เจ็บส้นเท้า คือ อาการเจ็บหรือปวดบริเวณส้นเท้า ส่วนใหญ่มักปวดแบบจี๊ดๆ มักจะเกิดขณะที่เดิน หรือวิ่ง มีสาเหตุการเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น รองช้ำ เอ็นร้อยหวายตึงเกินไป หรือใช้งานเท้ามากเกินไปก็ได้ โดยโรคต่าง ๆจะมีอาการและการตรวจร่างกายที่แตกต่างกัน
การรักษาต้องรักษาทั้งอาการเจ็บ และต้องรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เจ็บด้วย รวมถึงต้องพยายามให้รบกวนกับกิจวัตรประจำวันให้น้อยที่สุด การรักษาจึงจะหายได้ในระยะยาว
โรครองช้ำ เจ็บหรือปวดแปล๊บๆ จี๊ดๆ ที่ส้นเท้าตอนเช้า
อาการเจ็บส้นเท้าจากโรครองช้ำ (plantar fasciitis) จะเจ็บเหมือนเข็มทิ่ม เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจี๊ดๆ มักมีอาการตอนเช้า หรือว่าตอนเริ่มเดิน เช่นตอนตื่นนอน ตอนนั่งรถนานๆแล้วลงจากรถ นั่งทำงานนานๆแล้วลุกเดินก็มีอาการได้ ส่วนใหญ่พอเดินใช้งานไปสักพัก อาการก็จะดีขึ้น
โรครองช้ำเกิดจากอะไร
โรครองช้ำมีสาเหตุมาจากพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ โดยพังผืดฝ่าเท้าจะยึดจากกระดูกส้นเท้าไปบริเวณกระดูกหน้าเท้า (ตามภาพ) เมื่อมีการใช้งานมากๆ หรือพังผืดฝ่าเท้าตึงเกินไป จุดเกาะของพังผืดฝ่าเท้าบริเวณกระดูกส้นเท้าจะเกิดการอักเสบขึ้น และมีอาการเจ็บส้นเท้าขึ้นมาได้
ทำไมโรคนี้ถึงเจ็บส้นเท้าตอนเช้าๆ
จริงๆแล้วไม่ได้เจ็บตอนเช้าๆอย่างเดียวนะครับ แต่จะเจ็บตอนเริ่มเดินหลังจากนอน หรือนั่งมานานๆ เช่นหลังจากนั่งรถนานๆ หรือนั่งทำงานนานๆ
เนื่องจากขณะนอนตอนกลางคืน (หรือนั่ง) ข้อเท้าของเราจะอยู่ในท่าที่สบายคือจิกข้อเท้าลงเล็กน้อย และเท้าของเราก็จะห่อตัวเล็กน้อยทำให้เอ็นร้อยหวายและพังผืดฝ่าเท้าอยู่ในท่าหย่อนตัว พอตื่นขึ้นมายืนเดินก้าวแรกๆ พังผืดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายจะตึงตัวขึ้นมาทันที ทำให้มีอาการเจ็บส้นเท้าตอนเดินก้าวแรกๆได้ครับ
โรครองช้ำรักษาอย่างไร
การรักษาควรเริ่มตั้งแต่การกายภาพบำบัดอย่างถูกวิธี การใช้ยาช่วยระยะสั้นๆ รวมถึงการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมด้วยครับ
การกายภาพบำบัดรักษารองช้ำ
จะต้องกายภาพบำบัดโดยการยืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้าและบริเวณเอ็นร้อยหวาย ตามภาพได้เลย
การใช้ยารักษาอาการปวดรองช้ำ
ส่วนใหญ่จะเป็นยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อครับ แนะนำว่าควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนใช้ยานะครับ และควรใช้ระยะสั้นๆ พออาการดีขึ้นก็หยุดใช้ยาได้
การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับโรครองช้ำ
ควรใช้รองเท้าที่ส้นนุ่มๆ
ไม่ควรเดินเท้าเปล่าแม้แต่ในบ้าน
และจะให้ดียิ่งขึ้นควรหาซื้อแผ่นรองรองเท้าที่ช่วยซับแรงกระแทกที่ส้นเท้ามาใช้ด้วยจะดีมากครับ โดยแผ่นรองรองเท้าจะใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้นะครับ ไม่ค่อยต่างกันมากครับ
อ่านเพิ่มเรื่องการเลือกรองเท้าสำหรับโรครองช้ำได้ที่นี่ครับถ้ารักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ยังมีวิธีรักษาอีกหลายวิธีครับ เช่น การทำช็อคเวฟ หรือการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อคลายความตึง แนะนำว่าปรึกษาแพทย์นะครับถ้าอาการเป็นมาก หรือเป็นเรื้อรังไม่หายสักที
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการช็อคเวฟรักษารองช้ำได้ที่นี่ครับเจ็บหรือปวดส้นเท้าจากไขมันส้นเท้าฝ่อ (Fat pad atrophy)
คนที่มีไขมันส้นเท้าฝ่อจะมีอาการเจ็บส้นเท้าบริเวณกลางส้นเท้าเลยครับ มักเป็นตอนที่เดินใช้งาน เจ็บทุกๆก้าวที่เดิน เดินบนพื้นแข็งๆ หรือเดินไม่ใส่รองเท้าจะเจ็บมาก
ไขมันส้นเท้าฝ่อเกิดจากอะไร
ภาวะนี้มักมีประวัติที่ค่อนข้างชัดเจนครับโดยจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆคือ
มีประวัติฉีดสเตียรอยด์
หรือฉีดยาเข้าบริเวณส้นเท้า ส่วนใหญ่จะถูกฉีดมาหลายครั้ง ซึ่งสเตียรอยด์จะทำให้ไขมันส้นเท้าฝ่อได้ครับ
มีประวัติอุบัติเหตุอย่างรุนแรงบริเวณส้นเท้า
เช่น เคยตกจากที่สูงแล้วเอาส้นเท้าลงพื้น, เคยอุบัติเหตุจราจรแล้วส้นเท้าไปกระแทกของแข็งอย่างแรง หรือว่าเคยมีส้นเท้าแตกจากอุบัติเหตุต่างๆนำมาก่อน
ไขมันส้นเท้าฝ่อรักษาอย่างไร
การรักษาแบบหายขาดเลยทำได้ค่อนข้างยากครับ
เนื่องจากไขมันส้นเท้าเป็นส่วนที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้
เมื่อเกิดขึ้นแล้วการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการครับ โดยเน้นไปที่การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม และการทำกายภาพ
คนที่มีภาวะไขมันส้นเท้าฝ่อควรเลือกรองเท้าที่ส้นนุ่มๆ
รองเท้าส่วนส้นสูงกว่าส่วนหน้าเท้าเล็กน้อยเพื่อให้น้ำหนักตัวเทมาที่หน้าเท้ามากสักหน่อยขณะเดินใช้งาน
และควรมีรองเท้าใส่เดินในบ้านด้วยนะครับ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
ส่วนการทำกายภาพแนะนำว่าควรยืดเหยียดเอ็นร้อยหวายเป็นประจำก็ช่วยให้อาการเจ็บส้นเท้าลดลงได้ครับ
ถ้าเป็นมานาน ไม่หายสักที รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมาก แนะนำว่าลองใช้แผ่นรองรองเท้าแบบสั่งตัดเฉพาะบุคคล เพื่อกระจายแรงบริเวณส้นเท้ามาที่ส่วนอื่นในเท้าก็ช่วยได้ครับ
เจ็บหรือปวดส้นเท้าด้านหลัง เอ็นร้อยหวายตึง ขณะเดิน วิ่ง
อาการนี้มักเกิดจากเอ็นร้อยหวายตึงตัวเกินไปนะครับ ทำให้ ขณะใช้งานเช่นเดินหรือวิ่งหนักๆ ส้นเท้าจะกระแทกพื้นมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเจ็บส้นเท้าขึ้นมาได้
คนที่เป็นโรคนี้มักเป็นคนที่ทำงานที่ต้องยืน เดิน หรือวิ่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น นักกีฬา เกษตรกร พนักงานขายของ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตึงน่องร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการของคนที่ยืนนานๆนั่นเองครับ
การรักษาควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสม และการทำกายภาพบำบัดยืดน่องให้เป็นประจำครับ จะช่วยได้มากๆเลย
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่ต้องยืนทำงานนานๆที่นี่ครับเจ็บหรือปวดส้นเท้าด้านใน มีชาเท้าร่วมด้วย
ถ้ามีอาการปวดส้นเท้าบริเวรด้านในส้นเท้า ตามภาพ ร่วมกับกดเจ็บ และมีอาการชาเท้าร่วมด้วย อันนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทเท้าถูกกดเบียดได้นะครับ
การรักษาเบื้องต้น ให้พักการใช้งานเท้า เช่น การวิ่งยาวๆ การเล่นกีฬาหนักๆที่ต้องกระโดด รวมถึงการเลือกรองเท้าให้เหมาะกับทรงของเท้า
ถ้าใส่รองเท้าสตัดท์สำหรับเล่นฟุตบอล ช่วงนี้ลองเลี่ยงดูนะครับ
และการใส่รองเท้าที่ไม่รัดเกินไปโดยเฉพาะส่วนข้อเท้า
ถ้าไม่หายหรือเป็นเรื้อรัง แนะนำพบแพทย์นะครับ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุของอาการ รวมถึงแนวทางการรักษาด้วยครับ
อ่านเพิ่มเกี่ยวกับโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อเท้าได้ที่นี่ครับเจ็บหรือปวดส้นเท้า เมื่อยืนนานๆ เดินนานๆ
คนที่ต้องยืน เดินต่อเนื่องกันนานๆ จะมีอาการปวดหรือเจ็บส้นเท้าขึ้นมาได้นะครับ ยิ่งบางคนที่มีอาชีพที่ต้องใส่รองเท้าเฉพาะแบบ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องใส่รองเท้าคัทชู ตำรวจหรือทหารที่ต้องใส่รองเท้าคอมแบท หรือช่างที่ต้องใส่รองเท้าเซฟตี้ คนกลุ่มนี้จะเจ็บส้นเท้าได้ง่ายขึ้นครับ
มีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และการเลือกรองเท้าดังนี้ครับ
เจ็บหรือปวดส้นเท้า ตอนวิ่ง
เมื่อนักวิ่งวิ่งแล้วเจ็บส้นเท้าอันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เลยครับ ทำให้วิ่งไม่สนุก ไม่มัน เหมือนเดิม สำหรับในนักวิ่งที่จริงจัง ทำให้การซ้อมทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลถึงผลการแข่งขันด้วยนะครับ
เรามีวิธีหาสาเหตุของการเจ็บส้นเท้าตอนวิ่งแบบง่ายๆ โดยดู 3 องค์ประกอบหลักๆ
ร่างกาย
- น่องตึงเกินไป ทำให้ขณะวิ่ง ส้นเท้ากระแทกพื้นหนัก และเจ็บส้นเท้าได้
- ท่าวิ่งไม่เหมาะสม เช่น ก้าวเท้ายาวเกินไป (over strike) วิ่งคล้ายๆกระโดดไปข้างหน้า
- วิ่งลงส้นหนักเกินไป
- ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยสังเกตให้เราขณะวิ่ง จะได้ปรับท่าวิ่งให้ได้ครับ ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นในนักวิ่งสมัครเล่นที่ต้องการซ้อมเพื่อให้วิ่งได้เร็วขึ้น ไกลขึ้น เลยพยายามก้าวเท้ายาวๆ ทำให้ส้นเท้ากระแทกพื้นหนักเกินไปครับ
รองเท้า
- รองเท้าที่เก่าเกินไป หรือวิ่งจนส่วนส้นสึกแล้ว ทำให้รองเท้าซับแรงกระแทกได้ไม่ดีเหมือนเดิมก็ทำให้เจ็บส้นเท้าได้นะครบ
- รองเท้าที่ออกแบบมาให้ส้นต่ำๆ (drop น้อยๆ) หรือรองเท้าสำหรับสายเปลือยเท้า (barefoot running shoe) ถ้าเราใช้ไม่ถูกวิธีก็มีปัญหาเจ็บส้นเท้าได้เหมือนกัน
สิ่งแวดล้อม
- วิ่งในที่พื้นแข็งเกินไป เช่นพื้นซีเมนต์
- วิ่งพื้นลาดเอียง เช่นพื้นลาดเอียงสำหรับระบายน้ำฝน
- วิ่งพื้นขึ้นลงที่ลาดชันมากๆ
- วิ่งพื้นที่ขรุขระเช่นตัวหนอน ดินแดง
สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็ทำให้วิ่งแล้วเจ็บส้นเท้าได้ครับ
สรุป
อาการปวดส้นเท้าหรือเจ็บส้นเท้า สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยการรักษาต้องรักษาตามสาเหตุถึงจะทุเลาอาการลงได้ การจะวินิจฉัยว่าอาการเจ็บส้นเท้าเกิดจากสาเหตุอะไรต้องอาศัยข้อมูลหลายๆด้านเช่น ลักษณะอาการปวด ตำแหน่งที่ปวด ปวดตอนทำอะไร รวมถึงการตรวจร่างกายด้วย
บทความโดย นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล