เส้นเอ็น คือ เนื้อเยื่อชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นใยหลายๆใยมารวมกัน มีลักษณะคล้ายเส้นเชือก ส่วนใหญ่เอ็นด้านหนึ่งจะเกาะจากกล้ามเนื้อ ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเกาะที่กระดูก มีหน้ามีส่งผ่านแรงจากกล้ามเนื้อมาที่กระดูก ทำให้อวัยวะส่วนนั้นเคลื่อนไหวได้
ระบบเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูก จะมีกล้ามเนื้อทำหน้าที่เหมือนลูกสูบ ยืดตัว หดตัวได้ จะส่งแรงไปตามเส้นเอ็น และเส้นเอ็นจะไปเกาะที่กระดูกทำให้กระดูกและข้อส่วนนั้นขยับ
เอ็นอักเสบ (tendinitis)
เอ็นอักเสบคือการที่เส้นเอ็นถูกใช้งานหนักเกินไป จนเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด กดเจ็บ บริเวณเส้นเอ็น
ส่วนใหญ่จะเป็นการเจ็บนอกข้อ
เอ็นอักเสบจะพบได้บ่อยบริเวณ เอ็นศอก, เอ็นไหล่, เอ็นหัวเข่า, เอ็นร้อยหวาย
เอ็นอักเสบ จะบวมตามแนวที่เอ็นวางตัวอยู่
สาเหตุของเอ็นอักเสบ
- อุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา เช่นข้อเท้าพลิก โดนกระแทก หมุนตัวผิดท่า
- การใช้งานอวัยวะซ้ำๆกันมานานๆ เช่น การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรที่ต้องทำท่าเดียวกันนานๆติดต่อกันหลายชั่วโมง การซ้อมกีฬาโดยทำท่าหนึ่งๆซ้ำๆกัน
- ผิดท่า การอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม ทำให้เอ็นต้องเกร็งตัวตลอดเวลา ก็ทำให้เอ็นอักเสบได้ เช่นนั่งผิดท่า นอนผิดท่า
- โครงสร้างร่างกายผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถถ่ายน้ำหนักได้สมดุล เช่น ขาไม่เท่ากัน เมื่อเดินมากๆจะทำให้เอ็นสะโพกอักเสบ
- โรคอื่นๆเช่น รูมาตอยด์, โรคแพ้ภูมิตัวเอง ทำให้เอ็นอักเสบได้ง่าย
อุบัติเหตุกีฬาทำให้เอ็นข้อเท้าอักเสบ
ทำงานท่าเดียวกันซ้ำๆ ทำให้เอ็นอักเสบ
นั่งทำงานผิดท่าทำให้เอ็นอักเสบ
ใครมีความเสี่ยงเป็นเอ็นอักเสบ
- วัยกลางคน วัยสูงอายุ ที่ยังใช้งานร่างกายหนักอยู่ เนื่องจากเอ็นจะมีความยืดหยุ่นลดลง อักเสบง่าย
- อาชีพที่ต้องขยับซ้ำๆท่าเดียวกับตลอด, ต้องยกแขนทำนู่นนี่ตลอด, ต้องจับอุปกรณ์ที่สั่นสะเทือนบ่อยๆ, ทำงานที่ต้องใช้แรงมากๆ
- นักกีฬา มักพบในกีฬาที่ต้องขยับซ้ำๆ หรือนักกีฬาที่เทคนิคยังไม่ดีพอ ไม่มีโค้ชคอยแนะนำท่าทางการเล่น
การรักษาเอ็นอักเสบด้วยตัวเอง
เอ็นอักเสบส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยการดูแลตัวเอง พัก ลดการใช้งาน ทานยานิดหน่อย ก็จะดีขึ้นแล้วครับ โดยการรักษาให้ทำดังนี้
RICE protocal
- R (rest) หรือการพัก ลดการใช้งานเอ็นที่อักเสบ แขน ขาข้างที่อักเสบ เพื่อลดอาการปวด บวม และให้เอ็นได้ฟื้นฟูตัวเองได้เต็มที่ การพักไม่จำเป็นต้องนอนบนเตียง หรือนั่งเฉยๆ ไม่ขยับเลยนะครับ ยังให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ ทำงานเบาๆได้ ถ้าอยากออกกำลัง แนะนำการว่ายน้ำเบาๆ ปั่นจักรยาน
- I (ice) หรือการประคบเย็น ช่วยในการลดปวด ลดบวม ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อประคบประมาณ 15-20 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง ใช้ cold pack จะดีครับ เนื่องจากไม่เย็นเกินไป และเย็นได้นาน
- C(compress) หรือการพันผ้าลดอาการบวม แนะนำให้ใช้ ผ้ายืดพันครับ โดยให้พันจากส่วนปลาย เช่น ปลายมือ ปลายเท้า มาที่ส่วนโคน
- E(elevation) หรือการยกส่วนที่มีเอ็นอักเสบให้สูง เพื่อลดอาการบวม โดยควรยกให้สูงกว่าระดับหัวใจครับ
ประคบเย็นลดบวม
พันผ้าลดข้อเท้าบวม
ยกขาสูง รักษาเอ็นอักเสบ
การรักษาอื่นๆแก้เอ็นอักเสบ
ยาแก้เอ็นอักเสบ
ยากินรักษาเอ็นอักเสบ
ควรใช้ยาแก้ปวด อาจจะใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ร่วมด้วยระยะสั้นๆครับ (ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้)
ยาทาหรือสเปรย์รักษาเอ็นอักเสบ
อาจเลือกครีมหรือสเปรย์ ที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบ เพื่อลดอาการอักเสบเฉพาะจุด (ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้)
ฉีดยาสเตียรอยด์แก้เอ็นอักเสบ
การฉีดยาสเตียรอยด์ สามารถลดอาการเอ็นอักเสบได้ ทำได้ในบางโรคครับ บางโรคก็ไม่ควรฉีด ดังนั้นแนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
การฉีดยาสเตียรอยด์ ถ้าฉีดผิดวิธี ฉีดบ่อยเกินไป หรือฉีดไม่ตรงจุดที่มีการอักเสบ อาจจะเกิดผลเสียตามมาได้ครับ เช่น
ไขมันฝ่อ ติดเชื้อ เอ็นฉีกขาด ด่างขาว ดังนั้นต้องปรึกษาแพทย์ เรื่องข้อดี ข้อเสียของการฉีดยาด้วยนะครับ
การทำกายภาพบำบัด
- ฝึกยืดเหยียดเบาๆ บริเวณที่มีเอ็นอักเสบ เพื่อให้เอ็นคลายความตึง ขณะทำไม่ควรให้เจ็บมากครับ เดี๋ยวจะอักเสบมากขึ้น
- ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆบริเวณที่มีเอ็นอักเสบ
เอ็นอักเสบ ใส่เฝือกอ่อน
สามารถใส่เฝือกอ่อนเพื่อให้อวัยนะนั้นได้พัก ลดการขยับได้ครับ ถ้าเอ็นอักเสบเป็นมาก ปวดมาก แต่แนะนำว่าควรใส่ระยะสั้นๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะได้ไม่เกิดภาวะข้อยึดติด
อ่านเพิ่มเติมเรื่องการใส่เฝือกได้ที่นี่ครับการใส่เฝือกอ่อน เพื่อรักษาเอ็นอักเสบ สามารถถอดออกบางเวลาเพื่อประคบเย็นและทำกายภาพเบาๆได้ครับ
การรักษาเอ็นอักเสบอื่นๆ
เช่น การฝังเข็ม การทำอัลตราซาวน์ การผ่าตัดถ้ามีเอ็นอักเสบรุนแรงจนมีเอ็นฉีกขาด
เป็นเอ็นอักเสบแล้วควรพบแพทย์เมื่อไหร่
- พักมา 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นแลย ตามปกติ ถ้าเป็นเอ็นอักเสบแล้ว พัก 1-2 สัปดาห์อาการควรจะดีขึ้น หรือหายแล้วครับ ถ้ายังไม่หาย อาจจะเป็นโรคอื่นๆได้ เช่นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก
- ปวดมาก บวมมาก
- มีจ้ำเลือดขนาดใหญ่ บริเวณที่มีเอ็นอักเสบ แปลว่ามีเลือกออกใต้ผิวหนัง จากการบาดเจ็บของอวัยวะรอบๆบริเวณนั้น
- ขยับข้อได้ลดลง รู้สึกอ่อนแรง ถ้าเป็นแบบนี้ อาจจะมีเอ็นอักเสบจนฉีกขาดได้ครับ
- ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ มีความผิดรูปของแขน ขา แปลว่าอาจจะมีกระดูกหักได้ครับ
จ้ำเลือดที่ฝ่าเท้า แสดงถึงอวัยวะในเท้าบริเวณนั้นบาดเจ็บ
เอ็นร้อยหวายขาด ทำให้อ่อนแรงข้อเท้า
เอ็นเสื่อม (tendinosis)
เอ็นเสื่อมคือ เส้นเอ็นเกิดการเสื่อมสภาพของโครงสร้างเส้นเอ็น (collagen) เกิดจาก
การใช้งานเส้นเอ็นซ้ำๆท่าเดิมๆมาต่อเนื่อง โดยไม่มีการพักให้เส้นเอ็นได้รักษาตัวเองได้เพียงพอ
การใช้งานอาจจะไม่ต้องเป็นงานหนักก็ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ไม่หนัก แต่ซ้ำๆอยู่ท่าเดียว
ตำแหน่งที่พบเอ็นเสื่อมได้บ่อยได้แก่ เอ็นร้อยหวาย, เอ็นข้อมือ, เอ็นข้อศอก, เอ็นหัวเข่า, เอ็นไหล่
อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอ็นเสื่อม
ความแตกต่างของเอ็นอักเสบกับเอ็นเสื่อม
เอ็นอักเสบเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็น เกิดขึ้นทันทีหลังใช้งานหนักๆ หรืออุบัติเหตุ โครงสร้างเส้นเอ็นจะยังปกติดีอยู่ เพียงแต่มีการอักเสบขึ้น รักษาโดยการพัก ประคบเย็น การทำกายภาพ ไม่นานก็จะหายปกติ
เอ็นเสื่อม เกิดจากการสะสมความบาดเจ็บมานาน ไม่มีการอักเสบขึ้น (อาจจะมีการอักเสบนำมาก่อนหลายครั้ง) โครงสร้างของเส้นเอ็นจะเสื่อมสภาพลง สูญเสียความยืดหยุ่นและแข็งแรงของเส้นเอ็น เส้นเอ็นบวม การรักษาจะเน้นที่ลดการใช้งาน และกายภาพเป็นหลัก ใช้เวลารักษานานกว่าเอ็นอักเสบ
เอ็นร้อยหวายเสื่อม จับแล้วเจ็บ เอ็นหนาตัวขึ้น
อาการของเอ็นเสื่อม
- ปวดเอ็น ปวดตอนขยับอวัยวะ หรือข้อนั้นๆ กดที่เอ็นแล้วปวด ส่วนใหญ่จะปวดเป็นแนวตามที่เอ็นนั้นวางอยู่
- เอ็นบวม ตามแนวเส้นเอ็น บางครั้งจะเห็นว่ามีความบวม หรือคลำพบว่าเอ็นบวม ถ้าเอ็นนั้นอยู่ตื้นๆ ใต้ผิวหนัง เช่น เอ็นร้อยหวาย เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน
- ขยับข้อที่เอ็นควบคุมอยู่ได้ลดลง ขยับได้ไม่สุดเท่าเดิม ถ้าเป็นเรื้อรัง จะมีข้อติดร่วมด้วย แม้ว่าจะรักษาเอ็นเสื่อมให้หายดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังขยับได้ไม่สุดอยู่ดี
ตำแหน่งที่พบเอ็นเสื่อมได้บ่อยๆ จะพบบ่อยที่บริเวณเท้าและข้อเท้า เนื่องจากเป็นส่วนที่ใช้งานบ่อย ตอนเดิน วิ่ง เล่นกีฬา ยืนทำงาน
- เอ็นร้อยหวาย
- เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน
- เอ็นข้อศอก
- เอ็นข้อเข่า
- เอ็นไหล่
สาเหตุของเอ็นเสื่อม
- เกิดจากการใช้งานเส้นเอ็นซ้ำๆ มาต่อเนื่องยาวนาน
- เอ็นที่มีการอักเสบ หรือบาดเจ็บ จะต้องการเวลาในการฟื้นฟูสภาพนานกว่าส่วนอื่นๆในร่างกาย เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย
- เมื่อมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ใช้งานหนัก นาน พักไม่พอ ทำให้เกิดการสะสมอาการบาดเจ็บ
- เมื่อถึงจุดหนึ่ง โครงสร้างของเส้นเอ็นจะเสื่อมสภาพลง ไม่แข็งแรง ไม่ยืดหยุ่นเหมือนเดิม
เอ็นเสื่อมมักพบในใคร
- มักพบในผู้ป่วยอายุมากสักหน่อย แต่ยังใช้งานเส้นเอ็นหนักอยู่ เนื่องจากในวัยนี้ เส้นเอ็นยืดหยุ่นได้น้อยลง ฟื้นฟูสภาพได้ช้าลง
- ออกกำลังกายหนักๆ พักไม่พอ
- ทำงานที่ต้องทำท่าเดียวซ้ำๆ
- ทำงานที่ต้องอยู่ในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
- เอ็นอักเสบแล้วรักษาไม่ดีพอ ไม่หายขาด มีเอ็นอักเสบบ่อยๆ
การรักษาเอ็นเสื่อม
- พักบ่อยๆ ถ้าต้องทำงานท่าเดียวกันซ้ำๆ นานๆ ควรมีช่วงพักบ้าง เท่าที่จะทำได้
- ปรับท่าทางการทำงานให้ถูกสุขลักษณะ เช่น เก้าอี้นั่ง โต๊ะทำงาน
- ประคบเย็นบ่อย ถ้ามีอาการปวด
- อุปกรณ์ประคองต่างๆ ใส่ตอนใช้งานเส้นเอ็น จะทำให้เอ็นใช้งานลดลง ลดความตึงได้
- เทปพันข้อ ใช้ในนักกีฬา พันตามแบบต่างๆ เพื่อลดการใช้งานเส้นเอ็น
- นวดเบาๆ ตามแนวเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง เพื่อคลายความตึงตัว และเพิ่มเลือดมาเลี้ยงบริเวณเส้นเอ็น
อุปกรณ์ประคองเอ็นศอกเสื่อม
อุปกรณ์ประคองเอ็นสะบ้าเสื่อม
แปะเทปลดอาการเอ็นเสื่อม
- ยืดเส้นเอ็น เพิ่มความยืดหยุ่น การฝึกไม่ควรทำจนเจ็บ แต่ค่อยๆยืด ทำบ่อยๆเอ็นจะคลายตัวได้เอง
- ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆเส้นเอ็น เพื่อให้กล้ามเนื้อคอยประคองเส้นเอ็น
- การทำช็อคเวฟ, การฉีด PRP ช่วยให้เอ็นเสื่อมหายได้เร็วขึ้น
- ยาทาน ส่วนใหญ่จะแนะนำยาแก้ปวดครับ ทานตามอาการปวด
- ยาแก้อักเสบไม่มีประโยชน์ถ้าเป็นเอ็นเสื่อมครับ เนื่องจากเอ็นเสื่อมจะไม่มีภาวะอักเสบร่วมด้วย
- การกายภาพ eccentric strengthening exercise
การฝึก Eccentric exercise รักษาเอ็นเสื่อม
การฝึกกายภาพด้วยวิธี eccentric strengthening exercise เพื่อรักษาเอ็นเสื่อม
การฝึกวิธีนี้คือ การฝึกกล้ามเนื้อและเอ็นให้ยืดออก ขณะที่มีแรงมากระทำกับระบบ
เช่น ขณะที่เราใช้มือจับน้ำหนักและงอศอก กล้ามเนื้อและเอ็นหน้าแขนของเราจะเกร็งตัว เพื่องอศอก และยกน้ำหนักขึ้น
แต่ขณะที่เราวางศอกลง
กล้ามเนื้อและเอ็นหน้าแขนของเราก็ไม่ได้ผ่อนนะครับ กล้ามเนื้อจะเกร็ง แต่ระบบจะค่อยๆยืดออก จังหวะนี้แหละครับ คือ eccentric strengthening exercise (กล้ามเนื้อเกร็งตัวแต่ยืดออก)
ข้อดีของการรักษาเอ็นเสื่อมด้วย Eccentric exercise
- ได้ผลการรักษาที่ดี
- ไม่ทำให้เอ็นบาดเจ็บเพิ่ม
- ทำได้ง่าย ทำได้เองที่บ้าน
- สามารถลดอาการเอ็นบวม ลดปวด และช่วยปรับโครงสร้างของใยเส้นเอ็นให้กลับคืนสภาพได้
- การรักษาวิธีนี้จะใช้เวลานานสักหน่อยกว่าจะรู้สึกว่าดีขึ้นนะครับ เช่น 2-3 เดือนขึ้นไป
- ถ้าจะรักษาด้วยวิธีนี้ ควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจก่อนนะครับว่า เป็นเอ็นเสื่อมจริง ไม่มีการฉีกขาดของเอ็น อาจจะต้องตรวจ MRI หรือ ultrasound เพื่อเช็คดูด้วยครับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ https://journals.lww.com/
กายภาพรักษาเอ็นร้อยหวายเสื่อม
กายภาพรักษาเอ็นสะบ้าเสื่อม
กายภาพรักษาเอ็นศอกเสื่อม
สรุป
เอ็นอักเสบคือเอ็นที่บาดเจ็บเกิดขึ้นทันที เช่น ใช้งานหนัก หรืออุบัติเหตุ รักษาโดยการพัก ประคบเย็น ส่วนใหญ่ก็จะหายเป็นปกติได้ ส่วนเอ็นเสื่อมคือเอ็นที่สะสมความบาดเจ็บมานาน เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ รักษาโดยการลดการใช้งาน และการทำกายภาพที่ถูกวิธี